วันอาทิตย์, กันยายน 11, 2559

“การขายลูกเมียกิน” ของคนสยาม ในสายตาฝรั่ง




ภาพวาดลายเส้นประกอบหนังสือของ Margaet Landon เรื่อง “Anna and the King of Siam” วาดโดย Margaret Ayer เป็นตอนที่ แหม่มแอนนา (แอนนา เลียวโนเวนส์) พบกับนางละออและลูก ซึ่งเป็นทาสที่แหม่มแอนนาเข้าช่วยเหลือให้เป็นไท (เป็นทาสในเรือนเบี้ยมิได้เป็นทาสที่ถูกพ่อแม่หรือผัวขายมา นำมาใช้เป็นภาพแทนลักษณะของทาสในอดีตเท่านั้น)


โดย อดิเทพ พันธ์ทอง
ที่มา เวปศิลปวัฒนธรรม
8 กันยายน พ.ศ.2559

ปัจจุบันการค้า “มนุษย์” ถือเป็นอาชญากรรมร่วมกันของมนุษยชาติ แต่ครั้งหนึ่ง มนุษย์เคยเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยชอบ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นในตะวันตกหรือตะวันออก แม้จะมีลักษณะที่ต่างกันบ้างในรายละเอียด

เช่นเดียวกับสยามในอดีตที่กฎหมายยอมให้คนขายคนลงเป็นทาสได้ ดังที่กำหนดไว้ในพระไอยการทาษ ประมวลกฎหมายตราสามดวง ที่ให้สิทธิแก่พ่อแม่ และผัว ในการขายลูกขายเมียแลกเงินได้ นอกเหนือไปจากการตกเป็นทาสในลักษณะอื่นๆ

เข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกที่ยกเลิกระบบทาสไปนานนับร้อยๆ ปี (ก่อนนำมาใช้อีกครั้งในดินแดนอาณานิคม แต่ก็ทยอยเลิกไปนับแต่ศตวรรษที่ 18 และหันมาต่อต้านการค้าทาสอย่างจริงจังนับแต่ต้นศตวรรษที่ 19) เมื่อมาเห็นว่า สยามประเทศยังคงมีการกดขี่ผู้คนลงเป็นทาสอยู่ก็มัก “ติเตียน” การรักษาระบบสังคมที่เอารัดเอาเปรียบเช่นนี้เอาไว้

อ็องรี มูโอต์ เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ในแถบอุษาคเนย์ และเขาเป็นคนนึงที่มักตำหนิระบบทาสของสยามลงในบันทึกการเดินทางของตนเอง โดยอ้างว่า สยามในขณะนั้นมีทาสกว่า 1.5-1.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประเทศ พร้อมยกตัวอย่างสัญญาซื้อขายทาสที่สังฆราชปาลเลอกัวเคยกล่าวถึงเอาไว้ในบันทึกของตน มีความว่า

“วันพุธที่ ๒๕ เดือน ๖ ทางจันทรคติ จุลศักราช ๑๒๑๑ ข้าพเจ้า ผู้เป็นผัว พร้อมนางกล ผู้เป็นเมีย นำลูกสาวชื่อ ‘มา’ มาขายให้กับคุณหลวงศรี เป็นเงิน ๘๐ ติกัล (๒๔๐ ฟรังก์) เพื่อให้ทำงานรับใช้นายท่านแทนดอกเบี้ย ถ้านานมาลูกสาวของเราหลบหนี ให้นายท่านกุมตัวข้าพเจ้า และบังคับให้ตามตัวนางมาส่งคืน

ข้าพเจ้า นายมีขอลงชื่อไว้เป็นพยาน”

สัญญาซื้อขายลูกตัวเองลงเป็นทาสฉบับนี้ ทำให้ชาวตะวันตกอย่างมูโอต์อดที่จะให้ความสนใจมิได้ เขายังกล่าวถึงการขายเมียตัวเองลงเป็นทาสโดยคนที่มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเขาอ้างว่า “เป็นเรื่องทั่วไปในหมู่คนชั้นล่าง” และเป็นเรื่องที่ “เกิดขึ้นบ่อยและชวนสลดใจไม่มากก็น้อย”

นี่คือหนึ่งในเสียงวิจารณ์ของฝรั่งต่อสังคมสยามในอดีต อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ไทยจะได้เลิกทาสไปนานแล้ว แต่เมื่อคนไทยหลายคนในยุคปัจจุบันได้รับรู้ว่ามีชาวตะวันตก (ในอดีต) กล้ามาวิจารณ์เรื่องระบบทาสของสยาม (ในอดีต) ก็อดที่จะโต้ตอบไม่ได้ว่า “ทาสสยาม” มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า “ทาสตะวันตก”

แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็เป็นข้อต่อสู้ที่ผิดกาลเทศะเนื่องจากช่วงเวลาที่ฝรั่งวิจารณ์นั้น เขาได้เลิกการใช้ทาสไปแล้ว ประเด็นการถกเถียงในบริบทดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครเลี้ยงดูทาสดีกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดสยาม (ในขณะนั้น) จึงยังคงระบบทาสเอาไว้ ซึ่งหากระบบทาสของสยามดีจริง ก็คงไม่มีประโยชน์อันใดที่สยามจะต้องเลิกทาส ตามคำวิจารณ์ของฝรั่งเขา