ที่มา เวป พรรคเพื่อไทย
เดอะอีโคโนมิสต์รายงาน เวียดนามกำลังผงาด ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 ประเทศเวียดนามกลับมีเม็ดเงินในการลงทุนเข้ามาถึง 11.3 ร้อยล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นการโตถึง 105% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
นักลงทุนมองว่าประเทศเวียดนามนั้น คล้ายกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ที่มีส่วนผสมอันเหมาะเจาะในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนได้
ประเทศเวียดนามนั้น แม้จะไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก แต่สภาพเศรษฐกิจก็ถือว่าแข็งแกร่งอยู่เสมอตั้งแต่ปี 1990 การเติบโตนั้นอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปีต่อคน เป็นรองแค่จีน ซึ่งเวียดนามก็ได้ถีบตัวเองจากประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมาอยู่ในสถานะประเทศรายได้ปานกลาง
หากว่าภายในสิบปีข้างหน้า เวียดนามสามารถคงสถานะการเติบโตที่ 7% ต่อปีได้ ก็จะขึ้นสถานะเดียวกับจีนและประเทศเสือแห่งเอเชียอื่นๆ อย่างไรก็ดี มันก็ไม่มีอะไรแน่นอน และเศรษฐกิจเวียดนามอาจจะหดตัวลงที่ 4% และอาจจะมีสถานะเป็นอย่าง ไทยหรือบราซิลก็เป็นได้
ปัจจัยสำคัญของเวียดนามคือความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ประเทศเวียดนามอยู่ติดกับจีน สนามรบในอดีตกลับกลายเป็นสนามการค้า ไม่มีประเทศใดที่อยู่ใกล้กับใจกลางแหล่งผลิตในทางตอนใต้ของจีนเท่ากับประเทศเวียดนาม มีจุดเชื่อมต่อทั้งทางบกและทางน้ำ และเมื่อค่าแรงในจีนเพิ่มขึ้น เวียดนามจึงกลายเป็นตัวเลือกสำหหรับบริษัทต่างๆที่หวังจะลดต้นทุนทางการผลิต และยังเชื่อมต่อกับสายพานการผลิตในจีนได้อีกต่างหาก
ช่วงวัยของประชากรในเวียดนามก็เป็นอีกข้อได้เปรียบหนึ่ง ในประเทศจีน ช่วงอายุมัธยฐานคือ 36 ปี แต่ในเวียดนาม คือ 30.7 ปี 7ใน10 ของชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในชนบท เป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย แต่ในจีนนั้นเพียงแค่ 44% เท่านั้น ซึ่งปัจจัยนี้ก็จะทำให้แรงงานถูกลงไปอีก และนักลงทุนก็อยากจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงาน ซึ่งเวียดนามมีประชากรถึงเกือบ 100ล้านคน
ถึงแม้หลายประเทศจะสนับสนุนแรงงานรุ่นใหม่ๆ แต่ก็มีไม่กี่ประเทศที่มีนโยบายที่มีประสิทธิภาพอย่างเวียดนาม ตั้งแต่ปี 1990 ประเทศเวียดนามได้เปิดประตูให้กับการค้าขายการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้บริษัทต่างชาติมีความมั่นใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงาน การลงทุนจากต่างชาติเป็น 1ใน3 ของรายได้ต่อปีของประเทศ การค้าขายก็ทำได้ถึง 150% ในการส่งออกของประเทศ มากกว่าประเทศใดๆในระดับเดียวกันเมื่อเทียบ GDP ต่อหัว
การวางแผนระยะยาวก็เป็นหัวใจหลักของความมั่นคงในประเทศเวียดนาม เหมือนกับจีน เวียดนามได้ใช้พิมพ์เขียว 5ปีในการพัฒนา และรัฐบาลก็มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาด้านนวัตกรรม ทั้ง63จังหวัดของประเทศเวียดนามต่างแข่งขันกันเพื่อนดึงดูดนักลงทุน โดยมีต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมจากการลงทุนและพัฒนาโดยต่างชาติ เริ่มต้นที่เมืองโฮจิมินห์ในปี 1991
แรงงานของเวียดนามไม่ใช่แค่ยังเป็นวัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังมีฝีมืออีกด้วย โดยเวียดนามได้ลงทุนในงบประมาณด้านการศึกษาคิดเป็นประมาณ 6.3% ของ GDP มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ ต่ำ-กลาง 2%
แม้หลายประเทศจะมีรายจ่ายที่มากโข แต่ประเทศเวียดนามนั้นมีการควบคุมการใช้จ่ายที่ดีมาก ในส่วนด้านการศึกษา นักเรียนอายุ 15 ปีของประเทศเวียดนามมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ดีกว่าอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับโรงงาน อย่างเช่นโรงงานผ้าเดนิม คนงานจะต้องควบคุมเครื่องจักร ตั้งแต่เลเซอร์ไปจนถึงเครื่องซักล้างฟองนาโน เพื่อผลิตผ้ายีนส์ส่งออกมายังประเทศตะวันตก
เหนือสิ่งอื่นใด เวียดนามยังได้ประโยชน์เต็มๆกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP ที่มีอเมริกาและญี่ปุ่นร่วมด้วย นอกจาก TPP เวียดนามยังกำลังจะเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งท้าทายสำหรับเวียดนามก็คือ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2011 ซึ่งสภาพคล่องของธนาคารในเวียดนามนั้นยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร อีกทั้งภาคเอกชนก็ยังไม่สามารถผลิตเม็ดเงินได้ดีพอเมื่อเทียบกับจีน
และถึงแม้ว่าเวียดนามจะได้ประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติมา แต่มีบริษัทเพียง 36% เท่านั้นที่เป็นอุตสาหกรรมส่งออก เทียบกับในมาเลเซียและไทยที่มีถึง 60%
เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองมองในโลกเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนี้ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่าเวียดนามจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และจะกลายเป็นเสือแห่งเอเชียประเทศต่อไปได้หรือไม่ คงอีกไม่นาน
(ส่วนหนึ่งแปลจาก http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21703376-having-attained-middle-income-status-vietnam-aims-higher-good-afternoon-vietnam?fsrc=scn/fb/te/pe/ed/goodafternoonvietnam)
ภาพประกอบจาก www.economist.com