ท่ามกลางบรรยากาศมาตรา ๔๔ ไล่ที่ชุมชนป้อมพระกาฬ จนชาวบ้านต้องออกมาคล้องแขนต่อต้าน โดยมีชุมชนอื่นๆ เข้าร่วม
เหตุการณ์ทหารบุกบ้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของอาสาสมัครพยาบาลที่ถูกฆ่าตายในเขตอภัยทานวัดประทุมฯ เมื่อปี ๕๓ ไปสอบถามเชิงสอบสวนในฐานที่เป็นนักกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรม
และประเทศไทยกำลังจะไปสู่ยุค ๔.๐ แต่ไข้ซิก้า โรคระบาดร้ายชนิดใหม่ที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ได้ชิงมาถึงกรุงเทพฯ เสียก่อนแล้ว
พลันก็มีโพลใหม่ ออกโดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอกย้ำความจำเป็นต้องให้ทหารครองเมือง เข้ากับของดีรัฐธรรมนูญปราบคอรัปชั่น บอกว่าผู้ตอบคำถาม ๖๐ เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยเรื่องพรรคการเมืองใช้ประชานิยมหาเสียงเป็นสิ่งไม่ดี (ไม่ยักถามต่อว่าถ้านักการเมืองใช้ ‘ประชารัฐ’ แทนจะไม่ดีเท่ามั้ย)
(รายละเอียดอื่นๆ ดูที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/410229.html)
แต่ที่สะเด็ดยาด ได้บรรยากาศ “เลียเผด็จการที่ดีน่าภูมิใจกว่าเลียนักการเมืองเลว” (คำอ้างแก้ต่างของผู้ที่ยอมรับว่า ‘เลีย’ เพราะเตรียมจะไปเป็นนักการเมืองที่ดี) นั้นอยู่ที่
กรุงเทพโพลพบว่าถ้าจะให้เลือกตัวนายกฯ วันนี้เอาใคร ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอันดับหนึ่ง นำโลด ๒๗ เปอร์เซ็นต์
รองลงมาห่างเป็นโยช ก็ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตั้ง ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ ตามติดประชิดแค่เส้นยาแดงเป็นอันดับสามได้ ๓.๗ เปอร์เซ็นต์คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พอมองเห็นอนาคตกันละนะว่าอีก ๕ ถึง ๒๐ ปีจะเป็นอย่างไร ถ้ามองไม่ค่อยออกจะบอกให้ มันคืออียิปต์โมเดลที่กำลังจะเป็นบ้างในไทย
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๕๗ นายพลแอ็บเดล แฟ็ทตาห์ อัลซีซี ผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของอียิปต์ในปีก่อนหน้า ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบเสียเอง ด้วยคะแนนท่วมท้น ๙๗ เปอร์เซ็นต์
ก่อนเลือกตั้งมีการกวาดล้างพรรคการเมืองซึ่งเป็นแกนของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารอย่างหักโหม ชนิดผู้สนับสนุนกลุ่ม ‘ภราดรภาพมุสลิม’ ถูกฆ่าตายไปราว ๑,๗๐๐ คน จำคุกอีกเป็นพันๆ
ถึงมีนาคม ๒๕๕๘ ประธานาธิบดีอัลซีซีทำพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าเลิดหราที่ชาร์ม เอล ชี้ค เมืองท่องเที่ยวชายทะเลสุดหรูของอียิปต์ ซึ่ง รมว.ต่างประเทศสหรัฐ จอห์น แครี่ ได้แสดงความชื่นชมในทีว่า “ความสำเร็จของอียิปต์จะเป็นผลไปถึงทั้งภูมิภาคอย่างกว้างขวาง”
อีกหนึ่งปีผ่านมา มีนา ๕๙ นสพ. เดอะนิวยอร์คไทมส์รายงานว่า กระทั่งในแวดวงเศรษฐี ผู้มีอันจะกินของอียิปต์ ยังบ่นว่าฝืดเคือง ในกรณีนี้เพราะหาซื้อรถยนต์เมอเซดีสเบ๊นซ์รุ่นที่ตนต้องการไม้ได้ มันเป็น “the suffering of the rich”
(http://www.nytimes.com/…/egypt-economic-crisis-abdel-fattah…)
ปลายเดือนมีนาคมนั้นเอง บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์เรียกร้องให้รัฐบาลโอบาม่าพิจารณาทบทวนความช่วยเหลือทางทหาร ๑,๓๐๐ ล้านเหรียญเสียใหม่ เพราะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกับพวกผู้สื่อข่าว อย่างต่อเนื่องในอียิปต์
รัฐบาลโอบาม่ากลับไปให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อียิปต์ใหม่ตั้งแต่ปี ๕๘ เพราะใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีที่ฐานที่มั่นของไอซิสในภูมิภาค
(http://www.nytimes.com/…/time-to-rethink-us-relationship-wi…)
เมื่อสองวันก่อนมีรายงานข่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นชอบในเบื้องต้นต่อคำร้องของอียิปต์ขอกู้เงินมูลค่า ๑๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐิจที่ทรุดหนัก งบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง
รัฐมนตรีคลังอ้างว่าวิกฤติเรื่องปากท้องของอียิปต์ ที่การกินดีอยู่ดีหายากขึ้นทุกวันเพราะ “ประชากรมีจำนวนมากเกินไป” แต่ข่าวชี้ว่าอีกปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เอ่ยถึง คือพฤติการณ์ปั่นค่าเงินปอนด์อียิปต์ให้สูงเกินกว่าเป็นจริง มากเสียจนเกิดตลาดมืดซื้อขายเงินตราระบาด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟชี้ว่าอียิปต์จะพาตนพ้นวิกฤติได้ ต้องใช้มาตรการเก็บภาษีแว้ทเพิ่ม และตัดงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อันเป็นโครงการประชานิยมพื้นฐานมาช้านาน
ไอเอ็มเอฟยังไม่ได้อนุมัติโครงการอุ้มอียิปต์ครั้งนี้ อาจจะมาภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่จะเต็มไปด้วยข้อผูกมัดอย่างเข้มงวด ว่าต้องนำเงินไปใช้ในโครงการเกื้อหนุนอาหาร และเอื้ออาทรคนจนที่กำลังประสพปัญหาหนัก เป็นต้น
ข่าวระบุด้วยว่าคนอียิปต์จำนวนไม่น้อยไม่ต้องการให้รัฐบาลกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟครั้งนี้ เพราะไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกลัวว่าการล้มเลิกโครงการเกื้อหนุนค่าน้ำมันรถตามคำแนะนำไอเอ็มเอฟ จะก่อให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย
(http://www.nytimes.com/…/wo…/middleeast/egypt-imf-loan.html… และ http://www.al-monitor.com/…/egypt-economy-sisi-loan-imf-bil…)
เห็นไหม อะไรหลายอย่างที่เกิดจากรัฐบาลทหารในอียิปต์ มันละม้ายคล้ายทิศทาง (เบื้องหลังโร้ดแม็พ) ที่จอมพลอัลซีซีแห่งประเทศไทยเดินมา และกำลังจะเดินต่อไป ของตายทั้งนั้น
รอลุ้นแต่ว่าเลือกตั้งครั้งหน้า ผลออกมาประยุทธ์ได้เปอร์เซ็นต์ ๙๐ กว่าเท่าไหร่