วันอังคาร, กันยายน 20, 2559

"6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม" มารู้จัก "ป้าราตรี" แห่งร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่คู่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ในวัย 68 แล้ว "ป้า ไม่ ลืม"





เมื่อเรานึกถึง 6 ตุลา 2519

เรามักนึกถึงคอมมิวนิสต์ ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา นวพล กระทิงแดง กำแพงมหาวิทยาลัย ฯลฯ

แต่เราเคยสงสัยไหมว่า นอกจากเรื่องเหล่านั้นแล้ว นักศึกษาและประชาชน กินอยู่กันอย่างไร ในวันที่ยังไม่มีกระทั่งเทคโนโลยีอย่างกล่องโฟม?

เชิญรับชมเรื่องราว ผ่านสายตาและความทรงจำของ "ป้าราตรี" แห่งร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่คู่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะมีอายุ 68 แล้วในปีนี้ ป้ายังคงขายอาหารอยู่ที่ธรรมศาสตร์เหมือนเดิม (ขณะนี้ย้ายไปขายด้านหลังตึกกิจกรรม)

ป้ายังคงยืนยันกับเราว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ในวันนั้น

"ป้า ไม่ ลืม"

#แล้วพบกันที่ธรรมศาสตร์

ที่มา FB
6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม

ooo


ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: งานใหญ่ 40 ปี 6 ตุลา ส่งต่ออุดมการณ์-ตีแผ่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล


ที่มา ประชาไท
Mon, 2016-09-19 14:04

งาน 40 ปี 6 ตุลา จัดใหญ่ จัดเต็ม ทั้งปาฐกถา การนำเสนอผลงานวิชาการ การแสดงภาพยนตร์นานาชาติ และมหกรรมหนังสือการเมือง ร่วมค้นหารากเหง้าปัญหาวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย คณะกรรมการจัดงานเผยเตรียมส่งทอด 6 ตุลาให้คนรุ่นใหม่ สรุปบทเรียนความรุนแรงต่อประชาชน เพราะชนชั้นนำไทยใจดำ




ภาพจากเพจ 6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม


เป็นความพอดิบพอดีที่ปี 2559 เป็นปีครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่จารึกรอยเลือดลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใกล้เคียงกันกับการครบรอบ 10 ปีนับจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้และเป็นชนวนความขัดแย้งไม่รู้จบตราบจนปัจจุบัน

งาน 20 ปี 6 ตุลาคม เมื่อพฤษภาคม 2539 เป็นจุดเริ่มต้นให้เหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกรู้จัก พูดถึง และปรากฏที่ทางอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากปี 2539 ผ่านมาอีก 20 ปี ประเทศไทยผ่านรัฐประหารอีก 2 ครั้ง และการล้อมปราบกลางเมืองหลวงอีก 1 ครั้ง

งาน 40 ปี 6 ตุลา ในปีนี้จึงเป็นมากกว่าการรำลึกของคนแก่ตามที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลา และในวัยที่หนุ่มแน่นกว่านั้น เขาคือนักศึกษาคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์และต้องหลบหนีเข้าป่า การครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปีนี้ถูกวางให้เป็นงานใหญ่และมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย

กิจกรรมรำลึก 40 ปี 6 ตุลา

กฤษฎางค์ นุตจรัส ประธานฝ่ายวิชาการและกิจกรรม คณะกรรมการจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายแกนหลักในการจัดงานปีนี้ว่าเป็นการรำลึกถึงนักศึกษา ประชาชนในรุ่นนั้นที่เสียสละชีวิต และหวังจะให้เป็นบทเรียนแก่คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันด้วย โดยงานนี้จะจัดขึ้น 3 วันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6-8 ตุลาคมนี้

“วันที่ 6 งานจะเริ่มตั้งแต่ตี 5 เพราะเป็นเวลาเริ่มต้นการกวาดล้างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ช่วงเช้าจะมีพิธีทางศาสนา อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย มีการกล่าวคำไว้อาลัยและวางพวงหรีดจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจะมีการปาฐกถาโดยอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ผ่านเหตุการณ์ในฐานะ 18 นักโทษในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในหัวข้อ 40 ปี 6 ตุลา เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไร

“วันที่ 7 จะมีการเสวนาเรื่องสื่อสารมวลชนกับความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สื่อมวลชน เช่น วิทยุยานเกราะหรือหนังสือพิมพ์ดาวสยามปลุกระดมให้คนฆ่ากันตาย ซึ่งก็ไม่ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 8 จะเป็นการนำเสนองานวิชาการ”

นอกจากงานเสวนาต่างๆ แล้ว ตลอด 3 วันของงานยังมีงาน ‘มหกรรมหนังสือการเมือง’ ที่กฤษฎางค์กล่าวว่าจะเป็นงานหนังสือการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะจัดรอบหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งจะมีมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ จัดที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพยนตร์ที่ทางคณะกรรมการจัดงานคัดเลือกมาประมาณ 8 เรื่อง และยังมีภาพยนตร์ที่ทางคณะกรรมการจัดสร้างขึ้นเอง 2 เรื่อง เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาและเหตุการณ์ปี 2553

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เมื่อคนผิดไม่ได้รับผิด

ในส่วนของงานวิชาการ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบงานในส่วนนี้ กล่าวว่า กิจกรรมวิชาการจะจัดแยกต่างหากจากงานใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 40 ปี 6 ตุลา ผู้ที่เป็นเจ้าภาพคือคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ศึกษาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หัวข้อที่จัดคือความขัดแย้งและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

“เราไม่ต้องการมุ่งประเด็นแค่ 6 ตุลา แต่จะเป็นการนำเสนอทั้งงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายกรณีในสังคมไทย ทั้งกรณีปัจจุบัน กรณีปี 53 กรณีภาคใต้ และกรณี 6 ตุลาด้วย

“งานวิชาการที่เราจัดวันที่ 8 เราต้องการมุ่งไปที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อให้เห็นว่าคนที่ทำผิดต้องรับผิด ถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน แต่เราต้องการให้คนในสังคมตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ บทความหลายชิ้นที่เสนอในงานนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถนำคนที่ทำผิดมารับผิดได้ มันมีเครือข่าย มีระบบอุปถัมภ์ อำนาจ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร”

นักวิชาการที่จะมาร่วมนำเสนองานศึกษาในครั้งนี้ นอกจากพวงทองเองแล้ว ยังมีนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น เกษียร เตชะพีระ, ประจักษ์ ก้องกีรติ, ธงชัย วินิจกุล เป็นต้น

ส่งต่อภารกิจให้คนรุ่นใหม่

ความคาดหวังประการหนึ่งของคณะกรรมการจัดงานคือต้องการให้เกิดการรวมตัวของคน 6 ตุลาให้มากที่สุด เพื่อเป็นการรำลึกประวัติศาสตร์การเมืองร่วมกัน หลายคนคงสงสัยว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนและบรรยากาศในงานจะเป็นเช่นไร เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ สร้างความแตกต่างทางความคิดอย่างมากในหมู่คนเดือนตุลาด้วยกันเอง

“อันนี้เป็นปัญหาที่เราคิดมาตั้งแต่แรก การจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานนี้ขึ้นมา เราตั้งมาจากคนที่มีความคิดหลากหลาย พูดกันภาษาเราคือทั้งแดงและเหลือง คนกลางๆ อนุรักษ์นิยม ชื่นชมรัฐบาลชุดนี้ ก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ทั้งหมด ยกตัวอย่างหงา คาราวาน ก็รับปากว่าจะมาเล่นในงานนี้ เขาก็เป็นคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้เยอะ อะไรจะเปลี่ยนก็ตาม แต่ผมคิดว่าทัศนคติของเขาต่อ 6 ตุลาคงไม่เปลี่ยน ถ้าถามถึงความคาดหวังของคนมาร่วมงาน เราจัดงานรำลึก ใครที่เห็นความสำคัญก็มาร่วมกัน ส่วนใครที่ไม่เห็นความสำคัญ อยากลืมมันก็ลืมไป” กฤษฎางค์ กล่าว

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นที่คณะกรรมการจัดงานต้องการคือให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาและศึกษาเป็นบทเรียน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป แต่ก็เป็นการส่งทอดความคิดที่ไม่ต้องการจะครอบงำหรือผูกมัดใดๆ

“คนรุ่น 6 ตุลาก็อายุมากกันแล้ว” สุธาชัย กล่าว “เราคงมีความคาดหวังกับเด็กรุ่นหลัง เช่น คนรุ่นใหม่จะประเมิน 6 ตุลาต่อไปข้างหน้ายังไง ถ้ามองจากผม เท่าที่ผ่านมา คนเดือนตุลายังครอบงำการตีความเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา แต่พวกเราคงอยู่กันอีกไม่นาน ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้คนรุ่นหลังเป็นคนคิด เป็นคนตีความ งานนี้น่าจะเป็นงานใหญ่สุดท้ายแล้วกระมังที่พวกเราจะพอมีแรงอยู่ ผมคิดว่า 6 ตุลามีความหมายพิเศษจึงกระตุ้นความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ตอนนั้นมันเป็นยุคสมัยที่นักศึกษามีพลังในการกำหนดประเด็นของชาติ มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก

“ท้ายที่สุด สำหรับคนรุ่นใหม่ เราต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา เราไม่ควรครอบงำเขาแล้ว คนเดือนตุลาวันนี้ก็เสียหายหมดแล้ว เรื่องก็ 40 ปีแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะตีความ หรือต่อไปคนรุ่นใหม่จะบอกว่า 6 ตุลา ไม่สำคัญเลย เลิกพูดถึงมัน ไปพูดถึงพฤษภา 53 แทน ก็โอเค 40 ปี 6 ตุลาคือความพยายามส่งไม้ต่อ ส่วนคนรุ่นใหม่จะรับหรือไม่รับเป็นหน้าที่ของเขา”

“ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยใจดำ”

ทั้งกฤษฎางค์ สุธาชัย และคณะกรรมการจัดงานเห็นพ้องกันว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาควรเป็นบทเรียนสำหรับอนาคตเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่ให้เกิดการนำคนมาแขวน ไม่ต้องเก้าอี้ที่ถูกหยิบมาตีกัน

“ผมคิดว่าการเมืองไทยตั้งแต่ 2475 ผ่าน 14 ตุลา 6 ตุลา จนถึงปัจจุบัน มันเป็นการเดินทางของการเติบโตทางการเมืองของทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ทั้งทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา มีทั้งผู้แพ้ ผู้ชนะ สมหวัง ผิดหวัง ผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดมา ใครศึกษาก็จะพัฒนาตัวเองได้

“อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วยซ้ำ เพราะวันที่นักศึกษาประชาชนชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่สามปีผ่านมาก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ เราเรียกร้องประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญปี 17 แล้วเราต้องมาหวานอมขมกลืนกับรัฐธรรมนูญปี 21 ของธานินทร์ ไกรวิเชียร บทเรียนมันเหมือนกัน จากพฤษภา 35 ไม่กี่ปี เรายังต้องมานั่งฟังคุณมีชัยร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เพราะฉะนั้นผมตอบว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นบทเรียนที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สมควรจะศึกษาถึงเหตุผล ที่มาที่ไปที่เกิดขึ้น และอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก”

ด้านสุธาชัย กล่าวว่า ตนยังอยากย้ำภารกิจและข้อเสนอตั้งแต่ 20 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2539 ที่ยังไม่บรรลุ

“ก็คือการเรียกร้องให้ชนชั้นนำไทยเลิกใช้ความรุนแรงกับประชาชน หาวิธีแก้ปัญหาโดยสันติวิธี พูดง่ายๆ เราอยากให้ 6 ตุลาเป็นครั้งสุดท้ายที่ความขัดแย้งทางการเมืองในไปสู่การฆ่ากัน ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เราเรียกร้องกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาข้อเรียกร้องของเราล้มเหลว เราคิดว่าวิธีแก้ปัญหาในหมู่ประชาชนควรจะดีกว่านี้ ชนชั้นนำไทยจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฆ่าอย่างนั้นมั้ย ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย”

เราถามว่า เหตุใดข้อเรียกร้องที่ดูปกติสามัญที่สุดที่รัฐพึงทำจึงล้มเหลว

“ถ้าจะอธิบายแบบผม ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยใจดำ ไม่เคยเห็นชีวิตประชาชนมีความหมาย ไม่เคยรับฟังเสียงของประชาชน พวกเขามองประชาชนเป็นเกมในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นการเสียสละชีวิตหรือฆ่าประชาชนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งจึงสามารถทำได้”

นั่นคือบทสรุปของความล้มเหลวจากถ้อยคำของสุธาชัย

เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จบไปแล้ว โดยยังทิ้งความคลุมเครืออีกมากที่ต้องค้นหา แต่สำหรับเส้นทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยและการเมืองไทย บทสรุปยังอยู่อีกห่างไกล