วันเสาร์, มิถุนายน 04, 2559
ผู้นำที่ขาด"วุฒิภาวะ"
นายกรัฐมนตรีจะ “ขาดวุฒิภาวะ” มากน้อยกว่าที่ Watana Muangsook ‘จวก’ ไว้บนเฟชบุ๊คเมื่อวาน แค่ไหนเราไม่รู้
แต่ทักษะทางวิทยาศาสตร์ชีวะละก็ น่าจะสู้ ‘น้องเพ็นกวิน’ ไม่ได้นะ
ขานั้นเดี๋ยวนี้เก่งด้านการทูตด้วยอีกแน่ะ เขียนถึงการไปสนทนากับเอกอัคราชทูตสหรัฐไว้ให้น้ำลายสอ #ชีสเค้กอร่อยมาก...เดี๋ยวค่อยเล่า
เอาเรื่องสภาพแวดล้อมชีวะวิทยาซะก่อน เห็นที่เพจ @ดัดจริตประเทศไทย อ้างไว้เมื่อ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙
“ประยุทธ์บอกว่า ‘คนปลูกต้นไม้บนเขาเยอะๆ หายใจก็เอาอากาศเสียออกมา ป่าก็ไม่เกิด’ ที่หนึ่งของรุ่นนี่ได้มาเพราะจับฉลากหรือจับครูไปปรับทัศนคติหรือเปล่า
เวลาเขาไปปลูกต้นไม้กัน เขาคงไม่ไปตอนกลางคืนหรอก ดังนั้นเขาไปปลูกป่ากันตอนกลางวัน
ตอนกลางวันต้นไม้ต้องมีการ ‘สังเคราะห์ด้วยแสง’ (Photosynthesis)” และกระบวนการสังเคราะห์แสงต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่มนุษย์หายใจออกมาสำหรับเป็นวัตถุดิบองค์ประกอบ
“แปลว่า ต้นไม้ชอบลมหายใจที่เป็นก๊าซเสียของมนุษย์” @ดัดจริต สรุปว่า “การที่คนหายใจมากๆ ไม่ได้ทำให้ป่าเสื่อมโทรม หรือต้นไม้ไม่โตนะ
รบกวนท่านกลับไปเรียนกับเด็ก ป.๖ ใหม่ หรือเชิญ อ.เจษฎาเข้าไป lecture ให้ฟัง จะได้รู้ว่าต้นไม้ใช้ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในการสังเคราะห์แสง แล้วคายก๊าซอ็อกซิเจนกลับออกมาให้เรา”
อย่างนี้พี่ป้อมยังจะดันให้อยู่นานๆ อีกหรือ ขายหน้าเด็กน่ะ
เด็กที่ชื่อ พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพิ่งรับเชิญเป็นหนึ่งในแปดเยาวชนเข้าพบสนทนากับนายกลิน เดวี่ส์ ทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ซึ่งหนุ่มน้อยเพ็นกวินเขียนเล่าว่า
“ท่านทูตและคุณแจ็คเกอลีน ภริยาของท่านก็เชื้อเชิญพวกเราให้ไปนั่งบนโซฟารอบโต๊ะไม้ใหญ่ที่มีชุดของว่างวางเรียงราย เมื่อพวกเรานั่งลง เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งก็รินน้ำชาให้พวกเรา และการสนทนาก็เริ่มต้นขึ้น”
นั่นละเป็นที่มา “ปล.2 ชีสเค้กอร่อยจริง ๆ นะ”...
อะ ช้าก่อน ยังมีมากกว่านี้อีกแยะ
“เราหารือถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในการพัฒนาการศึกษาไทย อ้างอิงจากคำพูดของท่านทูต สหรัฐอเมริกาพยายามจะวางตัวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทย ในฐานะที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เราพยายามเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ ที่อเมริกาจะช่วยพัฒนาโอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทย...
เราพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ เรื่องโซเชียลมีเดีย เสรีภาพทางความคิดในสถานศึกษา การเรียนภาษาอังกฤษ การเตรียมตัวต้อนรับอาเซียน และเรื่อง STEM (Science Technology Engineering Mathematics) แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะเติมประเด็นเรื่องการโยงวิชาทางสายวิทย์ให้บูรณาการกับ Civic Education”
มาถึงตอนสำคัญ “ผมได้รู้จักความเป็นมนุษย์ของท่านทูตเดวีส์มากขึ้น เขาเป็นคนพูดจาเสียงทุ้มต่ำ และตอบทุกบทสนทนาที่เราพูดด้วย เมื่อเขาพูดกับวงเขาจะแบ่งสายตามองทุกคนอย่างทั่วถึง และเมื่อเขาพูดกับคนใดคนหนึ่งรวมถึงผม สายตาของเขาก็จะจับจ้องอยู่ที่ผม
ในแววตาคู่นั้นของท่านเดวีส์ ผมเห็นเหยี่ยวที่กำลังกระพือปีก”
ไหมล่ะ diplomatic observation “จากการมองตา ผมคิดว่าเขาเป็นคน 'นักเลง' พอตัว สุขุมลุ่มลึก สุภาพแต่ทรงอำนาจ น่ายำเกรง มีพลังบางอย่างอยู่ในตัว ผมคิดว่าพลังนี้กระมังที่ทำให้ท่านทูตเดวีส์อ่านแถลงการณ์หักหน้าท่านรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัยกลางกระทรวงการต่างประเทศได้
แต่ความน่ากลัวของเขาก็คือ เขาน่ายำเกรงเกินไป น่ายำเกรงจนผมไม่อาจล่วงรู็ได้ว่าแท้จริงแล้วเขากำลังคิดอะไรอยู่ในใจ แต่อย่างไรก็ตามที เราต่างก็รู้กันดีว่าไม่มีความจริงใจในวงการทูตอยู่แล้ว...
ไม่ว่าสหรัฐอเมริกามีความจริงใจที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาเรามากน้อยขนาดไหน อย่างน้อย ๆ มีมิตรก็ยังดีกว่ามีศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิตรที่อย่างน้อยลมปากก็ยังแคร์สิทธิมนุษยชน”
บอกแล้วไง สำนวนและสำเนียง (มนุษยชน) ดีกว่าบักดอน
ย้อนไปที่เรื่อง ‘ขาดวุฒิภาวะ’ ตามโพสต์วัฒนา บ่งว่านายกฯ “ชอบกล่าวในโอกาสต่างๆ ว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมือง” แต่ “นายกรัฐมนตรีคือตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากจะพูดให้ถูกต้องคือตนเป็นนักการเมืองที่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะได้ตำแหน่งมาจากการยึดอำนาจ”
อดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยยังเอ่ยถึงคดีรับจำนำข้าว ที่นายกฯ พูดพาดพิง “ว่า หากไม่ต้องฟ้องศาลจะใช้มาตรา ๔๔ สั่งจำคุกให้หมด อันเป็นการชี้นำว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึงเป็นการพูดที่มีอคติและขาดความรับผิดชอบ”
ทั้งที่ นายกฯ “เป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียโดยตรงทำให้นายกยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี...
ประกอบกับคดีนี้ศาลมีคำสั่งห้ามการนำเสนอข่าวที่มีลักษณะเป็นการชี้นำ นายกรัฐมนตรีจึงควรเรียนรู้และรักษามารยาทเรื่องนี้โดยเคร่งครัด”
นายวัฒนาลงท้ายว่า “ไม่ได้แสดงให้เห็นเพียงการขาดองค์ความรู้ในด้านการบริหารเท่านั้น ยังประกอบด้วยอคติและขาดวุฒิภาวะอย่างรุนแรง”
(https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/posts/760595964075935)
อย่างนี้ (อีกที) มวลชนพลเมืองยังจะทนให้บิ๊กตู่ บิ๊กตือ บิ๊กตอแหลทั้งหลาย อยู่ยืดเยื้อต่อไปอีกหรือ อย่านึกว่าประชาชนไม่มีทางโต้กลับในระเบียน (โร้ดแม็พ) เผด็จการแบบ คสช. นะ
ก็ประชามติรับร่าง รธน. ฉบับมีชัยนี่ละ สู้กันในเกมนิ่มๆ ก่อน เมื่อ คสช. แพ้แล้วยังด้านดันทุรังอยู่อีก ค่อยกร้าวรุกกันต่อไป ไม่ว่าลิ่วล้อ คสช. จะช่วยกันดัน ม.๖๑ พรบ.ประชามติออกมาใช้กันฝ่ายตรงข้ามหาเสียงอย่างไร
การคว่ำประชามติด้วยคะแนน ‘ไม่รับ’ ก็ยังเป็นไปได้
ดูจากข้อมูลฝ่ายรณรงค์ให้ไปออกเสียง ‘โหวตโน’ รศ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แจงถึงจำนวนผู้จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่ามีเท่าไร
“ถ้ายึดตัวเลขประชามติปี ๒๕๕๐ เพราะอยู่ในบรรยากาศรัฐประหารเหมือนกัน ก็น่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ ๕๐-๖๐% บางคนเชื่อว่าน่าจะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะปชช.เบื่อหน่ายและหวาดกลัว
(ในกรณีผู้ไปใช้สิทธิน้อย เหมาะที่จะรณรงค์ให้ไปโหวตโนมากๆ)
แต่บรรยากาศประชามติครั้งนี้ต่างจากปี ๕๐ อย่างมากคือ ปชช.ว่างเว้นการใช้สิทธิ์เลือกตั้งมานานกว่าสองปีแล้วถูกระงับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งทุกชนิด ตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงเลือกตั้งอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ฯลฯ บรรยากาศ รปห.ครั้งนี้กดขี่หนักกว่ารปห. ๔๙ อย่างมากมาย เศรษฐกิจย่ำแย่ถึงที่สุด
ความตกต่ำอย่างมากของคสช.ในสายตาปชช. (ยกเว้นชนชั้นกลางสลิ่มในกทม.) ทำให้การไปออกเสียงประชามติครั้งนี้ จะเป็น ‘รูระบายอารมณ์’ ให้ชาวบ้านได้แสดงออกทางการเมืองเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น และก็จะไม่มีโอกาสเช่นนี้ไปอีกนาน (เพราะเลือกตั้งปี ๖๐ ก็ยังเลือนลางมาก)”
ก็พอดีคล้องจองกับ ‘แม่ลูกจันทร์’ ไทยรัฐ ที่ประเมินว่า “จะมีพี่น้องประชาชนตื่นตัวไปใช้สิทธิ ๗๐ เปอร์เซ็นต์” หรือจำนวนคน ๓๕ ล้าน
(http://www.thairath.co.th/content/630351)
“ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะ ‘ต้อง’ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ ๑๗.๕ ล้านเสียงขึ้นไป” ซึ่ง “๑๗.๕ ล้านเสียง ไม่ใช่เรื่องหมูๆ นะคุณโยม”
แม่ลูกจันทร์ตั้งกังขา แล้วยังจาระไนต่อไปถึง electoral geography จำนวนผู้ออกเสียงตามภูมิภาคต่างๆ ว่าในจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ๕๐.๕ ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ ๔.๔ ล้าน โคราช ๒ ล้าน ขอนแก่น ๑.๔ ล้าน กับอีก ๙ จังหวัดที่ผู้มีสิทธิเกิน ๑ ล้าน ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์
รวมผู้มีสิทธิใน ๑๒ จังหวัดที่เอ่ยมาได้ ๑๗.๓ ล้านคน เกือบครึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมดแล้ว
ครั้นแยกจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นรายภาค ออกมาได้ว่า ภาคอีสานมากที่สุด ๒๐ จังหวัด จำนวนคน ๑๗ ล้าน ภาคกลาง ๒๕ จังหวัด จำนวนคน ๑๒.๙ ล้าน ภาคเหนือ ๑๗ จังหวัดจำนวนคน ๙.๒ ล้าน และภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ผู้มีสิทธิเพียง ๖.๘ ล้าน
แม่ลูกจันทร์เขาจึงสรุป “ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ต้องวัดใจพี่น้อง ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน ๑๗ ล้านคน”
คงหมายความลึกๆ ว่าภาคเหนือ ๙ ล้านหายห่วงไปแล้ว ภาคอีสานแบ่งไป ‘โนโหวต’ เสียหน่อย และกรุงเทพฯ แบ่งมาโหวตโนเสียอีกนิด (แย่งมาจากโหวตเยส)
การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยประชามติ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก