วันศุกร์, มิถุนายน 03, 2559

'จตุพร' ซัดคำพูด 'บิ๊กตู่' แบไต๋จ้องล้มประชามติ





ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
3 มิ.ย. 2559

"จตุพร" แนะ นายกฯ เร่งให้ ศาล รธน. ชี้ขาด ม.61 ภายใน 7 วัน ป้องเสียงบประมาณจัดประชามติเปล่าประโยชน์

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 59 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่ เพราะหากล่าช้าแล้วจะมีผลกระทบต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ชี้ขาด พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 วรรคสอง มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดแล้วต้องยกเลิกการทำประชามติ ขณะที่ความเห็นจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล้วนมีความเห็นแตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยบุคคลสำคัญด้านกฎหมายทั้งหมดนั้น เชื่อว่าถ้าเนื้อหา ม.61 วรรคสองขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค. นี้

"ผมขอให้ประยุทธ์ยืนยันว่าจะมีประชามติหรือไม่ โดยขอให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หรือโดยเร็วที่สุด เพราะจะเกิดความชัดเจนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว จะได้ประหยัดงบประมาณการทำประชามติจำนวนมากด้วย และควรสั่งการให้ กกต. หยุดพักไว้ก่อน รอการตัดสินใจจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่การชี้ขาดไม่ควรลากไปถึง ก.ค. จะทำให้ประชาชนผิดหวังกับความตั้งใจที่จะไปลงประชามติ" นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวอีกว่า หากไม่เร่งรีบให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ถ้าไปชี้ขาดหลังวันที่ 7 ส.ค. และถ้าการทำประชามติขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะเกิดความเสียหายมากกว่าชี้ขาดในช่วงนี้ ดังนั้น การชี้ขาดก่อนการทำประชามติจะเกิดประโยชน์มากกว่า ทั้งได้ประหยัดงบประมาณ กกต. ได้เกิดความชัดเจนในการรณรงค์เตรียมการทำประชามติ และประชาชนที่ตั้งใจไปใช้สิทธิทำประชามติจะไม่เกิดอารมณ์ ความรู้สึกไม่สบายใจไปด้วย ทั้งนี้ ตนเคยประเมินสถานการณ์การทำประชามติไว้แล้วว่า จะไม่มีการทำประชามติ ด้วยสาเหตุ 2 ปัจจัย คือ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม ม.44 มายกเลิก แต่จะได้รับผลกระทบทางการเมืองตามมาว่าต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาว และอีกปัจจัยเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กรณี พ.ร.บ.ประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียเอง โดยตนเชื่อในปัจจัยนี้มากที่สุดว่า เป็นไปได้ เพราะ คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปเป็นข้ออ้างได้ว่าไม่ได้ล้มประชามติ แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่สั่งให้ล้ม