วันอาทิตย์, มิถุนายน 05, 2559

ภาพส่วนย่อย ของสภาพการณ์เศรษฐกิจทรุด เริ่มตั้งแต่ความวุ่นวายทางการเมือง ‘กำจัดระบอบทักษิณ’ ตามด้วยการประท้วงแดง-เหลือง เลยมาถึงการเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ จนแม้คณะทหารเข้ามาครองเมืองได้สองปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น





รถไฟไฮสปีด ‘ได้คืบ’ นะนี่ แต่อย่าคิด ‘เอาศอก’ ก็แล้วกัน

เมื่อวาน รมว.คมนาคม แถลงว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ที่ตั้งใจจะให้ญี่ปุ่นสร้างโดยไทยเป็นฝ่ายลงทุนก่อสร้างทาง แล้วญี่ปุ่นจะเป็นผู้ดำเนินการรถจักรและตู้โดยสาร-ขนส่ง

“มีความคุ้มค่าด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังไม่คุ้มค่าด้านการเงิน”

ซึ่งหมายถึงปริมาณการลงทุนยังสูงเกินไป สูงกว่าที่คาดหมายถึง ๙ หมื่นล้าน “ญี่ปุ่นเสนอมูลค่าโครงการมาที่ ๕.๓ แสนล้านบาท สูงจากวงเงินที่ไทยเคยศึกษาไว้ว่าจะลงทุน ๔.๔ แสนล้านบาท”

ทางฝ่ายญี่ปุ่นคือคณะของรองอธิบดีกรมการรถไฟจึงเสนอให้ฝ่ายไทย “เร่งศึกษาการพัฒนาพื้นที่ข้างทาง เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าทางการเงิน”

ฝ่ายไทยบอกให้ญี่ปุ่นกลับไปพิจารณาเรื่องวงเงินก่อสร้างใหม่ อ้างว่าการศึกษามูลค่าก่อสร้างต่างกัน ไทยต้องการให้ใช้รางร่วมกับรถไฟไฮสปีดจีนในช่วงกรุงเทพฯ ถึงโคราช แต่แผนของญี่ปุ่นให้แยกรางสร้างใหม่ตั้งแต่บางซื่อถึงบ้านภาชี

(http://www.matichon.co.th/news/158267)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ พูดถึงผลการทดลองวิ่งรถไฟขนส่งตู้สินค้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปีนี้ว่า “เส้นทางจากบางซื่อ-ลำพูน มีความตรงต่อเวลา เพราะมีการปรับปรุงส้นทางเป็นทางคู่ เทียบกับภาคอีสานที่ทางรถไฟยังไม่เป็นทางคู่ และมีจุดลักผ่านหรือจุดตัดประมาณ ๔๗๒ จุดที่ต้องแก้ไข”

แต่อย่างไรก็ดีได้เริ่มก่อสร้างทางคู่เส้นจิระถึงขอนแก่นแล้ว ทั้งเตรียมการตั้งบริษัทรองรับโครงการไทย-ญี่ปุ่น โดยการรถไฟ (รฟท.) จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมา คาดว่าในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถเริ่มวางแผนธุรกิจได้

สำหรับไฮสปีดเทรนเส้นทาง กทม.-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ อาจแบ่งช่วงอีกที่นครสวรรค์เพราะทำให้เส้นตาก-มุกดาหารมาต่อเชื่อมได้ ส่วนเรื่องการลงทุนให้เอกชนนำแต่รัฐจะเข้าไปช่วยด้วยเพราะมูลค่าสูง เชื่อว่าเดือนมิถุนายนนี้รู้เรื่อง

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1464918787)

ได้เรื่องขนาดนี้ทำให้โครงการดูมีรูปธรรมดี แต่ก็อดมีคนนึกถึงเมื่อปี ๒๕๕๖ ไม่ได้ สมัยนั้นรัฐบาลผลักดันไฮสปีดเทรนที่ใช้ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า





พวกปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ ตอนนั้นหัวเราะเยาะว่าจะเอารถไฟเร็วสูงไปขนสินค้าเกษตร มาบัดนี้กลายเป็นเบี้ยหัวแตก แถมมูลค่าก่อสร้างเพิ่มไปเป็น ๕ แสน ๓ หมื่นล้านแล้ว

ทบทวนถ้อยคำที่รัฐมนตรีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อภิปรายในสภาว่า “มาวันนี้เราต้องใช้เงินสี่แสนล้านบาท และถ้าเราไม่ทำวันนี้ นักเรียนที่มานั่งฟังในสภาที่ต้อง (เป็นผู้) ทำในอนาคต อาจจะต้องจ่ายสองล้านล้าน”

แต่ว่าวันนี้ สมัยของรัฐมนตรีอาคมที่มูลค่าก่อสร้างเส้นเดียวกว่าห้าแสนล้าน เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ rosy พรุ้งพริ้งเหมือนสมัยของรัฐมนตรีชัชชาติซะแล้ว

ไอ้การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ข้างทางให้การลงทุนคุ้มค่าทางการเงินอย่างที่ญี่ปุ่นแนะนำ มันอาจไม่ยากที่จะทำ แต่รับรองไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นฉาบฉวยเหมือน ‘ผดุงกรุงเกษม’ หวังส่วนต่างอย่างโครงการขุดลอกคลองของ อผศ. อีกหรือเปล่า

ยิ่ง คสช. ตั้งเป้ากำหนด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือ ‘ลอบตั้ง’ (อันนี้บางคนบอก ‘เผือกตั้ง’) โดยวุฒิสภาก็ตาม จะต้องถือปฏิบัติต่อไปอีก ๒๐ ปี มีอะไรบ้างที่จะชี้ได้ว่าจะเป็นผลดั่งคุย คสช. มีแค่สองปีที่ผ่านมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งก็เห็นๆ กันแล้วว่า ‘ไม่มีน้ำยา’

พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ไปบรรยายที่เมืองคอนคุยเริ่ดเลยว่ายุทธศาสตร์ปี ๖๐-๗๙ จะบังคับใช้กันยายนนี้

“อีกยี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศรายได้สูง รายได้ประชาชนต่อหัวจะอยู่ประมาณ ๔.๕-๕ แสนบาทต่อปี” ตกราวเดือนละสี่หมื่นบาท

(http://www.matichon.co.th/news/157285)





“ซึ่งเรื่องรายได้ถือเป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญว่าประเทศถูกยกระดับสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”

ท่านนายพลนักปฏิรูปฝันหวานทีเดียว จนมีคนบนทวีตภพเขาแซวเอาอีกว่า ถึงตอนนั้นเงินเดือนนายพลมิถึง ๕ แสนต่อเดือนไปแล้วหรือ

หวังว่าท่านนายพล สปท. จะได้ดูตัวเลขปัจจุบันเป็นตัวตั้งบ้างนะ เวลาจะเอายุทธศาสตร์มายัดให้รัฐบาลในอนาคต ดูง่ายๆ ที่ประชาไทเขาเพิ่งรวบรวมไว้

เริ่มต้นที่อัตราว่างงานตามรายงาน สนง. สถิติแห่งชาติ ณ จุดนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ๗๒,๐๐๐ คน

“วันที่ ๒๗ พ.ค.ที่ผ่านมา สปริงนิวส์ รายงานว่า...กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้บริษัท ศรีอยุธ ปิดโรงพยาบาลเดชา ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการสถานพยาบาลต่อไปได้

ประกอบกับบริษัทประสบปัญหาขาดทุนและปัญหาสภาพคล่องในการบริหาร จึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด (๒๒๐ คน) ตั้งแต่วันที่ ๑ มิ.ย.๕๙ เป็นต้นไป”

“๑ มิ.ย. ที่ผ่านมา ช่อง ๗ สี รายงานว่า โรงงานปั่นด้ายของชาวอินเดีย ตั้งอยู่ ต.น้ำเชียว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งมีคนงานทั้งชาวไทย และแรงงานเพื่อนบ้าน ๑,๒๗๐ คน...

ประกาศผ่านโทรโข่งตามมาว่า ผู้ที่ได้รับคูปองสีชมพูให้กลับบ้านได้ และตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว ทำให้คนงาน ๗๑๖ คนที่ได้รับคูปองสีชมพู ซึ่งเป็นคนไทย ๖๑๖ คนแรงงานเพื่อนบ้าน ๑๐๐ คน ถึงกับช็อกและปล่อยโฮออกมา”

“ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ คนงาน ๘๒ คน ถูกลอยแพหลังจากที่โรงงานตัดเย็บชุดชั้นใน ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง ปิดกิจการลงตั้งแต่วันที่ ๙ พ.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้กับคนงานได้ทราบ โดยอ้างว่าโรงงานขาดสภาพคล่อง”

“๑ มิ.ย. เช่นกัน เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานด้วยว่า โรงงานออคิดไดมอนด์ฯ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เขต ๒ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี...

ผู้จัดการใหญ่สัญชาติอังกฤษ แจ้งว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ประสบปัญหาอย่างรุนแรงในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมา ธุรกิจยังขาดทุนต่อเนื่องจนไม่สามารถจะแบกรับผลขาดทุนได้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป เจ้าของจึงตัดสินใจจะขายกิจการ และประกาศเลิกจ้างพนักงานทุกคน โดยมีผลในวันที่ ๑ มิ.ย.๕๙”

(http://prachatai.com/journal/2016/06/66134)

เหล่านั้นเป็นเพียงส่วนย่อยของสภาพการณ์เศรษฐกิจทรุด เริ่มตั้งแต่ความวุ่นวายทางการเมือง ‘กำจัดระบอบทักษิณ’ ตามด้วยการประท้วงแดง-เหลือง เลยมาถึงการเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ ที่เหมือนดั่งเริ่มตอกตะปูปิดฝาโลงเศรษฐกิจไทย

จนแม้คณะทหารเข้ามาครองเมืองได้สองปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น การค้าขายฝืดเคือง การส่งออกลดต่อเนื่อง ภัยแล้งเพิ่งจะเริ่มรามือ กำลังจะถึงทีภัยจากอุทกบ้าง แล้วอย่างนี้ยังจะมีหน้ามาเขียนยุทธศาสตร์ยี่สิบปีครอบเอาไว้เพื่ออยู่ยาวเสียอีก

ในแวดวงธุรกิจการค้านั้นเขาทำยุทธศาสตร์กันแค่สามเดือนหกเดือน เศรษฐกิจมหภาคก็เช่นกัน ผู้บริหารจะมีฝีมือหรือไม่เขาก็ดูที่ผลลัพท์แต่ละไตรมาส

ใครที่บอกว่าจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นไปจนถึงปีหน้า หวังลมแล้งอย่างนี้เขาเรียกว่าพวกไร้น้ำยา