วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 06, 2559
พาเหรดล้อการเมือง 'สะท้อนสังคม หรือ ท้าทายอำนาจ' ?
http://news.voicetv.co.th/thailand/322320.html
พาเหรดล้อการเมือง 'สะท้อนสังคม หรือ ท้าทายอำนาจ' ?
by Fahroong Srikhao
5 กุมภาพันธ์ 2559
คุยกับนักศึกษากลุ่มล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงพาเหรดขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ สะท้อนสังคม หรือท้าทายอำนาจ?
สัมภาษณ์ “น้องบิ๊ก” นักศึกษาธรรมศาสตร์ โฆษกกลุ่มล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ปีนี้
งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ในปีนี้ มีความพิเศษตรงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มาร่วมประชุมกับผู้จัดงานและนักศึกษา โดย คสช. มีข้อห่วงใยถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ของขบวนพาเหรด การแปรอักษร รวมถึงอาจมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ในงาน การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 3 ก.พ.59 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนที่จะมีงานฟุตบอลประเพณีวันที่ 13 ก.พ.59 ที่สนามศุภชลาศัย
ลองมาคุยกับ “น้องบิ๊ก” โฆษกกลุ่มล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ปีนี้ ถึงการเดินหน้าเตรียมงานล้อการเมืองเพื่อรักษาประเพณีและยืนยันบรรทัดฐานต่อไป
-ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์
ขบวนพาเหรดล้อการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นสิ่งแสดงความคิดความอ่านทางการเมืองของนักศึกษาที่จะต้องโตขึ้นไปอยู่ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยแรงขับทางการเมือง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ดังนั้น การทำล้อการเมืองแสดงผ่านหุ่น ผ่านข้อความในป้ายผ้า เป็นบทกลอน จะสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยจากการเรียนในวิชาต่างๆ ออกมาเป็นตัวหุ่น เป็นป้ายผ้า ซึ่งล้อการเมืองมีมาทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากกว่าหลายล้านเสียงก็ตาม ตรงนี้ล้อการเมืองก็ยังอยู่มาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของการล้อที่ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ล้อการเมืองจะไม่ขาดช่วงไปจากสังคมไทย
-ไม่ว่าสถานการณ์จะปกติหรือไม่ ก็จะมีต่อไป
ใช่ครับ เพราะว่า เป็นการสร้างประเพณี บรรทัดฐานนี้ไว้ที่จะต้องอยู่ต่อไปครับ
-คิดเห็นอย่างไรในอดีตฟุตบอลประเพณี มีการแปลอักษร ถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ในขณะนั้น
สะท้อนความคิดเห็นคนธรรมศาสตร์ที่ทำงานในส่วนนี้ว่า บุคคลที่ควรค่าแก่การรำลึกถึง แล้วถูกทำให้หายไปจากสังคมได้เกิดขึ้น เป็นการขับเคลื่อนแนวเดียวกับล้อการเมือง คือ เราเป็นเสียงสะท้อน ของสิ่งที่อาจจะหายไปหรือถูกกลบไปด้วยกระแสอื่นๆ ในสังคม
เสียงสะท้อนที่พร้อมที่จะกล่าวถึง นโยบายผลกระทบจากรัฐบาลก็ยังมีอยู่ ในเชิงนโยบายต่างๆ ผลกระทบของผู้ที่เป็นเสียงข้างน้อยในสังคม ที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา เปรียบปรากฏการณ์ตอนนั้น อาจารย์ปรีดี เป็นเหมือนผี หรือเป็นปีศาจในสังคมไทยที่ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงมานานแล้วถูกรื้อฟื้น หยิบยกขึ้นมา ผ่านเสียงของคนธรรมศาสตร์ที่พร้อมที่จะรำลึกถึงคุณูปการของท่าน
ล้อการเมืองเองก็เหมือนกัน ก็คือว่า เราก็พร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียง เสียงสะท้อนของคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดๆ ก็ตาม
-ในแง่นี้เป็นเพียงการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นการท้าทายอำนาจ
ผมคิดว่ามันเป็นการสะท้อน เพราะบางรัฐบาลอาจไม่มีอำนาจเลยก็ได้ แต่การบริหารงานบกพร่อง เพราะความที่ไม่มีอำนาจเช่นนั้นเอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ล้อการเมือง ก็ต้องชี้ว่ารัฐบาลบกพร่องในการใช้อำนาจหรือไม่มีอำนาจ เพราะเสียงสะท้อนของสังคมในการใช้อำนาจต้องมีอย่างเหมาะสม ถ้าเกิดใช้อำนาจมากเกินไป ล้อการเมืองก็ต้องสะท้อนว่า การใช้อำนาจไม่มีดุลยพินิจที่เหมาะสมเพียงพอ เพื่อสะท้อนเสียงของสังคมที่ได้รับผลกระทบ
โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว