“รด.จิตอาสา” เริ่มลงพื้นที่ กทม.เชิญชวนประชาชนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ด้านนักรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต รด.รณรงค์หมายถึงทหารและ รด.มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่
ช่วงสายของวันนี้ นักศึกษาวิชาทหารกลุ่ม รด.จิตอาสาและคณะทหารเริ่มออกรณรงค์ลงในพื้นที่กทม.ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในชุมชน 3 แห่งย่านถนนเจริญกรุง ได้แก่ ชุมชนโชฎึก ชุมชนโปลิสสภา และชุมชนจงสวัสดิ์
นายวรเมศ จงโอฬารดำรง ประธานชุมชนโปลิสสภากล่าวว่า ขณะนี้คนในชุมชนมีความสับสนและยังไม่เข้าใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญมากนัก เขาเห็นว่ารัฐบาลควรทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ก่อนจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงประชามติ ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคนว่าจะเลือกลงคะแนนรับหรือไม่รับ
ขณะที่นายวิเชียร กมลงามพิพัฒน์ ประธานชุมชนจงสวัสดิ์เห็นว่า การรณรงค์ของ รด.จิตอาสา อาจเข้าถึงประชาชนได้ไม่มากนัก และเห็นว่าหากมีการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางโทรทัศน์ก็จะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า
ทางด้านรศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยถึงความเห็นต่อการลงพื้นที่ของ รด.จิตอาสาว่า เขาไม่เห็นด้วยและไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ รด.ที่ต้องออกมารณรงค์ เนื่องจากจะทำให้เกิดคำถามว่า การที่ รด.ออกมารณรงค์นั้นหมายถึงทหารและ รด.มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติหรือไม่ เขาเห็นว่า สิ่งที่ทหารควรทำคือ ทำให้การลงประชามติครั้งนี้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งทำให้บรรยากาศการลงประชามติเป็นไปอย่างอิสระ ซึ่งรวมถึงอิสระในการที่ประชาชนจะไม่ออกมาใช้สิทธิด้วย
รศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ทางออกที่ดีควรเปิดให้มีเวทีถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยทหารถอยตัวเองออกมาเป็นผู้รักษาความสงบ และทำให้กระบวนการลงประชามติสะท้อนเจตจำนงของประชาชนและให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกให้มากที่สุด และเตือนว่า อย่าทำให้การรณรงค์ครั้งนี้มองเห็นคนที่ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญมีค่าเท่ากับคนที่ไม่เอาคสช.ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
ก่อนหน้านี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยออกมาระบุถึงข้อกังวลว่านักศึกษา รด. จะไปชี้นำประชาชนให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลขอเน้นย้ำว่าโครงการนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา รด. สมัครใจเข้าเป็นจิตอาสาช่วยเหลือบ้านเมืองในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน และยืนยันว่า การทำหน้าที่ของนักศึกษา รด. จึงไม่ใช่การชี้นำให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับประชาชนเอง
ที่มา เพจ บีบีซีไทย
รด.จิตอาสา เด็กกำลังโตหน้าตาสดใสแค่เดินนำหน้าบังหน้ามือถือแผ่นกระดาษ แต่ข้างหลับแว๊บ..แว๊บเขียวลายพราง ครูฝึกแก่ ขี้เหล้าเมายาทหารนั่นเอง |
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 วิเคราะห์การเมือง
ความเห็น “ร่วม” ระหว่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กับ นายวิษณุ เครืองามสะท้อน “ความมั่นใจ” เป็นอย่างสูง ในทางการเมือง
มิใช่ “ความมั่นใจ” ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
มิใช่ “ความมั่นใจ” ของ นายวิษณุ เครืองาม
ตรงกันข้าม เป็น “ความมั่นใจ” ของคสช. เป็น “ความมั่นใจ” ของพลังแห่งอำนาจอันรับผิดชอบต่อกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เป็น “ความมั่นใจ” บนพื้นฐานแห่ง “ความจำเป็น”
ยืนยันว่า กระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะไม่เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างเด็ดขาด
นั่นก็คือ มิได้เป็นการมาและจากไปอย่างรวดเร็ว
ตรงกันข้าม เท่ากับเป็นการตอกย้ำและยืนยันบทสรุปจากความเชื่อเป็นอย่างสูงของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเผชิญกับการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายน 2558 ว่า
“เขาอยากอยู่นาน”
ถามว่ามองจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อะไรคือความล้มเหลวอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
1 คือ การทำรัฐประหารแล้วไม่ “ดำเนินการ” ต่อ
เห็นได้จากการมอบอำนาจให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2549
จากนั้น คมช.ก็ไปนั่งเสมอนอก
1 คือการรีบร้อนร่างรัฐธรรมนูญ การรีบร้อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปด้วยความฝันลมๆ แล้งๆ จากแผนบันได 4 ขั้น
ผลที่ปรากฏในเดือนธันวาคม 2550 คือ บันได “หัก”
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงอุดรูรั่วทุกอย่างที่สรุปจากความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
นั่นก็คือ คสช.เข้าจัดตั้ง “รัฐบาล” ด้วยตนเอง
นั่นก็คือ คสช.เข้าจัดตั้งแม่น้ำอีก 4 สาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ
รวมแล้วก็คือ “แม่น้ำ 5 สาย”
แม้ในที่สุดตามโรดแม็ปมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนกรกฎาคม 2560 แต่ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญคสช. กำกับและควบคุมโดยเครือข่ายของคสช.
ทั้งยังสามารถ “ต่อท่อ” แห่ง “อำนาจ” ให้ยาวไปได้อีก 4 ปี
จึงเห็นได้จากคำที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ของคสช.นั้นไม่เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
กำหนดเวลาของการเลือกตั้งมีลักษณะยืดได้ หดได้ กำหนดเวลาของการดำรงอำนาจก็มีลักษณะยืดได้หดได้ ไม่ตายตัว
แต่จะทำได้ครบตาม “โรดแม็ป” หรือไม่ก็ต้องติดตามต่อไป
ooo
คสช กำลังพยายามบอกว่า "โหวตเยสรัฐธรรมนูญ เพื่อในหลวง"
This E-News edits เพื่อความเหมาะสม
ที่มา
Somsak Jeamteerasakul
ขอบคุณ "มิตรสหายท่านนั้น" ที่แชร์ลิงค์รายงานข่าวนี้ http://www.ryt9.com/s/tpd/2370302
และภาพรายงานข่าวนี้ตามที่ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันนี้
เนื้อหากล่าวถึงการที่ คสช เริ่มออกรณรงค์ "เดินสาย" ในที่ต่างๆ เพื่อให้มีการรับร่าง รธน จุดที่รายงานครั้งนี้ คือที่นนทบุรี มีกรมทหาร ปตอ. ซึ่งรับผิดชอบเขตนนทบุรีเป็นเจ้าภาพ จัดที่ห้องประชุมโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี มีการเกณฑ์นักเรียนจาก รร.เทพศิรินทร์ นนทบุรี รร.บดินทรเดชา ฯลฯ และโรงเรียนอื่นๆ 300 รร. รวม 600 คน บวกกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าส่วนราชการอีก 200 คน (รวมแล้วก็ 800 คน) มาฟัง
ตอนหนึ่งของการอบรม คือให้ พันเอกถิรวัฒน์ บุญเพ็ญ ราชองครักษ์ ประจำกรมราชองครักษ์ มาบรรยาย คุณถิรวัฒน์ ก็บรรยายคุณงามความดีของในหลวงไว้อย่างซาบซึ้ง ผมอ่านแล้วน้ำหูน้ำตาไหล พิมพ์สรุปไม่ได้เลย ไปอ่านกันเองก็แล้วกัน (๕๕๕ จริงๆแล้วหลายวันนี้ผมไม่สบายอีก น้ำหูน้ำตาไหลอยู่เรื่อยเพราะหวัด ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงพิมพ์ด้วยน่ะ)
ถ้าพูดแบบซีเรียสหน่อยนะ เห็นได้ชัดว่าคุณถิรวัฒน์พยายามจะพูดให้ "ดราม่า" สะเทือนอารมณ์ เพื่อ "บีบน้ำตาคนดูคนฟัง" อะไรแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น
"......จุดเปลี่ยนในชีวิตของผมมาจากคุณยายของผมเองที่ไปเก็บขยะขาย ซึ่งได้บอกผมว่า เงินแค่บาทเดียวดูไม่มีความสำคัญ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นของเรา คำพูดนั้นส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ ในเมื่อในหลวงเป็นของพวกเรา ทำไมไม่ดูแลพระองค์ท่านบ้าง...."
ผมอ่านแล้วก็ยังงงๆว่า "เงินแค่บาทเดียวดูไม่มีความสำคัญ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นของเรา" ที่คุณถิรวัฒน์บอกว่าเป็นคำพูดที่ "ส่งผล [ต่อเขา] มาจนถึงทุกวันนี้" มันหมายความว่ายังไงน่ะ คือ สองวรรคนั้นมันเป็น "ตรรกะ" หรือเป็นเหตุเป็นผลกันยังไงน่ะครับ ..... คือเป็นงงน่ะครับ