บ้างว่าเพราะมีนักข่าวต่างชาติอย่าง ไมเคิล ยอน อดีตที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เพียงเคยเอาแต่เขียน ‘อวย’ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และต่อมา ‘ด่า’ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เลยทำให้กระทรวงต่างประเทศของ คสช. กำหนดระเบียบใหม่ในการออกวีซ่าให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพต่างชาติทำงานในประเทศไทย
จนสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หรือ FCCT ต้องบ่นเป็นแถลงการณ์ว่า “มีผลให้มีการเข้มงวดมากขึ้นกับการออกวีซ่าอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศทำงานในไทย”
ซึ่งเป็นการปฏิบัติภายใต้อำนาจจากรัฐประหารที่เป็นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายเดือน “โดยมีนักข่าวโดยเฉพาะช่างภาพหลายคนที่ทำงานในประเทศไทยมานาน ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยต่อไป”
โจนาธาน เฮด นายกสมาคมฯ กล่าวว่าถึงแม้เขาเข้าใจในเจตนาของกระทรวงต่างประเทศ ที่จะให้นักข่าวต่างชาติที่ทำงานในไทย ‘เป็นนักข่าวอย่างเดียว’ ไม่ได้มีงานอื่นแอบแฝง (หรือเพียงทำงานข่าวอย่าง sidelined)
“เราก็เป็นห่วง ที่แนวทางนี้จะมีผลกระทบต่อประชาคมผู้สื่อข่าวนานาชาติในไทย ซึ่งมีความหลากหลายให้หดเล็กลง และที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้าใจและความสนใจให้กับภูมิภาคนี้”
(http://www.matichon.co.th/news/43373)
ประกาศกระทรวงต่างประเทศเมื่อ ๑๘ กุมภาพันธ์ ระบุว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการออกวีซ่าประเภท ‘เอ็ม’ ผู้ไม่ได้โยกย้ายถิ่นฐาน ที่เป็นสื่อมวลชนทำงานในประเทศไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคมนี้เป็นต้นไป ในรายละเอียด ๖ ข้อ
อันมีเนื้อหาสำคัญ เช่น ต้องเป็นผู้ที่สำนักข่าวไม่ว่าเทศหรือไทยซึ่งตั้งมั่นเป็นหลักเป็นฐานว่าจ้างให้ทำงานเต็มเวลา และตอนที่ยื่นขอวีซ่าสื่อนี้ ไม่เคยเสนอข่าวอย่างบิดเบือนมาก่อน
โดยหลักใหญ่ในข้อจำกัดอยู่ที่ “ต้องไม่มีผลงานหรือความประพฤติอันชี้ให้เห็นว่า ‘เป็นไปได้’ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ หรือเป็นตัวการสร้างความปั่นป่วนแก่ความเป็นระเบียบของส่วนรวมหรือความมั่นคงในราชอาณาจักร”
ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องจะต้องมีจดหมายรับรองอันน่าเชื่อถือจากนายจ้างของตนแนบมาด้วย
สำหรับนักข่าวต่างชาติที่เคยได้รับวีซ่าแล้วและกำลังจะหมดอายุในช่วง ๑๘-๒๐ มีนาคม กับ ๒๑ มีนาถึง ๒๑ พฤษภาคม กระทรวงต่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือในการขอต่อวีซ่าด้วยการออกจดหมายรับรองให้ โดยให้เวลาปรับตัว ๑๒๐ วันและ ๙๐ วันตามลำดับ
ระเบียบที่นัยว่ารัดกุม (และหยุมหยิม เช่นต้องมีหลักฐานยืนยันด้วยว่าสำนักข่าวที่เป็นนายจ้างของตนมีการจดทะเบียนดำเนินการไว้แจ้งชัด) ได้รับการวิจารณ์ขรมในหมู่นักข่าวต่างชาติ ว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘ploy’ หรือชั้นเชิงใหม่ในการกำกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
ไม่ให้รายงานความเป็นไปในประเทศไทย ในสิ่งที่ทำให้เห็นสภาพทรุดโทรมและเสื่อมทราม อันทำให้เสียหายต่อชื่อเสียง และทำให้ คสช. เสียหน้ากว่าเก่า
ด้วยปรากฏว่า ณ บัดนี้ สื่อต่างชาติรู้ลึก รู้ละเอียดถึงความเป็นไปในประเทศไทย แล้วไม่ยับยั้งการนำเสนอให้ชาวโลกได้รับรู้ ขัดกับเป้าหมายที่ คสช. มุ่งหวังต้องการ
ดังเช่นบทความในนิตยสาร ‘ดิ เอ็คคอนอมิสต์’ ของอังกฤษ ฉบับประจำวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์นี้เอง กล่าวถึงประเทศไทยในข้อความโปรยหัวเรื่องว่า “พวกนายพลเกิดไอเดียเจ๋งสำหรับแผนการณ์ใหม่ ที่จะรักษาประเทศไทยให้พ้นจากลัทธิประชาธิปไตย”
ลองสำรวจเนื้อหากันดูได้ว่า นี่ใช่ไหมทำให้ คสช. ออกอาการปากกล้าขาสั่น เริ่มฟาดฟันสะเปะสะปะยิ่งขึ้นทุกที
(http://www.economist.com/…/21693251-some-generals-come-up-n…)
บทความชื่อ ‘Twenty times lucky?, Coup politics in Thailand’ เอ่ยถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็น ‘the irascible leader of the junta’ ผู้นำขี้ฉุนของคณะทหาร “ที่อารมณ์แปรปรวนของเขามีแต่จะแย่ลง”
“ประยุทธ์ อาทิตย์นี้ยืนยันซ้ำกับประธานาธิบดีโอบาม่าของสหรัฐระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในแคลิฟอร์เนีย ว่าเขากำลังเตรียมประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ก่อนจะถึงอันนั้นคณะทหารต้องการผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะมัดมือนักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ให้ขยับได้”
และว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ดูเหมือนจะแย่กว่าเก่า แม้ว่าจะล้มเลิกแผนจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขวิกฤตซึ่งมีอำนาจเต็ม สามารถคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ตามใจชอบ”
อีกทั้งร่างฯ ใหม่ยังจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. อันเป็นช่องโหว่ให้ทหารยังคงแสดงอาการเจ้านายสั่งการรัฐบาลให้ซ้ายหันขวาหันต่อไปได้
นอกจากนั้นนิตยสารของอังกฤษฉบับนี้ยังกล่าวถึงอำนาจใหม่ที่ประเคนให้แก่กรรมการเลือกตั้ง องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น และศาล โดยเฉพาะศาล รธน. ที่มีอำนาจสุดท้ายในการแก้วิกฤต “อันเป็นบทบาทที่เคยตกเป็นของกษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนี้ทรงชราภาพและพระพลานามัยถดถอย”
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เห็นทีจะสะท้อนถึงความหวาดหวั่นในหมู่อำมาตย์ที่ว่า พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ องค์รัชทายาทจะทรงมีพระกรุณาธิคุณมากกับพรรคเพื่อไทย และกลุ่มอื่นๆ ที่เชื่อว่าเป็นศัตรูของพวกตน”
ดิ เอ็คคอนอมิสต์ไม่เว้นแตะถึงกรรมการเลือกตั้ง ที่ประกาศแผน ‘ดอกไม้บาน ๖๕ ล้าน’ ว่า “ลืมไปหรือเปล่าชื่อเดียวกันนี้ในจีนสมัยเหมาเจ๋อตง จบลงด้วยการกดขี่อย่างนองเลือด”
“พวกนายพลยิ่งอยู่กันนานมากเท่าไร” อีกตอนหนึ่งของบทความให้ข้อคิดเห็น “ปัญหาต่างๆ จะยิ่งทับถมมาให้แก้มากขึ้น”
ดิ เอ็คคอนอมิสต์มองว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชิญนักข่าวต่างประเทศไปชมสวนผักที่บ้านเมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. เป็นการขยับเขยื้อนอันแยบยลเลี่ยงคำสั่ง คสช. ห้ามเธอสัมผัสการเมือง
อีกทั้งเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างพระกับทหารเมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ก็ทำให้ ‘ฮุนต้าไทย’ “แทบตั้งตัวไม่ทัน”ฉุกละหุกในการแก้ปัญหาอยู่เหมือนกัน
“มันเป็นบรรยากาศของอาการไข้ และไม่เห็นทางสิ้นสุดในทฤษฎีบ่อนทำลาย อันบ่งบอกล่วงหน้าได้ว่าต่อไป คสช. คิดจะทำอะไร แต่กระนั้นปัญหารายรอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ชี้ให้เห็นบางสิ่งที่น่าหวั่นกังวลไม่วาย” บทความลงท้าย
“ว่าผู้นำประเทศไทยที่สรรหาตัวเองขึ้นมานี้ ไม่ได้มียุทธศาสตร์ใดๆ ไว้สำหรับกาลข้างหน้าเลยแม้แต่นิด”
ความรู้จริงของสื่อต่างชาติเหล่านี้ มิใช่เป็นของใหม่เพิ่งจะเกิด หากแต่มันเป็นข่าวรายวันรู้กันหมดทั้งโลกแล้ว คสช. จะพยายามสวมหน้ากากอะไรต่อมิอะไรให้ ‘ดูดี’ แบบไหน ในสากลเขามองเห็นว่าเป็นแค่ the clown ‘จำอวด’ หากินไปวันๆ เท่านั้นเอง