ความอัปลักษณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ใครๆ เห็นพ้องต้องกันหมด ว่าถึงที่สุดแล้วมุ่งหมายให้ คสช. อยู่ยาวจริงๆ
ล่าสุดนี่ตั้งแต่องค์กรสื่อภูมิภาค ไปถึงพรรคที่มักอิงแอบรัฐประหาร จนกระทั่งคนที่เคยร่างให้แล้ว คสช. เกิดเผลอไผลปล่อยให้ สนช.ที่ตนตั้งมาเองกับมือคว่ำเสียได้ ก็ยังไม่วายร้องยี้กับเขาเหมือนกัน
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพายเรือให้แป๊ะนั่ง (ขนาดพายวนในอ่างตั้งเยอะแล้วยังไม่ถูกใจพวกสภาผัวเมียที่ คสช.ตั้ง) หลังจากเงียบไปพักใหญ่ คราวนี้มาแปลกใหม่แบบ “ลางเนื้อชอบลางยา”
หลังจากที่มีข่าวว่าเสี่ยปื๊ดก็คนหนึ่ง ไม่ถูกใจผลงานอาจารย์เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ พอมาถึงคำถามเรื่องคำแนะนำ ครม. ข้อ ๑๖ ที่พี่ป้อมส่งให้ปู่มีชัยแก้ไข
นายบวรศักดิ์รีบออกตัวเลยเชียวว่า ‘ไม่ใช่ของใหม่’ สมัยตะเองเป็นประธานร่างฯ ก็มีการเสนอทางวาจามาแล้ว “ไม่ได้เป็นหนังสือโจ๋งครึ่มแบบครั้งนี้”
ใครอยากรู้ละเอียดกว่าว่าคำสั่ง คสช. ครั้งนั้นเป็นอย่างไร บวรศักดิ์บอกให้ไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายกำกับกลาโหมเอาเอง
สำหรับคำสั่งลายลักษณ์อักษรเฮียป้อมครั้งนี้ บอกให้ปิดเกมเส้นทางไปสู่การปกครองประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ชลอเอาไว้หน่อยเป็นสองช่วง
ช่วงแรกให้เป็นระยะ ‘เปลี่ยนผ่าน’ เพื่อ “รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ไปก่อน พอน่วมได้ที่แล้วจึงถึงช่วงสอง ที่มีการเลือกตั้งอย่างเต็มสตีม
นั่นแหละ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เขาอยากอยู่ยาว” ซึ่งนายบวรศักดิ์กล่าวถึง “สมัยที่ผมเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ แล้วร่างถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำ”
“ผมเสียใจแต่แค่วันเดียว” เนื่องจาก “พอกลับมาคิดได้ก็รู้ว่าเขาอยากอยู่ยาว ยอมรับว่ามาอยู่ตรงนี้เปลืองตัว แต่ทำเพื่อชาติ ตอนนี้ก็มีความสุขดีได้เลี้ยงหลาน”
(http://www.matichon.co.th/news/44274)
ก็เลยไปเข้าไคล้ข้อคิดของนิตยสารดิเอ็คคอนอมิสต์เมื่อวันก่อนที่พูดทำนองว่า คสช. สั่งให้ ‘เขียนรัฐธรรมนูญแบบไม่ให้ผ่าน’
เพราะกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีตะหานอุ้มสมมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะรัฐบาล ‘ราบ ๑๑’ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้คนของพรรคอย่างนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา ออกมาบอกว่าถึงแม้จะชอบใจร่างฯ มีชัยมากมายหลายอย่าง แต่ติดนิดเดียว
“สิ่งที่กังวลคือข้อ ๑๖ ที่สุดท้ายได้เสนอการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแยกออกมาเป็นช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาล
คิดว่ากรธ.ได้ออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแก้วิกฤติอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ครม.เสนอ ไม่สามารถอธิบายเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากต้องการสืบทอดอำนาจ...
การเสนอแบบนี้เหมือนให้เป็นปัญหา จึงมองได้ว่า ต้องการให้ล้มรัฐธรรมนูญอีกรอบนั่นเอง”
(http://www.dailynews.co.th/politics/380860)
ผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงเจตนาแฝงเร้นของ คสช. มุ่งหมายต่อยอดครองอำนาจยืดยาว ในขณะนี้ไม่มีใครพูดได้ดีเท่า สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA ซึ่งศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๙ เปรียบเทียบกับ รธน. ปี ๔๐ และ ๕๐ แล้วพบว่า
“ฉบับนี้เปิดโอกาสให้รัฐเข้าควบคุมกำกับสื่อและกำกับการแสดงความเห็นทั้งสื่อหลักและเสรีภาพสื่อออนไลน์” นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ผู้จัดการด้านรณรงค์ของซีป้าชี้ให้เห็นว่า
“การใช้แนวคิดเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นเจ้าของ จะดึงการปฏิรูปสื่อของไทยย้อนหลังไป ๒๐ ปี"
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงสื่อ และเพิ่มเงื่อนไขในการจำกัดความ ซึ่งจะส่งผลให้สื่อขาดความป็นอิสระในการทำหน้าที่”
“ถ้าเราต้องต้านคอร์รัปชั่น ก็ต้องให้สิทธิประชาชนในการตรวจสอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อนั้นสำคัญ เพราะว่าการตรวจสอบเหล่านี้ไม่ว่าสำหรับภาครัฐหรือนักการเมือง สื่อมีบทบาทสำคัญมาตลอด”
“นับจากที่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อของไทยตกต่ำลงไปมาก ถ้าเทียบอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ที่เคยมีเสรีภาพสื่อเบ่งบานเท่าๆ กับประเทศไทยแล้ว ถือว่าประเทศไทยตกต่ำมาก”
(https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1740858599468506:0)
ไม่เพียงแต่ย้อนหลัง ๒๐ ปีเท่านั้น เดี๋ยวมีการกำกับหนักข้อ ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งตั้งคำถามได้เพียงสี่ข้อ และก่อนถามต้องแจ้งนามและสังกัดให้ชัดแจ้งเสียก่อนด้วย
นอกนั้น คสช. ยังขอเป็นผู้กำกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาติต่อไปข้างหน้าอีก ๒๐ ปีด้วย
ทั่นตุ๊ดตู่กลับจากอเมริกาคราวนี้แม้จะลดอาการติงต๊องไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ยอมละความพร่ำเพ้อ ไปพูดที่อิมแพ็คเมืองทองธานี อดีตนายทหารยิ่งใหญ่กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ยิ่งยงบอกว่า
“ทำวันนี้เพื่อวางอนาคตในวันหน้า นี่คือภาระรัฐบาลนี้ โดยแก้จากล่างขึ้นบนวางยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี” ส่วน “เรื่องแนวคิดให้เช่าที่ดินร้อยปี ๙๐ ปี ไม่ใช่เราจะขายแผ่นดินให้ต่างชาติ”
(http://www.matichon.co.th/news/43809)
แต่ว่าในด้านสาธารณูปโภค หรือ ‘infrastructure’ รถไฟความเร็วสูงอะไรนั่นเอาไว้ก่อนนะ มูลค่า ๓.๓ ล้านล้าน “ไม่ใช่ว่าจากความเร็วสูง ลดลงเหลือปานกลางแล้วทำไมยังแพง”
“ตนก็คิดว่ารางก็เตรียมไว้วันหน้าก็เปลี่ยนรถแค่นั้น วันนี้อาจจะยังไม่จำเป็น ก็ใช้รถความเร็วปานกลางก่อน ใช้กันต่อไป ค่อยๆ พัฒนาเป็นเส้นๆ ตามหลักความเร่งด่วน”
(http://www.matichon.co.th/news/44402)
เออนะ เอากะทั่นดิ ดุ่ยๆ ดึงดันไปจนได้ ลดจากเร็วสูงเหลือปานกลาง แต่เพิ่มเงินจาก ๒.๒ ล้านล้านเป็น ๓.๓ ล้านล้าน แล้วมันมีอะไรวิเศษตรงไหนมากไปกว่า ‘ส่วนต่างเงินทอน’ เยอะอยู่นา
เอาแต่ใจ อำนาจบาตรใหญ่เสียจนเคยตัว เป็นแบบอย่างชัวชัวให้ลิ่วล้อ-ลูกน้องได้ใจพากันเลียนแบบ ทั้งประเภทกระจอกอย่างรายที่ตะโกนใส่พนักงานแบ๊งค์ให้นั่งลง นั่งลง ‘กู’ ราบ ๑๑ นะโว้ย
หรือแบบกระสันอย่างพวก กกต. ที่เสนอขออำนาจเพิ่ม “ให้มีอำนาจในการควบคุม สั่งการ บังคับบัญชาข้าราชการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากมีปัญหาให้สามารถสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ได้
พนักงานสอบสวนกกต. มีอำนาจออกหมายเรียก จับกุม ตรวจค้น ยึด หรืออายัดเอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตการเลือกตั้งได้
เสนอกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อกกต.ยื่นคำร้องต่อศาล เพิ่มเติมจากที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเฉพาะส.ส. ส.ว. สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น”
(http://www.matichon.co.th/news/44399)
นี่ถ้า คสช. อยู่ยาวจริงดังว่า คงได้เห็น ‘น้ำเต้าลอยฟ่อง’ และ ‘คางคกขึ้นวอ’ เกลื่อนเมืองไปเชียวละ