โดย dulyapak
18 กุมภาพันธ์, 2016
ที่มา ประชาไท Blogazine
ความไม่ลงรอยกันในหมู่คณะสงฆ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ทำให้เกิดกระแสวิเคราะห์ออกไปหลากหลายแนวทาง ทั้งในแง่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างค่ายพุทธอิสระกับค่ายธรรมกาย ประวัติศาสตร์สังฆมณฑลที่มีทั้งธรรมยุตินิกายกับมหานิกาย รวมถึงการปะทะทางกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและม็อบพระสงฆ์
กระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าว กลับทำให้ผมนึกถึงงานเขียนชิ้นคลาสสิกของ Samuel Edward Finer นักรัฐศาสตร์ชื่อดังในหนังสือเรื่อง "The History of Government: Ancient Monarchies and Empires" (1997: เล่ม 1) ซึ่งได้ประดิษฐ์ชุดจำแนกประเภทระบอบการเมือง (Regime Typology) ที่สามารถใช้อธิบายแบบแผนเชิงอำนาจของบรรดาขั้วพลังการเมืองต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลกได้อย่างครอบคลุมแม่นยำ
Finer ได้นำเกณฑ์ธรรมชาติเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะผู้นำ กระบวนการผลิตนโยบายตลอดจนที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง มาจัดหมวดหมู่และวางแนววิเคราะห์อย่างเป็นระบบ จนก่อเกิดเป็น 4 ระบอบการเมืองหลักซึ่งนำโดย 4 ตัวแสดงสำคัญ ได้แก่ ระบอบของวัง/อาณาจักร (Palace) วัด/ศาสนจักร (Church) ขุนนาง/ชนชั้นสูง/ทหาร (Nobility) และ ชุมชนอภิปราย/ประชาชน (Forum)
ขณะเดียวกัน Finer ยังได้ผสมผสานระบอบบริสุทธ์ (Pure Type) ทั้ง 4 ประเภท จนได้ผลออกมาเป็นระบอบลูกผสม (Hybrid Type) อีก 6 ประเภท เช่น ระบอบที่นำโดยวัด-วัง (Palace-Church) อย่างกรณีรัฐสยามยุคจารีต ระบอบประชาชน-ขุนนาง (Forum-Nobility) อาทิ สาธารณรัฐโรมัน และระบอบขุนนาง-วัด (Nobility-Church) โดยเฉพาะ การปรากฏตัวของเหล่าอัศวินทิวทอนิค (Teutonic Knights) ในยุโรปยุคกลางซึ่งเป็นคณะทหารเยอรมนี ที่ต่อมาได้พัฒนาไปสู่กลุ่มศาสนจักรคาทอลิกในยุคใหม่
เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวเรื่องพระสังฆราชของสงฆ์ไทย (ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง) จึงพุ่งเป้าไปที่หรือจำเป็นต้องโยกตัวเข้าหา "Palace" ตามธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ และ "Nobility" (ซึ่งในที่นี้ หมายถึงชนชั้นนำในกองทัพและรัฐบาล) ตามขีดพลังอำนาจการเมืองการปกครองยุคปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น หากแกนวัด-วัง-ขุนนาง มิสามารถจะหาสูตรการเมืองหรือข้อยุติเกี่ยวกับตำแหน่งสังฆราชพระองค์ใหม่ได้อย่างรอมชอม การโยนประเด็นไปที่ค่าย "Forum" โดยให้ประชาชน นักวิชาการ หรือหน่วยงานประชาสังคม ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในชุมชนอภิปรายเพื่อตัดสินข้อพิพาทหรือยุติศึกชิงสังฆราช อาจเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่อาจเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
ผลจากพลวัตขึ้นลงเชิงอำนาจ จึงน่าคิดต่อว่า ชุดระบอบการเมืองผสมของ Finer เช่น ระบอบที่นำโดยประชาชนกับวัด ประชาชนกับขุนนาง หรือขุนนางกับวัด แบบไหนจะก่อรูปเข้มข้นขึ้นหรือมีอิทธิพลเหนือระบอบอื่นๆ ในโครงสร้างสังคมการเมืองไทย
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะวางยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีทางการเมืองได้แหลมคมและทรงพลังกว่ากัน เช่น หากกำลังของค่าย "Forum" ตกอยู่ในระดับอ่อนและกระจัดกระจาย สถานการณ์อาจบีบบังคับให้ค่าย "Nobility" กับ "Church" หันมาพูดคุยเจรจากันจนกลายเป็นกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรใหม่ที่มีความสัมพันธ์แนบชิดกันมากขึ้น แต่ถ้าหาก ค่าย "Forum" เกิดมีการจับกลุ่มขยายแนวร่วมในวงกว้าง ก็น่าลุ้นต่อว่าทางกลุ่มขุนนางกับวัด ฝ่ายไหนจะโยกสัมพันธ์เข้าหาประชาชนได้ดีกว่ากัน
ท้ายที่สุด ผมคิดว่า ระบอบการเมืองแบบวัด-วัง-ขุนนาง-ประชาชน น่าจะให้ภาพวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นฐานของสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม Finer ได้กล่าวเสริมในบทวิเคราะห์ของเขาว่าระบอบการเมืองที่นำโดยกลุ่มอำนาจทั้ง 4 แบบ ยังต้องขึ้นอยู่กับพลังที่ทรงอานุภาพอีก 2 ชนิด นั่นคือ พลังจากระบบราชการและกองทัพ ซึ่งนั่น ก็ย่อมหมายความว่า คงไม่ง่ายนักสำหรับรัฐไทยที่ค่าย "Forum" จะก้าวขึ้นมาเถลิงอำนาจเหนือปริมณฑลความขัดแย้งในหมู่คณะสงฆ์ได้อย่างอิสระและทรงกำลัง
ซึ่งทำให้ท้ายที่สุด ภาพที่ตีสลับกันไปมาระหว่างความร่วมมือกับความขัดแย้งที่ถูกจัดวางให้เข้าไปอยู่ในสัมพันธภาพระหว่างวัด-วัง-ขุนนาง-ประชาชน ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ต่อไปในสังคมการเมืองไทยอีกซักระยะ (อย่างน้อยก็ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่กำลังก่อตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์)
ดุลยภาค ปรีชารัชช