วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 23, 2559

ประสบการณ์เกาะกินใจของธอมัส ฟุลเลอร์ แห่งเดอะนิวยอร์คไทมส์ ในช่วงสิบปีที่ทำข่าวอยู่แถบเอเซียอาคเนย์ และไทย





ในบรรดานักหนังสือพิมพ์ชาติตะวันตกจำนวนมากที่เข้าถึงประเทศไทยลึกซึ้งกว่าพวกผู้ประกาศช่องบลูสกายแล้วละก็

ธอมัส ฟุลเลอร์ แห่งเดอะนิวยอร์คไทมส์ เป็นหนึ่งในผู้ช่ำชองสองสามคนอันเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี หรือ แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตนักข่าวรอยเตอร์

นายฟุลเลอร์เพิ่งบอกอำลาจากพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าสถานีประจำนครซาน ฟรานซิสโก เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว และเขียนบทความส่งท้ายในสัปดาห์นี้ ตีพิมพ์ฉบับวางแผงในสหรัฐวันอาทิตย์ ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์

บทความชื่อ ‘Reporting on Life, Death and Corruption in Southeast Asia.’ ของเขาสะท้อนประสบการณ์ล้ำลึกต่อภูมิภาคที่ไม่ยอมโต (หรือพัฒนา) ตลอดทศวรรษได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงแก่นความจริงที่ได้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศอื่นๆ รายงานไว้ อย่างรวบยอด

(http://www.nytimes.com/…/reporting-on-life-death-and-corrup… )

ธอมัส เริ่มบทความของเขาด้วยประสบการณ์ดิบขณะทำการสัมภาษณ์ ‘เสธ.แดง’ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล บริเวณศาลาแดง ก่อนที่กระสุนสไน้เปอร์จากที่สูงด้านโรงแรมดุสิตธานีพุ่งเฉียดเขาไปไม่กี่นิ้วกระทบศีรษะเสธ.แดง ปลิดชีวิตอดีตนายทหารยานเกราะที่ประกาศตัวปกป้องเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมราชประสงค์ปี ๒๕๕๓ ไม่ว่าเสื้อแดงและแกนนำ นปช.ขณะนั้นจะยินดีรับหรือไม่




“นายพลที่นำการปราบปรามด้วยเลือดที่ตามมา คร่าชีวิตพลเรือน ๕๘ คน เดี๋ยวนี้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย” ฟุลเลอร์เขียนในตอนหนึ่งถึงเหตุการณ์ราชประสงค์

“ฟูลเลอร์ตั้งคำถามที่ไม่ค่อยมีสื่อไทยกล้าถาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารอาชีพซึ่งมีรายได้ 40,000 เหรียญต่อปี ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย แต่ทำไมมีแจ้งต่อปปช.ว่ามีทรัพย์สินมากถึง 4 ล้านเหรียญ”

เป็นอีกตอนหนึ่งซึ่ง Pipob Udomittipong นักแปลชื่อดังคนหนึ่งในแวดวงสื่อไทยถอดความเอาไว้ กับเรื่องราวของพยาบาลอาสาที่เห็นตำตาว่าทหารฆ่าผู้บริสุทธิ์ ๖ คน ในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงเมื่อพฤษภา ๕๓

“ทำไมพยานปากเอกที่นำไปสู่คำสั่งศาลที่ว่าทหารยิงผู้ชุมนุม คุณณัฏฐธิดา มีวังปลา ‘แหวน’ พยาบาลอาสา ตอนนี้กลับตกเป็นจำเลยเสียเองในข้อหาใช้ social media ต่อต้านระบอบทหาร” ตามการถ่ายทอดของพิภพ

“ผู้คนถูกไล่ล่าและฆ่า” ฟุลเลอร์เขียนถึงคำบอกเล่าของณัฏฐธิดาในจดหมายถึงเขาเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง “ฉันเป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์คนเดียวที่ยังมีลมหายใจอยู่”

“ตลอดสิบปีที่ผมอยู่ที่นี่เป็นช่วงเวลาที่พะว้าพะวังอย่างเคร่งเครียด” อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับประเทศไทยในประสบการณ์ของธอมัส “ผมประทับใจกับความอบอุ่น มีมิตรจิตมิตรใจ และสุภาพอ่อนโยนของคนที่นี่ ตอนที่ผมสัมภาษณ์ผู้ประท้วงท่ามกลางอากาศร้อนแผดเผา เขาจะใช้พัดโบกลมเย็นใส่หน้าผมขณะที่เราคุยกัน”

“ผมเรียนรู้จากเพื่อนคนไทยในอันที่จะหัวเราะใส่ความผิดหวังและเรื่องน่ารำคาญในชีวิต ผมเอร็ดอร่อยกับอาหารและซาบซ่านกับการมีน้ำใจต้อนรับขับสู้




แต่ผมก็ปวดร้าวกับความเห็นแก่ได้ของพวกชนชั้นนำ และการคอรัปชั่นที่ครอบงำชีวิตของหลายต่อหลายคนที่ผมสัมภาษณ์ ผมได้มาเห็นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยประชาชนที่ยิ่งยงและรัฐบาลที่เลวร้าย

ด้านหนึ่งนั้นสง่างามน่าสรรเสริญ แต่อีกด้านเต็มไปด้วยความต่ำช้าของระบบผู้ใหญ่ไม่ผิด”

(ในส่วนนี้ที่ซึ่ง Somsak Jeamteerasakul อธิบายว่า “เรื่อง impunity คือการที่บรรดาชนชั้นนำในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะทำผิดอย่างไร ก็ไม่เคยต้องรับโทษ”)

นอกเหนือจากประสบการณ์อื่นๆ ในภูมิภาคที่ธอมัส ฟุลเลอร์เขียนเล่าไว้ในบทความส่งท้ายตำแหน่งงานในเอเซียอาคเนย์ อาทิ การเข้าไปสัมภาษณ์นักค้าสัตว์ป่าในลาว และการขาดแคลนความกล้าหาญทางการเมืองของฝ่ายค้านในมาเลย์เซียแล้ว

เขายังเล่าถึงกรณีโรฮิงญาไว้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก ธอมัสบอกว่าเขาพยายามตามเรือผู้ลี้ภัยที่ลอยลำอยู่กลางทะเลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้อยู่บนเรือที่ได้มา พยายามของให้บริษัทโทรศัพท์เสาะหาตำแหน่งของเรือแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ




“ผมจึงติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือที่เอื้อเฟื้อท่านหนึ่ง นาวาตรี วีระพงษ์ นาคประสิทธิ์ ได้ช่วยพูดกับบริษัทโทรศัพท์ให้บอกตำแหน่งเรือโดยคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชน กองทัพเรือรู้ดีว่าพวกผู้ลี้ภัยจะต้องตายถ้าไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ และเป็นที่เชื่อได้ว่าน่าที่จะรับภาระเสาะหาแล้วไปถึงเรือเสียเอง”

ในคืนนั้นหลังจากที่พวกนักข่าวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนเช่าเรือเร็วออกไปหาจนพบเรือผู้ลี้ภัยที่เต็มไปด้วยผู้หญิงและเด็ก ยังความชุ่มชื่นดีใจอย่างสุดซึ้งในหมู่ผู้ลี้ภัย เมื่อพวกนักข่าวโยนน้ำขวดไปให้

แต่อนิจจา “พ้นจากสายตาของพวกนักข่าวในยามมืดสนิท กองทัพเรือกลับผลักดันเรือผู้ลี้ภัยออกไปสู่ทะเลลึกอีกจนได้”

นั่นคือประสบการณ์เกาะกินใจของธอมัส ฟุลเลอร์ ในช่วงสิบปีที่ทำข่าวอยู่แถบเอเซียอาคเนย์ และไทย ที่เล่าไว้ต่อชาวโลกในวันนี้ได้รับรู้ความจริงต่างๆ นานา