วันศุกร์, ตุลาคม 16, 2558

ทนายยิ่งลักษณ์ “ ชี้” รัฐบาล ระวังเข้าข่าย “ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”



ที่มา FB

Norrawit Larlaeng
ทนายยิ่งลักษณ์ “ ชี้” ข้ออ้างรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นคดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวต้องใช้อำนาจฝ่ายปกครอง ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิด ไม่ถูกต้อง ระวังเข้าข่าย “ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” พร้อมระบุรัฐบาลต้องให้อัยการฟ้องคดีที่ศาลยุติธรรมหากเทียบเคียงคดี “เริงชัยฯ ”
.............................................

วันนี้ (14 ต.ค.2558) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ข้ออ้างของอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ เพื่อบังคับชำระหนี้ โดยอ้างว่าเพราะไม่มีทางเลือกอื่นนั้นไม่จริง ด้วยเหตุผลดังนี้

1. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคสอง ที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และเรียกร้องค่าเสียหาย หากมีค่าเสียหายตามที่อาจารย์วิษณุฯอ้างนั้นไม่เป็นความจริงกล่าวคือ

“ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ใช้กฎหมายใดเรียกค่าเสียหาย และแม้จะใช้ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ กระทำการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ก็มิใช่ไม่มีทางเลือกอื่นตามที่นายวิษณุกล่าวอ้าง” เพราะคดีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธปท.เกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาทที่อาจารย์วิษณุฯ นำมาอ้างเป็นบรรทัดฐานนั้น ความจริงแล้ว คดีดังกล่าวเมื่อสอบสวนเสร็จธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานของรัฐได้ยื่นฟ้องนายเริงชัยฯ ต่อศาลยุติธรรม ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา แทนการออกคำสั่งทางปกครอง

2. คดีนายเริงชัยฯ ที่อาจารย์วิษณุฯ ยกมาเป็นข้ออ้างเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐาน มีข้อโต้แย้งของคู่ความในคดีเรื่องเขตอำนาจของศาลภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม ปรากฏว่าศาลแพ่ง และศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามความเห็นที่ 63/2545 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ว่า “คดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในฐานความผิดเรื่องละเมิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม”

3. สำหรับเหตุผลที่ไม่ควรใช้ทางเลือกที่อาจารย์วิษณุเสนอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองมีดังนี้ คือ

3.1 โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการสาธารณะที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ไม่ใช่ผู้สั่งการทำงานโดยตรง จึงไม่สมควรใช้วิธีการที่ให้ พลเอกประยุทธ์ ออกคำสั่งทางปกครอง

3.2 การจะเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นเดียวกันกับคดีนายเริงชัย เพราะเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังหน่วยงานของรัฐกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในข้อกฎหมายเดียวกัน จึงต้องถือว่าเป็นคดีในลักษณะเดียวกันกับนายเริงชัยฯ ที่คดีอยู่เขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง รัฐบาลจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครองได้ เพราะกรณีไม่เข้าข่ายมาตรา 9 (3) ของ พรบ. จัดตั้งศาลปกครอง และ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

3.3 พลเอก ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว และได้กล่าวหาในหลายครั้งว่าโครงการทำให้ประเทศชาติเสียหาย จึงถือว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หรือ มิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง” ดังนั้นตามหลักนิติธรรมจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครองตัดสินเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรจะส่งให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษากรณีนี้

“การออกคำสั่งทางปกครองของ พลเอกประยุทธ์ ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” นายนรวิชญ์กล่าว

...


"ทนายยิ่งลักษณ์” ชี้พล.ต.สรรเสริญฯ ไม่รู้ระเบียบการสอบสวนไม่ควรพูดล้ำเส้นแบบไม่รู้เรื่องในคดีแพ่งจำนำข้าว ไม่มีหน้าหน้าที่ตอบแทนคณะกรรมการสอบสวนในคดีเรียกค่าเสียหาย"

เห็นข่าวพล.ต.สรรเสริญฯ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการคัดค้านการดำเนินการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวด้วยการออกคำสั่งทางปกครองของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นเกรงว่า พล.ต.สรรเสริญฯ จะไม่รู้ระเบียบ กติกาการสอบสวนไม่ควรพูดเรื่องคดี

วันนี้ตนเห็น พล.ต.สรรเสริญฯ ออกมาแก้ตัวในลักษณะชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แทนที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายตอบชี้แจงจดหมายเปิดผนึกและหนังสือขอความเป็นธรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่ขอความเป็นธรรม ตนจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ไปตอบเรื่องการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด

ส่วนที่ พล.ต.สรรเสริญฯ ออกมายอมรับเรื่องความมีส่วนได้เสียที่ พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นผู้ตั้งกรรมการฯชุดนี้นั้นก็พอฟังได้ แต่ควรเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการฯจะชี้แจงเอง เพราะ

1.พล.ต.สรรเสริญฯ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นทหารมาตลอดก่อนแถลงอาจไม่ได้ศึกษาระเบียบว่าด้วยการสอบสวนว่าเขามีกติกา และวิธีการอย่างไรจึงออกมาพูดโดยไม่รู้เรื่อง และมีท่วงทำนองดูหมิ่นดูแคลนในลักษณะดูถูกบุคคลที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือว่าเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาว่า "ท่านอธิบายความแล้วคนฟังไม่เข้าใจเลยเขียนตอบเป็นเอกสาร" ซึ่งก็อยากจะอธิบายให้ท่านโฆษกฯเข้าใจและรู้ความจริง ในเรื่องนี้ว่า

คณะกรรมการสอบสวนจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนตั้งแต่ตัวประธาน ท่านอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ได้คัดค้านว่า เป็นผู้แทนของหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว ย่อมจะสอบสวนให้หน่วยงานตนพ้นความรับผิดแบบปัดสวะบุคคลเหล่านั้น ทางกฎหมายเขาถือว่ามีส่วนได้เสีย อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ท่านเลยคัดค้านขอให้เปลี่ยนตัวกรรมการถึงพล.อ.ประยุทธ์ฯ ซึ่งได้คัดค้านไปหลายครั้งแล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ฯ ก็ไม่ตอบ ไม่สนใจ ไม่นำพา เรื่องอย่างนี้พล.ต.สรรเสริญฯ รู้หรือไม่ หรือแกล้งไม่รู้ เพื่อปกป้องใครจนบัดนี้หนังสือที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ฯ ก็ยังไม่ตอบทั้งๆที่ควรตอบว่าทำไมไม่เปลี่ยน แต่ดูท่าทีจากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลดูจะเร่งรีบจนเกินไป

2. การตอบเป็นหนังสือและการถามเป็นหนังสือก็ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายและระเบียบให้ที่กระทำได้ ในขณะที่คัดค้านกรรมการอยู่กรรมการจะสอบในฐานะอะไร เมื่อกรรมการตอบมาว่าจะสอบอดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้เกี่ยวข้อง ฝ่ายกฎหมายเห็นว่าในขณะที่ยังคัดค้านตัวกรรมการอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ก็ยังไม่พิจารณา จึงเห็นควรทำการตอบตามประเด็นต่างๆเป็นหนังสือตามที่คณะกรรมการอยากรู้และส่งคำให้การที่ได้ให้การไว้ในคดีอาญา พร้อมแนวทางการสอบสวนพยานของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ในแต่ละประเด็นว่า พยานบุคคลท่านใดจะพูดอะไร คณะกรรมการมีความเข้าใจคงไม่ใช่อย่างที่ท่านโฆษกฯมาตอบแทนคณะกรรมการ โดยไม่สมควร และจะทำให้เสียความเป็นธรรมต่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้

อยากขอเรียนว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีหนังสือขอความเป็นธรรมถึงนายกฯประยุทธ์หลายฉบับแต่ถูกกรมบัญชีกลางเก็บเรื่องไว้หมด จนวันนี้ยังไม่ตอบแม้ฉบับเดียว ไหนคุยนักคุยหนาว่ารัฐบาลนี้มีกฎหมายอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ปัจจุบันอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นประชาชนคนหนึ่งได้ทำหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยตอบว่าได้ดำเนินการอย่างไรถึงไหน เมื่อไหร่เสร็จ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางท่านอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ในฐานะทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ขอบอกว่าท่านโฆษกต้องระวังว่า นอกจากนายกรัฐมนตรีจะไม่ตอบและไม่ชี้แจงเรื่องที่อดีตนายกทำหนังสื่อคัดค้านแล้ว นายกรัฐมนตรียังไปพูด และให้สัมภาษณ์เรื่องการสอบสวนคดีนี้ไว้ที่ไหนอย่างไรบ้าง ทีมทนายเก็บหลักฐานไว้แล้ว วันหนึ่งในเวลาที่เหมาะสมอาจจะเอาออกมาแสดงให้คนทั้งประเทศให้ได้ดู วันนั้นท่านโฆษกฯคงตอบแทนไม่ได้

3. ประการสุดท้ายตนขอตั้งข้อสังเกต และแสดงความหนักใจกับวิธีการทำงานของคณะกรรมการสอบสวน ที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์คัดค้านคือไม่ดูความเหมาะสมของวันเวลาที่สอบสวนในลักษณะทำงานตามอำเภอใจ คืออยากจะกำหนดวันนัดวันไหนก็นัด ไม่ปรึกษาหารือวันนัดหมายและนัดก็มีลักษณะเชิงบังคับ ซึ่งพยานแต่ละคนมีเหตุจำเป็นก็ไม่ฟังเหตุฟังผลตัดพยานทันที เช่น พยานรายนายกิตติรัตน์ ณ.ระนอง เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังติดกิจธุระก็ไม่ยอมถ้าไม่ทำหนังสือให้ทบทวนก็ไม่ยอมให้เข้าพูด

ล่าสุดวันนี้วันที่ 15 ตุลาคม 2558 พออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีว่าคณะกรรมการเร่งรีบไม่ให้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานตามควรตามระเบียบการสอบสวนข้อที่ 15 ตนต้องขอบอกท่านโฆษกฯให้รู้ระเบียบข้อนี้ ตนตกใจมากว่าในวันเดียวกันกับที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยื่นจดหมายเปิดผนึกตกเย็นๆ เลขาคณะกรรมการสอบสวนโทรมานัดหมายจะขอสอบพยานบุคคลรวม 7 ปากในวันเดียวกันการกระทำอย่างนี้กรรมการตั้งใจหาความจริง หรือทำแบบขอไปทีว่ากรรมการก็ได้ให้โอกาสชี้แจงแล้ว แต่ไม่มาเองการนัดหมายไม่หารือ หรือปรึกษาว่าพยานแต่ละท่านจะว่าง หรือติดกิจธุระอะไรหรือไม่ อีกหน่อย พล.ต.สรรเสริญฯ ก็จะออกมาพูดอีกว่าเห็นไหมเลื่อนอีกแล้ว ถ่วงเวลาอีกแล้ว ซึ่งตนขอยืนยันในฐานะทนายความว่า ทำกันตรงไปตรงมาเราไม่เคยกลัวและคิดจะถ่วงเวลาอะไร ยกตัวอย่างการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ในคดีนี้ที่ผ่านมาเร่งรีบพอมาถึงศาลต้องเป็นภาระให้อัยการต้องมาเพิ่มพยานบุคคลร่วม10 ปาก พยานเอกสารอีกหก หมื่นกว่าฉบับ จนทำให้เป็นปัญหาจนถึงวันนี้

ทั้งนี้ตนเห็นว่าเวลาที่สมควรและเหมาะสมตามเนื้อหาแห่งคดีต้องนำมาพิจารณาด้วย และขอตั้งข้อสังเกต ว่าการรีบเร่งครั้งนี้มีนัยสำคัญในทางเป็นประโยชน์ต่อคดีอาญา ต้องการเร่งรีบเอาผลสอบสวนคดีแพ่งไปเติมให้คดีอาญา เพราะขณะนี้ทางอัยการได้ยื่นบัญชีระบุพยานเกี่ยวกับผลการสอบสวนคดีแพ่งไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งที่ผลสอบยังไม่รู้ผล ตนจึงจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตให้สังคมรับรู้ในข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งด้วยว่าที่ผ่านมาประเด็นความเสียหาย ป.ป.ช.ได้แต่แถลง แต่ในสำนวนไม่มีประเด็นความเสียหายจึงจะเอาผลทางคดีแพ่งไปเติมนี่คือความจริงที่ต้องพูดกัน และเป็นเรื่องที่ท่านโฆษกรัฐบาลอาจไม่รู้ แต่ไม่ควรต้องมาพูดชี้แจงแทนคณะกรรมการสอบสวนซึ่งไม่ถูกกาลเทศะ และไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ที่สำคัญคือคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โฆษกรัฐบาลมายืนยันได้อย่างไรว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีทำผิด ดูจะไม่ถูกต้อง ต้องระมัดระวังคำพูดด้วย แต่พอเข้าใจได้ว่าท่านทำหน้าที่โฆษกฯที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยครับ