วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 15, 2558

ความเป็นไทย หมายถึงความไม่เท่าเทียม ไม่เสมอหน้า




ความเป็นไทย แบบเถรวาทไทย : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความเป็นไทย หมายถึงความไม่เท่าเทียม ไม่เสมอหน้า

เห็นชัดเจนจากการศึกษาแบบเถรวาทไทย ให้ท่องจำคำครูสอนตามตำราอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วห้ามถาม ห้ามเถียง ห้ามคิดต่าง

มากกว่า 100 ปีแล้ว การศึกษาไทยยังอยู่กับที่ โดยไม่ก้าวไปไหน

มีผู้ปริ๊นต์ข้อความมาให้อ่านจาก fb เมื่อ 6 ตุลาคม ของ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ อธิบายอย่างง่ายๆเรื่องการศึกษาแบบพุทธเถรวาทไทย อ่านแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งกระจ่างจริง จึงขออนุญาตคัดโดยสรุปมาแบ่งปันให้กว้างขวางออกไปอีก จะได้รู้เท่าทันความเป็นไทยมากๆ ดังนี้


"การศึกษาของสงฆ์ที่เรียกว่าปริยัติธรรมแผนกนักธรรม-บาลี

คนที่เรียนจบนักธรรมเอกและเปรียญ 9 เป็นผู้ที่มีข้อมูลคำสอนของพุทธศาสนาในหัวมาก รู้วิธีแปลภาษาบาลีเก่ง แต่ขาด ′วิธีวิทยา′ ในการทำความเข้าใจคำสอนและเรื่องราวในคัมภีร์ เปรียบเทียบง่ายๆ ดังนี้

นักสังคมวิทยาศาสนาเมื่อเขาอ่านไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆทางศาสนา เขาก็จะมี ′วิธีวิทยา′ แบบหนึ่งในการทำความเข้าใจ และผลิตความรู้ออกมาแบบหนึ่ง

นักปรัชญามาอ่านไตรปิฎกและคัมภีร์พุทธศาสนา ก็จะใช้ ′วิธีวิทยา′ อีกแบบหนึ่งและผลิตความรู้อีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

ปัญหาคือ การเรียนพุทธศาสนาแบบท่องจำนั้น มันก็จำได้เยอะดี และมักจะทึกทักเอาว่า ′จำได้เยอะ′ แปลว่า ′มีความรู้เยอะ′ เก่งกว่าใครในสามโลก

แต่การจำได้นั้นไม่ได้ช่วยให้คุณจับความคิดหลัก, มองเห็นการมีเหตุผลสนับสนุน และมีทักษะวิเคราะห์ข้อโต้แย้งต่างๆ อย่างเป็นระบบได้ (เหมือนที่นักปรัชญาเขาทำได้)

และไม่สามารถทำให้คุณเข้าใจคำสอน ความเชื่อทางพุทธศาสนาถูกใช้ในบริบทสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆอย่างไร (อย่างที่นักสังคมวิทยาศาสนาเขาเข้าใจ)

เรียนแบบท่องจำ เน้นการจำคำสอนล้วนๆ (ไม่ได้ผ่านวิธีวิทยาถอดความคิด, เหตุผลสนับสนุน, ข้อโต้แย้งต่างๆแบบคนที่ใช้วิธีการทางปรัชญาไปศึกษาคัมภีร์เขาทำ) เวลานำเสนอคำสอนออกมา คนฟังเขาก็ฟังไม่รู้เรื่อง งงๆว่าผู้รู้พุทธเหล่านั้นกำลังเสนอประเด็นอะไรกันแน่หนอ

แล้วก็มักจะเอาคำสอนจากความจำดุ้นๆ มาตอบปัญหาทุกเรื่องในบริบทสังคมปัจจุบัน (ไม่ได้จำแนกว่าคำสอนอะไรมันทำงานได้เฉพาะบางบริบททางสังคมวัฒนธรรมอย่างที่นักสังคมวิทยาศาสนาเขาจำแนกกัน)

บ้านเราเลยมากด้วยผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสอ้าง ′คำสอนพุทธ′ จาก ′ความจำ′ มาตัดสินเรื่องต่างๆอย่างสะเปะสะปะ"

"ปล.ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนแบบ ′ท่องจำ′ คือ มักทำให้เกิดท่าทีเชิงลบต่อ ′การตีความ′ คำสอนพุทธศาสนา (ทั้งๆที่ตัวเองก็ตีความตลอดเวลา แต่ตีความสะเปะสะปะ) มันจึงไม่ก่อให้เกิดความรู้หรือมุมมองใหม่ๆ

ต่อให้ผลิตเปรียญ 9 ได้เยอะขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่พุทธไทยจะผลิตคนที่เขียนงานทางพุทธศาสนาเก่งๆเทียบเท่ากับฝรั่งที่ไม่ได้เรียนนักธรรม-บาลีได้"
[จบข้อความของ อ. สุรพศ ทวีศักดิ์]


สาาาาาาธุ
ชื่อวิชาทั้งหลายที่ลงท้ายด้วยคำว่าไทย ก็อีหรอบเดียวกัน
ต่อให้ผลิต ดร. มากขนาดไหน จะให้มีงานวิชาการเทียบเท่าฝรั่งเศส คงไม่มีวันพบ