ที่มา มติชนออนไลน์
การเมืองวัฒนธรรม
มติชนสุดสัปดาห์ 25 ก.ย. - 1 ต.ค. 2558
หลังการล้อมปราบและรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ร้องกันติดปากในหมู่นักศึกษาปัญญาชนที่เดินทางไปลี้ภัยและต่อสู้ในเขตป่าเขาภาคอีสานใต้ ว่ากันว่านักศึกษาชาวเมืองคณะหนึ่งแต่งขึ้นสดๆ แบบต่อเพลงกันไปร้องกันไปทีละท่อนๆ ระหว่างเดินเท้าจากแนวหน้าชายดงมาโรงเรียนการเมืองการทหารในแนวหลังนั่นเอง เนื้อเพลงมีอยู่ - เท่าที่ผมจำได้และฮัมคลอไประหว่างพิมพ์ - ว่า :
"เมื่อเมฆดำปกคลุมฟ้า เมื่อปวงประชาทุกข์ทนยากแค้นอับเฉา เมื่อปวงประชาเรียกร้องตัวเรา จึงขานรับคำอย่างร้อนเร่าอาจหาญทะนง
"ทิ้งบ้านจากพ่อจากแม่และผองเพื่อนมาไกล โอ้ในดวงใจของเราแสนห่วงพะวง แต่เราไม่ไหวหวั่น ยังยืนยันมั่นคง จะยืนยงคงสู้ไม่ท้อรอรา
"จากบ้านมาสู่แดนไกล เพื่อภารกิจยิ่งใหญ่แห่งมวลประชา เพื่อสร้างชาติไทยเราไม่รอช้า เด็ดเดี่ยว ก้าวเดินไปข้างหน้าอุทิศกายใจ
"ถึงคราวจับดาบจับปืนขึ้นฟาดฟันศัตรู โอ้ลูกประชาจะมัวเฉยอยู่อย่างไร จะโรมรันเข้าสู้ร่วมกับ พี่น้องไทย จะโค่นล้มมันลงไปจากผืนปฐพี
"พวกศัตรูมันโหดร้าย เข่นฆ่าทำลายปราบปรามไม่เคยปรานี มันฆ่ามันเผามันเข้าราวี พวกเราน้องพี่ ต้องลำบากต้องทุกข์ระทม
"ขุนศึกร่วมกับศักดินาล้อมปราบลูกไทย มันเอาชาติไทยไปขายให้จักรพรรดินิยม มันรุมกันกดขี่ปวง ประชาซีดซม ปล้นสะดมไทยทั้งชาติปล้นประชาชน
"เมฆมืดดำที่คลุมฟ้า จะต้องละลายลับตาหมดไปทุกหน โลกใหม่สดใสทั่วแดนสกล ปวงประชา ทุกคนอีกไม่นานสุขสมอุรา
"พวกศัตรูกำลังพยายามดิ้นครั้งสุดท้าย พวกมันต้องตายแล้ววันนั้นอีกไม่ช้า ขอแต่เรายืนหยัดร่วมกัน สู้ยิบตา ชัยชนะจะได้มาด้วยสองมือเรา"
เนื้อเพลงที่แสดงอารมณ์คิดถึงบ้านและปลุกปลอบใจให้ความหวังความเด็ดเดี่ยวเสียสละในการต่อสู้ว่า "...อีกไม่ช้า" นี้ ทำให้ผมนึกถึงเนื้อเพลงท่อนแยกของเพลงปฏิวัติอีกเพลงหนึ่งที่ร้องกันประจำในงานพิธีต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่า
นั่นคือเพลง "แองแตร์นาซิอองนาล" ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับฝรั่งเศส เนื้อร้องแต่งโดย Eugène Pottier (ค.ศ.1816-1887) และทำนองโดย Pierre De Geyter (ค.ศ.1848-1935) เพื่อรำลึกถึงการลุกขึ้นสู้และจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติของคนงานชาวปารีสเมื่อปี ค.ศ.1871 ก่อนจะถูกทหารรัฐบาลฝรั่งเศสปราบปรามกวาดล้างราบคาบ ท่อนแยกของเพลง "แองแตร์ฯ" นั้น มีข้อความว่า :
C"est la lutte finale นี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย
Groupons-nous, et demain สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง
L"Internationale แองแตร์นาซิอองนาล
Sera le genre humain จะต้องปรากฏเป็นจริง
..........................
ทว่าปัญหาสำหรับนักเดินทาง/นักต่อสู้ผู้ฮัมเพลงทำนองนี้คือหลายสิบปีผ่านไป "อีกไม่ช้า" และ "วันพรุ่ง" ก็ยังมาไม่ถึงสักทีนั่นเอง แหะๆ
ผมคิดถึงเพลงในอดีตทั้งสองขึ้นมาระหว่างอ่านบทความวิชาการบทหนึ่งที่เปรียบเทียบวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองไทยอันสืบเนื่องจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตุรกีอันสืบเนื่องจากรัฐบาล เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ในช่วงหลายปีหลังนี้ ในตอนสรุปว่าด้วย "หนทางข้างหน้า" ผู้เขียนทั้งคู่ซึ่งคนหนึ่งเชี่ยวชาญการเมืองไทย อีกคนหนึ่งเชี่ยวชาญการเมืองตุรกี ร่วมกันฟันธงหนักแน่นว่า :
"ความเปลี่ยนแปลงประเภทดังกล่าวเหล่านี้ในประเทศไทยและตุรกีเป็นสิ่งที่มิอาจย้อนกลับได้ บรรดาโครงสร้างอำนาจเก่าไม่อาจยั่งยืนอีกต่อไป คนกึ่งเมืองกึ่งชนบทนับวันก็ยิ่งมีลักษณะเป็นคนเมืองมากขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้น และเปล่งเสียงดังสนั่นขึ้นทุกที เอาเป็นว่าไม่มีทางหวนกลับไปสู่สภาพที่ประเทศเหล่านี้เคยเป็นเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนอีกแล้วนั่นเอง..."
(Duncan McCargo and Ayoe Zarakol, "Turkey and Thailand : Unlikely Twins," Journal of Democracy, 23:3, July 2012, 71-79)
อันที่จริงไม่เฉพาะตัวอย่างข้างต้น หลายปีหลังนี้ บทความวิชาการและกึ่งวิชาการจำนวนมากของบรรดาผู้เขียนทั้งไทยและเทศที่มีใจน้อมไปในทางประชาธิปไตยก็มีน้ำเสียงแสดงความเห็นทำนองเดียวกันนี้ออกมาอย่างมั่นอกมั่นใจ
แน่นอนว่ามติดังกล่าวตั้งอยู่บนการสรุปวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจเชิงวิชาการอย่างหนักแน่นตามสมควร
ปัญหาอยู่ตรงการคาดการณ์ทางการเมืองไปในอนาคตเบื้องหน้า ซึ่งไม่ง่ายที่จะสกัดกลั่นกรองสิ่งที่ผู้วิเคราะห์อยากให้เป็นออกมาจากสิ่งที่น่าจะเป็นอย่างหมดจดเลือดเย็น
แล้วยังมีปัจจัยเชิงอุบัติเหตุ, การณ์จร, กระสุนด้าน ฯลฯ ที่อาจพลิกเพี้ยนเบี่ยงเบนให้สถานการณ์คลี่คลายออกมาในทางอื่นนอกเหนือจากที่คาดหมาย
แม้จะไม่ถึงกับย้อนยุคหวนกลับไปในอดีตแต่ทางข้างหน้าก็ไม่แน่ว่าจะมีแค่สายเดียวจุดหมายเดียว
แทนที่จะคิดถึง "ประชาธิปไตย" หรืออุดมคติอื่นๆ ในลักษณะเป้าหมายปลายทางที่จะต้องบรรลุถึง "อีกไม่ช้า" หรือใน "วันพรุ่ง" จึงอาจจะรอบคอบรัดกุมกว่าและสอดคล้องกับความเป็นจริงกว่าที่จะคิดถึง "ประชาธิปไตย" ในลักษณะที่เป็น "กระบวนการ"
เป็นกระบวนการขยับขยายพื้นที่อำนาจจากคนส่วนน้อยมาสู่คนส่วนใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆเรื่อยๆ
เช่นจากเจ้านายขุนนางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ --> ข้าราชการสามัญชนในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 --> คนชั้นกลางชาวกรุงในยุค 14 ตุลาฯ 2516 และพฤษภาฯ 2535 --> คนชั้นกลางระดับล่างหรือรากหญ้าในปัจจุบัน --> และสู่คนกลุ่มใหญ่ขึ้นมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อีกในอนาคต
และก็เป็นกระบวนการขยับขยายพื้นที่อำนาจของคนส่วนใหญ่จากที่อันแคบไปสู่ปริมณฑลอื่นอันกว้างไพศาลขึ้นเรื่อยๆเช่นจากเฉพาะพื้นที่การเมืองในระบบจากการเลือกตั้ง--> พื้นที่เศรษฐกิจภายใต้ตลาดเพื่อถ่วงดุลอำนาจทุน --> พื้นที่สังคมวัฒนธรรมเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางวาทกรรม/ความรู้เชิงเทคนิค ฯลฯ
เป็นกระบวนการผลักดันขับเคลื่อนที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานและทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีจุดหมายปลายทางหนึ่งเดียวที่ไปถึงแล้วเป็นอันชนะอวสานจบสิ้นหรือสำเร็จเรียบร้อย หากเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ และในทำนองเดียวกันก็อาจเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ถดถอยลงได้เรื่อยๆ เช่นกัน มีแต่ต้องเดินหน้าผลักดันกันไปอยู่อย่างนี้ เหมือนเป็นจังหวะเต้นของหัวใจ เป็นชีพจรของชีวิตที่เคลื่อนไหว
เป็นกระบวนการต่อสู้ที่มีชนะ/แพ้ ถูกบ้าง/ผิดบ้าง เดินหน้า/ถดถอย สำเร็จ/เพลี่ยงพล้ำ แต่ไม่มีวันจบ วันหยุด ไม่มีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย หากมีหลายครั้ง ร่ำไปเรื่อยไป ไม่หยุดถาวร
นับจาก เทียนวรรณ, ก.ศ.ร. กุหลาบ, นรินทร์ กลึง, ถวัต ฤทธิเดช, กุหลาบ สายประดิษฐ์, ปรีดี พนมยงค์, จำกัด พลางกูร, เตียง ศิริขันธ์, ศุภชัย ศรีสติ, ครอง จันดาวงศ์, ทองพันธ์ สุทธิมาศ, รวม วงษ์พันธ์, อัศนี พลจันทร, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ
มาจนถึงนักศึกษาประชาชนแห่งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และน้องณัฐนันท์ วรินทรเวช กับน้องพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แห่งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทในปัจจุบัน
ตราบเท่าที่เราทั้งหลายยังอยากอยู่อย่างเสรี