วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 15, 2558

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยืนยันว่า "โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล นอกจากไม่ได้สร้างความเสียหายแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและเศรษฐกิจไทยอีกด้วย


ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมขอยืนยันว่า "โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล นอกจากไม่ได้สร้า...
Posted by Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) on Tuesday, October 13, 2015
https://www.facebook.com/kittirattnofficial/videos/vb.308333269258308/893676727390623/?type=2&theater


ooo

นายกรัฐมนตรีแจงโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ลดช่องว่างความยากจน




November 27, 2013

นายกรัฐมนตรีแจงโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ลดช่องว่างความยากจน

นายกรัฐมนตรีชี้แจงสภาฯ โครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และหากมีการทุจริตยินดีที่จะดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีละเว้น


วันนี้ (27 พ.ย.56) เวลา 12.30 น. ณ อาคารรัฐสภา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ดังนี้

เรียนท่านประธานสภาฯ ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องขออนุญาตกราบเรียนท่านสมาชิกฯ และใช้เวลาช่วงนี้ในการที่จะตอบคำถามท่านสมาชิกฯ ในประเด็นเรื่องของกรณีโครงการรับจำนำข้าว ต้องเรียนว่า ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวนั้น ท่านสมาชิกหลายท่านมีความห่วงใยว่า นโยบายรับจำนำข้าวนั้น เอื้อต่อการทุจริตหรือไม่

ต้องเรียนว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ต้องการลดช่องว่างความยากจนของพี่น้องประชาชน และการดูแลช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เพราะจะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 กว่าปีแล้วราคาข้าวเปลือกไม่ได้มีระดับที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของพี่น้องเกษตรกรสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการปลูกข้าวต่าง ๆ ประกอบกับในเรื่องของปัญหาอุทกภัยและความผันผวนต่าง ๆ ก็มีผลทำให้ผลผลิตข้าวอาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวัง เราจึงต้องการดูแลทั้งรายได้ของพี่น้องเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำที่ต้องให้น้ำนอกจากจะไม่ไปทำความเสียหายในเรื่องของบ้านเรือนแล้ว ยังสามารถที่จะใช้ในเรื่องของระบบชลประทานและการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อไปสู่ระดับของความมั่นคงเกี่ยวกับเรื่องของน้ำ

เรียนว่าในส่วนของนโยบายนี้ เราได้มีการพิจารณาว่าในส่วนของการแก้ปัญหานั้น จากเดิมที่ใช้ระบบประกันจะเป็นในลักษณะของการประกันรายได้ขั้นต่ำ ทำให้กลไกนี้ไม่สามารถที่จะจูงใจให้กับพ่อค้าในการที่จะทำให้ราคาสูงได้ แน่นอนก็จะกลับมาหาต้นทุนที่สูงในขณะที่ราคาไม่สูงขึ้น รายได้ต่าง ๆ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการวัดค่า ปัญหาต่าง ๆ เรื่องของการวัดค่าความชื้น การช่างน้ำหนัก ส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะไม่มีการดูแล ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

นอกจากนั้น ในเรื่องของระบบนี้ก็ยังเปิดโอกาสในเรื่องของให้เกิดการทุจริตด้วย เพราะว่าการประกันจะไม่ได้มีการส่งมอบข้าว ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดเรื่องของการจ่ายประกันในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งยังมีปัญหาในทางปฏิบัติเช่นกัน

ในส่วนของข้าวนั้น เรียกว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แล้วก็ไม่ได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพข้าว ดังนั้น โครงการรับจำนำก็จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีประโยชน์ที่จะจูงใจให้พี่น้องเกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพข้าวที่ดีขึ้น

ดังนั้นจึงเรียนว่า โครงการับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ทำให้ชาวนานั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญทำให้ระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ หมุนเวียนและเติบโต และจากที่เราเก็บตัวเลขมาจะพบว่า GDP เพิ่มขึ้น ปีละ 1.6 แสนล้าน และในอนาคตเราก็มีการพัฒนาในเรื่องของโครงการเกษตรโซนนิ่ง ก็คือการเพาะปลูกในพื้นที่โดยการวิเคราะห์ในเรื่องของความเหมาะสมพื้นที่ดิน น้ำ และระบบชลประทานให้มีความเหมาะสม เพื่อจะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าวหรือการผลิตข้าวให้เพียงพอ มีอยู่ในระดับที่มีคุณภาพที่ดีด้วย

ด้วยผลของโครงการรับจำนำข้าวก็จะทำให้เกษตรกรได้รับผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องเรียนว่าจากที่ผ่านมานั้น ชาวนาก็มีเงินออมเพิ่มขึ้น 18-26 เปอร์เซ็นต์ และหลายคนก็เริ่มที่จะมีความสามารถในการที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นการช่วยเหลือทางด้านของความมั่นคง ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนด้วย

แต่แน่นอนในส่วนของโครงการนี้ เราก็ได้มีการสั่งการย้ำให้มีการดูแลทุกขั้นตอนไม่ให้เกิดการรั่วไหลและทุจริต จะเห็นว่ารัฐบาลนี้ก็ได้มีการสั่งการในระดับปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ปัญหาในการตรวจสอบ โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการ ท่านคงทราบดี คณะกรรมการอำนวยการในเรื่องของการตรวจสอบการทุจริตรับจำนำข้าว เราไม่ได้ตรวจสอบโดยเลือกปฏิบัติ แต่เราตรวจสอบโครงการของรัฐบาลด้วย ซึ่งในส่วนนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม อยู่บำรุง สมัยท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรีก็ได้เป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการถึง 12 ชุด และยังมีการปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติหลายขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การรับจำนำที่โรงสี การส่งมอบข้าวเข้าโครงการ การเก็บรักษา การระบายข้าว และมีการเรื่องของระบบ CCTV มาติดตั้ง และเข้มงวดในส่วนของการทำงาน และในคณะกรรมการ กขช. ก็จะมีการเข้มงวดในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์และรักษาคุณภาพข้าว

ขออนุญาตเรียนท่านสมาชิกที่เคารพ ว่า ในส่วนนี้การทำงานของนโยบายของรัฐบาลเรื่องการรับจำนำข้าว นั้น ท่านสมาชิกได้มีการกล่าวถึงในหลาย ๆ ระดับด้วยกัน ดิฉันขอเรียนเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า วิธีการทำงานนั้น มีหลาย ๆ ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ขั้นแรก ในฐานะที่เป็นประธาน กขช. โดยตำแหน่ง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น กขช. คือเป็นคณะกรรมการในระดับของนโยบายซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในการทำงานดิฉันได้มอบหมายให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานทุกครั้ง และจากคณะกรรมการของ กขช. นี้ คณะกรรมการ กขช. จะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหลและการทุจรติคอร์รัปชั่น เพื่อให้กับคณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะอนุกรรมการในที่นี้ มีทั้ง 12 คณะ ก็จะมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ในเรื่องของคณะอนุกรรมการด้านการผลิต การตลาด การดูแลรับจำนำ การระบายข้าว ซึ่งมีระดับรัฐมนตรี หรือระดับปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นประธานอนุในแต่ละคณะอนุกรรมการ ซึ่งมี 12 คณะ และต่อมาก็คือระดับปฏิบัติการ ซึ่งระดับปฏิบัติการก็จะปฏิบัติการภายใต้การทำงานของคณะอนุกรรมการ อันนี้จากชาร์ตจะเห็นว่าในรายละเอียดของระดับปฏิบัติของคณะอนุกรรมการฯ แต่ละคณะอนุกรรมการก็จะมีแต่ละเรื่อง ดังนั้นการทำงานในเรื่องของนโยบายรับจำนำข้าวนั้น จะทำในรูปแบบของคณะทำงานในรูปแบบของคณะบุคคล จากคณะปฏิบัติก็จะมาถึงหน่วยปฏิบัติ ก็มีหลายหน่วยเช่นกัน หน่วยแรกคือ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกำกับโดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แล้วก็ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกำกับโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และมีองค์การตลาดเพื่อการเกษตร( อ.ต.ก.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) นี่คือระดับการทำงาน 3 ระดับ การตรวจสอบหรือการจ่ายเงินก็มาจากกระทรวงการคลัง จ่ายโดยผ่านสำนักงบประมาณเข้ามายังหน่วยงานสามหน่วยงาน โดยเฉพาะเงินที่เป็นเงินของพี่น้องเกษตรกรจ่ายผ่าน ธ.ก.ส. ทุกบาททุกสตางค์ อันนี้ขออนุญาตเรียนให้ทราบในเรื่องของแนวทางการดำเนินการซึ่งเรามีการพูดถึงกันอยู่ในหลาย ๆ ระดับ

สำหรับประเด็นที่ท่านสมาชิกพูดถึง คือประเด็นเรื่องข้าวถุง เรียนยืนยันว่า ดิฉันไม่รู้จักชื่อบุคคล หรือบริษัท ที่ได้เอ่ยนามมาเลย และไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง สองปัญหาเรื่องข้าวถุงที่ท่านกล่าวถึงนั้น อยู่ในขั้นตอนระดับปฏิบัติ แล้วแต่ละขั้นตอนต้องเรียนว่า ถ้ามีปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการทุจริต การรั่วไหล ยินดีที่จะดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีละเว้น

ขอบคุณค่ะ