วันพุธ, กรกฎาคม 01, 2558

แรงกระเพื่อม ′พลังนักศึกษา′ ปฏิกิริยาของ ′ผู้นำ′ และ ′วัฒนธรรม′ ที่มีปัญหา




โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจ
มติชนรายวัน
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 38 ฉบับที่ 13624
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435648173


แรงอย่างไม่น่าเชื่อ

ปรากฏการณ์ที่บรรดานักศึกษา 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มนักศึกษาที่ถูกจับหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งจัดงานรำลึก 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รวมกันเป็นหนึ่งในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"

7 คนของดาวดิน เดินทางจาก ต.นาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน จากความขัดแย้งเรื่องสัมปทานเหมืองทองคำ มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ และรวมตัวกับนักศึกษาหน้า "หอศิลป์" ซึ่งไปรออยู่แล้วที่ สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน ถือฤกษ์งามยามดีวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์วันดัง กล่าว

เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเกาะติดกลุ่มนักศึกษาทั้ง ที่ สน.ปทุมวัน ที่พักสวนเงินมีมา ย่านเจริญนคร และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะท้อนอะไรหลายอย่าง

ไม่อย่างนั้น "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่ออกมาพูด

เช่นเดียวกับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ประสานเสียงตรงกันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้มีคน "ชักใยอยู่เบื้องหลัง"

ปฏิกิริยา ′ผู้นำ′
กับการ ′ดิสเครดิต′

"ยืนยันว่ามีกลุ่มคนอยู่เบื้องหลังแน่นอน ไปหาดูได้ในสื่อโซเชียล"

เสียง ให้สัมภาษณ์อันเป็นสไตล์ของ "บิ๊กตู่" ตอบคำถามกรณีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" น่าสนใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับผู้นำประเทศ จริงจังและขึงขังต่อนักศึกษา 17 คน ทั้งที่เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ทว่ากลับ "เสียงดัง"

การมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตามติดตลอดเวลา กระทั่งในที่สุดมีหมายจับออกมาจาก "ศาลทหาร" คือสิ่งยืนยันถึงปฏิกิริยาที่เกิด

"ที่คุณประยุทธ์พูดอย่างนั้น ก็คงจะเป็นการดิสเครดิตกลุ่มนักศึกษานั่นแหละ" เป็นคำตอบของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อประโยคข้างต้นของนายกรัฐมนตรี

"อาจจะได้ข้อมูลจากการข่าวของทหารเองด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีคิดแบบทหาร"

ไม่พ้นต้องขยายความคำที่ท้ายประโยค
 




"วิธี คิดแบบทหาร คือคิดว่าการเคลื่อนไหวทั้งหลายต้องมีหัวโจกนั่นเอง อย่างการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มนี้ ฝั่งทหารก็ย่อมมองว่าต้องมีเบื้องหลัง มีคนสนับสนุน มีคนคอยคิดวางแผนหรือยุยง ก็แล้วแต่"

ใช่ว่าจะเพิ่งมามีวิธีคิดเช่น นี้ในยุครัฐมนตรีของ นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ "พิชิต" ยังขยายความต่ออีกว่า เมื่อสมัย 14 ตุลา ทหารก็เคลื่อนไหวและคิดแบบนี้เช่นกัน

"แบบเดียวกันเนี่ยแหละ โลกไปถึงไหนแล้ว ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่วิธีคิดแบบนี้ยังอยู่" เป็นคำตอบที่มาพร้อมเสียงกลั้วหัวเราะเบาๆ ในคอ "อย่าไปให้คะแนนเลย"

"คือ ถามว่าดิสเครดิตได้จริงๆ ไหม คนที่เชื่อทหารเขาก็ยังเชื่อต่อไป ไม่ได้เพิ่มคนหรือลดคนที่เชื่อหรอก คนไม่เชื่อ ไม่เอารัฐประหาร ก็ไม่เชื่อ ก็เท่าเดิมนั่นเอง"

นอกจากนี้ "บิ๊กตู่" ยังบอกด้วยว่า กลุ่มนักศึกษาไปเดินๆ กันอยู่ก็เพราะคนเขาก็ด่าเยอะนะ เปิดกระจกไปด่าก็มีมาก แล้วถ้าเกิดนักศึกษาเขาเจ็บเนื้อเจ็บตัวขึ้นมาก็กลับมาที่เจ้าหน้าที่รัฐอีก หาว่าไม่ดูแลกัน

"ต้องไปถามคุณประยุทธ์เองว่านี่คือการข่มขู่นักศึกษาหรือเปล่า หรือเพียงแต่หวังดี" พิชิตทิ้งท้าย

′วัฒนธรรม′ เด็กๆ
ดูแลพ่อแม่-กลับไปเรียนให้จบ

คำให้สัมภาษณ์นักข่าวของ "บิ๊กตู่" ตลอดจนกระแสจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" คือการไล่ให้กลับไปเรียนให้จบ หาการหางานทำ เลี้ยงดูพ่อแม่

และก็ไม่แน่ว่า อาจมีการเรียกผู้ปกครองและครูอาจารย์ของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องเข้ามาพบหรือไม่

ดัง ตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ในส่วนของนักศึกษาผมให้เกียรติและเครดิตมาโดยตลอด ทั้งครูและอาจารย์ก็เช่นกัน จะเห็นว่าผมให้โอกาสก็แล้ว เรียกมาพบก็แล้ว พอคุยกันก็หาว่าไป

ปิดกั้น ถ้าไม่คุยกันแล้วมันจะรู้เรื่องหรือไม่ แต่คุยแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง แสดงว่ามันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ก็ต้องไปหากันมา

"ขอร้องประชาชนให้ช่วยกันดูแลเด็กๆ นักศึกษา ไม่ใช่จะย้อนไปแต่เหตุการณ์เก่าๆ ในปี 2516 ปี 2535 มันคนละสถานการณ์ ไม่เหมือนกัน"

ใช่ไหมว่านี่เป็นวิธีคิดแบบเก่าๆ

กลายเป็น "วัฒนธรรม" แบบเด็กๆ ต้องอยู่ในโอวาท





ราวกับว่าคิดเองไม่เป็น พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องเรียกไปอบรมสั่งสอน (หน่อย)

"ผมว่าคุณประยุทธ์เองเขาไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ว่าที่ผ่านมานักศึกษาก็มีบทบาททางการเมืองมาตลอด"

เป็นคำตอบของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อย่าง ชานันท์ ยอดหงษ์

"ทั้ง ยังเป็นการดูถูกดูแคลนนักศึกษาและความเป็นพลเมืองของเขา คือนักศึกษาก็เหมือนเป็นอาชีพหนึ่งของพลเมือง ที่เขาก็มีบทบาท ต้องการสิทธิพลเมือง สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ก็มีสิทธิออกมาเรียกร้องเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นทั่วๆ ไป"

"เขาอายุเกิน 18 แล้ว เขาสามารถเลือกตั้งได้ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเขาก็มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นใน ประเทศที่เขาอยู่"

"แต่การมาคำนึงว่า เขาจะต้องอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ คือผมไม่ได้หมายความว่าจะละเลยบทบาทความสำคัญของสถาบันครอบครัว แต่อย่างไรก็ตาม นักศึกษาทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้ว่าเขาจะทำอะไรและไม่ทำ อะไร เพียงแต่รัฐบาลกลับมองว่า คนพวกนี้ยังเป็นเด็ก ยังต้องอยู่ภายใต้โอวาท ต้องมีผู้ชี้นำ ทั้งที่เขาไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองแล้ว"

นักประวัติศาสตร์หนุ่มย้ำถึงประเด็นนี้ว่า ที่สุดแล้ว เหตุการณ์และคำพูดนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนให้เห็นว่า นายกฯมองว่าประชาชนในวัยนี้ยังไม่มีศักยภาพ ไม่สมควรจะมีอำนาจในฐานะพลเมือง ขณะที่ในโลกที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่คำนึงถึงวัยและอาชีพ ตราบใดที่เป็นประชาชนและมีสิทธิเลือกตั้งได้ ทุกคนย่อมเท่าเทียมกันหมด

ขณะที่วัฒนธรรมให้เด็กอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่นั้น

ชา นันท์กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาต้นตอกำเนิด เพราะสังคมไทยเชื่อว่าคนเป็นลูกต้องอยู่ในโอวาทของครอบครัวตลอด ไม่ว่าจะวัยใด ก็ยังต้องเชื่อพ่อแม่อยู่

"เป็นการจัดลำดับชนชั้น จัดลำดับอำนาจ แสดงถึงความไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยหรือความเท่าเทียมมีจริง"

นักศึกษาแถลงโต้
หยุดมุขเก่า-สร้างจิตสำนึกการศึกษาใหม่

หลังการออกมาให้สัมภาษณ์จากนายทหาร 2 ท่าน

ขณะสถานการณ์กำลังตึงเครียดเพราะเจ้าหน้าที่ตรึงกำลัง เตรียมเข้าควบคุมตัวนักศึกษา "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ถึงที่พัก

ทั้งหมดตั้งโต๊ะแถลงข่าวและตอบโต้กับ "บิ๊กตู่" และ "บิ๊กป้อม" อย่างดุเดือด

"...กิจกรรม ที่กลุ่มของเราทำมาโดยตลอด การลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ทำมากว่า 10 ปี กี่ชุมชน กี่หมู่บ้าน ที่เราลงไปต่อสู้ด้วย ทุกอย่างได้พิสูจน์ในตัวของมันเองแล้ว ข้อกล่าวหาเรื่องเรารับทุนเบื้องหลัง จึงเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเพียงเกมการเมืองสกปรกของพวกท่าน

"เลิก เถอะครับ มุขแบบสมัยสงครามเย็น สมัย 6 ตุลา ที่ใส่ร้ายป้ายสีว่านักศึกษาคือผู้หลงผิด ประวัติศาสตร์ก็ได้ให้บทเรียนเราแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับ 6 ตุลา ที่รัฐพยายามป้ายสีนักศึกษาประชาชนว่าถูกจ้างมา มีเบื้องหลัง ผลคือคนในประเทศออกมาฆ่ากัน ถ้าหากท่านไม่ทราบ ก็ขอให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยากให้ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ ศึกษาประวัติศาสตร์วิกฤตทางการเมืองไทยทุกครั้ง ว่าที่ทหารเข้ามายึดอำนาจรัฐด้วยการกระทำรัฐประหาร จุดจบของท่านคืออะไร?..."

คือส่วนที่พูดถึงการถูกกล่าวหาว่า "รับเงิน"

หรือ "มีคนอยู่เบื้องหลัง"

และในส่วนที่มีการเรียกพ่อแม่ผู้ปกครองมาสั่งสอนบุตรหลาน "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ย้ำชัด

"เรื่อง การที่ท่าน ผบ.ทบ.บอกว่า ครู อาจารย์ สถาบันการศึกษาต้องมีหน้าที่อบรม ไม่ใช่สอนให้นักศึกษาแสดงออกในทางที่ผิด เราขอยืนยันว่าในประเทศที่เป็นอารยะ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางวิชาการ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการศึกษา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ฉะนั้น การที่ทหารจะเข้าแทรกแซง สั่งให้อาจารย์สอนนักศึกษาว่าไม่ควรออกมาแสดงความคิดเห็น ย่อมเป็นการขัดแย้งอย่างรุนแรงต่ออุดมการณ์พื้นฐานของการศึกษา

"เรา ทราบดีว่า ในระบบของกองทัพ การเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือหัวใจสูงสุด แต่ในโลกของการศึกษาสามัญแบบโลกสมัยใหม่ ในสังคมของประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว การสอนให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม กล้าแสดงออก คือปัจจัยสำคัญต่อความงอกงามของสติปัญญาของนักเรียน นักศึกษา

"หาใช่การเชื่องและเชื่อฟังนายแบบกองทัพไม่"

แถลงการณ์ระบุ

คือความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในห้วงเวลาที่ผ่านมา

รวมถึงปฏิกิริยาของผู้นำที่กำลังปฏิบัติการคืนความสุข

ที่ดูท่าว่าจะไม่จบโดยง่าย