โดย ปกป้อง จันวิทย์
ที่มา http://pokpong.org/writing/living-wage/
August 19, 2014 by pokpong
ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา กระแสเรียกร้อง “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (Living Wage) ก่อตัวและสั่นไหวสะเทือนทั่วสหรัฐอเมริกา จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเมืองใหญ่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ปี 2007 เรื่อยมา กระแสเรียกร้อง “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ก็ยิ่งดังขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ต้องการพลังการใช้จ่ายบริโภคเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยแล้ว หากคนไม่มีจะกิน จะเอาที่ไหนไปใช้จ่าย และหากคนไม่ใช่จ่าย ผู้ผลิตก็ขายสินค้าไม่ออก การสะสมทุนก็ไม่เกิด เศรษฐกิจก็กลับมาเดินหน้าต่อได้ยาก
กระแสเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ร่วมสมัย เริ่มต้นขึ้นที่เมือง Baltimore โดยมีจุดตั้งต้นจากกลุ่มศาสนา ซึ่งให้บริการที่พักสำหรับคนไร้บ้านและบริจาคอาหารฟรีแก่คนยากจน เริ่มสังเกตเห็นว่า จำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นทั้งที่คนเหล่านั้นต่างมีงานทำ
ปรากฏการณ์ที่แรงงานค่าจ้างต่ำต้องพาครอบครัวมารับอาหารบริจาคย่อมแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างที่พวกเขาได้รับมิอาจเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในแต่ละสัปดาห์โดยไม่ต้องดิ้นรน ต่อมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มสหภาพแรงงาน และนักวิชาการรวมกลุ่มกันเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับ ความสามารถในการดำรงชีวิตของแรงงาน จนประสบความสำเร็จในปี 1995 ที่สภาเมืองผ่านกฎหมายปรับขึ้นค่าจ้าง โดยคำนึงถึงปรัชญาของ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต”
ค่าจ้างเพื่อชีวิตคือ ระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม
เป้าหมายสำคัญของค่าจ้างเพื่อชีวิตก็คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กลุ่มแรงงานซึ่งได้รับค่าจ้างในระดับต่ำที่สุด เพื่อสร้างชีวิตที่ดีและเสรีภาพที่แท้จริง ค่าจ้างเพื่อชีวิตมีความแตกต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจาก ค่าจ้างขั้นต่ำโดยมากมักถูกกำหนดไว้ต่ำกว่าระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต ซึ่งทำให้แรงงานไม่สามารถเติมเต็มเป้าหมายข้างต้นได้ โดยเฉพาะเป็นระดับรายได้ที่ไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว หลักการของกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าจ้างเพื่อชีวิตก็คือ ค่าจ้างขั้นต่ำควรสะท้อนระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต
หากนับถึงปี 2007 กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ของเมืองใหญ่กว่า 140 แห่งในสหรัฐอเมริกาถูกแก้ไขโดยได้หลอมรวมปรัชญาของ“ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ในบางระดับเข้าไว้ในตัวกฎหมาย ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองเหล่านั้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9-11 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับระดับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศซึ่งอยู่ที่ 7.25 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ในปี 2009
ระดับค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศในปัจจุบันเป็นผลพวงของกฎหมายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งพรรคเดโมแครตผลักดันอย่างแข็งขันหลังจากกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2006 กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทีละขั้น รวม 3 ครั้ง จนถึง 7.25 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงในปี 2009 จากระดับเดิมที่ 5.15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เคยถูกปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 1997 (แต่มลรัฐ 29 แห่ง และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำระดับมลรัฐสูงกว่าระดับ 5.15 เหรียญสหรัฐของรัฐบาลกลาง) กระนั้น การขึ้นค่าจ้างดังกล่าวยังถือว่าเล็กน้อยหากคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ในช่วงปี 1997-2009 ซึ่งส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานลดลงประมาณ 40% และยังนับว่าห่างไกลจากระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต
ประเด็นถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่งประเด็นหนึ่งก็คือ วิธีการคำนวณระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต หลักการใหญ่ก็คือ ค่าจ้างเพื่อชีวิตคือค่าจ้างสุทธิที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าพลังงาน ของครอบครัวเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งได้ ทั้งนี้ รายการและมูลค่าของสินค้าพื้นฐานของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่นั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอให้เผื่อยอดเงินออมเข้าไว้ในการคำนวณด้วย
ในบางกรณี ค่าจ้างเพื่อชีวิตมีค่าเท่ากับระดับค่าจ้างที่แรงงานเต็มเวลาคนหนึ่งสามารถเลี้ยงครอบครัวที่มีขนาดเฉลี่ย 4 คน ณ ระดับเส้นความยากจนได้ ในบางกรณีใช้รายจ่ายพื้นฐานของครอบครัวที่ทำให้ใช้ชีวิตที่ดีและปลอดภัยได้ (Basic Budget) เป็นหลักในคำนวณแทนเส้นความยากจน ซึ่งมีแนวโน้มจะมีระดับต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ
ในบทความเรื่อง Making the Federal Minimum Wage a Living Wage (2007) Robert Pollin ประเมินค่าจ้างเพื่อชีวิตจากการใช้เส้นความยากจนที่ปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพจริงเป็นหลักในการคำนวณ (130-140% ของเส้นความยากจน) สำหรับแรงงานที่เป็นแม่เลี้ยงลูกคนเดียว (Single Mom) ซึ่งมีลูก 2 คน โดยไม่มีวันหยุดพักผ่อนและไม่มีประกันสุขภาพ ผลที่ได้คือ 11.50 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง แต่ในพื้นที่ค่าครองชีพสูง อาจสูงถึง 14.40 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง แต่หากคำนวณโดยใช้ Basic Budget เป็นหลักในเหมือนดังงานของนักวิจัยใน Economic Policy Institute ค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับแรงงานคนเดียวกันจะสูงถึง 17.50 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง หากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลินคอล์น มลรัฐเนบราสกา และจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกถึง 31.60 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง หากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐานมักทำนายว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง เพราะแรงงานมีราคาแพงขึ้น ทำลายบรรยากาศในการลงทุน ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น และอาจสร้างอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
กระนั้น ผลการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างเพื่อชีวิตกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ต้นทุนการจ้างแรงงานระดับล่างที่สูงขึ้นไม่ส่งผลให้เกิดการปลดคนออกจากงาน หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังเมืองอื่นที่มีระดับค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าแต่อย่างใด แต่ระดับค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจโดย (1) การขึ้นราคาสินค้า (2) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในกระบวนการผลิต และ (3) การกระจายรายได้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาของเมือง New Orleans ซึ่งมีการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 1 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ในปี 1999 แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพิ่มต้นทุนแก่บริษัทน้อยกว่า 1% (ประมาณ 0.9%) ของต้นทุนปฏิบัติการทั้งหมดของบริษัท 12,682 แห่งในเมืองนั้น ทั้งนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทที่มีขนาดยิ่งเล็กยิ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ประมาณ 0.5%) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภัตตาคาร (ต้นทุนเพิ่ม 2.2%) และโรงแรม (ต้นทุนเพิ่ม 1.7%) ซึ่งใช้แรงงานค่าจ้างต่ำเป็นจำนวนมาก
หรือการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของเมือง Santa Fe จาก 5.15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เป็น 8.50 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เมื่อเดือนมกราคม 2004 ทำให้ราคาสินค้าในภัตตาคาร (ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานราคาถูกมาก และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ) เพิ่มขึ้นเพียง 3% อันเป็นผลมาจากต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นค่าจ้าง ไม่ทำให้เกิดการปลดคนงานออก ไม่ส่งผลให้เกิดการลดชั่วโมงทำงานลง ไม่ส่งผลที่ทำให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังเมืองอื่น บริษัทปรับตัวรับมือค่าจ้างที่สูงขึ้นด้วยการขึ้นราคาสินค้า กระนั้นราคาก็มิได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้น การเปลี่ยนงานมีแนวโน้มลดลง ช่วยลดต้นทุนการรับคนงานใหม่และลดต้นทุนการพัฒนาแรงงาน (หากแรงงานลาออกบ่อย ต้องจัดการฝึกอบรมแรงงานใหม่เรื่อยๆ)
อีกทั้ง ค่าจ้างที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้ระหว่างนายทุนและแรงงานในทิศทางที่เท่าเทียมขึ้น นั่นคือ กำไรที่ลดลงของนายทุนแบ่งมาเป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นของลูกจ้าง หากไม่สามารถขึ้นราคาสินค้า หรือเพิ่มผลิตภาพ เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้เต็มที่
นอกจากนั้น ค่าจ้างเพื่อชีวิตช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มล่างสุดให้ดีขึ้น ค่าจ้างเพื่อชีวิตมีผลเสริมส่งช่วยยกระดับค่าจ้างของแรงงานกลุ่มข้างเคียงกันด้วย เหล่านี้ทำให้แรงงานลดการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐ รัฐเองก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการลง โดยให้เอกชนร่วมรับภาระในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม
นอกจากมิติเรื่องสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ค่าจ้างเพื่อชีวิตยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มระดับการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจอันเป็นฐานสร้างความเติบโตแก่ระบบเศรษฐกิจ ภายใต้เศรษฐทัศน์แบบ “ล่างขึ้นบน” (Bottom-Up) ซึ่งไม่ศรัทธาในผลรินไหลสู่เบื้องล่าง (Trickle-down Effects) เพราะมองว่าเศรษฐกิจจะดีต้องดีที่ฐานล่าง หากเศรษฐกิจเบื้องล่างหรือเศรษฐกิจรากหญ้าดี เศรษฐกิจส่วนบนและเศรษฐกิจส่วนรวมจะดีตามไปด้วย การเพิ่มอำนาจซื้อและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งยังสอดคล้องกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอำนาจซื้อภายในประเทศเป็นสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม
Pollin, Robert (2007). Making the Federal Minimum Wage a Living Wage. New Labor Forum 16(2): 103-107.
Pollin, Robert, Mark Brenner, Jeannette Wicks-Lim and Stephanie Luce (2007). A Measure of Fairness: The Economics of Living Wages and Minimum Wages in the United States. Cornell University Press
ตีพิมพ์: หนังสือ Macrotrends ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย (2552)