คำร้องเชิญจากกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน ENGAGE ได้ผล คนไทยหลายสิบไปร่วมชุมนุมหน้าสถานกงสุลใหญ่ไทย ในนครลอส แองเจลีส ช่วงเช้าวันจันทร์นี้คึกคัก กงสุลใหญ่ไม่อยู่ รองกงสุลใหญ่ฯ ลงมารับจดหมายเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองจากตัวแทน ‘เอ็นเกจ’
ตอนสายวันที่ ๒๗ กรกฎาคม
ศกนี้ มีผู้คนทั้งไทยและเทศราว ๕๐ คนไปยืนชุมนุมกันอย่างคับคั่งในบริเวณทางเท้าหน้าสถานที่ทำการกงสุลใหญ่ไทย
ณ นครลอส แองเจลีส ย่านล้าร์ชม้อนต์ของท้องที่ฮอลลีหวูด โดยมีแผ่นแบนเนอร์ผ้าใบสีเขียวขนาดใหญ่ขึงพาด
บรรจุข้อความว่า “Stand for Thai Democracy ไม่เอารัฐประหาร”
พร้อมด้วยมีการชูแผ่นป้ายกระดาษแข็ง ข้อความหลากหลาย อาทิ ‘No More Coup’, ‘No
More 44’, ‘United for Democracy’ และ ‘We Support
Neo-Democracy’ เป็นต้น ซึ่งที่จริงแผ่นแบนเนอร์และแผ่นป้ายเหล่านี้
เคยมาปรากฏที่หน้าสถานกงสุลแห่งนี้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว
ระหว่างการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาดาวดิน-ประชาธิปไตยใหม่ โดยกลุ่มเอ็นเกจเดียวกันนี้เอง
ครั้งนี้นักศึกษาอเมริกันโครงการแลกเปลี่ยนได้ออกประกาศทางสื่อโซเชียลออนไลน์ก่อนหน้าสี่ห้าวันเชื้อเชิญให้คนไทยที่รักประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจมาตรา
๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะทหารปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ
ไปร่วมชุมนุมกับพวกตนที่จะไปย้ำทวงต่อรัฐบาลคณะรัฐประหารไทยอีกครั้ง
ซึ่งการนี้กลุ่มนักศึกษาเอ็นเกจอ้างว่า แม้เพื่อนๆ นักศึกษาไทยของพวกเขา
กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ๑๔ คนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่ทางการไทยก็ยังใช้คำสั่ง
คสช.ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ และประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ ตั้งข้อหาต่อไป อันทำให้นักศึกษาเหล่านั้นไม่สามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อีก ทั้งยังถูกคุกคามและครอบงำโดยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ
การชุมนุมครั้งนี้จึงเป็นการเรียกร้องอีกครั้ง
พร้อมประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่ากลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่มีความใกล้ชิด เคยร่วมแรงผนึกกำลังกับกลุ่มดาวดินในภาคอีสานของไทยรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชน
และเสรีภาพในการแสดงออกปกป้องชีวิตความเป็นอยู่อย่างปลอดสารพิษของชาวบ้านมาแล้ว
ต้องการส่งเสียงผ่านสถานกงสุล ณ ลอส แองเจลีสไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารไทย ๕ ข้อด้วยกัน คือ
๑. หยุดให้การเกื้อหนุนต่อ
มาตรา ๔๔
๒. เรียกร้องให้ดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลปกติ
ไม่ใช่ศาลทหาร
๓. ลบล้างคำสั่ง
คสช.ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ และมาตรา ๑๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
๔. เรียกร้องให้ยุติการคุกคามกลั่นแกล้งโดยทหารต่อผู้นำชุมชนและกลุ่มนักศึกษา
(ในประเทศไทย)
๕. ยื่นคำร้องให้ยกเลิกคำฟ้องคดีต่างๆ
ที่มีต่อนักโทษทางการเมืองทุกคน รวมทั้งกลุ่ม ๑๔ นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่
(ซึ่งหนังสือเรียกร้องระบุรายชื่อทุกคนทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ)
ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเริ่มการประท้วงเมื่อ
๑๐.๐๐ น. มีชาวไทยทั้งหญิงชาย สูงวัยและหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากกว่านักศึกษาเอ็นเกจที่มีอยู่สิบกว่าคน ราวสี่เท่าเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ด้วย
โดยช่วยกันยกป้ายข้อความประท้วงต่างๆ ทั้งในภาษาอังกฤษและไทยแล้ว และยังมีการเปล่งเสียงเป็นทำนอง
(chants)
ร่วมกัน โดยมีผู้ประสานของเอ็นเกจนำร่องทางโทรโข่ง
“Tell me what Democracy looks like? This is what
Democracy looks like.” พร้อมชี้มือลงบนพื้นบริเวณที่ชุนุมกันนั้น
“Tell me what police state looks like? This is what
police state looks like.” แล้วชี้มือไปยังอาคารสถานกงสุลใหญ่
“Hey hey, ho, ho, Military court has got to go.”
Hey, hey, ho, ho, The coup has got to go.”
Hey, hey, ho, ho, ปรายู้ท has got to
go.” และ
“What do we want…Democracy. When do we want it…Now.
What do we want…Human Rights. When do we want it…Now.
What do we want…Peoples’ participation. When do we want
it…Now.
What do we want…Justice. When do we want it…Now.
What do we want…Non-violence. When do we want it…Now.”
จากนั้นก็มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประท้วงออกไปพูดแสดงความคิดเห็นผ่านเครื่องขยายเสียง
ที่เรียกว่าช่วง ‘Open microphone’ เป็นเวลานานพักใหญ่ก่อนที่ตัวแทนของเอ็นเกจสองคนเดินขึ้นไปบนที่ทำการสถานกงสุลเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้อง
เป็นผลให้รองกงสุลใหญ่ สรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ
ลงจากห้องทำงานมายังบริเวณชุมนุมเพื่อรับจดหมายร้องเรียน แล้วจึงมีการอภิปรายกันต่อจนกระทั่งได้เวลากำหนด ก่อนเที่ยงเล็กน้อยจึงยุติการชุมนุม
อนึ่ง
มีข้อสังเกตสำหรับผู้ไปร่วมการประท้วงในครั้งนี้
นอกเหนือจากกลุ่มเอ็นเกจชาวอเมริกันราวสิบคน และนักศึกษาไทยแลกเปลี่ยนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับเอ็นเกจแล้ว
คนไทยที่ไปร่วมการชุมนุมประมาณเกือบสี่สิบคนมีหลากหลาย ไม่เฉพาะแต่ที่เคยร่วมกิจกรรมกับ
‘เสื้อแดง’ ในท้องที่ ยังมีคนไทยรุ่นบุกเบิกของแอล.เอ.
ผู้ซึ่งยืนยันว่ารักประชาธิปไตย ไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ชอบเผด็จการทหาร และต้องการ “ไล่ประยุทธ์ออกไป” ไปร่วมประท้วงอยู่ด้วยโดยไม่คาดหมาย
นอกเหนือจากนี้ปรากฏว่ามีสื่อท้องถิ่นสองรายจากชุมชนชาวจีนกับฟิลิปปินส์ ไปทำข่าวและสังเกตการณ์
(ขอขอบคุณ Sam Bae ผู้ถ่ายภาพ)
https://www.youtube.com/watch?v=UD_OHWsmL8I
https://www.youtube.com/watch?v=2kiCDySTtmw&feature=youtu.be
ภาพบรรยากาศการประท้วงจาก เวป Internet for Freedom