วันอาทิตย์, กรกฎาคม 26, 2558

เศรษฐกิจไทย…เอาไงดี



ที่มา Way Magazine
June 24, 2015

เป็นบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ นพนันท์ วรรณเทพสกุล สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉบับเต็มอ่านได้ที่นี่

+ แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของไทยเป็นอย่างไร

หลายปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ากระแสสังคมมองแต่ประเทศตะวันตก อย่างยุโรปหรืออเมริกาเป็นต้นแบบ เรียกร้องรัฐสวัสดิการ เรียกร้องการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ประเทศแถบภูมิภาคนี้ จะมีสักกี่แห่งที่เป็นแบบนั้น ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ยังไม่เคยเปลี่ยน สิงคโปร์ ทุกวันนี้เป็นประเทศโลกที่ 1 แต่ลักษณะของประชาธิปไตยของสิงคโปร์ก็ไม่เหมือนอเมริกา หรือจีนซึ่งกำลังจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง ก็ไม่ใช่โมเดลแบบประชาธิปไตยแน่ๆ แต่ทั้งคู่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่าไทย และไม่ได้เป็นทุนเสรีทั้งหมด

ผมคิดว่านี่เป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ลักษณะทุนนิยมไทยที่เป็นจริงในสมัยนี้ เพราะเราคงต้องอยู่กับชนชั้นนำที่มาจากกองทัพไปอีกระยะหนึ่งแน่ๆ ก็ต้องรู้วิธีคิด รู้โมเดลการพัฒนา และควรรู้ลักษณะที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระแสที่ไม่ค่อยจะฟังใคร ใครจะพูดแล้วเขาฟัง

+ ใครบ้าง ที่เขาจะฟัง

กลุ่มทุนแน่ แต่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ จริงๆ เริ่มต้นจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออก คิดว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้นำ ชนชั้นนำของประเทศ ซึ่งก็มีความคงเส้นคงวาอยู่อย่างนั้นมาตั้งนาน จนมาถึงในสมัยทักษิณ ที่สลับเป็นอีกแบบหนึ่ง มันเหมือนรอยสะดุด พอทักษิณไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว พรรคพวกบริวารก็กลับมาสู่รูปแบบเดิม

แต่แบบเดิมที่ว่า มันคือแบบเดิมในสมัยปี 2520 ที่ผ่านมาแล้ว 30 กว่าปี แล้วมันยังจะเข้ากันได้กับบริบทสังคมยุคนี้หรือเปล่า

+ เขาไม่ฟังเสียงประชาชนหรือ

คือโมเดลของทุนนิยมในบังเหียนของรัฐไม่ได้ฟังประชาชนทุกกลุ่ม เขาจะเลือกฟังบางกลุ่มที่ไว้ใจ ซึ่งขณะนี้ก็คือ ทุนใหญ่ซึ่งเคยมีบทบาทสูงต่อนโยบายของรัฐก่อนสมัยทักษิณ

+ ทุนที่รัฐบาล คสช. ไว้ใจมีลักษณะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าอุดมการณ์และวิธีคิดของเขาไปผูกพันกับแบบแผนบางอย่าง แล้วคิดว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พันธมิตรที่เจาะจงหรือเลือกเอาไว้ ไม่สามารถจะนำพาชาติให้ก้าวหน้าได้

แล้วโมเดลของทหารคือ การพัฒนาที่นำพาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นั่นจะเป็นผลงานของระบบที่ขึ้นมาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ได้มีพวกเขาเข้ามา บ้านเมืองจะไม่สงบเรียบร้อย แล้วความไม่เรียบร้อยนี้ ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้ เขาจะคิดอยู่แบบนี้

+ สื่อมักจะอ้างปัจจัยความเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านเครื่องยนต์สี่ตัว ขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ดับ รัฐบาลดูจะมุ่งไปที่การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การทำเช่นนี้จะช่วยเศรษฐกิจได้จริงไหม

ในความรู้ที่ผมมี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของปัจจัยทางเศรษฐกิจแบบนั้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจมันต้องมีการวางรากฐานเชิงโครงสร้าง ยกตัวอย่าง การศึกษา การกระจายรายได้ การสร้างสวัสดิการสังคม มันมีส่วนที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า แต่ภาพแบบนี้ มันไม่ใช่ปัจจัยที่อยู่ในสมการของนักเศรษฐศาสตร์บางกระแส หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์เอง อย่างผู้นำประเทศ เขาไม่ได้มองปัจจัยอื่นที่นอกเหนือไปจากนี้

เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่คุณว่า เป็นโมเดลเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กระตุ้นเครื่องยนต์บางตัว เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน แล้วไปกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการผลิต แต่ปัจจัยเชิงโครงสร้างก็มีอีกไม่น้อยที่ต้องวางรากฐานให้ประเทศ โมเดลที่สามารถทำให้ประเทศล้าหลัง ก้าวอย่างรวดเร็วภายในเวลา 10-20 ปี ไปทัดเทียมกับประเทศโลกที่หนึ่ง จะอธิบายจากเครื่องยนต์สี่ตัวได้อย่างไร

ฉะนั้น แบบแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้มองเฉพาะภาพปัจจุบัน แต่ต้องมองในเรื่องของการสร้างโครงสร้างของประเทศ เพื่อก้าวไปสู่อนาคต คือเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนา

ในแวดวงเศรษฐศาสตร์การพัฒนา มันพูดถึงโมเดลตั้งมากมายหลายอย่าง ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ได้รับการพูดถึงน้อย

+ มีกรณีศึกษาของประเทศไหนบ้างที่สามารถเป็นต้นแบบให้เมืองไทย

จริงๆ แล้ว แต่ละสังคมมีแบบแผนที่เป็นเอกเทศของตัวเอง ไม่สามารถที่จะไปลอกเลียนใครได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดูเงื่อนไข ดูบริบทที่คล้าย และดูบริบทของตัวเอง

แต่ความเชื่อแบบที่ชนชั้นนำไทยในปัจจุบันเชื่อ ผมคิดว่ายากที่จะยอมรับเหมือนกัน เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าไม่มีการประท้วง การออกมาเดินขบวน แล้วจะทำให้เศรษฐกิจดี ไม่รู้จะหาหลักฐานอย่างไรมายืนยันว่าความเชื่อนี้เป็นความจริง

ลึกๆ แล้วหลายคนคิดว่า การใช้อำนาจในระดับหนึ่ง อาจเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ คือเชื่อในระบอบอำนาจนิยม แต่ระดับการใช้อำนาจมันมีหลายแบบ และเป็นการใช้อำนาจแบบมีเป้าหมาย

+ จะก้าวข้ามแนวคิดทุนพันธมิตรของรัฐไปได้อย่างไร

การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดได้โดยอำนาจของรัฐ แต่รัฐไทยไม่ค่อยเปลี่ยนกระแส ไม่ค่อยคิดแบบอื่น นอกเหนือจากการเปิดรับแต่ทุนเสรี และเชื่อว่าโมเดลแบบนั้นเป็นโมเดลในฝัน นั่นคือต้องเปิดเสรีการค้าการลงทุน ทำให้เม็ดเงินการลงทุนไหลเข้า และคนที่จะทำแบบนั้นได้ ก็คือทุนที่มีพลัง ทุนขนาดใหญ่ แล้วจับมือกับทุนข้ามชาติ

ฉะนั้น พวกทุนน้อยๆ ภาคประชาชน ประชาสังคม กลายเป็น ‘พวกที่อยู่นอกสมการ’ ที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจรุดหน้า

+ เราจะก้าวออกจากจุดนี้ได้อย่างไร

ก็ยาก…แต่จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่า มันจะต้องเข้าไปสู่สิ่งที่ทำให้ความเชื่อแบบนี้เสื่อมศรัทธาลง ในโมเดลทุนนิยมในบังเหียนของรัฐ ถ้าผู้นำอำนาจนิยมสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน ตอนนี้มีเงื่อนไขด้วยกันสองข้อ

หนึ่ง-ปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจภายใต้อำนาจนิยมมีแต่ต้องทำให้ดีขึ้น

สอง-สามารถปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสังคมเป็นผลสำเร็จ

ทีนี้ ถ้าความหวังที่ฝากไว้ของประชาชนเกิดพังทลาย หรือความหวังเรื่องการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปประเทศก็ล้มเหลว อำนาจนิยมก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันเป็นเส้นทางคู่ขนานที่เรากำลังเดินอยู่






+ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ก็ไม่ค่อยดี แต่มันไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ก่อนเขาจะเข้ามาแล้ว เพียงแต่เขาเชื่อว่า พอเข้ามาแล้วเดินไปตามโมเดลแบบนี้ แล้วจะทำให้มันดีขึ้นได้ ซึ่งมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้อีก ผมเคยคาดการณ์เอาไว้สองแนวด้วยกัน

หนึ่ง เมื่อเลือกที่จะใช้ระบอบอำนาจนิยม ก็ไปลอกแบบอำนาจนิยมของสิงคโปร์มาเลย สร้างบรรษัทแห่งชาติ สร้างรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ที่เดียวเลย แล้วใช้ตัวนี้กรุยทางเพื่อผลักเศรษฐกิจให้เดินหน้า เป็นไอเดียที่มีความพยายามจะเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

สอง อาศัยทุนนิยมในบังเหียนของรัฐแบบที่ชอบทุนเสรี ต้องพยายามเปิดทางร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่สมาคมเศรษฐกิจอาเซียน เข้าสู่การค้า ความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีหัวขบวนคือจีน ญี่ปุ่น

แต่การที่จะเคลื่อนไปแบบนี้ ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย หรือปล่อยให้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่ต้องใช้อำนาจรัฐไปขยับ ไปกรุยทาง ฝ่าฟันอุปสรรคให้ แล้วก็เดินนำไปให้ แล้วทุนขนาดใหญ่ก็เดินตาม ในที่สุดแล้วก็หวังว่าจะสามารถขยับฟันเฟืองทางเศรษฐกิจให้เดินไปด้วย

แนวที่สองที่ผมบอกว่า เผด็จการอำนาจนิยมยอมถอย แล้วคืนอำนาจให้ประชาชน ให้มีการเลือกตั้ง แล้วก็ยอมรับพันธมิตรกลุ่มอื่นๆ ในสังคม คือฟังความเห็นของคนเล็กคนน้อย อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุนขนาดใหญ่ยอม เพราะเห็นว่าการผ่อนปรนทางสังคมแบบนั้นทำให้ตัวเองยังได้ประโยชน์อยู่ คือเห็นว่า ถ้าผู้นำอำนาจรัฐยังดันทุรังเดินแบบนี้ต่อไป เขาจะแย่ไปด้วย ฉะนั้น ก็ยังรักษาสภาพที่ตัวเองยังเป็นพันธมิตรกับผู้นำของรัฐต่อไป แต่บอกให้รัฐยอมขยายวง เอากลุ่มอื่นๆ เข้ามา ยอมเอาเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจวางไว้ก่อน แล้วมาพัฒนาทางสังคม วางโครงสร้างใหม่ให้ประเทศชาติ คล้ายๆ กับที่เกาหลีใต้เคยยอมมาแล้ว

+ จริงๆ คงต้องรอให้เขาคิดได้เองด้วยใช่ไหม

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวมจะทำให้เขาคิดได้ คือมีแต่ทุนเหล่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ทุนขนาดเล็กๆ ทุนเล็กทุนน้อยตาย ในที่สุดแล้ว สังคมอยู่ไม่ได้แน่ในสภาวะแบบนั้น

ตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ผมจึงตั้งเงื่อนไขสองตัวขึ้นมาไงว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว คือเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสังคมด้วย คือผลกระทบที่มาจากการถดถอยของทุนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ มันจะโผล่ขึ้นมา และอาจจะโผล่ขึ้นมาเร็วมาก เช่น ทุนขนาดเล็กๆ อยู่ไม่รอดในสภาวะเศรษฐกิจที่มันไม่เดินหน้า ชนชั้นกลางบางส่วน ปัญหาทางด้านเกษตร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคมส่วนอื่นๆ คนชายขอบ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่อยู่นอกสมการการพัฒนาของรัฐ นี่ก็เป็นผลที่จะเกิดขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งว่า ความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศและสังคม มันจะโผล่ขึ้นมาที่คนเหล่านี้

+ ดูเหมือนอำนาจจะอยู่ที่กลุ่มทุนเยอะกว่าหรือเปล่า

อยู่ที่เราประเมินยังไง ถ้าเป็นโมเดลการพัฒนาของต่างประเทศ รัฐจะไม่ยอมให้ทุนเข้ามาบงการ เขาจะถือว่ารัฐเผด็จการอำนาจนิยมจะต้องมีภาวะผู้นำ คือมีอุดมการณ์ อุดมคติการพัฒนาของตัวเองอยู่ในใจ แล้วก็เลือกเอาทุนธุรกิจขนาดใหญ่มาเป็นพันธมิตร แล้วก็ช่วยเขาให้เติบโตกล้าแข็ง เพื่อที่จะไปแข่งนอกประเทศ แต่ของเมืองไทยอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ กลายเป็นว่าทุนกลายเป็นเจ้านายตัวจริงของผู้มีอำนาจของรัฐ สามารถชี้นิ้วสั่งการให้รัฐดำเนินนโยบายตามที่จะเป็นผลประโยชน์กับตัวได้ แต่ไม่ว่าแบบไหน ผลที่ได้ไม่ค่อยต่างกัน คือทุนบวกรัฐมันเป็นคู่แท้ที่อยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร WAY ฉบับที่ 85