ที่มาเรื่อง มติชนออนไลน์
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
คำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย
คำแถลงว่าด้วยการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558
วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับโลกที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือ การดำเนินงานร่วมกัน รวมทั้งความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทุกประเทศในอันที่จะบรรลุความก้าวหน้าที่ชัดเจนและสัมฤทธิผลที่ประเมินได้สหรัฐอเมริกามุ่งสืบสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทางการ บุคลากรฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมของไทยด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือในยามนี้ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินงานปราบปรามการค้ามนุษย์
เมื่อวันที่27 กรกฎาคม ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) โดยรายงานประจำปี พ.ศ. 2558 นี้ครอบคลุมความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 แม้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์แต่ทว่า ในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้การจัดระดับประเทศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์พิจารณาจากการประเมินบันทึกการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยมิได้คำนึงถึงบริบททางการเมืองของประเทศนั้นๆ
เราจะยังคงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ตลอดช่วงการทำรายงานฉบับปี2559 และตลอดไป เราขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยใช้กรอบกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาโดยรวมของรัฐบาลเพื่อขยายความพยายามเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานและเพื่อธุรกิจทางเพศออกจากกลุ่มประชากรที่อ่อนแอทั้งหลายรวมทั้งให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์ โดยดำเนินการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงผู้บังคับใช้แรงงานในเรือประมงหรือผู้ก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ
เราชื่นชมที่นับตั้งแต่วันที่31 มีนาคมเป็นต้นมา ทางรัฐบาลไทยได้ยกระดับความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการสร้างหน่วยงานพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์และจับกุมบุคคลจำนวนมากที่อาจมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆกับแรงงานข้ามชาติในภาคใต้ของไทย รายงานฯ ของปีหน้าจะครอบคลุมการดำเนินการหลังวันที่ 31 มีนาคม
ตลอดปีหน้านี้ สหรัฐฯ คาดว่าจะมีการดำเนินความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กับไทยทั้งในประเทศไทยและบนเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นสำคัญนี้ สหรัฐฯ จะยังคงมอบความช่วยเหลือทางวิชาการเฉพาะด้านตามที่รัฐบาลไทยร้องขอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและดำเนินคดีปราบปรามการค้ามนุษย์อีกทั้งให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของสถาบันด้านการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการฝึกอบรมร่วมระดับภูมิภาคผ่านสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรุงเทพมหานครและสหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยจัดการคดีการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศเหมือนเช่นปีที่ผ่านมาตลอดจนสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและทางการท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และช่วยเหลือเหยื่อ
รัฐบาลสหรัฐฯมุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยเพื่อรับมือปัญหาสำคัญนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ทั่วโลกของสหรัฐฯ
เชิญอ่านรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับเต็มที่ http://www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2015/index.htm
...
คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศไทย
เมื่อวัน๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. (ตามเวลาสหรัฐฯ) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยในปีนี้ประเทศไทยถูกจัดให้คงอยู่ที่ระดับ Tier 3 ของ TIP Report
ทางการไทยรับทราบผลการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งไม่สะท้อนความพยายามและความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งมีก้าวหน้าอย่างมากในหลายด้าน
ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม๒๕๕๗ รัฐบาลได้ “ปฏิรูป” การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน เช่น (๑) ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและจัดตั้งกลไกระดับชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (๒) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ มีการจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (๓) ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า ๑.๖ ล้านคนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทย และแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการถูกเอาเปรียบ (๔) ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย (๕) ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง
อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป
ooo
Oh look, US Secretary of State, John Kerry is talking about Thailand. Maybe, he's talking about what a good job the...
Posted by Shucking Korn - The Unauthorized Korn Chatikavanij Page on Monday, July 27, 2015