วันอาทิตย์, กรกฎาคม 26, 2558

มุมมองของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถึง “ศรีบูรพา” “ข้างหลังภาพ” ที่ “มิตาเกะ”




Behind the Picture: Sri Burapha-Mitake and Me...
เรียน ประธานกองทุนศรีบูรพา และ ผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อผมได้รับรางวัล ศรีบูรพา เมื่อปี 2552 นั้น
ผมได้กล่าวปาฐกถาไว้ ดังที่ปรากฎอยู่ในเวป ข้างล่างนี้,
http://www.prachatai.com/journal/2009/05/21147,
หากจะนำไป เผยแพร่ต่อ ก็จะขอบคุณยิ่ง

ส่วนหนึ่งของข้อความที่กล่าว
เป็นการตามรอย "ข้างหลังภาพ" ณ มิตาเกะ
ดังนี้

"๓. ตามรอย “ข้างหลังภาพ” ที่ “มิตาเกะ”
เนื่องจากวันนี้ เป็นวันดี และสิ่งที่ทางคณะกรรมการฯ ต้องการให้ข้าพเจ้าพูด
ก็ตั้งชื่อไว้ว่า “สุนทรกถา”
ดังนั้น ข้าพเจ้าก็ขอพูดแต่เรื่องที่งดงาม อย่างเรื่องของ “ความรัก” ก็แล้วกัน

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ๕ ปีภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕
มีนวนิยายรักที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเล่มหนึ่ง คือ “ข้างหลังภาพ”
ของ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

นางเอก ม.ร.ว. หญิง กีรติ เป็นสตรีสูงศักดิ์ งดงามประหนึ่งดอกฟ้า
แต่วัยและเวลาของเธอได้ล่วงเลยไปจนอายุ ๓๕ ปี
ส่วนเจ้าคุณสามี ก็อายุปาเข้าไป ๕๐ ทั้งคู่กำลัง “ขาลง”

ในขณะที่ชายหนุ่มพระเอก นพพรก็มีอายุเพียง ๒๒
กำลังรุ่งโรจน์ “ขาขึ้น” ศึกษาวิชาธนาคารอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น
อนาคตของเขากำลังสดใส
และฉากรักของบุคคลทั้งสอง ที่ต่างทั้งวัย และต่างกัน
ทั้งฐานะสภาพทางสังคม ก็เกิดขึ้นที่ “มิตาเกะ” MITAKE

นพพรหลงรักและบูชาคุณหญิงกีรติ อย่างบ้าคลั่ง
ตามวิสัย “รักครั้งแรก” ของชายหนุ่ม
หลายปีต่อมาเขาก็ลืมและเลือนความรู้สึกนั้นไป
ในขณะที่คุณหญิงกีรติยังคงประทับใจ และฝังแน่นกับความรักครั้งแรกของเธอ
ที่ข้างหลังภาพ “มิตาเกะ” MITAKE

อย่างที่เรารู้กัน นวนิยายเรื่องนี้จบลง
เมื่อคุณหญิงกีรติตายไปด้วยความโศกเศร้าและด้วยวัณโรค
(โรคของนางเอก/พระเอกสมัยทศวรรษ ๒๔๗๐-๘๐)
เธอทิ้งประโยคอมตะไว้ให้เราต้องท่องจำ

ข้าพเจ้าประทับใจนวนิยายเรื่องนี้มาก
จำได้แม้แต่ว่าเมื่อคุณหญิงกีรติพบนพพรครั้งแรกนั้น
เธอแต่งชุดสีน้ำเงินมีดอกขาว
เธอสวยงามเหลือเกิน
และก็ประทับใจต่อฉากรัก ที่นพพรลืมตัวสารภาพรักที่ “มิตาเกะ”
และ “มิตาเกะ” ก็คือ “ข้างหลังภาพ” ของนวนิยาย
ที่เต็มไปด้วยความรักและความเจ็บปวด




นี่ก็เป็นที่มา ที่ข้าพเจ้าในฐานะของคนที่ถูกคุณยายบ่นว่า “ชีพจรลงเท้า”
ตะเกียกตะกาย ไป “มิตาเกะ” ให้จงได้
ครั้งแรก ไปกับเพื่อนญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๒๖
ครั้งหลังพานักคิดนักเขียนหลายคนไปเมื่อปี ๒๕๕๐
(เมื่อครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตของสยามกับญี่ปุ่น ๑๒๐ ปี
ระหว่างรัฐบาลของรัชกาลที่ ๕ กับจักรพรรคิเมจิ)

ครั้งแรกปี ๒๕๒๖ นั้น เป็นเดือนตุลาคม ฤดูใบไม้ร่วง
อากาศเริ่มหนาว ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดง
ข้าพเจ้าโชคดีได้เพื่อนหญิงชาวญี่ปุ่นชื่อคาซึเอะ อิวาโมโต
เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ นำทางไป“มิตาเกะ” Mitake




อิวาโมโต ตอนนั้น ทำงานอยู่ที่มูลนิธิโตโยต้า
เราติดต่อกันมานานจนรู้จักกันดีพอควร
เธอเป็นคนญี่ปุ่นที่แข็งขัน และเป็นคนที่มีส่วนสำคัญให้นวนิยายไทยหลายเรื่อง
ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา”
หรือ “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” “สี่แผ่นดิน” ของ “ศึกฤทธิ์ ปราโมช”
“จดหมายจากเมืองไทย” ของ “โบตั๋น” ฯลฯ

เราขึ้นรถไฟกันที่สถานีคิซิโจจิ ที่ชานเมืองโตเกียว
(ไม่ได้ขึ้นที่สถานีชิงจูกุ ดังคุณหญิงกีรติและนพพร อย่างในเรื่อง)
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
ค่ารถไฟคนละ 470 เยน ตกเป็นเงินไทยตอนนั้นประมาณ 50 บาท
“มิตาเกะ” เป็นเมืองเล็กๆ
สถานีรถไฟก็เล็กน่ารัก แบบสถานีรถไฟที่บ้านโป่ง หรือโพธาราม

เราลงรถไฟที่นั่น วันนั้น อากาศเย็นแต่แดดจ้าเหมาะกับการไปชมฉากรัก
ของ “ศรีบูรพา” เสียนี่กระไร
เราขึ้นรถเมล์ต่อ เพื่อขึ้นไปบนภูเขา “มิตาเกะ”

ที่นั่น เรานั่งรถสายเคเบิล ซึ่งลากเราขึ้นไปไปครึ่งทางเกือบถึงยอดเขา
ถามได้ความว่ารถสายเคเบิลนี้ สร้างมาก่อนสงครามโลกที่สอง
แต่ “ศรีบูรพา” มิได้เอ่ยถึงไว้ในฉากรักของคุณหญิงกีรติ และนพพร

เราค่อยๆ เดินกันต่อเพื่อไปให้ถึงยอดเขา
หนทางเดินคดเคี้ยว ไปตามไหล่เขา
มีนักท่องเที่ยวบางตา ทุกอย่างดูสงบ
เห็นต้นซีดาขนาดใหญ่อย่างที่ “ศรีบูรพา” พูดถึง
บางแห่งเป็นต้นเมเปิล ใบกำลังเหลืองเกือบป็นแดง
หนทางที่เราเดินไปสงบเงียบ คดเคี้ยว
และยังมีสภาพเป็นธรรมชาติที่สุด

อิวาโมโต หันมาพูดกับข้าพเจ้าว่า
“คุณคงเข้าใจแล้วใช่ไหม
ว่าทำไม “ศรีบูรพา” เลือก “มิตาเกะ” เป็นฉากรักของ “ข้างหลังภาพ”

ครับ ข้าพเจ้าต้องพยักหน้าเห็นด้วย
เพราะ “มิตาเกะ” งดงามอย่างเรียบๆ เป็นธรรมชาติ
เหมาะกับรสนิยมของ “ศรีบูรพา”
ไม่หวือหวา หรูหรา
และโด่งดังอย่าง “นิกโก” ซึ่งใครๆ ก็รู้จัก
ใครๆ ก็ไปเที่ยว
แต่ “มิตาเกะ” มีคนญี่ปุ่นที่ไม่รู้จักมากมาย
คล้ายเป็นที่ลี้ลับ
และมีความเฉพาะเป็นส่วนตัว ของคนบางคน

เราไต่เขาตามทางเดินที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงประตูเข้าศาลเจ้า “มิตาเกะ”
ที่ด้านหน้าประตู มีบ่อน้ำและกระบวย
เราตักขึ้นมาดื่ม น้ำเย็นจัด
เพราะเป็นน้ำภูเขาและก็ทำความสะอาดมือไม้นิดหน่อย
ก่อนเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์




“มิตาเกะ” เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ตามแบบศิลปะญี่ปุ่น ที่เราเห็นทั่วไป
งดงามเป็นระเบียบ และที่สำคัญ คือ สะอาดมาก
เพราะนักบวชประจำศาล
ขยันทำงานปัดกวาดไม่เอาแต่ “จำวัด/จำศาล”กันเฉยๆ

ในทัศนะของข้าพเจ้า
ศิลปะญี่ปุ่นเก่านับว่าพัฒนาไปสู่ความเป็นสุนทรีสุดยอด
แม้จะได้อิทธิพลจีนราชวงศ์ถังมา
แต่ก็กลายเป็นญี่ปุ่นไปแล้ว

ที่น่าทึ่งมากก็คือ การที่คนญี่ปุ่นพัฒนาศิลปะของตน
ให้เข้ากับธรรมชาติ ด้วยการใช้สีสันและขนาดไม่ฉูดฉาด
ไม่อหังการ์ ไม่ท้าทายว่าตนซึ่งเป็นมนุษย์
จะอยู่เหนือธรรมชาติ

ศาล “มิตาเกะ” มีส่วนผสมระหว่างชินโตและพุทธศาสนา
พูดง่ายๆ คือ ผสมระหว่างศาสนาเดิมของญี่ปุ่น
ที่มีเทพเจ้าและการบูชาบรรพบุรุษ กับการถือพระรัตนตรัย

วันนั้น ข้าพเจ้าเดินลงจาก “มิตาเกะ” ด้วยหัวใจที่อิ่มเอิบ
ดีใจที่ได้มาเห็นภาพของ “ข้างหลังภาพ”
นึกถึงความรักและความตาย อันเจ็บปวดของคุณหญิงกีรติ

เธอร่วงโรยไปพร้อมกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
ในขณะที่นพพร ชายหนุ่มซึ่งเป็น “คนใหม่” กำลังมากับ “สังคมใหม่”
เป็นนักเรียนนอกและนายธนาคาร
กำลังทำท่าจะมีอนาคตรุ่งโรจน์ ทั้งด้านการงาน และชีวิตครอบครัว

“ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใดดอก
แต่เป็นภาพชีวิตรัก
ที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม และกาลเวลา”

ขอบคุณครับ “ศรีบูรพา” ที่สอนให้ข้าพเจ้า “รักธรรมศาสตร์”
“รักประชาชน” และยัง “รักวรรณกรรม” อีกด้วย"

cK@24July2015