จากบทความเรื่อง ‘หลักการกำปั้น 5 ข้อของขบวนการประชาธิปไตยใหม่’
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน
“โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558
การจับกุมนักศึกษา
14 คนที่เคลื่อนไหวในนาม
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558
ขึ้นศาลทหารด้วยข้อหาขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
(คสช.) และป.อาญา ม.116 กับการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมด
นับเป็นการประลองกำลังกันครั้งแรกระหว่างระบอบรัฐประหารกับประชาชน ที่มีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งเป็นหัวหอก
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”
(New Democracy Movement – NDM) ประกาศตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
8 มิถุนายน 2558 โดยเครือข่ายองค์กรนักศึกษาจากภาคเหนือ
กลาง อีสาน และใต้ ร่วมกับองค์กรชาวบ้าน รวม 20 องค์กร ชูหลักการกำปั้น
5 ข้อ ได้แก่ “ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม
สันติวิธี” โดยในวันนั้นมีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำผ้าลายพรางติดบนแท่นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น
จุดประสงค์ในการจับกุมนักศึกษาก็คือ
ต้องการที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งด้วยการดำเนินคดีในศาลทหารเพื่อป้องกันไม่ให้ขยายวงและ
“ยกระดับ” เป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนขนาดใหญ่ แต่นักศึกษาทั้ง 14
คนกลับไม่ยอมรับข้อกล่าวหาและไม่ประกันตัว พร้อมกับเดินเข้าสู่เรือนจำ
เอาอิสรภาพของตนเองเป็นเดิมพัน กระตุ้นให้ปัญญาชนส่วนที่ก้าวหน้าออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา
โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง
ปรากฏว่าในช่วงคุมขังนาน
12 วัน การเคลื่อนไหวได้ “ขยายวง”
ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด
ศาลทหารได้ยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 7
กรกฎาคม เป็นผลให้นักศึกษาทั้ง 14 คนได้รับการ “ปล่อยตัวชั่วคราว”
ในการประลองกำลังครั้งแรกนี้
ฝ่ายอำนาจรัฐเพียงแต่ “อ่อนข้อ” ให้เท่านั้น แต่สำหรับฝ่ายประชาธิปไตยแล้วกลับมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะ
นี่เป็นเครื่องหมายว่า ขบวนการนิสิตนักศึกษาปัญญาชนแม้จะยังมีขนาดเล็กและมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตจำกัด
ได้มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยกระดับไปเป็นขบวนประชาธิปไตยที่ตกผลึกทางความคิดอันชัดเจน และมีฐานสนับสนุนจากมวลชนจำนวนหนึ่ง
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”
เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งนั้นเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาภูธรจากทั้งสี่ภาค
ที่เคลื่อนไหวต่อสู้ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนานภายใต้รัฐบาลชุดต่างๆ
ร่วมกับประชาชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรโดยรัฐและเอกชน
แต่ภายหลังรัฐประหาร
22 พฤษภาคม 2557 การต่อสู้ในประเด็นทรัพยากรทั้งโดยนักศึกษาและประชาชนกลับถูกกดดันอย่างหนักยิ่งกว่าในอดีต
คู่ขัดแย้งของพวกเขาได้ยกระดับจากบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ไปเป็นรัฐประหาร
ทำให้พวกเขาเข้าใจแจ่มชัดว่าปัญหาแย่งชิงทรัพยากรกับปัญหาประชาธิปไตยนั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้
การแก้ไขปัญหาประชาชนที่ถูกกระทบและการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมนั้น
ต้องมีประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น
ความรับรู้ของพวกเขาได้ยกระดับจากประเด็น
“ความเป็นธรรม” ซึ่งเดิมมีเพียงมิติทางเศรษกิจและสังคมแยกขาดจากปริบททางการเมือง
ไปสู่ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง
รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นจากการละเมิดโดยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม นี่คือ
หลักการกำปั้นข้อแรกว่าด้วย “ประชาธิปไตย”
การต่อสู้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่มายาวนานทำให้นักศึกษาเหล่านี้ตระหนักว่า
แม้ในบางเวลาที่สังคมไทย “ดูเหมือนมีประชาธิปไตย” อยู่บ้าง แต่ประชาชนชาวบ้านไม่ว่าเวลาใดกลับถูกปฏิบัติเยี่ยง
“ต่ำชั้นมนุษย์” ทั้งจากผู้ปกครอง ข้าราชการ กระทั่งจากคนชั้นกลางในเมืองอยู่เสมอ
ฉะนั้น “ประชาธิปไตยในทางรูปแบบ” เท่านั้นยังไม่เพียงพอ
แต่จำต้องมีการเคารพและปกป้องในสิทธิความเป็นคนให้กับแม้คนที่ด้อยสถานะอย่างที่สุดในด้านทรัพย์สิน
อาชีพ คุณวุฒิการศึกษา ชาติตระกูล นี่คือ หลักการกำปั้นข้อที่สองว่าด้วย
“สิทธิมนุษยชน”
ประสบการณ์ของพวกเขาและประชาชนที่ต่อสู้ในประเด็นทรัพยากรมายาวนาน
ประกอบกับผลจากรัฐประหาร 2557 ที่ใช้อำนาจรัฐบังคับให้ “คำสั่ง” ของตนเป็น “กฎหมาย” บังคับกระทำต่อผู้คนในวงกว้างโดยปราศจากหลักนิติรัฐ
นิติธรรม ได้แสดงให้เห็นถึงรากฐานสำคัญของปัญหาว่าอยู่ที่การขาดซึ่งความยุติธรรมในระบบสังคมการเมืองไทย
การใช้กฎหมายเลือกกระทำต่อประชาชนคนด้อยสถานะและคนที่เห็นแตกต่างจากอำนาจรัฐ
แต่กลับใช้กฎหมายปกป้องคุ้มครองเหล่าชนชั้นอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา
ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษชนที่เป็นจริงในทางปฏิบัติและส่งผลเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้ด้อยฐานะอย่างแท้จริงได้นั้น
ต้องการหลักการกำปั้นข้อที่สามว่าด้วย “ความยุติธรรม”
แต่ทว่า
ทั้งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมนั้น ไม่ใช่ได้มาด้วย
“ความเมตตาสงสาร” ของผู้ปกครองหรือของชนชั้นอภิสิทธิ์
หากแต่ต้องด้วยการดิ้นรนต่อสู้ของประชาชนเองที่ตระหนักในสิทธิความเป็นคนและเสรีภาพของตน
ก้าวเข้ามาช่วงชิงและยึดครองพื้นที่ทางการเมืองของตนในสถานะเท่าเทียม
ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มิใช่แต่เปลือกภายนอก จึงต้องมีการเข้าร่วมจริงโดยประชาชนแม้แต่ที่ด้อยฐานะที่สุดในกระบวนการทางการเมืองทุกระดับและทุกขั้นตอน
นี่คือหลักการกำปั้นข้อที่สี่ว่าด้วย “การมีส่วนร่วม”
ท้ายสุด
การช่วงชิงให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการมีส่วนร่วม
จะสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการต่อสู้ที่มีความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น เพื่อไปช่วงชิงประชาชนผู้สนับสนุนให้ได้มากที่สุด
ความชอบธรรมนั้นจะได้มาก็ด้วยการต่อสู้บนหลักเหตุผลและวิธีการที่เป็นอารยะ
นี่คือ หลักการกำปั้นข้อที่ห้าว่าด้วย “สันติวิธี”
ดอกผลสำคัญประการแรกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คือ
การตกผลึกความคิดทางการเมือง ลงเป็นหลักการกำปั้น 5 ข้อนี้ ชูขึ้นเป็นธงนำทางความคิด โดยมีนัยสำคัญทางการเมืองเฉพาะหน้านี้คือ
การยุติความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชน แล้วสามัคคีกันไปช่วงชิงประชาธิปไตย
เพราะตราบเท่าที่ประชาชนยังแบ่งฝักฝ่าย
ขัดแย้งต่อสู้กันเอง พวกเขาแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายก็จะอ่อนแอ ไม่มีพลังเข้มแข็งพอที่จะไปต่อสู้ช่วงชิงสิทธิประโยชน์ของตนเองได้
ความขัดแย้งแตกแยกกันเองในหมู่ประชาชนมีทั้งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง
และที่ปลุกปั่นกระพือโดยผู้ปกครองเพื่อทำลายการรวมตัวกันของประชาชน
เป็นช่องว่างให้ผู้ปกครองขัดขวางประชาธิปไตยมาตลอดยุคสมัย เปิดโอกาสให้พวกเขาล้มล้างระบบรัฐสภาและก่อรัฐประหารเพื่อผูกขาดอำนาจในหมู่พวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า
จุดประสงค์ของ “ขบวนประชาธิปไตยใหม่”
จึงเป็นการ “ยกเลิกขั้ว
สลายสี” ในหมู่ประชาชน วางความขัดแย้งกันเองไว้เบื้องหลัง
ชูหลักการกำปั้น 5 ข้อเป็นแนวทางร่วมกัน
สามัคคีกันไปเผชิญกับภัยอันตรายข้างหน้า ซึ่งก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย
ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไร้ซึ่งความยุติธรรม กีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วม
และใช้กำลังความรุนแรงทั้งอาวุธและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
หลักการกำปั้น 5
ข้อ และเป้าหมายเพื่อไปสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้สะท้อนออกอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง
14 คน ดังจะเห็นชัดว่า นี่เป็นครั้งแรกนับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา
ที่ได้เกิดการเคลื่อนไหวอันเป็นความร่วมมือหนุนเนื่องกันของประชาชนหลายหมู่เหล่า
หลายชนชั้น โดยมีปัญญาชนเป็นกองหน้า