ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ท่าม กลางความคืบหน้ากรีซที่สามารถบรรลุข้อตกลงเงื่อนไขการให้เงินกู้เพิ่มจำนวน 8.6 หมื่นล้านยูโร และทำให้กรีซไม่ต้องออกจากยูโรโซน ช่วยลดความตึงเครียดต่อปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศลงในช่วงเวลานี้ แต่เมื่อหันมาดูปัจจัยในประเทศไทย กลับพบกระแสลบทั้งด้านเศรษฐกิจและดัชนีความเชื่อมั่นต่าง ๆ ที่ถดถอยลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ชะลอการลงทุน
ผู้บริโภคโดยรวมที่ตกอยู่ในภาวะทรัพย์จางเพราะพัวพันหนี้ และการยอมรับสภาพของภาครัฐบาล
เมื่อ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลรองนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้
นักลงทุน ประชาชน หลังเกิดภาวะขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเสพแต่ข่าวลบมากเกินไป ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เอกชนไม่ลงทุน ขณะเดียวกันกำลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณภาครัฐ การลงทุนของโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และอุดจุดที่อ่อนแอของเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม และไม่ใช้นโยบายประชานิยม เพื่อเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ
ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ว่า ปีนี้เป็นปียากลำบากของเศรษฐกิจไทยในรอบ 50 ปี
เพราะเผชิญทั้ง เศรษฐกิจซึมทั้งภูมิภาค ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัญหาภัยแล้งส่งผลให้กำลังซื้อของภาคการเกษตรกรของไทยซึมลง ด้านเสถียรภาพการเงินของธนาคารพาณิชย์ในไทยก็ระมัดระวังในการปล่อยกู้สูง เพราะกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไม่มีสภาพคล่องเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพทางการเมืองของไทยยังไม่ชัดเจน ภาคการส่งออกของไทยก็ชะลอเพราะเศรษฐกิจโลก และมีปัญหาเชิงโครงสร้าง
"50 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีพืชผลทางการเกษตรตกต่ำทุกรายการ เป็นภาพการเกษตรตก กำลังซื้อของเกษตรกรทุกจังหวัดหายหมด ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนไม่มีเงิน ซึ่งตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง นักธุรกิจล้มละลาย แต่เกษตรกรยังร่ำรวย แต่ปัจจุบันนักธุรกิจไม่มีเงิน เกษตรกรก็ไม่มีเงิน รัฐบาลก็ไม่ใช้เงิน คนรวยก็ไม่อยากจ่าย ดังนั้นความยากลำบากในด้านความรู้สึกของคนที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของคนให้ ตกต่ำ"
ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ครึ่งปีหลังจะเห็นการส่งออกยังคงติดลบต่อเนื่องอยู่ที่ราว -3.6% หรือมีมูลค่า 111,098 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมทั้งไทยยังประสบปัญหาในหลายด้านทั้งปัญหาประมงผิดกฎหมาย ทำให้ทั้งปีทิศทางการส่งออกของไทยติดลบ 3.8% หรือมีมูลค่า 218,896 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหดตัวหนักในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2553
ส่วนที่ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 1.2% อาจจะลำบาก เพราะ 5 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ 4.2% เท่ากับว่าช่วง 7 เดือนที่เหลือ ต้องผลักดันส่งออกให้ขยายตัวได้ถึง 4.6% หรือมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,158 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจ (การครองชีพ) ของครัวเรือน ในเดือน มิ.ย. 2558 ปรับตัวลงมาที่ระดับ 43.8 ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
ยังเป็นสัญญาณชี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวล่าช้าและเปราะบาง รวมถึงสถานการณ์การบริโภคภาคครัวเรือนที่ซบเซา โดยหลายภาคส่วนมีความระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะคงมีปัญหาด้านกำลังซื้อ และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ด้านรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรที่อาจเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มจากสถานการณ์ภัย แล้งที่ลากยาวหลายเดือน
ส่วนดัชนีคาดการณ์ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 45.2 ต่ำสุด
ใน รอบ 13 เดือน ยังสะท้อนความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อประเด็นค่าครองชีพ ทั้งด้านราคาสินค้า รายได้ เงินออม ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน จึงประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเลื่อนเวลาออกไป และท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ครัวเรือนยังคงรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร
ที่มีรายได้อยู่ระดับต่ำและมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวล่าช้า
อย่าง ไรก็ตามในด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า ผลสำรวจความเห็นนักลงทุน
รายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ พบว่าระดับดัชนีใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัว "เพิ่มเล็กน้อย" มาอยู่ที่ 98.28 (ช่วงค่าดัชนี 0-200) สูงขึ้น 11.48% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 88.16 โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยบวกด้านนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนของรัฐบาลจะผลักดันให้ตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวก
แต่นักลงทุน ก็ได้ให้ความสนใจปัจจัยเชิงลบต่างประเทศ ในเรื่องปัญหาหนี้ของกรีซค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงที่สำรวจกำลังเผชิญปัญหาคุกรุ่นอยู่ นอกจากนี้ยังสนใจประเด็นอื่น ๆ เช่น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่จับตาอย่างใกล้ชิด
นาย อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ กล่าวว่า แม้กรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ แต่หุ้นไทยยังตอบรับต่อข่าวดีดังกล่าวได้ไม่มากนัก เนื่องจากทิศทางค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยวันที่ 14 ก.ค. เปิดตลาดที่ระดับ 34.02-34.04 บาท/ดอลล์ จากปิดการซื้อขายวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.98-34.02 บาท/ดอลล์ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น และมีปัญหาในประเทศที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข เช่น ภัยแล้ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายอยู่ ทั้งนี้ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในที่สุด โดยในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ คาดว่าการแกว่งตัวจะมีกรอบแนวรับที่ 1,460-1,470 จุด แนวต้านที่ 1,520-1,525 จุด
...