วันจันทร์, มิถุนายน 01, 2558

บทเรียน ล้ำค่า ศึกษา"ประวัติศาสตร์" ของ คนขี่เสือ



ที่มา มติชน
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วาทะที่ว่าการอยู่ในอำนาจเหมือนกับ"การขี่เสือ" และความเด็ดเดี่ยวในการ "ฆ่าเสือ" ก่อนลงจากหลังเสือนั้นเหี้ยมหาญอย่างยิ่ง

สะท้อนให้เห็นว่า "การขี่เสือ" ต้องมากด้วย "ศิลปะ"

ที่ซับซ้อนมากยิ่งกว่า "การขี่เสือ" ก็คือ การลงจากหลังเสือได้อย่างราบเรียบ นิ่มนวลปลอดภัย

ไม่ต้องถูกเสือขบ ไม่ต้องถูกเสือขม้ำ

วาทกรรมว่าด้วยการอยู่บน "หลังเสือ" จึงสัมพันธ์กับ "อำนาจ" อย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ

เท่ากับยืนยันว่า "อำนาจ" เป็นเรื่องน่ากลัวพึงต้อง "ระมัดระวัง"

บางคนจึงเปรียบเทียบอำนาจเหมือนกับ "ยาเสพติด" ยิ่งเสพ ยิ่งอยู่ในอำนาจยิ่งถลำลึก ยากจะถอนตัวออกมาได้

ในที่สุด แทนที่จะ "คุม" อำนาจ กลับถูกอำนาจ "ครอบงำ"

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นว่า การขึ้นสู่อำนาจยากอย่างยิ่งอยู่แล้ว การถอนตัวหรือลงจากอำนาจยิ่งยากมากกว่า

ประวัติศาสตร์จึงเท่ากับเป็น "บทเรียน"

หากศึกษาจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หากศึกษาจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะตระหนักในบางแง่มุมในทางการเมือง

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาจาก "รัฐประหาร"

เริ่มต้นจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519 ตามมาด้วยรัฐประหาร "ซ้ำ" ในเดือนตุลาคม 2520

ปี 2519 ยังอยู่ในตำแหน่งทาง "การทหาร"

ต่อเมื่อหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 นั้นหรอกจึงทะยานไปยังตำแหน่งทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี

ดำรงตำแหน่งครั้งแรกเป็นไปอย่าง "ราบรื่น"

แต่ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

กลับไม่ราบรื่น

1 ประสบกับวิกฤตน้ำมันโลก 1 ประสบกับวิกฤตการเมืองภายใน

เป็นการเมืองภายในจากพรรคการเมือง เป็นการเมืองภายในจากกองทัพ เพราะว่าเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ขาลอย ต้องฝากผีฝากไข้ไว้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผบ.ทบ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั่นแหละคือ นายกรัฐมนตรี คนต่อไป

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาจากกระบวนการรัฐประหาร

พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็มาจากกระบวนการรัฐประหาร

เป็นรัฐประหาร รสช.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์2534

ในเบื้องต้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร อยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของ นายอานันท์ ปันยารชุน

มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ออกมา

เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจาก "คนนอก" คนที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการร่างก็หน้าคุ้นๆ เอ่ยชื่อออกมาก็ร้องฮ้อกันเกรียวกราว

หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 ทุกอย่างก็ "ฉลุย"

เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เปิดช่องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็สไลด์จาก ผบ.ทบ.เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีฐานจากพรรคการเมืองและนักการเมืองอันมาจากการเลือกตั้ง

แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่วันก็ต้อง "อำลา"

แม้จะมีพรรคการเมืองหนุนเสริม แม้จะมีกองทัพไม่ว่า กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ รวมถึงตำรวจให้การค้ำยันอย่างแข็งแกร่ง

แล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน ก็หวนคืนมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

อาจเป็นเพราะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ไม่ได้ "ฆ่าเสือ"

แต่คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ ปัจจัยอันใดในทางการเมืองที่เรียกว่า "เสือ" เพราะภาวะปั่นป่วนอันเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไป ล้วนมิได้เกิดขึ้นห่างจากแวดวงแห่งอำนาจ

จึงต้องทำให้ชัดว่าที่ว่าเสือ-เสือนั้นคืออะไร