จุดจบ"นายพล"บนถนนการเมือง ถูกยึดอำนาจ-ลี้ภัย-ไปตายต่างประเทศ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558เสียงหนุน แรงต้าน แนวคิดการต่อวีซ่าอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืดโรดแมป ออกไปเพื่อปฏิรูปให้เสด็จน้ำก่อนเลือกตั้งไปอีก 2 ปี มีไม่ต่างกัน เห็นได้จากเสียงสะท้อนจากสำนักดุสิตโพล ระบุว่าร้อยละ 76.94% อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศไปก่อน และเห็นว่า 2 ปี ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป
ฝั่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้นเสียงการเชียร์ให้ผู้นำขยายโรดแมป ก็ประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพรียง นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน
ฟากนักการเมืองที่แสดงตัวในที่แจ้งชัดเจน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เตือนว่า อาจกลายเป็นการเสพติดอำนาจ
แม้ทางลงจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ชัดเจน แต่ตามประวัติศาสตร์การเมือง ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนวันนี้ 83 ปี มีทหารที่ขึ้นเป็นนายกฯ ทั้งมาจากการยึดอำนาจ และผ่านการเลือกตั้ง มีทั้งสิ้น 11 คน ล้วนมีเส้นทางเข้าสู่อำนาจและลงจากอำนาจต่างกันดังนี้
1.พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือคณะราษฎร ที่นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 ปี ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 2476 ถึง 21 ธ.ค. 2481 หลังยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต่อมา พ.อ.พระยาพหลฯตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะพ่ายแพ้มติเรื่องพิจารณาระเบียบงบประมาณเมื่อเดือนกันยายน 2481 ก่อนจะตัดสินใจไม่รับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกฯแทน หลังยุติบทบาททางการเมือง เขาถึงแก่อสัญกรรม ในปี 2490 ครอบครัวไม่มีเงินพอจัดงานศพ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ต้องเข้ามารับอุปถัมภ์
2.จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรีที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นนายกฯถึง 2 ช่วงเวลา ครั้งแรกตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2481-1 สิงหาคม 2487 เข้ามาแทน พ.อ.พระยาพหลฯ และครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 แทนรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่ถูกคณะยึดอำนาจ 2490 ให้ลุกออกจากตำแหน่ง ผ่านมา 9 ปี ในปี 2500 จอมพล ป.ตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบทศวรรษ แต่ถูกนักศึกษา ประชาชน ประท้วงว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก จนเป็นเหตุให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เขาลี้ภัยการเมืองโดยเดินทางไปยังกัมพูชา และไปจบชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2507
3.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ส.ส.พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะปรีดี พนมยงค์ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ แม้ชนะเลือกตั้ง เมื่อ 5 สิงหาคม 2489 เพราะเจอแรงกดดันกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แต่นั่งเก้าอี้นายกฯได้เพียง 1 ปี ก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจ 8 พ.ย. 2490
4.หลังการยึดอำนาจจอมพล ป.สำเร็จ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้ตั้งนายพจน์ สารสิน อดีต รมว.ต่างประเทศ นั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งใหม่ ต่อมาได้เลือก พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) นั่งเก้าอี้นายกฯแทนอีกครั้ง ก่อนตัวเองจะขึ้นนั่งตำแหน่งนายกฯด้วยตนเอง ในวันที่ 9 ก.พ. 2502 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งนายกฯเมื่อ 8 ธันวาคม 2506 แล้วเก้าอี้นายกฯก็ถูกส่งต่อให้จอมพลถนอม กิตติขจร
หลังจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม จอมพลถนอมได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ 2507 มีคำสั่งให้ทรัพย์สินกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ และทรัพย์สินในกองมรดกของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ให้ตกเป็นของรัฐ จำนวน 604,551,276.62 บาท เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
5.จอมพลถนอม กิตติขจร
เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 สืบทอดตำแหน่งนายกฯจากจอมพลสฤษดิ์ ตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2506 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และการกลับเข้าประเทศในปี 2519 ด้วยการบวชเป็นสามเณร ก็เป็นเหตุให้นักศึกษา ประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งนี้ ในปี 2516 หลังพ้นจากอำนาจ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์สินของจอมพลถนอมและพวก คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร รวมมูลค่า 400 กว่าล้านบาท ในปี 2517 ฝ่ายจอมพลถนอมฟ้องศาล ต่อสู้เพื่อขอทรัพย์สินคืนแต่ไม่สำเร็จ
6.พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เป็นนายกฯคนที่ 15 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งถูกคณะรัฐประหารเชิญให้ลงจากตำแหน่ง แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯกลางสภา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2523 จากกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมัน
ตามราคาตลาดโลก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย ได้ส่งสมาชิกพรรคลงรับสมัครเลือกตั้ง 2 ครั้งคือในปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2529 แต่ศาลฎีกามีมติยุบพรรคชาติประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 เนื่องจากไม่ส่งคนลงสมัคร ส.ส.
7.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯถึง 8 ปี โดยสภาเลือก พล.อ.เปรม แทนที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดย พล.อ.เปรมเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 และไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง ทั้งที่มีการยุบสภาหลายครั้ง แต่ พล.อ.เปรมก็ได้รับเทียบเชิญจากพรรคแกนนำรัฐบาลให้ขึ้นเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2531 พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคชาติไทย พยายามเชิญให้กลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 4 แต่ พล.อ.เปรมปฏิเสธว่า "ผมพอแล้ว"
8.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 นำพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้ง แต่กลับถูกวิจารณ์เรื่องการทุจริต โดยได้รับฉายาว่า "บุฟเฟต์คาบิเนต" และเกิดความขัดแย้งระหว่างคนในรัฐบาลกับกองทัพ กระทั่งนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อ 23 ก.พ. 2534
9.พล.อ.สุจินดา คราประยูร
นายกฯคนที่ 19 ผู้อยู่เบื้องหลัง รสช. เขาไม่ได้นั่งตำแหน่งนายกฯหลังยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย แต่ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯหลังมีการเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 จากการสนับสนุนของ 5 พรรคการเมือง คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ทั้งที่เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ จนเกิดการประท้วง และลาออกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยอยู่ในอำนาจเพียง 47 วัน และยุติบทบาททางการเมือง
10.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ได้เป็นนายกฯคนที่ 22 หลังนำพรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แต่อยู่เพียง 1 ปีก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะพิษเศรษฐกิจ 2540 หลังจากนั้น ได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย และรับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วง 2544-2545 และเป็นรองนายกฯในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
11.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
เป็นนายกฯคนที่ 24 จากการเชิญของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงจากอำนาจหลังจากมีรัฐบาลใหม่ คือ พรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ทหารคนที่ 12 เข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ยังไม่ลงจากตำแหน่ง
การลงจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอย่างไรต้องติดตามในอนาคต
ooo
ถ้าคุณไม่หยุด ประชาชนจะหยุดคุณเอง นายประหยุด...สั้นๆ จากน้องกลุ่มดาวดินคลิปจาก Thais Voice (Thaivoicemedia, 8 มิ.ย. 2558)
Posted by แนวร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ on Thursday, June 11, 2015