วันอังคาร, มิถุนายน 16, 2558

'เปิด 3 สูตร เลือกตั้งเร็วสุด'




โดย...โอภาส บุญล้อม
ที่มา คม ชัด ลึก
วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2558

“ผมไม่ได้อยู่กับท่านไปตลอดชีวิต คิดว่าปี 60 ก็จะไม่อยู่แล้ว ปี 59 ก็จะส่งต่อ” เป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับประชาชน จากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ฟังจากคำพูดของนายกฯ แล้ว หากตีความตามตัวอักษร ก็คือ นายกฯ บอกว่าจะไม่อยู่ตลอดไป ปี 2560 ก็คงไม่อยู่แล้ว ปี 2559 ก็จะส่งมอบงานแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริงก็ถือว่ายังอยู่ใน “โรดแม็พ” ที่จะมีการเลือกตั้งกันในปลายปี 2559 และปี 2560 ก็จะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ปี 2560 ก็จะไม่อยู่แล้ว ยังเป็นการช่วยดับกระแสที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่อยาวเพื่อสืบทอดอำนาจ ได้อีกทางหนึ่ง

แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จะยกถึงปัจจัยสำคัญบางประการ นั่นคือ “... แล้วแต่สถานการณ์” อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” ของบ้านเมืองในอนาคตด้วยว่าเป็นอย่างไร และคำว่า “สถานการณ์” นี่เองจะเป็นตัวชี้ว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นได้เมื่อไหร่

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มีการกำหนดวันที่จะทำ “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” กันแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ว่า เป็นวันที่ 10 มกราคม 2559




คราวนี้ลองมาดูถึงสูตรเลือกตั้งกันบ้าง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 3 สูตร ที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วสุด

สูตรแรก หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในต้นเดือนกันยายน 2558 ก็จะใช้เวลาอีก 4 เดือน ในการเผยแพร่ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และจะลงประชามติถามประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 10 มกราคม 2559

หากผลประชามติออกมาว่า ประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ จากนั้นก็จะมีการออกกฎหมายลูก 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งขั้นตอนนับตั้งแต่การนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และการออกฎหมายลูก จะใช้เวลาอีก 8 เดือน และเมื่อรวมเข้ากับ 4 เดือนที่ใช้ไปก่อนหน้านั้น รวมแล้วเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้นตามสูตรนี้ การเลือกตั้งจะมีขึ้นได้ในเดือนกันยายน 2559

สูตรสอง เป็นกรณีที่ สปช.ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ซึ่งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ของ ครม. และ คสช. ระบุว่า ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไปให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีก 4 เดือน เพื่อนำไปสู่การทำประชามติ หากผลการทำประชามติออกมาว่าผ่าน ก็ต้องใช้เวลาอีก 8 เดือน จึงจะเลือกตั้งกันได้

ดังนั้นเมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เข้ากับระยะเวลาที่ใช้ในการทำประชามติ และระยะเวลาที่ใช้ไปกับการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และออกฎหมายลูก ก็คือ 1 ปี 6 เดือน ดังนั้นตามสูตรนี้จะเลือกตั้งกันได้ในเดือนมีนาคม 2560

สูตรสาม เป็นกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช. จากนั้นใช้เวลาอีก 4 เดือน นำไปสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ผ่านการทำประชามติ ก็จะต้องเข้าไปสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา 6 เดือน ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นใช้เวลาอีก 4 เดือน จึงจะลงประชามติอีกรอบเป็นรอบที่สอง หากผลการทำประชามติรอบที่สองออกมาว่าผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะใช้เวลาอีก 8 เดือน จึงจะเลือกตั้งได้ รวมเวลาทั้งหมดใช้เวลาไป 1 ปี 10 เดือน ดังนั้นตามสูตรนี้ จะเลือกตั้งกันได้ในเดือนกรกฎาคม 2560

ต้องบอกว่า 3 สูตรนี้ เป็นเรื่องของการเลือกตั้งเร็วสุด แต่อาจเกิดกรณีที่ทำประชามติรอบสองแล้วร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ผ่านอีก จะมีการทำประชามติรอบต่อๆ ไปอีกหรือไม่...แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่ทำประชามติวนเวียนกันอย่างไม่รู้จบ ซึ่งก็คงมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้

ต้องย้ำว่า ทั้ง 3 สูตรนี้ เป็นเรื่องของการทำประชามติ ถามประชาชนเพียงว่า “จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่” เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงกรณีที่อาจจะมีการทำประชามติถามประชาชนไปพร้อมกันว่าจะ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี” หรือไม่ เพราะว่าตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถามได้องค์กรละ 1 คำถามด้วย

ถ้ามีการทำประชามติถามว่าจะ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี" และผ่านความเห็นชอบจากประชาชน คำถามนี้ก็จะคลุมคำถามที่ว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด หมายความว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติ ก็ต้องชะลอร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ยังไม่ประกาศใช้ เพราะต้องทำการปฏิรูป 2 ปี เสียก่อน หากเป็นไปตามนี้จะมีการเลือกตั้งขึ้นได้ก็ในปี 2561

สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งให้ สนช.เรียบร้อยแล้ว โดย สนช.นัดประชุมเพื่อพิจารณากันในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเพียงวันเดียว 3 วาระรวด และสนช.จะทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะแก้ไขไม่ได้ เว้นแต่ ครม. และ คสช.ให้ความเห็นชอบให้แก้ไขได้

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการทำประชามติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องเป็นผู้ดำเนินการนั้น จากข้อมูลของ กกต.พบว่า จำนวนผู้มีสิทธิลงประชามติมีประมาณ 49 ล้านคน ซึ่ง กกต.จะต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชน 23 ล้านครัวเรือน คือให้ได้ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียง จึงเป็นปัญหาในการเตรียมการสำหรับ กกต.พอสมควร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องบัตรออกเสียงว่า จะเป็นบัตรเดียว หรือ 2-3 บัตร เนื่องจากคำถามในการทำประชามติอาจมีมากกว่าคำถามที่ว่า“เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะเปิดโอกาสให้ สปช. และ สนช.ถามได้ด้วย ดังนั้นหากใช้บัตรเดียวถามถึง 3 คำถาม ก็อาจจะเกิดความสับสน ทำให้บัตรเสียได้ง่าย แต่หากแยกเป็นบัตรละ 1 คำถาม จากที่จะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง จำนวน 49 ล้านใบ ตามจำนวนผู้มีสิทธิลงประชามติ ก็ต้องเอา 3 คูณเข้าไป รวมกับที่ต้องพิมพ์เกินเพื่อสำรองไว้ด้วย ก็ตกประมาณ 150 ล้านใบ นับว่ามีจำนวนเยอะมาก ซึ่งก็ต้องมีปัญหาในเรื่องหากระดาษจัดพิมพ์อยู่เหมือนกัน

ทั้งนี้การออกเสียงประชามติในครั้งนี้ จะใช้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฉีกบัตรออกเสียง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง

แต่เกณฑ์ในการผ่านประชามติคราวนี้ ตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะผ่านประชามติก็ด้วยเสียงเกินร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเท่านั้น โดยไม่ได้นำเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ประชามติมาใช้ ซึ่งต้องมี ผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงด้วยจึงจะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในการทำประชามติได้ยากกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันเลือกตั้งจะให้ชี้ลงไปชัดๆ ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ เป็นเรื่องยาก!

เห็นได้จากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “ผมไม่ต้องการให้สื่อมาถามมากนัก โดยเฉพาะเรื่องจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ เรื่องนี้ตอบแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราว”

อีกทั้ง ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำให้เห็นแล้วว่า ขึ้นอยู่กับ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” จริงๆ หากมีปัญหาติดขัดตรงไหนก็ใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว “ปลดล็อก” นั้นเสีย เช่น จากเดิมที่ทำ “ประชามติ” ไม่ได้ ก็แก้ไขให้ทำประชามติถามความเห็นชอบจากประชาชนได้ แถมยังมีคำถามพ่วงได้อีกด้วย

หรือกรณีเรื่องคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมหาก สปช.ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องสิ้นสภาพ และต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างชุดใหม่ ซึ่งห้ามคนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดแรกมาเป็น ทำให้มีปัญหาในการหาคนมาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ในชุดหลัง ก็แก้ไขเป็นว่า ไม่ห้ามคนที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ในชุดแรกแล้ว โดยแปลงมาเป็น “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ในชุดหลัง

หรือกรณีการแก้ไขคุณสมบัติต้องห้ามของ สนช.ที่ห้ามคนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็น เปลี่ยนเป็นห้ามเฉพาะ “คนที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” เท่านั้น ซึ่งคุณสมบัตินี้ใช้กับ “สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ด้วย เท่ากับว่าเปิดช่องให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและพ้นโทษแบนแล้ว อย่างบ้านเลขที่ 109 และบ้านเลขที่ 111 เข้ามาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ เพื่อความปรองดอง

ดังนั้นในเรื่อง “โรดแม็พ” สู่การเลือกตั้งก็เช่นกัน ในอนาคตหากมีปัญหาขึ้น ก็อาจใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว “ปลดล็อก” อีกก็ได้ ใครจะรู้ !

--------------------

(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : 'เปิด 3 สูตร เลือกตั้งเร็วสุด' : โดย...โอภาส บุญล้อม)