วันพุธ, มีนาคม 18, 2558

No-Military-Court-4-Civilians บางคนคิดว่าตีตั๋วไปพูดที่เจนีว่าแล้วจะไม่มีคนรู้ + แถลงการณ์ "พลเมืองโต้กลับ" เรื่อง ขอเรียกร้องให้ศาลอาญารักษาสถานภาพศาลสถิตยุติธรรม และยุติการนำพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาคดี...



ที่มา FB Pipob Udomittipong

ICJ องค์กรระหว่างประเทศเขาตั้งคำถามกับคณะมนตรีสิทธิฯ UN ว่า ในขณะที่โลกเขามุ่งหน้าเลิกใช้ศาลทหารกับพลเรือน หลายประเทศกำหนดเป็นแนวปฏิบัติด้วยซ้ำว่าห้ามใช้ศาลทหารในคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทำไมไทยและบางประเทศ (ปากีสถาน โคลอมเบีย ย่าน ๆ นี้) ยังใช้ศาลทหารกับพลเรือนอยู่

คณะผู้แทนไทยโดยคุณภควัตร ศรีสุขวัฒนาตอบได้ลึกซึ่งกินใจมากกว่า “เกี่ยวกับการใช้ศาลทหารนั้น เราใช้ในเฉพาะคดีที่มีข้อหาร้ายแรงเท่านั้น โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธและฆาตกรรม” โอ้โฮ ทนายอานนท์ นำภา สมบัติ บุญงามอนงค์ จิตรา คชเดช ฯลฯ คนเหล่านี้ไปพกพาอาวุธที่ไหน ไปฆ่าใครตายมา คนที่ชูสามนิ้ว คนกินแซนด์วิชทั้งนั้นที่ถูกไต่สวนคดีในศาลทหาร UNOHCHR เขาแจ้งต่อที่ประชุม UN ด้วยว่าตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่มีการทำรัฐประหาร พลเรือนถูกไต่สวนในศาลทหารไปแล้ว 202 คนเป็นอย่างน้อย

ยังไม่จบคุณภควัตรยังตอบต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้านอีกว่า “จำเลยพลเรือนในคดีศาลทหารได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับในศาลพลเรือน รวมทั้งสิทธิที่จะมีทนายความและได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” โอ้โฮ พวกปาระเบิดศาลอาญานี่ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” ไว้ก่อนหรือ เห็นแต่ละคดีมีแต่ซ้อมก่อนหนึ่งคืนแล้วจับตัวมานั่งแถลงข่าว พร้อมทำแผนประกอบคำรับสารภาพ นี่หรือคือ “presumed innocence” แล้วแต่ละคนที่ถูกจับด้วยกฎอัยการศึกน่ะ “อุ้ม” เข้าไปในค่ายทหาร ไม่ให้เขาติดต่อแม้แต่ญาติ อย่าว่าแต่ทนายความเลย นี่หรือคือ “สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับในศาลพลเรือน”

บางคนคิดว่าตีตั๋วไปพูดที่เจนีว่าแล้วจะไม่มีคนรู้ #NoMilitaryCourt4Civilians

คำแถลงของ ICJ http://www.icj.org/military-courts-and-human-rights-oral-statement-to-un-human-rights-council/

คำแถลงของผู้แทนไทย (นาที 41.35)
http://webtv.un.org/watch/item2-and-item3-general-debate-contd-29th-meeting-28th-regular-session-of-human-rights-council/4109459445001#full-text



คำแถลงของผู้แทนไทย (นาที 41.35)
ooo


สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ขอร่วมส่งต่อ แถลงการณ์ "พลเมืองโต้กลับ"
เรื่อง ขอเรียกร้องให้ศาลอาญารักษาสถานภาพศาลสถิตยุติธรรม
และยุติการนำพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาคดี...




กราบเรียน ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และข้าราชการตุลาการทุกท่าน
----------
อ้างถึง คดีระหว่าง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา กับนายอานนท์ นำภา กับพวก ผู้ต้องหา ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ และ ฉบับที่ ๔๐/๒๕๕๘ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่จะเป็นการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร
----------

สืบเนื่องจากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ลงนามประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ โดยอ้างสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ของประเทศ และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรง เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว แต่กลับกลายเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอีก ๒ วันถัดมา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ

หลังจากนั้น ได้มีประกาศอีกหลายฉบับตามมา รวมทั้งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ รวมถึงความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมสากลทั่วไป

ศาลทหารในประเทศไทย นอกจากจะไม่ได้มาตรฐานสากลตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นแบบระบบศาลทหารแยกออกมาต่างหาก โดยมีทหารเป็นผู้พิพากษาทั้งหมด และศาลทหารดำรงอยู่ตลอดเวลาเคียงคู่กับศาลพลเรือน ซึ่งระบบศาลทหารแบบนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนใช้แล้ว เหตุผลความจำเป็นของการมีศาลทหารประการหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างเสมอ คือ ข้าราชการทหารและวินัยทหารมีลักษณะพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีศาลทหารโดยเฉพาะเพื่อตัดสินคดีของทหาร หากเรายอมรับว่าเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวว่าถูกต้องจริง ก็หมายความว่า ศาลทหารต้องมีเขตอำนาจเฉพาะกรณีคดีของทหาร มีทหารเป็นคู่ความเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่พลเรือนต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

ศาลทหารที่ขยายเขตอำนาจของตนออกไปครอบคลุมถึงคดีที่พลเรือนเป็นจำเลยด้วย ในขณะที่วิธีพิจารณาความในศาลทหารนั้นไม่ได้ให้หลักประกันแก่จำเลยที่เป็นพลเรือนเพียงพอ และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) ในศาลทหารนั้นไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กระบวนพิจารณาที่ไม่รับรองสิทธิในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานไว้เพียงพอ หรือคู่ความไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา เป็นต้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารไม่ยุติธรรมเพียงพอ แต่ก็มาในนามของ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” เช่นนี้ ทำให้ระบอบเผด็จการทหารอาจกำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจเหนือพลเรือน เพื่อให้ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดพลเรือนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารได้

หากพิจารณาจากที่มาและพฤติกรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว เราจะพบว่าการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ เกี่ยวพันกับกรณีการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี ๒๕๕๓ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างลึกซึ้ง

นั่นคือ หลังการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี ๒๕๕๓ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการ และมีนายทหารจำนวนมากในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวข้องในระดับสั่งการและปฏิบัติการ

แม้นายอภิสิทธิ์ - สุเทพ ถูกฟ้องอาญาและได้รับการยกฟ้องกรณีการออกคำสั่ง ก่อนจะถูกฟ้องอีกครั้งจากกลุ่มญาติผู้สูญเสียฯที่นำเรื่องไปที่ ปปช. แต่นายทหารที่เกี่ยวข้องใน ศอฉ. รวมถึง พล.อ.ประยุทธ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใดใดเลย แม้ว่าศาลอาญาจะได้มีคำสั่งจากคำพิพากษาไต่สวนการตาย กรณีนายพัน คำกอง, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายชาติชาย ซาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร นี่ยังไม่นับอีกหลายสิบสำนวนที่รอนำสู่การพิจารณา หากไม่เกิดการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ ขึ้นมาเสียก่อน ทั้งนี้โดยไม่อาจกล่าวข้ามความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯแบบเหมาเข่งด้วยเช่นกัน

และคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า "ขอถามข้อเท็จจริงว่ามีคนใช้อาวุธในประชาชนหรือเปล่า มีหรือเปล่า ขอให้พูดดังๆ มีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเปล่า และมีคนยิงใส่ทหารหรือเปล่า ถ้ามีก็จบ” นั้น เป็นการพูดแบบเอาสีข้างเข้าถู เพราะผู้เสียชีวิตที่ศาลได้มีการพิจารณาและมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ ๖ ศพวัดปทุมฯ นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่จนทุกอย่างบริเวณพื้นที่ชุมนุมอยู่ในความสงบแล้ว

ดังนั้น คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นคำกล่าวที่เลื่อนเปื้อน เป็นการโยนความชั่วออกจากตัว โดยยกเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกันมาโยงเข้าด้วยกัน เพื่อจะเอาตัวให้พ้นผิดจากกรณีการมีส่วนร่วมในการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี ๒๕๕๓ ผ่านการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ นั่นเอง

หากพิจารณาจากพลเมืองทั้งสี่ที่ถูกตั้งข้อหา และจะต้องถูกส่งขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี ๒๕๕๓ และการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ ทั้งสิ้น เช่น นักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย, ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดูแลคดีการชุมนุมทางการเมือง ๒๕๕๓ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีละเมิดกฎอัยการศึก ฯลฯ และญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี ๒๕๕๓ เป็นต้น

การแสดงความเห็น การตั้งคำถาม การปฏิเสธให้ความร่วมมือ การประท้วง ดื้อแพ่งอย่างสันติวิธี เป็นสิ่งที่พลเมืองกระทำได้ตามกฎหมาย ประการสำคัญ มันยังเป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีแห่งการเป็นพลเมือง ที่ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอำนาจมหาศาล ที่สามารถบันดาลคุณอนันต์หรือโทษมหันต์แก่สังคมได้

ในขณะที่พลเรือนยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม ระบบที่เที่ยงธรรม และอำนาจที่ตรวจสอบได้ ระบบยุติธรรมแบบทหาร โดยเฉพาะภายใต้รัฐเผด็จการ กลับให้ความสำคัญกับการรักษา “ระเบียบวินัย” “ความมั่นคงของรัฐ” “อำนาจแห่งรัฐ” การดำเนินคดีต่อพลเรือนที่ดื้อแพ่งต่อการปกครองของทหารโดยศาลทหาร จึงเสมือนการบังคับข่มเหงต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ให้ต้องสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของทหารนั่นเอง

ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล และอาศัยสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อที่ ๑๔ เหล่าพลเมืองโต้กลับทั้งสี่ จึงขอเรียกร้องให้ท่านและข้าราชการฝ่ายตุลาการทุกคนยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะดำเนินการพิจารณาคดีพลเรือนทุกคนในศาลอาญามากกว่าที่จะปล่อยให้พลเรือนตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่กระท่อนกระแท่นของศาลทหาร

ทั้งนี้ หากคณะรัฐประหารได้บังอาจใช้อำนาจใดมาแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านให้บิดเบี้ยวไปจากกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขอท่านได้โปรดดำรงไว้ซึ่งเกียรติแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการ อย่าได้หวั่นหวาดไปตามอำนาจอันป่าเถื่อนนั้น และทำหน้าที่ของท่านด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสืบต่อไป.

ด้วยความเคารพอย่างสูง,

นายอานนท์ นำภา พลเมืองที่ ๑,
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พลเมืองที่ ๒,
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พลเมืองที่ ๓ และ
นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ พลเมืองที่ ๔