วันเสาร์, มีนาคม 21, 2558

วิกฤติหมอกควัน: ถ้าปอด-หัวใจคนไทยไม่ได้แข็งแรงกว่าชนชาติใดในโลก

ภาพประกอบจาก www.chinadaily.com.cn บทความ Special: Fight Air Pollution [Cartoon by Li Min]


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม
วันที่ 19 มีนาคม 2558

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดการเสวนา “รวมพลัง ร่วมพิชิตวิกฤติหมอกควัน” โดยเชิญนักวิชาการจากหลายสาขา อาทิ สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมถึงตัวแทนชุมชนทั้งพื้นที่ต้นแบบและปัญหา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอข้อมูล แนวคิดในการ บรูณาการปัญหาของหมอกควันที่กระทบต่อประชาชน

เนื้อหาการพูดคุยมีหลากหลายด้าน อย่างไรก็ตามขอหยิบยกเนื้อหาการเสวนาในด้านความเสี่ยงทางสุขภาพ อันเป็นความเสี่ยงทางสังคมที่โยงใยไปยังมิติทางเศรษฐ ซึ่งกองบรรณาธิการประชาธรรมอยากไฮไลท์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

อะไรคือการเสี่ยง-เจ็บป่วยจากหมอกควัน?

รศ. นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาระบบหายใจเวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกริ่นนำว่า สมาคมโลกหัวใจแห่งสหรัฐอเมริการองรับมานานแล้วว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ขณะที่การทำงานในระบบสุขภาพเชิงรับ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นมีจุดอ่อน หากเป็นหวัด เจ็บคอ น้ำมูกมีสีเขียวเหลือง ไซนัสอักเสบ ปอดบวม หอบหืดกำเริบ ถุงลมโป่งพอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองแตก เป็นมะเร็งปอด จะมีไม่มีใครบอกว่าอาการพวกนี้มาจากหมอกควัน ทั้งๆ ที่ปัญหาหมอกควันเริ่มขึ้น 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ชาวเหนือสูดรับมลพิษเกินค่ามาตรฐานทุกปีเฉลี่ย 1-3 เดือน ขึ้นอยู่ว่าจะใช้เกณฑ์ชุดไหน ถ้าใช้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษจะอยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 50 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบุว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงก็ใช้ค่าเฉลี่ยต่อวันมาพิจารณา

“ผมก็คิดว่าอากาศเชียงใหม่อากาศดีจะมาฝากผีฝากไข้เหมือนชาวต่างชาติ แต่ก็ไม่รู้จะเจอแบบนี้ ขณะเดียวกันก็คิดว่าเป็นหมอรักษาอย่างเดียวมันไม่น่าจะพอเลยทำหนังเรื่อง Smog in the city ซึ่งจินตนาการถึงปี 2020 ชาวเชียงใหม่ต้องอพยพเหมือนกับเหตุการณ์ London fog ในปี 1952 ที่มีผู้คนตายคารถ ตายคาบ้าน ตายคาที่ทำงานในช่วงอาทิตย์แรก และเสียชีวิตในอีก 2-3 เดือนต่อมา รวม 4,000 คน”


รศ.นพ. ชายชาญ กล่าวถึงการศึกษาทางระบาดวิทยาโดยวิจัยในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และโครงการวิจัยอิสระในหลายเมืองทางยุโรป สอดคล้องกันว่า ค่าของความตายประจำวันที่ไม่ใช่อุบัติเหตุมันมีความสัมพันธ์กับค่าเฉลี่ย PM10 เหมือนเงาตามตัว เดิมองค์การอนามัยโลกกำหนดค่าเฉลี่ยของ pm10 ไว้ที่ 120 ตามงานวิจัยในปี 1994 ที่พบในขณะนั้น พอมีงานวิจัยในช่วงปี 1997-1999 ท้ายสุดองค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้ประเทศสมาชิกภาคีใช้ประกาศ WHO Guideline 2005 แต่มีหลายประเทศในเอเชียที่ดื้อแพ่งไม่ยอมเปลี่ยน จึงทำให้เกิดมาตรฐานสองแบบ ซึ่งไทยไม่มีอุปกรณ์ pm 2.5 ใช้อย่างแพร่หลายมีแค่ PM10

“ประเด็นสำคัญคือชาวเหนือ ทำไมสูดมลพิษต่างกันในสองรายงาน เวลาผมสอนลูกศิษย์หรือเมื่อหมอปอดคุยกันจะบอกมลพิษทางอากาศมันเริ่มตั้งแต่ปลายธันวาคม มกราคม ซึ่งทางการก็ชวนเชิญมาเที่ยวเชียงใหม่ๆ มันมีหมอกควันไม่กี่เท่านั้น ผมฟังแล้วก็เศร้าใจ ก็ได้พูดแต่ในวงแคบๆ ของนักวิชาการว่าต้องมีค่ากำหนดพิษภัยที่ไม่ให้ประชาชนต้องเสี่ยงเกินไป เป็นค่ามาตรฐานสากล ไม่ใช่ปอดคนไทยทนกว่าอเมริกา ยุโรป ทนกว่าพม่า”

อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าทุกๆ PM10 ที่เพิ่มขึ้น 1% อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 1% เช่นกัน แต่คงไม่มีหมอคนไหนที่จะบอกว่าคนตายจากหมอกควัน ดังนั้นหมอจำเป็นต้องมีความรู้ทางระบาดวิทยาด้วย แล้วก็เอาผลกระทบของ PM10 มาพิจารณาซึ่งหลายที่วิจัยกันมาแล้วไม่ใช่การสร้างสถานการณ์”

รศ.นพ. ชายชาญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ยังรวมถึงโรคหัวใจ และหลอดเลือดซึ่งเพิ่มขึ้น 40% หากฝุ่นขนาดเล็กซึมเข้าผนังหลอดเลือดฝอยในปอด ก็จะไหลตามระบบไหลเวียนต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามีจุดอ่อนที่สมอง เส้นเลือดในสมองอาจแตกตาย หรือหากมีจุดอ่อนที่เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดหัวใจตีบอาจจะตายได้ เป็นต้น

“มีคุณพ่อของคุณหมอท่านหนึ่งไปวิ่งที่สนาม 700 ปี เขาเป็นสมาชิกชมรมออกกำลังกาย วิ่งไปสักพักก็ล้มคาสนาม เกือบมาโรงพยาบาลไม่ทัน และหมดค่ารักษาไปเกือบ 2 ล้านบาท”

แล้วถ้าปอดคนไทยไม่ได้แข็งแรงกว่าชนชาติใดในโลก?

“ถ้าใช้มาตรฐานของ WHO หมายความว่าเราสูดควันพิษกันปีละ 3 เดือน พอสะสมนานๆ เข้าก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด เม็ดเลือดเพี้ยน หายใจติดขัด กระดูกเพี้ยน ลูคีเมีย ปัญหาผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวยังไม่ค่อยมีการพูดถึงหลักฐานทางการแพทย์ที่ชี้ชัดมันก็ไม่มาก แต่เราจะเห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งมันสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”


รศ.นพ. ชายชาญ ระบุว่า ผลกระทบมันจะมีระยะเวลาหน่วง จากตัวเลขผู้ป่วยที่มาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม เห็นได้ว่าจำนวนเคสมันก็ขึ้นๆ ลงๆ แต่เมื่อเอามาพล๊อตกับความสัมพันธ์กับ PM10 ที่สูงขึ้น PM10 ที่ขึ้นพีค สมมุติว่าในช่วงวันสองวันนี้มันสูงมากอีกประมาณ 5-7 วัน คนไข้ถึงจะมาที่ห้องฉุกเฉินเยอะขึ้น เพราะว่ามันมีระยะฟักตัวซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ



จากการศึกษาในรายที่เป็นหอบหืด ถุงลมโป่งพองกำเริบ พบว่าคนไข้จะมีอาการกำเริบของโรคทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น ถ้าเพิ่มเป็น 300 ไมโครกรัม หมายความว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-50 เปอร์เซ็น เมื่อสังเกตร่วมกับข้อมูลทางระบาทวิทยาและข้อมูลที่เกิดจากการวิจัยทดลอง เราก็พบว่ามันมีผลจริง มันไม่ใช่แค่แสบตา ไม่ใช่แค่ทัศนะวิสัยไม่ดี คนไทยชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีอะไรก็แก้ๆ ไปก่อน พอเวลาผ่านไปก็ไม่ค่อยมีอะไรยั่งยืน

“ความเข้มข้นของ PM10 ที่เพิ่มขึ้น ในแต่ละวัน มันทำให้มีผลกระทบ ที่เห็นกันง่ายคือการติดเชื่อในระบบหายใจ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บคอ จมูกอักเสบ ปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ หอบหืดกำเริบ เป็นโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ อีกนัยหนึ่งคือทำให้โรคเก่ากำเริบ หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทารกที่คลอดมาใหม่ตายเฉียบพลัน ปอดวายเฉียบพลัน”

ส่วนผลกระทบระยะยาวสำหรับคนที่ปกตินั้น รศ.นพ. ชายชาญ ยกผลการสำรวจ ในปี 2546 ที่มีการสำรวจที่เชียงใหม่ พบว่ามีคนที่มีหลอดลมไวเกิน 30% ต่อมาปี 2548 เพิ่มขึ้นไปเป็น 42% ซึ่งน่าสนใจมากว่าทำไมคนเชียงถึงมีอาการภูมิแพ้เยอะขึ้น ตอนนั้นก็โทษกันว่าเป็นเพราะมีการก่อสร้าง อภิมหาโปรเจ็ค อุโมงค์ทางลอดต่างๆ แต่ปัจจัยที่สำคัญก็คือปัญหาหมอกควัน หรือพบว่าเกิดหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความดันในเลือดสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินผักออร์แกนิค

“เมื่อวานซืนผมก็เจอแม่อุ๊ยคนหนึ่ง อายุ 61 แกว่า แม่ไม่เคยเป็น ไม่เคยสูบบุหรี่ ลูกหลาน พี่น้อง น้าอา ที่อยู่แถวนี้ไม่เคยมีใครเป็นแบบนี้ แม่ไปเฝ้าสวน แม่ก็เหนื่อย อ่อนเพลีย พอถามว่ามันเป็นครั้งแรกในชีวิตหรือไม่ แม่อุ๊ยก็บอกว่ามันมาเป็นเอาปีนี้แหละ เมื่อปีที่แล้วก็แค่ไอแต่มันไม่ได้มีเสียงดัง ไปหาหมอที่ไหนหมอก็ว่าเป็นหลอดลมอักเสบ มาปีนี้แม่อุ๊ยนอนไอซียู เลยครับ เป็นถุงลมโป่งพองทั้งๆ ที่ ไม่ได้สูบบุหรี่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุเช่นกันว่าในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา 30% ของโรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการสูดมลพิษ องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นวาระแห่งโลกว่า PM10 มันมีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก และมีความเสียงต่อการเป็นมะเร็งสูงขึ้น” รศ.นพ. ชายชาญ กล่าว

‘หมอหม่อง’ย้ำอย่ายกตัวเลขนักท่องเที่ยวหด มาปกปิดผลกระทบของหมอกควัน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจมองแค่ตัวเลขการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองมิติทางสุขภาพด้วย

ด้านนพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันดีในนามหมอหม่อง กล่าวเสริมว่า หากดูอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในกรณี London fog ในปี 1952 พบว่าอัตราการตายของคนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 อาทิตย์แรกนั้นมากกว่าการตายของเครื่องบินทิ้งระเบิดนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก หรือองค์การอนามัยโลกบอกว่าประชากรทั้งโลกที่ตายจากมลพิษเฉลี่ยเท่ากับเครื่องบิน A380 ตก 7 ลำต่อวัน ในแง่ของโรคหัวใจนั้นพบว่ามันมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของลิ่มเลือด ผนังเลือดหัวใจ และมีเม็ดเลือดอุดตันในหัวใจ รวมทั้งการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ หรือตายอย่างกระทันหัน


“มีงานศึกษาจากการตรวจเครื่องอัลตร้าซาวด์ พบว่าการสัมผัสต่อมลพิษทางอากาศในระยะยาวทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นตามลำดับ เหมือนเราเป็นคนสูบบุหรี่มือสองอยู่ตลอดเวลา อยากชี้ให้เห็นว่าเรื่องของมลพิษไม่ใช่ความเสี่ยงที่เห็นผลทันตา แต่เป็นความเสี่ยงที่สะสม การสูญเสียทางเศรษฐกิจคงไม่ได้วัดที่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นการมองระยะสั้นเท่านั้น คงต้องมองความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแง่ทางสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องค่ารักษาพยายาล แต่รวมถึงความสามารถในการทำงานต่างๆ มากมาย”

“ระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิต เกิดการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา การไปแก้ปัญหาแค่ไล่จับคนเผาก็คงไม่พอ ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับของรัฐที่จะมองผลกระทบเรื่องเกษตรพันธสัญญา หรือคนที่รับผิดชอบจะเข้ามามีส่วนร่วมคือใคร บริษัทใหญ่โตทั้งหลายอาจจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งนี้ต้องสร้างการตระหนัก ไม่ใช่การปิดข่าว หรือพยายามบอกว่ามันไม่รุนแรง ทุกคนก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นอะไรยังดำรงชีวิตตามปกติไปได้ ทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและปรับตัว ซึ่งอาจจะต้องเรียกร้องกับรัฐว่ามีสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจ ไม่ใช่ว่าพอมีฝนตก เราก็จะลืมเรื่องนี้กันไปในที่สุด” นพ.รังสฤษฎ์ ทิ้งท้าย.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Smog in the City -- สม๊อก หมอกควันสะท้านเมือง
ฤๅอนาคตชาวเชียงใหม่จะเป็นเช่นนี้


https://www.youtube.com/watch?v=ksDxFC3S8Tc