'โหดเหี้ยม' ตั้งแต่ต้นถึงปลายทาง
By transbordernews
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของขบวนการค้ามนุษย์ในกิจการประมง ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศอินโดนีเซีย ไว้ในเฟสบุค Sompong Srakaew ดังนี้
ลูกเรือประมงไทย พม่า กัมพูชา และลาว มาทำงานในเรือประมงไทย ในน่านน้ำอินโดนีเซียได้อย่างไร และถูกกระทำหรือใช้แรงงานงานเยี่ยงทาสได้อย่างไร
แรงงานลูกเรือประมงส่วนใหญ่จะถูกกระบวนการนายหน้าล่อล่วง หลอกลวง ชักนำ ชักชวน นำพา พาไปที่ต่างๆ และกักขังก่อนถูกส่งลงเรือตามท่าต่างๆ ที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสงขลา เป็นต้น คำชักชวนบอกว่า ทำงานได้เงินดี ไม่ลำบาก เช่นมาเป็นยาม มาเก็บกาแฟในสวน มาทำงานก่อสร้าง มาคัดแยกปลาบนฝั่ง หรือมาทำเรือประมงน่านน้ำไทย 15 วันเข้าฝั่งครั้งหนึ่ง ได้เงินตัดส่วนจากการขาย
แต่ความจริง เขาเหล่านั้นถูกนำมาขังไว้ แม้สามารถเดินไปไหนได้ แต่มีคนเฝ้าติดตามโดยตลอด ที่บ้านหลังใหญ่แถบมหาชัย สมุทรสาคร
นายหน้าจับจุดได้หากบางคนชอบดื่มเหล้า เบียร์ เที่ยวผู้หญิง จัดให้เลย แต่เบื้องหลังคือ เป็นหนี้ล้นพ้น เบียร์หนึ่งลังคิดเงินเป็นหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้น เมื่อถูกลงเรือ เขาจะเป็นหนี้เท่าไหร่ ไม่ต้องบอกว่านายหน้า เจ๊ เฮีย เจ้าของร้านคาราโอเกะแถบท้ายบ้าน ปากน้ำ สมุทรปราการ และทางรถไฟมหาชัยจะไม่รู้กับกระบวนการที่อยู่บนเรือแม่หรือเรือลูก เพราะเป็นเครือข่ายการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานเต็มรูปแบบ
ลูกเรือบอกว่า เขาแค่มาถ่ายรูปผมเท่านั้น เช่นที่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ระนอง หลายต่อหลายคนมากับเรือแม่ เป็นเรือใหญ่ขนส่งสินค้าทางเรือ เรือแม่และ/หรือเรือทัวร์จะปฏิเสธการไม่รู้เห็นกระบวนการนี้ไม่ได้ ‘จุมโพ่’ หรือคนทำอาหารบนเรือบอกกับลูกเรือคนใหม่เมื่อลงไปที่เรือแม่ว่า “เอ็งถูกหักค่าหัวแล้วหละ เอ็งไม่ได้เงินสักบาทใช่ไหม” “ครับ”
แรงงานจำต้องยอมเดินทางไปเพราะอยู่กลางทะเลแล้ว โดยเรือแม่ การเดินทางประมาณ 15 วัน ถึง 20 วันจนถึงเกาะอัมบนประเทศอินโดนีเซีย ถูกส่งต่อให้เรือลูกที่ทำหน้าที่หาปลา เมื่อมาถึงเรือลูกจะถูกให้ทำงานใช้หนี้เพื่อหักค่าหัวที่นายหน้าเอาไปจำนวน 30,000 – 50,000 บาท ต้องรับสภาพการทำงานเพื่อใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้สร้าง
กระบวนการนำคนลงเรือนี้ทำโดยคนไทย และเรือทุกลำออกจากประเทศไทย คนที่ควบคุมเรือและบังคับพวกเขาทำงานก็คือคนไทย
และอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น ในเรือกลางทะเล เรือเมื่อหาปลาได้จะมีการขนถ่ายปลากลางทะเลในกับเรือแม่ ดังเรือจะเข้าฝั่ง 4 ถึง 6 เดือน แต่รอบของการหาปลา กว่าเรือจะกลับประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 6 ปี เมื่อเรือจะกลับอาจจะทิ้งคนเหล่านี้ไว้ตามเกาะต่างๆ หรืออาจะนำไปขายต่อให้กับเรือลำอื่นกลางทะเล บางคนทนสภาพการทำงานไม่ได้หนีขึ้นฝั่งเป็น ‘คนตกเรือ’ แรงงานเหล่านี้จะไม่ทราบว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ แล้วแต่ ไต๋ก๋ง (กัปตันเรือ) จะพิจารณา เอกสารของพวกเขาที่เรียกหนังสือคนประจำเรือ (Seaman book) คือเอกสารปลอมทั้งหมด
ทางการอินโดนีเซียจะไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับทำงาน การทำร้ายทุบตี การหักเงิน ทั้งหมดอยู่ที่ไต๋เรือที่เป็นคนไทยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ร่วมกันกับผู้ประกอบการไทย ทางสำนักงานที่อินโดนีเซียจะเกี่ยวข้องกับเรือที่หาปลา การขอสัมปทานตั๋วเรือเพื่อขออนุญาตหาปลา ทำเรื่องการขายปลา และการขนส่งปลา อาจจะช่วยเหลือได้หากคนเรือที่อยู่บนฝั่ง เมื่อถึงเวลาต้องลงเรือจะติดตามให้คนเหล่านี้รวมทั้งคนที่ตกเรือกลับมาลงเรือเดิม
การส่งเงินกลับทางบ้าน สำหรับบางคนที่สมัครใจและมาแบบมีเอกสารถูกต้อง มีการบริการจัดการ การโอนเงินนำมาจ่ายค่าแรง ผ่านสำนักงานที่อยู่อินโดนีเซีย และจะบริหารจัดการร่วมกับคนไทย ให้การอนุญาติให้คนกลับบ้านหรือกลับประเทศทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของกิจการที่ประเทศไทยและไต๋ก๋ง (กัปตันเรือ) เท่านั้น
ส่วนใหญ่จากการสัมภาษณ์เมื่อลูกเรือขอกลับบ้านจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับ บางคนต้องเกณฑ์ทหาร แม่ป่วย พ่อป่วย ครอบครัวขอให้กลับ น้อยรายมากที่จะได้กลับ ส่วนใหญ่เมื่อลงเรือมาแล้ว โทรศัพท์มือถือ เอกสารสำคัญต่างๆ นายหน้าจะยึดและทิ้งไปก่อนให้ลงเรือ ทำให้ไม่สามารถติดต่อทางบ้านและกลับประเทศเองได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน 1.การทำร้ายทุบตีเกิดขึ้นในเรือ การบังคับให้ทำงานเกิดขึ้นในเรืออยู่กลางทะเล การเสียชีวิตและอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นกลางทะเล 2.หากปฏิเสธที่จะไม่ทำงาน ถ้าไม่ถูกตี ทำร้ายร่างกาย ใช้น้ำร้อนสาดใส่ตัว แต่จะถูกหักเงินตามรอบของการปล่อยอวนและเก็บกู้อวน 3. เมื่อต้องทำงานหนักบางคนร่างกายสู้ไม่ไหว เสียชีวิตกลางทะเล ไต๋บางคนใจดีจะนำกลับมาฝังที่ฝัง แต่ส่วนใหญ่ก็โยนศพทิ้งกลางทะเล
4. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น สลิงขาด และฟานเรือฟาดที่ขา แขน หรือ ศีรษะ ลำตัว และเมื่อจำต้อง การกระโดดลงน้ำเพื่อทอนปลา ใส่ปลี ก่อนนำขึ้นเรือ อาจมีคนบาดเจ็บ เมือเกิดอุบัติเหตุในขณะที่เรืออยู่กลางทะเล น้อยครั้งที่จะนำตัวเขารับการรักษาที่โรงพยาบาล หลายคนเสียชีวิตและป่วยตายกลางทะเล เช่น โรคฝี ไข้หวัดทะเล โรคมาเลเรีย และถูกบังคับให้ทำงานกลางแดด กลางฝนทั้งวันทั้งคืน ทั้งนี้ทีมลงพื้นที่ได้พบคนขาพิการ และนิ้วมือพิการจำนวนหนึ่งจากอุบัติเหตุการทำงาน บางคนแขนหลุด 5.การตายของลูกเรือเมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย หรือสาเหตุใดๆ ก็ตาม เพื่อปกปิดคดี ใต๋เรือจะจ่ายเงินบนฝั่งกับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียที่รู้เห็นเป็นใจเพื่อปกปิด
การทำให้คนเป็นแรงงานทาส และอาจเข้าข่ายค้ามนุษย์
กระบวนการค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ เป็นการกระทำอย่างเป็นเครือข่าย ผู้ประกอบการธุรกิจจะอ้างว่าไม่รับรู้ ไม่เห็นกับกระบวนการนี้ไม่ได้ เสมือนกลายเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม โดยหัวใจหลักอยู่ที่ ‘การทำให้คนอยู่ และทำงานอย่างผิดกฎหมาย’ ‘การทำเอกสารปลอม’ เพื่อต้องการ ‘กดขี่’ อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้ลูกเรือประมงไม่สามารถที่จะแจ้งหรือฟ้องร้องต่อใครได้ ไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน และบางคนอาจถูกทำให้กลายเป็นเสมือนแรงงานเถื่อน หรือ ‘คนผี” ทั้งที่มีการกระทำนี้เป็นลักษณะเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม โดยมีการสั่งนำเข้าคนไทย พม่า กัมพูชาและลาว และมีผู้รับไว้ มีผู้อำนวยให้สามารถออกนอกประเทศได้อย่างผิดกฎหมาย และมีการจ่ายส่วยในกระบวนการนี้ ทำเป็นกระบวนการและมีการ ‘คอร์รัปชั่น’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย หรือหลายหน่วยที่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าของเรือ
แล้วคนเหล่านี้ที่มีเอกสารปลอม (Seaman book) ออกจากประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งจำนวนมากถึงร้อยละ 80 -90 ของจำนวนแรงงานในเรือประมงทั้งหมด และที่อยู่อย่างผิดกฎหมายและทำมายาวนานกว่า 10 ปี
กลุ่มลูกเรือประมงเหล่านี้ถูกละเลยเพิกเฉย ใช้แรงงานเยี่ยงทาส และไม่ได้กลับบ้านยาวนานหลายต่อหลายปี และไม่มีคนให้ความช่วยเหลือต้องอยู่เป็นคนผิดกฎหมายบนเกาะต่างๆ อาทิ เกาะอัมบน ตวน เบจิน่า ฯลฯ หลายคนถูกหมุนเวียนมาทำงานในเรือประมง เพราะไม่สามารถหางานที่ถูกกฎหมายทำบนฝั่งได้ ถูกเอาเปรียบแรงงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ลูกเรือประมงไม่ว่าจะเป็นคนไทย พม่า กัมพูชา และลาว เขาคือ แรงงานทาส เสมือนถูก ‘ค้ามนุษย์’ ทั้งเป็น สวรรค์มีตา ฟ้าเห็น หลุมศพทวงถามความเป็นธรรมแล้ววันนี้
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
LPN และคุณฐปณีย์
เอียดศรีไชย