ที่มา มติชนออนไลน์
มติชนสุดสัปดาห์
ปีแพะลงเรือแป๊ะ คนมันแยะที่ไม่พอ
คุณป้ามาลอยคอ อาเฮียห้อยโหนลอยตัว
แป๊ะชี้ไปทางขวา หลวงพี่พาไปซ้ายชัวร์
เจ๊เราเป่าหวีดรัว จนหูดับสรรพสำเนียง
หลานใครถือไมค์ทอง ส่วนนักฟ้องทำคอเอียง
ตากล้องส่องมองเมียง ไล่จับแพะมาจำนำ
เรือแป๊ะส่ายหางเสือ น่ากลัวเหลือหัวทิ่มตำ
หน้ามนบ่นพึมพำ นั่นน้ำตกไม่ใช่ฤๅ?
หลังจากล่องเรือแป๊ะตามเบญจมหาชลาลัยมาบรรจบครบทศมาส ก็น่าที่ผู้โดยสารเราในฐานะเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือคนละหนึ่งหุ้นร่วมกันจะได้มองย้อนทบทวนประสบการณ์ ประมวลประเมินที่มาที่ไป เส้นทางล่องเรือ และคาดคะเนลู่ทางผาโตรกชะโงกธารข้างหน้ากันบ้าง
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอนุสติแก่ผู้โดยสารเราเองและอาจเผื่อแผ่แก่แป๊ะและคณะผู้ถือหางเสือเรือตามแต่ความสนใจ
ผมอยากจำกัดข้อสังเกตเกี่ยวกับการล่องเรือแป๊ะรอบ 10 เดือนไว้เฉพาะด้านรัฐศาสตร์ เพราะในด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีผู้โดยสารท่านอื่นประเมินไว้แหลมคมหนักหน่วงชัดเจนน่าฟังยิ่งแล้ว
โดยเฉพาะบทความ "อันตรายตัวจริง" ของ อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร หนึ่งในสองนักเศรษฐศาสตร์นอสตราดามุส แห่งวิกฤตค่าเงินบาท-ต้มยำกุ้งเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งเผอิญว่าน่าเสียดาย ครั้งนั้นกว่าจะมีใครยอมฟังก็สายเกิน...
สำหรับอันตรายรอบนี้ อาจารย์วีรพงษ์ร้องเตือนไว้ตอนหนึ่งว่า :
"การส่งออกของเราขยายตัวในอัตราที่ลดลงจนกลายเป็นหดตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ไตรมาสแรกของปีนี้ก็น่าจะหดตัวอย่างน้อย 3-4 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนไม่มีเลย เรื่องเหล่านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่าที่เคยทำงานทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แม้จะมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงินจะล่มสลายไม่ได้ ที่พูดเอาใจกันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3-4 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เศรษฐกิจปีนี้น่าจะหดตัวหรือขยายตัวติดลบ
"อันตรายตัวจริงของรัฐบาลจึงอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การชุมนุม"
(มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม 2558 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1426131102)
มองย้อนทบทวน 10 เดือนที่ผ่านมานับแต่ คสช. เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ผมเกรงว่าความมุ่งมาดปรารถนาที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่หยั่งลึกยาวนานร่วมทศวรรษในไทยให้ตกไปอาจจะไม่ประสบผลดังหมาย
และหากไม่ระมัดระวังให้ดี ก็อาจกลับทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวกำเริบร้ายขึ้นกระทั่งถึงแก่นำไปสู่จุดอับตันได้อีกในเวลามิช้านาน
พูดให้ถึงที่สุด รัฐประหารของ คสช. ในความเห็นผมเหมือนมาตรการเฉพาะหน้าชั่วคราวหรือยาบรรเทาปวดลดไข้ ที่จัดวางโดยคณะผู้แสดงเจตจำนงจะแก้ความขัดแย้งในบ้านเมือง
ทว่า ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับฐานคติอันน่าฉงนสนเท่ห์ที่ว่าระบอบการเมืองรวมศูนย์อำนาจแบบรัฐนิยมหรือรัฐราชการ (a centralized statist/bureaucratic politic regime) แห่งยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยังอาจสามารถแก้ไขความขัดแย้งทางชนชั้นอันดุเดือดเลือดพล่านไม่หย่อนคลายในประเทศไทยทุกวันนี้ที่มีลักษณะโลกาภิวัตน์ ไม่ถือชาติ ตื่นตัวทางการเมือง และปราศจากอำนาจนำมากขึ้นทุกทีแล้วได้
รัฐประหารของ คสช. อันเป็นครั้งที่ 13 นับแต่การอภิวัฒน์สถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นใน พ.ศ.2475 เป็นต้นมาได้ประกาศเป้าหมายที่จะฟื้นฟูสันติสุขและความสงบเรียบร้อย (peace and order) ขึ้นในบ้านเมืองซึ่งตกอยู่ในสภาพย่อยยับเสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอดทศวรรษอันคุกคามที่จะเสื่อมทรามลงกลายเป็นสงครามกลางเมืองอย่างเปิดเผยในช่วงเลวร้ายที่สุดของมัน
ทว่า คำถามก็คือจะทำได้จริงดังพูดหรือไม่?
เมื่อดูจากแนวนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นจริงใน 10 เดือนที่ผ่านมา อาจถกเถียงได้ว่า คสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ มุ่งบรรลุผลดังต่อไปนี้คือ :
1.ใช้อำนาจบังคับพิเศษภายใต้กฎอัยการศึก, กฎหมายอาญามาตรา 112 และบทบัญญัติด้านความมั่นคงอื่นๆ เพื่อสร้างสภาวะยกเว้นของการปลอดการเมืองขึ้นเป็นการถาวร (a permanent state of depoliticised exception - หากยืมแนวคิดของ Giogio Agamben นักปรัชญาชาวอิตาลีมาประยุกต์คิดเรื่องนี้) สำหรับกำกับควบคุมความขัดแย้งทางชนชั้นที่ดำเนินสืบมา
2. ติดตั้งระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบย้อนยุคขึ้นภายใต้การชี้นำกำกับของสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากตามแนวทางราชาชาตินิยมและศีลธรรมสุดโต่ง ให้อยู่เหนือประชากรผู้เลือกตั้งเสียงข้างมากทั้งหลาย
3. ปรับแต่งหุ้นส่วนความมั่นคงแห่งชาติของกลไกอำนาจบังคับและสถาบันอำนาจนำเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฉากทัศน์ที่อำนาจนำแต่เดิมค่อยเสื่อมถอยลง และฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเสริมเติมการบังคับโดยรัฐและบทบาททางการเมืองของกองทัพให้เพิ่มมากขึ้น
4. เสริมสร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็งขึ้นเหนือสังคมโดยทั่วไป และเหนือขบวนการมวลชนรากหญ้าทั้งหลายเป็นการเฉพาะ เพื่อเป้าประสงค์ในการสะสมทุนโดยรวบริบทรัพยากร (accumulation by dispossession ตามแนวคิด ของ David Harvey นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอเมริกัน) และบุกเบิกพัฒนาพรมแดนด่านหน้าทุนนิยมใหม่ๆ ขึ้นมาตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (economic corridor) และเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาค
ในความหมายนั้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จึงเป็นภาคสืบเนื่องต่อจากรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ทว่า ผ่านการรื้อปรับแต่งใหม่หมดและวางยุทธศาสตร์กันใหม่
รัฐประหาร 2549 นั้นถือว่า "เสียของ" ในความหมายที่สถาบันราชการที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากทั้งหลายเข้าเป็นพันธมิตรกับพลังสังคมขวาจัดที่อ้างอิงสถาบันสำคัญของชาติในความขัดแย้งทางการเมือง โดยที่ในพันธมิตรดังกล่าวนี้ฝ่ายหลังอยู่ในฐานะครอบงำแนวทางการเมือง
ผลลัพธ์ก็คือเกิดการนองเลือดสูญเสียครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2553 ซึ่งในที่สุดแล้วกลับ "เอาไม่อยู่" และนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพลังฝ่ายค้านในปี พ.ศ.2554
ฉะนั้น ในรอบนี้ คสช. จึงพยายามแสดงตนออกห่างจากพันธมิตรดั้งเดิมและวางตัว "เป็นกลาง" อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็เข้าควบคุมการนำทางการเมืองและอำนาจการปกครองเองโดยตรงอย่างเต็มที่
โอกาสที่ คสช. จะประสบความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเอาชนะข้อจำกัดของตนเองซึ่งมีอยู่ด้วยกันเป็นอเนกประการ ได้แก่ :-
1. การพึ่งพาอาศัยกลไกรัฐราชการที่รวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ และฉะนั้นจึงขาดประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง
2. ความทะยานอยากที่จะยึดและควบคุมอำนาจอาญาสิทธิ์เด็ดขาดอันไม่ขึ้นต่อหรือพร้อมรับผิดต่อใคร ประกอบกับปัญหาขาดความชอบธรรมทางการเมืองที่เหลือวิสัยจะแก้ไขให้ตกไปได้ ทำให้ต้องหันไปใช้และพึ่งพากำลังและการบังคับมากขึ้นทุกที เหล่านี้น่าวิตกยิ่งว่าจะก่อให้เกิดการขยายขอบเขตการบริหารไปกว้างไกลจนเกินกำลังตัวเอง ปฏิกิริยาตอบกลับที่แรงกล้าขึ้น และการคัดค้านที่กว้างขวางขึ้น
3. วิธีคิดตกค้างแบบสงครามเย็นในฐานะนายทหารรุ่นท้ายๆ ที่ผ่านยุคสงครามเย็นและสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะ ผกค. มา, ความคุ้นชินกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีต่อต้านการก่อการร้าย, รวมทั้งการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อแบบสงครามจิตวิทยา ฯลฯ แล้วนำมาใช้จัดการปัญหาการเมืองการปกครองที่ละเอียดอ่อนและต่างสภาวการณ์กันออกไป
4. อุดมการณ์และวัฒนธรรมการเมืองแบบอนุรักษนิยม-พ่อขุนอุปถัมภ์ที่สืบทอดจากระบอบสฤษดิ์มาโดยไม่ผ่านการปฏิรูปใดๆ
ที่ผ่านมาไม่ปรากฏชัดว่าคณะต้นหนและนายท้ายเรือแป๊ะตระหนักหรือเล็งเห็นปัญหาความบกพร่องไม่พอเพียงของข้อจำกัดเหล่านี้ แต่กลับดูเหมือนว่ามันถูกถือเป็นจุดแข็ง/ความจำเป็นที่ต้องทำต้องใช้ต่อด้วยซ้ำไป
อนาคตเบื้องหน้าของการเดินทางจึงอาจจะไม่สดใสดังที่แป๊ะคาดหวังไว้ก็เป็นได้
ooo
เรื่องเกี่ยวเนื่อง...
วีรพงษ์ รามางกูร เตือน "อันตรายตัวจริง" ของรัฐบาลอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การชุมนุม
ที่มา มติชนออนไลน์
ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของเราในเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว หดตัวลงถึงร้อยละ 3.46 ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วก็ลดลงอีกร้อยละ 2.4 ตัวเลขทั้งปีอาจจะเป็นไปได้ว่ารายได้จากการส่งออกของเราก็คงจะไม่ดีไปกว่าตัวเลขของเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์
ที่เคยหวังว่า จีนจะเป็นตลาดที่จะช่วยรองรับสินค้าส่งออกของเรา เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของตลาดยุโรปและตลาดอเมริกา เพราะเหตุผลที่ยุโรปได้ตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรไปแล้ว และเรายังไม่สามารถเดินทางไปเจรจากับเขาได้ สหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน
แต่กลับกลายเป็นว่า การส่งออกของเราไปยังตลาดจีนในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ กลับหดตัวมากกว่าการส่งออกไปยุโรปและอเมริกาเสียอีก กล่าวคือ ในเดือนมกราคม การส่งออกของเราไปจีนหดตัวถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ก็หดตัว 20 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน และยังเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน
ตกลงจีนก็คงจะไม่ใช่ตลาดที่เราจะหวังพึ่งเพื่อชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆของเราได้
ในสุนทรพจน์กล่าวเปิดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่5มีนาคมที่ผ่านมาได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า "ความเป็นปกติใหม่" หรือ "new normal" กล่าวคือลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปี 2557 ลงเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 และเป็น 6.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 พร้อมๆ กับประกาศลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 เดือน ลดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลง หันกลับมากระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อัตราการขยายตัวของการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาลขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการบริโภคอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่สัดส่วนของการบริโภคของครัวเรือนในบัญชีรายได้ประชาชาติกลับลดลง
ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วปัญหาสำคัญที่ติดตามมาก็คือปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงและปัญหามลภาวะซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างถึงที่สุด
การลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจซึ่งเคยมีสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 40 ลง เพื่อให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการลงทุน พร้อมๆ กับลดอัตราการขยายตัวของการลงทุนลง เพื่อให้การบริโภคของภาคครัวเรือนได้มีโอกาสขยายตัวให้มากกว่าในปัจจุบัน
การที่รัฐบาลจีนประกาศลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงก็ย่อมจะหมายความว่าการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนจะต้องลดลงเป็นเงาตามตัวไปด้วยส่วนการส่งออกของจีนนั้นได้เริ่มลดลงอยู่แล้ว
การที่เราหวังว่าจีนจะเป็นตลาดของสินค้าส่งออกของเราเพื่อทดแทนการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของยุโรปและอเมริกาจึงอาจจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย
การลงทุนต่างประเทศของจีนนั้นจีนก็มุ่งที่จะลงทุนสำหรับสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าขั้นปฐม เช่น น้ำมัน พลังงาน และวัตถุดิบขั้นปฐม สำหรับป้อนโรงงานในประเทศจีน ประเทศของเรามิใช่ประเทศที่ผลิตสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ แร่ธาตุต่างๆ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราหรือมันสำปะหลัง และอื่นๆ จีนก็ส่งเสริมพัฒนาเพื่อทดแทนการนำเข้า
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ก็จะไม่ช่วยการส่งออกของเรามากนักเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะส่งเข้าไปในตลาดสหรัฐกลายเป็นสินค้าจากประเทศในแถบละตินอเมริกาเป็นส่วนใหญ่และการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อยุโรปและญี่ปุ่นประกาศนโยบาย คิว.อี.หรือเพิ่มปริมาณเงินยูโรและเงินเยนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของเขา ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเป็นทวีคูณ
ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นก็จะหิ้วค่าเงินบาทของเราให้แข็งตามขึ้นไปด้วยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยเพราะการลดดอกเบี้ยอาจจะกระทบกระเทือนรายได้ของสถาบันการเงินเช่น ธนาคารพาณิชย์
การที่ธนาคารกลางของเราทำ 2 หน้าที่ที่ขัดแย้งกันคือ เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำกับตรวจสอบและดูแลสถาบันการเงินด้วย สองหน้าที่นี้ขัดแย้งกัน หรือมี "conflict of interest" ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่จะเห็นชัดยิ่งขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง หลายๆ ประเทศจึงมักจะให้มีการแยกกัน ระหว่างฝ่ายกำกับดูแลสถาบันการเงินกับผู้กำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทย เพราะสังคมไทยไม่เข้าใจระบบการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ความเป็นอิสระอย่างสุดโต่งของธนาคารกลางจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่เล็กและเปิดอย่างประเทศไทยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเป็นตัวอย่างอันดีที่สังคมไทยไม่ยอมเรียนรู้เพราะมีอคติกับฝ่ายการเมืองจนเสียความสมดุล
ความเป็นความตายของรัฐบาลทหารในขณะนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีกฎอัยการศึก หรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้เบาบางลงไปมากแล้ว แต่จะอยู่ที่การล่มสลายและการล้มละลายของธุรกิจ ซึ่งเห็นชัดขึ้นทุกที การหดตัวของการส่งออก การลดลงของราคาสินค้าเกษตร การลดลงของราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การลดลงของธุรกิจการท่องเที่ยว ย่อมทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลง ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่รวมถึงประชากรในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจด้วย
เมื่อรายได้ของครัวเรือนลดลง ข่าวเรื่องหนี้สินของครัวเรือนก็จะเป็นข่าวสำคัญตามมา ข่าวต่อมาก็คงจะลุกลามไปที่ข่าวหนี้เสีย การผิดนัดในการชำระหนี้ของสถาบันการเงินก็คงจะเป็นข่าวตามมา
ครั้นจะมองไปในระบบการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจก็มองไม่เห็นว่ารัฐบาลโดยข้าราชการและบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกจะมีผู้ใดกล้าหาญพอที่จะออกมาเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือมาตรการทางเศรษฐกิจแม้แต่สถาบันธุรกิจต่างๆ ส่วนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารหรือ กลุ่มหรือชมรมทางเศรษฐกิจการค้า บรรยากาศเช่นนี้จึงน่าจะเป็นอันตรายต่อรัฐบาลเอง การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเป็นไปในทางยกย่องชมเชยเสียมากกว่า
การส่งออกของเราขยายตัวในอัตราที่ลดลงจนกลายเป็นหดตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วไตรมาสแรกของปีนี้ก็น่าจะหดตัวอย่างน้อย3-4เปอร์เซ็นต์ การลงทุนไม่มีเลย เรื่องเหล่านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่าที่เคยทำงานทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แม้จะมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงินจะล่มสลายไม่ได้ที่พูดเอาใจกันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว3-4เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เศรษฐกิจปีนี้น่าจะหดตัวหรือขยายตัวติดลบ
อันตรายตัวจริงของรัฐบาลจึงอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การชุมนุม
(ที่มา:มติชนรายวัน 12 มีนาคม 2558)