วันศุกร์, มีนาคม 20, 2558

พลังเสื้อขาว : ช่วงชิงพวกเขามาร่วมส่วนประชาธิปไตย



สรุปบทเรียน 22 พ.ค. 2557 (5): กลุ่มพลังคนเสื้อขาว

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2558

                การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ตั้งแต่การคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (ฉบับเหมาเข่ง) ไปจนถึงการล้มล้างการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 และกระทั่งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยังได้ทำให้กลุ่มคนชั้นกลางในเมืองจำนวนหนึ่ง ตื่นขึ้นจากหลับ กลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกกันว่า กลุ่มคนเสื้อขาว

                คนชั้นกลางในเมืองเป็นกลุ่มชนทางเศรษฐกิจที่เกิดและเติบโตขึ้นโดยเป็นผลพวงจาก การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมไทย ตั้งแต่ยุค 2500 ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงยุค 2535 ภายใต้ระบบรัฐสภาครึ่งใบของเปรม ติณสูลานนท์ และชาติชาย ชุณหวัน ลักษณะสำคัญในทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางในเมืองเหล่านี้ก็คือ พวกเขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวเติบใหญ่ของกลุ่มทุนจารีตนิยมและกลุ่มทุนเก่าเชื้อสายจีน คนชั้นกลางในเมืองเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงดังกล่าว

                ด้วยเหตุนี้ คนชั้นกลางในเมืองจึงมีลักษณะสองประการที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งทำให้พวกเขามีจุดยืนและท่าทีทางการเมืองที่สับสน โลเล และเปลี่ยนแปลงตรงข้ามไปมา

ในด้านหนึ่ง เนื่องจากคนชั้นกลางในเมืองมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผูกพันแบ่งปันอยู่กับกลุ่มทุนจารีตนิยมและกลุ่มทุนเก่าเป็นส่วนใหญ่ นี่ทำให้พวกเขาเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมือง แสดงออกเป็นลัทธิชาตินิยมและกษัตริย์นิยม (ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยและปกปิดต้นกำเนิดเชื้อสายจีนของตน) รังเกียจและหวาดระแวงกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นๆ เช่น คนงาน เกษตรกร คนชั้นล่างในเมืองและชนบท กลุ่มทุนภูธร และพรรคการเมืองที่อาศัยฐานเสียงของคนเหล่านี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนชั้นกลางในเมืองก็ยังคงเป็นเบี้ยล่างของกลุ่มทุนจารีตนิยมและกลุ่มทุนเก่า และตราบจนปี 2535 พวกเขาก็ไม่มีพื้นที่ส่วนแบ่งในอำนาจรัฐที่ถูกกุมอยู่ในมือกลุ่มจารีตนิยม-ทหาร-ขุนนางข้าราชการ ข้อนี้ทำให้พวกเขามีความเรียกร้องต้องการระบบการเมืองที่เปิดช่องทางพื้นที่ให้พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐบ้าง

รัฐประหาร 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และกรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 คือผลของลักษณะการเมืองที่สับสน โลเล ของคนชั้นกลางในเมืองดังกล่าว แม้ว่าในระยะแรก พวกเขาจะพอใจกับการได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (คือ ชาติชาย ชุณหวัน) อีกทั้งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในช่วงดังกล่าว แต่ในทางการเมือง พวกเขากลับเดินตามกลุ่มจารีตนิยมในการโจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่า ทุจริตคอรัปชั่น และเป็น บุฟเฟ่คาบิเน็ต จนเป็นเงื่อนไขความชอบธรรมแก่รัฐประหารโดยกลุ่มทหาร รสช. ในวันที่ 23  กุมภาพันธ์ 2534

ในระยะแรก เผด็จการของ รสช. จึงได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งเพ้อฝันว่า เผด็จการทหารจะ ขจัดนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น ได้อย่างถึงราก

แต่การณ์กลับเป็นว่า กลุ่มทหาร รสช.ได้หันไปใช้ประโยชน์จาก นักการเมืองทุจริต กลุ่มเดิมนั่นแหละ ในการสร้างกลุ่มพรรคการเมืองในสภาเพื่อสืบทอดอำนาจทหารภายใต้ระบบรัฐสภาครึ่งใบต่อไป ความผิดหวังของคนชั้นกลางในเมืองดังกล่าวจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านนายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูร จนเป็นกรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 และการแก้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร

กลุ่มปกครองจึงได้ตระหนักถึงพลังทางการเมืองของคนชั้นกลางในเมืองเป็นครั้งแรก และได้เปิดช่องทางให้พวกเขาได้ค่อยๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในระบบรัฐสภามากขึ้น

คนชั้นกลางในเมืองประสบความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งทำให้เขาเรียกร้องต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อเข้ามากอบกู้ภาวะเศรฐกิจ พวกเขาจึงเป็นพลังสำคัญที่ร่วมกับกลุ่มจารีตนิยมและกลุ่มทุนเก่า ทำการผลักดัน การปฏิรูปการเมือง จนนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลไทยรักไทยในปี 2544

นับแต่ปี 2535 จนถึงการเลือกตั้งปี 2548 คนชั้นกลางในเมืองคือกลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากการร่วมส่วนทางการเมืองในระบบการเมืองแบบรัฐสภามากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

แต่ชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งปี 2548 ของพรรคไทยรักไทยด้วยการสนับสนุนอย่างล้นหลามของประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท (ที่บางคนเรียกว่า คนชั้นกลางใหม่) ก็ทำให้คนชั้นกลางในเมืองเหล่านี้เกิดอาการ ช็อค ตกใจอย่างยิ่ง พวกเขาเห็นการตื่นตัวของประชาชนชั้นล่างเหล่านี้เป็น ภัยอันตราย ที่จะเข้ามาร่วมแบ่งส่วนการใช้อำนาจในระบบรัฐสภา การเมืองแบบเลือกตั้งที่เคยให้ประโยชน์แก่คนชั้นกลางในเมืองมาตั้งแต่ปี 2535 บัดนี้ได้ถูกฉวยใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งส่วนอำนาจโดยชนชั้นล่างในเมืองและชนบทไปเสียแล้ว

ภัย จากมวลชนชั้นล่างนี้เอง ที่ทำให้คนชั้นกลางในเมืองเหวี่ยงกลับไปสู่จุดยืนการเมืองที่เป็นอนุรักษ์นิยมและถอยหลัง แสดงออกเป็นการเมืองที่นิยมกษัตริย์และปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้ง ก่อเป็นการเคลื่อนไหวของพลังคนชั้นกลางในเมืองภายใต้การอุปถัมป์ของจารีตนิยมจนเป็นเงื่อนไขรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในที่สุด

การผลักดันพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งได้สร้างความโกรธแค้นแผ่ขยายวงกว้างในหมู่คนชั้นกลางในเมือง จนเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มกปปส.เคลื่อนไหว ขบวนนกหวีด ขยายผลไปสู่การขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่อต้านการเลือกตั้ง และเรียกร้องรัฐประหาร


ทว่า การแตกหักทางการเมืองครั้งนี้ได้ทำให้ขบวนคนชั้นกลางในเมืองเกิดการ ปริแตก โดยคนจำนวนหนึ่งได้สรุปบทเรียนจากรัฐประหาร 2549 และการสังหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อพฤษภาคม 2553 ว่า หนทางเผด็จการและรัฐประหารไม่อาจแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองอันยืดเยื้อครั้งนี้ได้

คนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงถอยออกจาก ขบวนนกหวีด ปฏิเสธการเรียกหารัฐประหารและเรียกร้องการเลือกตั้งด้วยการสวมเสื้อขาวและ จุดเทียน

ยิ่งกว่านั้น การล้มล้างการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็ทำให้คนชั้นกลางในเมืองกลุ่มนี้ ตื่นขึ้น จากภาวะโลเลไร้เดียงสาทางการเมืองในที่สุด

แม้ว่ารัฐประหาร 2557 จะได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากชนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่ ที่เพ้อฝันว่าเผด็จการทหารจะสามารถทำลายล้างพลังทางการเมืองของชนชั้นล่างให้หมดสิ้นไปได้ แต่ก็มีกลุ่มพลัง คนเสื้อขาว จำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและไม่อาจยอมรับการเมืองที่ ถอยหลัง ย้อนไปถึงยุคก่อนปี 2535 ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่มิเพียงขจัดคนชั้นล่างในเมืองและชนบทออกไปจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังปิดช่องทางการเมืองที่คนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับและมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ปี 2535 อีกด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่ม คนเสื้อขาว ก็เป็นพลังทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านรัฐประหารและเผด็จการ แม้ว่าพวกเขาจะยังคงระแวงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ชอบนักการเมืองและพรรคการเมืองที่คนชั้นล่างสนับสนุน แต่ในภาวะที่ขบวนคนเสื้อแดงแตกแยกและสลายตัว ส่วนนักการเมืองและพรรคการเมืองก็หันไปสมยอมกับเผด็จการ

คนชั้นกลางเหล่านี้แม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมและบทบาทที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษาปัญญาชนอย่างแน่นอน

ขบวนประชาธิปไตยจึงต้องให้ความสนใจต่อพลังคนชั้นกลางส่วนนี้อย่างจริงจัง แสวงหาความร่วมมือและสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมือง ด้วยองค์กรจัดตั้งและแนวทางการเมืองที่เหมาะสมกับธรรมชาติทางการเมืองของพวกเขา ช่วงชิงพวกเขามาร่วมส่วนประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด