วันจันทร์, มีนาคม 23, 2558

รายงานหน้าหนึ่ง : วันนี้ของ “จอม เพชรประดับ”




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
Sunday, March 22, 2015
ข่าวคนไทยในอเมริกา

“จอม เพชรประดับ” เป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนมากที่ไปร่วมไว้อาลัยในพิธีสวดพระอธิธรรมอุทิศส่วนกุศลให้ สมหมาย ปัทมคันธิน อดีตประธานสภาหอการค้าไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเคยร่วมกันอย่างใกล้ชิดในช่วงที่สื่อมวชนชื่อดังคนนี้ ทำงานอยู่ในลอส แอนเจลิส เมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา

เนื่องจากเห็นว่า “จอม เพชรประดับ” เป็นสื่อมวลชนที่กำลังถูกจับตา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกชื่นชมและถูกเกลียดชังมากที่สุดในเวลานี้... เราจึงเห็นเป็นโอกาสดีในการขอพูดคุยกับเขา ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เห็นว่าน่าสนใจ... ดังนี้...

-: ชีวิตทุกวันเป็นอย่างไรบ้าง

“หลังจากที่ออกมาจากเมืองไทย ชีวิตก็อยู่ในสภาพที่... พูดตรงๆ เลยนะ คือต้องขอเขากิน...​ฟังดูอนาถนะ จริงๆ ก็ไม่ถึงขั้นนั้นหรอก แต่ว่าพี่ๆ เพื่อนๆ คนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกานี่ก็ให้ความช่วยเหลือดีมาก เขายื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือ... เขามีน้ำใจให้เรา ยินดีจะช่วย แต่ในความรู้สึกของเราก็คือ เราต้องขอเขากินน่ะ ขอเขากิน ขอเขาอยู่ ขอเขาใช้ นี่คือสภาพในความรู้สึกเรา แต่คนที่ให้เรา เขาให้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง... เพราะเขาเห็นด้วยกับแนวคิด แนวทางในการทำงานของเรา”

-: คือกลุ่มเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ

“ใช่ครับ ใช่... คือกลุ่มเสื้อแดงก็มีหลายเฉดนะ เฉดของแดงแบบ นปช. ก็เป็นกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่หนักหน่อย แต่ว่าอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มที่มีความคิดในเชิงประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เป็นแดงซะทีเดียว แต่เห็นด้วยกับแดง แต่อาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด คือแบบกลางๆ แต่เอียงมาทางสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม นี่ก็จะมีกลุ่มหนึ่ง ก็มีสองกลุ่มนี้แหละที่คอยให้ความช่วยเหลือผม ไม่มีนักการเมือง”

-: ต้องทำงานไหม ต้องไปแบกจ๊อบที่ไหนหรือเปล่า

“ไม่ครับไม่ ทำสื่อของตัวเองไป คือสื่อที่ทำตอนนี้ กลุ่มแดงแบบเข้มข้น แดงฮาร์ทคอร์ กับแดงที่ต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคมไทยนี่ เขาก็รวมตัวกันแล้วก็ให้ผมทำสื่อ... คือการที่คุณไม่ยอมรับการรัฐประหารจนต้องหนีมานี่ นั่นหมายถึงความคุณต้องยอมรับว่ามันจะต้องเกิดอะไรขึ้น หมายถึงว่าคุณก็อาจจะอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก ต้องขอคนอื่นกิน ขอคนอื่นนอน ก็แน่นอน ในเมื่อคุณเลือกแบบนี้ก็ต้องเผชิญสิ่งเหล่านี้

“ในเมื่อมาแล้วก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงต่อ เอ หรือว่าเราจะมาใช้ชีวิตเหมือนตอนมาอเมริกาเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว คือมาแบกจ๊อบ รับจ้างในครัว อะไรแบบนี้ ก็ยังคิดอยู่ ก็กำลังจะตัดสินใจไปอย่างนั้น ก็พอดีกลุ่มพี่ๆ กลุ่มนี้เขาก็ เฮ้ย! มันเกินจุดนั้นไปแล้วมั้ง ประสบการณ์ในงานสื่อของคุณมันเกือบสามสิบปี มันน่าเสียดายนะ เอางี้ เราจะร่วมกันดูแลคุณ ให้อาหารให้ที่พักฟรี อินเตร์เน็ตฟรี ให้คุณทำงานของคุณไป อยากทำรายการอะไร เขาก็เซ็ตระบบให้ ก็กลายเป็น ไทยวอยซ์มีเดีย ขึ้นมา ผมก็ทำตรงนี้ไป”

-: ไทยวอยซ์มีเดีย คือจอม เพชรประดับ ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า

“ใช่ ผมคือคนที่จะตัดสินใจ กำหนดอะไรทุกอย่าง ผมอยู่คนเดียว มีผมคนเดียว และพี่ๆ เขาก็แค่ให้คำปรึกษาเรื่องอุปกรณ์ เรื่องบ้าน แต่เรื่องเนื้อหาสาระเขาไม่เกี่ยว อาจจะมีคุยกันบ้าง แต่ไม่ใช่มาสั่งผม ไม่มี เราก็มีอิสระเต็มที่ แต่ปัญหาคือผมต้องทำทุกอย่างคนเดียวหมด ตั้งแต่เรื่องของเทคนิค ก็ต้องไปนั่งศึกษาอยู่ประมาณสามสี่วัน ได้แล้วก็เร่ิมทำงาน วางประเด็น นัดแหล่งข่าว ซึ่งอันนี้เป็นงานรูทีน ไม่ได้ลำบากอะไร ก็อยู่กับมันทั้งวัน”

-: อยู่ที่ซานฟรานซิสโก นะครับ

“ตอนนี้อยู่แอลเอครับ ย้ายมาแล้ว เนื่องจากมันเป็นงานทางอินเตอร์เน็ตไง อยู่ตรงไหนก็ทำได้”

-: มีตัวเลขฐานคนดูของไทยวอยซ์มีเดียไหม

“เขาก็บอกว่ามีคนดูเป็นแสนแล้วนะ เพราะมันอยู่บนยูทูปด้วย ผมก็โอเค ก็ดูไป ผมมีความรู้สึกว่าได้ทำ แค่นั้นเองครับ คือเวลาทำ เราได้คุยกับคนนี้ ได้สัมภาษณ์คนนั้น ข้อมูลก็กระจายออกไป มากแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ได้ทำแล้ว ได้หยิบได้พูด ได้ทำหน้าที่แล้ว จะมีคนดูเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้มองไปขนาดนั้น”

-: ตอนนี้กลายเป็นสื่อเสื้อแดงแบบชัดเจน

“คือคนมองว่าผมเป็นแดงมานานแล้ว แต่ในแดงนี่ อย่างที่บอกมันยังมีหลายเฉด เฉดที่ผมอยู่คือการที่อยากให้สังคมไทยมีความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่มันยุติธรรมจริงๆ มันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจได้ ให้เหตุให้ผลกันได้ ถ้ายึดหลักความเป็นธรรม สองคือการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย มันต้องใช้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย... หลายๆ คนอาจจะบอกว่ามันแก้ไม่ได้ ถึงทางตัน มันจะต้องทะเลาะกัน ประชาธิปไตยมันจะทำให้คนต้องขัดแย้งกัน ทำให้คนถูกครอบงำจากการเมือง แต่นี่คือกติกาเดียวที่ทำให้สิทธิของแต่ละคนได้รับการปกป้องไง ใช่ไหม คุณจะเอาสิทธิของรัฐประหาร สิทธิของทหารมาใช้แก้ปัญหาของเราคงไม่ได้ เพราะว่าสุดท้ายเราก็เห็นกันอยู่ว่าผลของการทำรัฐประหาร แล้วคุณก็เอาคนกลุ่มเดียว วิธีคิดเดียว กรอบคิดเดียวมากำหนดกลไก กำหนดโครงสร้างใหม่ของประเทศ ซึ่งมันเป็นที่ไม่ยอมรับอยู่แล้ว ผมยืนอยู่ในจุดนี้ เฉดของผมก็เฉดนี้

“ส่วนของนักการเมือง จะเพื่อไทย หรือกลุ่มอื่นๆ ผมก็เห็นถึงความล้มเหลวของนักการเมืองไทย เหมือนอย่างที่ กปปส. เห็น เหมือนอย่างที่รัฐบาลเผด็จการทหารเห็น ว่านักการเมืองไทยมันเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เข้ามาเพื่อหาอำนาจ อะไรต่างๆ แต่มันก็ต้องมองในสองประเด็นนะครับว่า อำนาจและผลประโยชน์ในเมืองไทยนี่ มันถูกแสวงหา มันถูกคอรัปมาแล้วก่อนที่นักการเมืองจะเข้ามาด้วยซ้ำ ด้วยกลไกของรัฐบาล ความเป็นภาคราชการ ความเป็นกองทัพ ความเป็นตุลาการ ความเป็นองค์กรที่มีอำนาจนำที่อยู่เหนือการเมือง เขามีคอรัปชั่นมาอยู่แล้ว เขาก็หากินกันมาตลอด นักการเมืองเข้ามาก็เป็นการเข้ามาสวมรอยกับเส้นทางที่มีอยู่แล้ว มันก็คือการสมยอมกันหว่างคนที่คอรัปชั่นอยู่แล้วกับนักการเมือง สุดท้ายบอกว่า ประเทศนี้มันพัง มันเสียหาย มันหายนะเพราะนักการเมืองคอรัปชั่น มันไปโทษนักการเมืองฝ่ายเดียวไง แต่กลุ่มอำนาจเก่าที่เขากินมาตลอดนี่ เราก็เห็นอยู่ ทั้งในภาครัฐ ในภาครัฐวิสาหกิจ ในภาคราชการ ในภาคตุลาการ ภาคกองทัพ ภาคตำรวจ ในภาคองค์กรต่างๆ เราก็เห็นกันอยู่ แล้วนักการเมืองก็มาเป็นแค่ส่วนกลางหรือส่วนปลายของปัญหาคอรัปชั่นที่เขามองไม่เห็น

“อันที่สองคือผมคิดว่าความเป็นนักการเมือง เราปฏิเสธไม่ได้ วิถีทางประชาธิปไตยมันก็ต้องอาศัยนักการเมืองนั่นแหละเข้าไปกำหนดกติกา เพราะเป็นตัวแทนของพวกเรา มันไม่มีทางเลือกอื่น เพียงแต่ว่าขบวนการจัดการให้นักการเมืองเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และเป็นคนรับใช้ประชาชนจริงๆ นี่คือเรื่องที่เราต้องค่อยๆ พัฒนาไป ใช่ไหมครับ ไม่ใช่อยู่ๆ คุณบอกว่าประเทศนี้เราไม่เอานักการเมืองแล้ว เราจะเอาข้าราชการที่ดีที่สุด มีคุณธรรมที่สุด มีความงาม ความดี... ซึ่งมันวัดกันไม่ได้ มาตรฐานความดีความงามของคนมันไม่มีตัววัด มันเป็นนามธรรมมาก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันก็ต้องไปตามกฏกติกาของประชาธิปไตย นี่คือหลักที่ผมคิด ผมก็เลยปฏิเสธการรัฐประหาร”

-: จุดที่ทำให้ตัดสินใจออกมาสู้ข้างนอก

“คือผมทำงานข่าวมานาน ผมเห็นวัฎจักรของการรัฐประหารมาเรื่อยๆ แล้วมันไม่ใช่คำตอบซักทีนึง แล้วอีกอย่าง วัฎจักรของการรัฐประหารมันก็มาพร้อมๆ กับวัฎจักรการทำข่าวของพวกผม ของผมเองด้วย มันก็วนๆ อยู่ในลักษณะเดิม แล้วก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง พูด อภิปราย วิเคราะห์ หาทางออกของประเทศมาทุกครั้งๆ ก็ไม่ใช่ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ ถ้างั้นคงไม่ใช่คำตอบของการรัฐประหาร เพราะงั้นมันก็คงจะถึงเวลาที่เราต้องออกมาพิสูจน์ ด้วยตัวผมเองนะ ในเมื่อเราคิดว่ามันไม่ใช่แล้วนี่ มันมีทางไหนบ้างที่เราจะปฏิเสธการรัฐประหารเพื่อไม่ให้มันเกิดมาอีก แล้วอีกอย่าง การทำสื่อในยุคปัจจุบันมันต่างจากอดีตเยอะมาก ใช่ไหม มันมีช่องทางอื่น มีพื้นที่สำหรับจุดคิด จุดแนวทางการต่อสู้ แนวทางที่เรายึดมั่นในการทำสื่อได้โดยไม่ต้องไปอิงอยู่กับสื่อกระแสหลัก มันมีสื่ออื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมากมายในโลกยุคใหม่ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาส ถ้าเราคิดว่านี่มันไม่ใช่ทางออกของการทำสื่อ ในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ยังคงวนอยู่ในประเทศที่มันยังไม่สามารถจะหาคำตอบได้ มันควรออกมา มาดูว่าจะมีสื่อไหนที่จะทำได้บ้าง แล้วก็เราเองจะทำอะไรต่อได้ไหม ในการที่จะขับเคลื่อนประเทศ โดยไม่ต้องไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอะไรต่างๆ เหมือนอย่างที่เป็นมาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก็เลยตัดสินใจออกมา

“และปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้ออกมาคือแน่ใจว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องใช้เวลา และมีความซับซ้อนเยอะ ทีนี้เวลาเราอยู่ในเมืองไทยนี้ กระบวนการและวัฎจักรในการทำข่างมันจะไม่สามารถวิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาได้ มันจะเล่นประเด็นแบบฉาบฉวยตลอด แล้วพอมันฉาบฉวย อิทธิพลและอำนาจของคนที่จะเข้ามาควบคุมมันจะมากกว่า มากจริงๆ ตั้งแต่ทำข่าวมาจะสามสิบปีนี่ ครั้งนี้มากที่สุดในการเข้ามาควบคุมสื่อ และผมคิดว่าคงอยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ... ผมคิดหลายๆ ประเด็นเหล่านี้แหละครับ เพราะงั้น... ออกมาดีกว่า ก็ออกมา ออกมาโดยไม่รู้ว่าจะสู้ต่อไหม หรือจะหยุดตัวเอง แต่หยุดตัวเองคงไม่ใช่ จะสู้ แต่จะสู้อย่างไร แต่ออกมาก่อนดีกว่า เพราะว่าในบรรยากาศแบบนั้น มันอยู่แล้วมันจะทรมานมาก อยู่แล้วจะถูกกดดันอะไรต่างๆ ซึ่งเราจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยคิดว่าออกมาก่อน แล้วดูกลับไปข้างใน ดูว่าด้วยสื่อในโลกโซเชียลนี่ มันทำอะไรได้ไหม ก็นำไปสู่คำตอบที่ทำให้ผมยืนอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็คงจะต้องเจอปัญหาอีกเยอะ”

-: ออกมาแบบไม่ได้เตรียมตัว ไม่มีแบ๊กอัพ

“คือวินาทีแรกที่มีรัฐประหารก็รู้แล้ว ตอนนั้นอยู่ช่อง 11 ทำรายการฟันธง ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าคุณต้องหยุดทำรายการ ซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่ามันต้องเป็นคำตอบนี้ แต่ผมก็ยังคงทำงานไปสักระยะ คือเขาก็คงรอดูนะว่าผมจะมีอากัปกิริยาอย่างไร จากนั้น มีอยู่วัน ก็ทำรายการที่ คสช.จะเข้ามาดูแลโครงการสองล้านล้าน โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการคมนาคมทั้งประเทศนี่ ผมก็บอกว่า อ้าว ในเมื่อคราวที่แล้วคุณค้านเขา แล้วคุณกลับมาทำคล้ายๆ กับเขา แล้วก็กู้มากกว่าเขาด้วยซ้ำ อย่างนี้จะไม่ยิ่งน่ากลัวกว่าหรือ เพราะว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังไงเราก็ตรวจสอบได้ แต่คุณมาจากรัฐประหาร เราจะตรวจสอบได้ไง พอออกไปครั้งนั้นเสร็จ รุ่งเช้าเขาก็มีหนังสือมาบอกว่าให้หยุดไปก่อน แล้วพอเสร็จ มีพี่ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เขาบอกว่าคุณน่าจะมีชื่ออยู่ น่าจะถูกไปปรับทัศนคติ โดยแต่อาจไม่โดนเรียกในทันที ถ้าคุณปรับตัวโดยการหายไปเลย หรือปรับตัวโดยการไปอยู่เบื้องหลังซะ ก็อาจจะไม่โดน ผมก็บอกว่า ‘เหรอ ยังไงก็ได้’ แต่ใจก็นึกว่ายังไงก็คงไม่ยอม คือคิดว่า ถึงเวลาต้องบอกตัวเองแล้วว่า ถ้าเราคงยืนอยู่ในจุดเดิม แบบเดิม ก็คงเป็นแบบนี้ แล้วเราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศมันไม่ไปไหน เป็นหนึ่งในกลไกในการแช่แข็งของประเทศ ผมว่าไม่เอาดีกว่า

“วันนั้นที่ตัดสินใจออกมาจากประเทศไทย เป็นการตัดสินใจมาแค่พักผ่อนแค่สามวันที่กัมพูชา ไม่รู้ว่าจะไปไหน ก็ซื้อตั๋วไป-กลับ ไปเที่ยวพนมเปญ ไปนั่งคุยกับพี่ๆ คุยกับอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) เขาก็อยู่ฝั่งโน้นกัน เพราะตอนนั้นเราหาใครไม่เจอ ก็ห่วงจะโดนอุ้มหรือเปล่า เพื่อจะให้มั่นใจว่าทุกคนปลอดภัยเราก็ไป ไปเจอก็คุยกัน วิเคราะห์สถานการณ์ มันก็คือสิ่งที่เราวิเคราะห์ไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว ก็ เอ้อ! มันน่าจะถึงเวลา ไม่ได้เอาอะไรมาเลย มีเงินอยู่สักห้าหกพันบาท แล้วก็เสื้อผ้าสามชุด กระเป๋าลูกนึง เพราะจะไปแค่สามวัน... แต่ก็ไม่ได้กลับ ก็มาอเมริกาเลย แต่ก็เตรียมไว้ครึ่งหนึ่งแล้วล่ะ หนังสือเดินทางอะไรก็เตรียมไว้แล้ว วีซ่า เตรียมไว้ก่อนแล้ว เพราะว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คือตอนนั้นทุกคนจะเตรียมตัวว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นจะไปไหนดี ผมไม่คุ้นเคยประเทศอื่น ขนาดประเทศใกล้ชิดอย่างพม่า ลาว ผมก็ไม่มีเพื่อน มีแต่ที่นี่ มีพี่ๆ หลายคนที่มีอุมการณ์เดียวกัน พึ่งพากันได้ ก็เป็นอย่างที่คิด คือมาก็ได้รับการดูแลอย่างดี

“คือรู้อยู่แล้วว่ามีชื่อเราแน่ เขาเรียกแน่ แต่อาจจะเรียกไปเรื่อยๆ แล้วระหว่างนั้นก็ดูด้วยว่าเราทำตัวอย่างไร ถ้าเงียบหายไปเลยก็อาจจะไม่โดน แต่มีข่าวว่าผมหนีมา แล้วพอดีมาก็มาถึงก็สัมภาษณ์คุณจารุพงศ์ (เรืองสุวรรณ เลขาธิการองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย) เจอกันที่ซานฟรานฯ ก็กลายเป็นว่า เฮ้ย คุณออกมาต่อต้านข้างนอก ก็มีรายชื่อออกมา เรียกมา คือส่งมาวันนั้นให้ไปรายงานวันนั้น ผมก็ปฏิเสธไม่ไป ก็มีความผิด กลับไปก็ติดคุกสองปี เพราะว่าขัดคำสั่ง คสช.”

-: ครอบครัวเข้าใจไหม เสียใจไหม

“พ่อแม่ผมเสียหมดแล้วนะครับ ส่วนญาติพี่น้องเขา... คือผมเป็นคนใต้นะครับ ญาติพี่น้องเขาก็ กปปส. หมด คือในครอบครัว 80 เปอร์เซ็นต์ คือ กปปส. ขึ้นเวทีด้วย จัดการทุกอย่าง หารถหาเงิน เป็นสปอนเซอร์ ทำทุกอย่าง เพราะงั้นก็ขัดแย้งกันโดยตลอดอยู่แล้ว ผมบอกว่าผมไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ได้เป็นทาสของทักษิณ แต่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองมันก็ต้องคุยให้อยู่ในกติกา จะมาล้มกติกา เอากติกาของคุณมาเป็นตัวตั้งไม่ได้... ก็ทำให้ที่บ้านเขารู้สึก... ก็แล้วแต่ ไม่ได้มีความอาลัยมาก คือไม่ได้ช็อค เพราะมันก็ขัดแย้งกันอยู่แล้ว ก็คงจะแปลกใจบ้างนะ ว่าทำไม

“ผมทิ้งทุกอย่างหมดเลยนะ บ้าน รถรายังกระจัดกระจาย บ้านก็บอกว่าถ้าผ่อนไม่ได้ก็ขายทิ้งไป เขาบอกว่ายังทำไม่ได้เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาจะยึดก็ให้ยึดไป หรือพี่น้องคนไหนอยากจะมาทำอะไรก็ทำ คือไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง”

-: มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณเอนก ซานฟรานฯ ขนาดไหน

“ไม่มีครับ คือช่วงแรกมาซานฟรานฯ ก่อน พี่เอนกเขานัดเจอ นั่งคุยกัน กินข้าวกัน ผมก็บอกว่าจะทำเรื่องขอลี้ภัยนะ แกก็บอกเดี๋ยวลองดูให้ ก็ติดต่อทนายให้ไปคุย พาไปหาบ้านอยู่ คือพี่เขามาเพื่อช่วยเหลือตอนแรก จากนั้นก็แยกกันเลย แยกกันอยู่เลยนะ แต่พี่เขาก็ดีนะ บางวันก็เอาก๋วยเตี๋ยวมาให้ เพราะเราไม่มีอะไรกิน บ้านเราก็เช่าเขาอยู่ มีพี่อีกคนเอาเงินเก็บมาเช่าบ้านให้ ห้องนึงอยู่กับแปดคน แปดคนนี่คือมาลักษณะเดียวกัน พวกนักศึกษาบ้าง คนเสื้อแดงอยู่ทางเหนือสองคน ทางกรุงเทพฯ แถวบึงกุ่มอีก 2-3 คน ก็อึดอัดมาก พี่เอนกก็คอยดูแล บางทีก็ซื้อกับข้าวมาใส่ตู้ไว้ให้ทำกิน ก็อยู่มา 5-6 เดือนแบบนั้น

“แต่ไม่ได้ร่วมงานกัน คือคุณเอนกเขาก็มีแนวทางการเคลื่อนไหวของเขานะครับ ผมบอกว่าพี่เคลื่อนไหวในแนวของพี่ไป แต่ผมไม่สามารถจะร่วมขบวนได้นะ ผมก็คงจะรักษาแนวทางของผม จะยืนอยู่ในจุดที่ผมยืน... เขาก็พยายามดึงไปนะ มานี่ (แอลเอ) เขาไม่ให้มานะ...”

-: เรื่องขอลี้ภัย เป็นอย่างไรบ้าง

“ทนายเขาทำให้แล้ว แต่ยังไม่เสร็จ เคสของผมทำได้ คือเอกสารที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ คสช. เขาเรียกตัว แล้วเขาเอาทหารไปที่บ้านผมด้วยนะ ไปอยู่หน้าบ้าน ไปสัมภาษณ์หลานสองคนที่ผมอุปการะอยู่ ไปนั่งสัมภาษณ์ ไปดูบ้าน แล้วโทรศัพท์มาทุกอาทิตย์ว่ามาหรือยัง มาหรือยัง บางทีก็ตระเวนรถไปดู ซึ่งเด็กก็กลัว พ่อแม่มันก็เอาลูกกลับไปหมด ตอนนี้บ้านผมก็ร้างอยู่... ​ก็เลยทำให้รู้สึกว่ามันน่ากลัว เลยเก็บหลักฐานพวกนี้เอาไว้ ถ่ายรูปทหารไปที่บ้าน ส่งไปแล้ว เขาก็พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว ตอนนี้รอสัมภาษณ์ ซึ่งไม่รู้จะนานเท่าไหร่ เขาบอกว่าไม่น่าจะนานขนาดนี้ ก็อาจจะเป็นช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดูท่าทีอะไรของเขาอยู่

“อนาคตสำหรับผม... อย่างที่บอกคือ... การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะใช้เวลา ทั้งใช้เวลานานและมีความสับสน ซับซ้อนเยอะ เพราะงั้นอยู่ตรงนั้น เราทำไรไม่ได้แน่นอน ยิ่งมันมีความซับซ้อนสับสนเยอะ อำนาจที่จะกดทับประชาชนจะเข้มข้นขึ้น ก็คิดว่าออกมาดีกว่า... ก็ตั้งใจจะอยู่ยาวเลย”

-: ได้ติดต่อกับคุณทักษิณ ชินวัตร ไหม

“ไม่เคยเลย ไม่ได้ติดต่อกันเลย คือมีคนพยายามติดต่อให้ ผมบอกว่าไม่ต้องติดต่อให้ เพราะผมไม่ได้มีส่วนเก่ียวข้อง และอย่าให้ผมต้องเสียจุดยืนเลย แล้วผมบอกไปด้วยว่าไม่ต้องติดต่อมา ไม่เป็นไร ผมมีคนไทยหลายกลุ่มมาก พร้อมที่จะช่วยผมอยู่ เขาก็พยายามจะช่วยนะ อันนี้ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเขาพยายามจะช่วย ผมบอกว่าอย่าเลยครับ ขอร้อง แล้วเขียนจดหมายไปด้วยว่า ขอความกรุณาว่าอย่าเลย ผมรู้ในเจตนาที่อยากจะช่วยนะ แล้วผมเชื่อว่าเขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากผม แต่อย่าลืมว่าในความเป็นนักการเมือง มันจะดึงภาพของเราให้เฉไป ผมก็ไม่ได้มีภาพพจน์อะไรที่ต้องห่วงมาก แต่รู้สึกว่า ตราบใดที่แกยังเป็นนักการเมือง ยังคงเป็นกลุ่ม เป็นพรรคการเมืองอยู่นี่ ผมคิดว่าทำงานกับนักการเมืองมันไม่ดีหรอก

“และผมไม่เคยได้รับดูแลสนับสนุนดูแลจากกลุ่มไหน มีเข้ามาเยอะนะ แต่ผมก็ปฏิเสธไปหมด อยากจะอยู่แบบนี้แหละ ในสภาพนี้ดีกว่า...”

-: มองว่าหลังการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ ประเทศจะเป็นอย่างไร

“ผมมองว่ากลไกของสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารทำไว้ ก็คือกลไกของเผด็จการ คุมเสรีภาพ คุมสิทธิประชาชนตลอด กรอบคิดของเขาคือว่า ประชาธิปไตยนำมาซึ่งความขัดแย้ง และเป็นช่องทางให้นักการเมืองเข้ามาฉกฉวยเอาเปรียบประชาชน นี่คือคอนเซปต์ของรัฐบาลนี้ที่กำลังสร้างกลไกใหม่ พอกลไกนี้ถูกสร้าง ก็พยายามกดดันใช้อำนาจอื่นๆ อำนาจของคนที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นคนที่หวังดีต่อบ้านเมือง เป็นคนมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ศีลธรรม มาคุมนักการเมืองคุมประชาชนอีกที ซึ่งแนวคิดนี้จะอยู่กับประเทศไทยอีกนานตามรัฐธรรมนูญใหม่ และถ้าเผื่อทหารยังมีอำนาจอยู่ ยังคงคุมกลไกทั้งหมดอยู่นี่ การจะพูดอะไรตรงไปตรงมา การวิจารณ์อะไรอย่างตรงไปตรงมาก็ถูกกด ถูกกระทำโดยสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เลือกตั้งเสร็จก็ยังไม่จบ เลือกตั้งเสร็จก็ยังคงมีความวุ่นวาย ฉีกอีกหรือเปล่า มีความรู้สึกว่าค่อนข้างเป็นไปได้ว่าจะฉีกอีก ถ้าฉีกอีก กลไกที่เขาร่างกันไว้ก็จะต้องเอาทหารเข้ามาดูแลอีก โดยสภาที่เขาตั้งเข้ามา ก็มาคุมกันอีก ก็อาจจะต้องนับหนึ่งใหม่อีก อาจจะต้องมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก เพราะเปิดทางไว้แล้วว่า ถ้าหากว่ามันเสนอมา สนช.ไม่ผ่าน ก็กลับไปร่างใหม่ หรือถ้ามีการฉีก เขาก็มีกลไกอยู่แล้ว คนที่จะเสนอเข้ามา นายกคนใหม่ก็คงจะมาจากการโหวตของ ส.ส. อะไรอย่างนี้ ซึ่งคนนอกก็เป็นไปได้อีก ซึ่งมันดูแล้วก็คงจะยืดไปเรื่อยๆ คงไม่จบ

“คือองค์กรที่มาตรวจสอบอำนาจประชาชนก็ต้องตรวจสอบล่ะ ประชาชนเลือกผู้บริหารเข้ามา เลือกนักการเมืองเข้ามา มันก็ต้องถูกควบคุมโดยกลไก แต่กลไกนั้นมันควรจะต้องมีกระบวนการ มีที่มาที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมด้วย เช่นองค์กรอิสระ หรือสภา เช่นจะมีสภาขับเคลื่อน หรือมีสภาอะไรขึ้นมาตรวจสอบนักการเมืองที่เลือกตั้งเข้ามา ก็ต้องมาจากประชาชน ผมว่าต้องใช้ประชาชนเลือกสภานั้นขึ้นมาอีกรอบนึงก็ได้ ไม่ใช่การสรรหาแบบทุกวันนี้นะครับ มันควรเลือกมาเลย ไม่ต้องไปกลัว

“คือเขายังเชื่อว่าวิธีเลือกของคนไทยยังคงอิงกับผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ คือเขาประเมินความคิดคนไทยต่ำมาก คนไทยเวลาเลือกนี่ เขารู้ว่ากูเลือก ส.ส.เข้าไปทำงานบริหาร กูเลือก ส.ว.หรือกลุ่มสภาอื่นที่เป็นสภาสูง เพื่อไปคุม ส.ส. ที่กูเลือกอีกที แล้วมันใช้บรรทัดฐานคนละบรรทัดฐานอยู่แล้วเวลาเขาเลือกน่ะ นี่ก็ยังไม่เชื่อ ‘ไม่จริง ไม่จริง คุณจอม ยังไงก็เขาก็จะเลือกเหมือนที่เขาเลือกนักการเมือง’ ผมว่าไม่ใช่ แล้วอีกอย่างนึ่ง ประชาชนตอนนี้ไม่ได้ซื้อกันได้ง่ายๆ แล้ว รับเงินไหม รับก็รับสิ แต่เวลาตัดสินใจเลือกมันอีกเรื่อง คนที่เขาทุ่มเงินเยอะๆ ไม่ได้รับเลือกก็มี พิสูจน์มาแล้วตั้งหลายเลือกตั้ง เรามองว่าคนไทยไม่มีคุณภาพในการเลือก ส.ส. แต่อย่าลืมว่าในระยะสิบปีที่ผ่านมา คนไทยเรียนรู้การเมืองมากขึ้นเยอะเลยนะ รู้เลยว่าเลือกแบบไหน สังคมไทยมันควรกำหนดอะไร อย่างไร เขามีข้อมูล มีหลักมีเกณฑ์มาตรฐาน ผ่านการเรียนรู้ มีประสบการณ์มาจากความขัดแย้งทางการาเมืองในระยะ 7-10 ที่ผ่านมา มันสอนคนไทยเยอะมากแล้ว ใช้คำว่าคนไทยตาสว่างแล้วก็ได้ คุณต้องไว้ใจเขา แน่นอนล่ะ ประชาธิปไตยบ้านเรามัน 80 ปี มันยังเด็กอยู่ ในแง่ของภาพรวมทั้งโลก แต่มันก็ต้องผ่านการเรียนรู้ ผ่านการลองผิดลองถูกไปบ้าง สิบปีนี้เราเรียนลัดไปเยอะมากแล้วนะ เหมือนเรียนกวดวิชากันมาแล้วสำหรับประสบการณ์ในห้องเรียนประชาธิปไตยเมืองไทยน่ะ เพราะฉะนั้นเชื่อเถอะ เขามีวิสัยทัศน์ มีวิธีคิดที่มีคุณภาพขึ้นเยอะแล้ว”

-: สิ่งที่ทำให้คุณจอมถูกเพ่งเล็งมากก็คือการพูดถึงสถาบันเบื้องสูง

“คือผมคิดว่า นี่คือหัวใจของประเด็นการเมืองในเมืองไทย ผมคิดว่าสื่อหรือคนไทยต้องยอมรับว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลมากในทุกๆ ด้านของประเทศ เพราะฉะนั้น ในสภาวะที่การปฏิรูปเกิดขึ้น การแปรเปลี่ยนองค์กรต่างๆ มันเกิดขึ้น สถาบันตุลาการ สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของคนไทยเยอะมาก ทีนี้ เราก็กลับมาดูว่า ถ้าเราจะพูดถึงก็ควรพูดถึงให้ครบ ไม่ควรจะเว้นสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่ผมก็ตั้งบรรทัดฐานของตัวเองไว้ว่า การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องพูดด้วยความปรารถนาดี ด้วยความรัก เพราะผมก็ยังคงรักและเทิดทูนอยู่ แต่ในเมื่อสถานการณ์ที่มันพลิกผันไปแบบนี้ แล้วรู้สึกว่าความสิ้นหวังของสังคมไทยที่มีต่อสถาบัน คือจะใช้คำว่าสิ้นหวัง หรือคำถาม ก็ได้นะ แต่ผมใช้คำว่าสิ้นหวัง คำว่าสิ้นหวัง ไม่ได้หมายความว่าจะมีอันตรายต่อสถาบัน หรือสถาบันจะไม่อยู่กับเราแล้ว ไม่ใช่ แต่ด้วยความที่ในหลวงทรงสร้างความดีงาม สร้างความศรัทธาสูงส่งในหัวใจประชาชน แล้วในสภาวะอย่างในเวลานี้นี่ เราพูดอะไรไม่ได้เลย แล้วเราก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรักของเราว่าแล้วควรเป็นใคร เป็นที่ยอมรับแค่ไหน เพราะงั้น สถาบันจึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองของนานาชาติมา ผมก็คิดว่าในเมื่อนานาชาติจับตามอง เราคนไทยก็ควรจะมอง มองอย่างไม่มีอคติ มองอย่างนับถือ มองอย่างอยากจะให้อยู่ต่อ ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องต้องคุย และหยิบมาคุย คุยกับคนที่อยู่ข้างนอก ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ”

ยืนยันว่าพูดด้วยความไม่มีอคติ พูดด้วยความจงรักภักดี

“ใช่ครับ ผมก็พูดตลอดนะ ผมออกเป็นแถลงการณ์ด้วยซ้ำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย และความเป็นไทยที่เราภูมิใจอยู่ได้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมความดีงาม ประเพณี หรือด้านต่างๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า มีบ่อเกิดจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น เราต้องรักษาไว้ แต่ว่าในความโปร่งใส ในประเด็นที่ต้องเคลียร์ในบางเรื่อง ก็ต้องเคลียร์

“ผมเชื่อว่าทุกคนก็เห็นนะครับว่าทุกวันนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแรงมาก ดึงกันหลายกลุ่มด้วยนะ กลุ่มเหลือง กลุ่มแดง กลุ่มธุรกิจ กลุ่มตุลาการ กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ทุกคนก็อ้างหมด อ้างแล้วมันก็ทำให้ทุกคนเข้าใจผิด ไขว้เขวไปต่างๆ นานาว่า สถาบันสนับสนุนกลุ่มนี้ ไม่สนับสนุนกลุ่มนี้ อยู่เบื้องหลังกลุ่มนี้กลุ่มนั้น เต็มไปหมด เราต้องตามเคลียร์ประเด็นเหล่านี้ เพราะว่า ถ้าคิดว่าการเมืองนำมาซึ่งความด่างพร้อย เรื่องมลทิน ก็ควรให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลุดไปจากการเมืองจริงๆ นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง”

-: คุณจอมเคยทำงานสื่อที่นี่ และได้รับการยอมรับสูงมาก กลับมาแอลเอ ครั้งนี้ ถูกมองแตกต่างจากเดิมไหม

“น่าจะต่างไปนะครับ เมื่อสักสิบปีก่อนเรายังไม่มีสีเหลืองสีแดง ก็อาจจะมองผมอีกแบบ แต่เนื่องจากเพิ่งมาแอลเอ ไม่นาน ไม่ถึงเดือน ยังไม่ได้ไปไหน แต่ก็ไม่แปลกใจถ้าจะมี เพราะอาจจะไม่เข้าใจ อาจจะไม่มีโอกาสได้คุยกัน ไม่มีโอกาสได้อธิบายถึงหลักการ จุดยืนหรือวิธีการทำงานของผม อาจจะไม่พอใจผมที่มักจะมีประเด็นที่เกี่ยวของถึงสถาบัน แต่ก็อย่างที่บอก บางทีเราก็ต้องศึกษานะ ในหลายๆ มิติ สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่มีความหมาย มีคุณค่า มีความสำคัญต่อประเทศไทย เราหวังดีและต้องการให้คงอยู่อย่างบริสุทธิ์จริงๆ”

-: มีอะไรจะฝากถึงคนไทยที่นี่ไหม

“ก็อยากฝากให้คนไทย โดยเฉพาะในแอลเอ หรือในอเมริกานี้นะครับ คือตอนนี้มีหลายเรื่องที่ต้องทั้งฟัง ทั้งอ่าน และวิเคราะห์ด้วย ต้องวิเคราะห์ ศึกษาและเปิดใจกว้างนิดนึง อย่าเพิ่งไปตัดสินหรือสรุปว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ดี ลองประมวลทุกอย่างมาดู ทั้งข้อถาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบัน ต่อการเมืองกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ประมวลดูว่าอะไรคือความจริงที่สุดของประเทศไทย แล้วเอาความจริงนั้นมาวิคราะห์ดูว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหานั้นบนพื้นฐานความจริงนี้ เราควรสร้างประเทศกันอย่างไร ก็ขอฝากอย่างนั้นครับ...”