วันพุธ, มีนาคม 25, 2558

ประเมินผล′ซึมลึก′ ปฏิบัติการ′เดินเท้า′ พลเมืองโต้กลับ



โดย วรรณโชค ไชยสะอาด
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

"ไม่เข้าใจว่าตำรวจจะจับมาในข้อหาอะไร เพราะเอกสารนำส่งตัวไม่มี อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันที่จำหน้าตนได้ก็ยังแปลกใจว่ามาทำไม เพราะไม่ได้นัดอะไรกันวันนี้ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้คิดจะหลบหนีเพราะได้ประกาศแล้วว่าจะเดินมา จึงคิดว่าจะขอปรึกษากับทนายความสิทธิมนุษยชนเพื่อแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ในข้อหาข่มขืนใจ และหาก สน.ปทุมวันไม่รับฟ้อง ถือว่าผิดมาตรา 157 ในฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วย"

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 กล่าวหลังจากถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง รวบตัวไปส่งที่ สน.ปทุมวัน หลังจากที่เริ่มต้นทำกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน: เมื่อความยุติธรรมไม่มาก็เดินหน้าไปหามัน"

กิจกรรมมีขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคมที่ผ่านมา

รูปแบบกิจกรรมเป็นการเดินเท้าจากตลาดบางบัวทองไป สน.ปทุมวัน ตามที่เจ้าหน้าที่นัดรายงานตัว หลังจากที่พันธ์ศักดิ์พร้อมด้วย อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ แท็กซี่หนุ่ม และ "จ่านิว" สิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (ลัก) รัก" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม

เพราะเหตุนี้เอง "พ่อน้องเฌอ" จึงเดินไป

วิเคราะห์ ′พลเมืองโต้กลับ′
พลังแห่งการต่อต้าน ′กองทัพ′

การเคลื่อนไหวของ "พ่อน้องเฌอ" และกลุ่มพลเมืองโต้กลับในกิจกรรมดังกล่าว มีการวิเคราะห์โดยนักวิชาการอย่างน่าสนใจ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า โดยตัวเรื่องของการเคลื่อนไหวพุ่งเป้าไปที่การใช้อำนาจแบบผิดปกติของกองทัพ ในเวลาและสถานการณ์ทางการเมืองที่แทบจะเป็นภาวะปกติแล้ว สิ่งที่พลเมืองโต้กลับทำนั้นแสดงให้เห็นว่า คู่ขัดแย้งหลักสำคัญ "กลายเป็นเรื่องระหว่างทหารและพลเรือน"

"การเคลื่อนไหวครั้งนี้เผชิญหน้ากับกองทัพมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นยังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงแก้ไข ขณะเดียวกัน เรื่องนี้เป็นแค่หนึ่งในไม่มีกี่เรื่องหลังการยึดอำนาจ ที่ทำให้คู่ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องระหว่างทหารและพลเรือน ทั้งที่ฝ่ายกองทัพพยายามจะทำให้คู่ขัดแย้งเป็นเรื่องของ กปปส.และ นปช. หรือ คสช.และพรรคเพื่อไทย"

27 มีนาคม คือวันที่อัยการนัดผู้ต้องหาทั้ง 4 รับฟังว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่



อย่างไรก็แล้วแต่ ศิโรตม์เห็นว่าการเคลื่อนไหวของพลเมืองโต้กลับครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จ

"คน 4 คน สามารถสื่อสารกับสังคมแล้วทำให้เกิดผลสะเทือนจนกลายเป็นตัวแทนของคนอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏตัวเป็นจำนวนมากได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การรณรงค์ทางการเมือง แต่ถามว่าในแง่ของการทำให้มีการยกเลิก แล้วเอาพลเรือนขึ้นศาลปกติเลยไหมนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ และอาจจะยังไม่ไปถึงเป้าหมายที่เขาต้องการ"

แต่แน่นอนในอนาคตหากมองย้อนกลับมาประเมินอีกที การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็น "จุดเปลี่ยน" สำคัญที่ทำให้พลเรือนมีบทบาทอีกครั้งหลังการรัฐประหาร ศิโรตม์บอกว่า..

"เป็นบันไดขั้นสำคัญมาก แม้ไม่ใช่บันไดขั้นสุดท้าย เเต่ก็ทำให้การก้าวต่อไปมีรากฐานที่หนักแน่นมั่นคง"

คลื่นประชาธิปไตยระลอกใหม่

อีกความเห็นจากอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสุรชาติ บำรุงสุข กล่าวถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า การเมืองไทยในช่วงหลัง คนไม่ได้รู้สึกกลัวรัฐประหารเหมือนในสมัยก่อน เราเริ่มเห็นการต่อต้านทหารเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ซึ่งเเนวโน้มของความไม่กลัวนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้น สิ่งที่ทหารต้องเรียนรู้ก็คือ 1.รัฐประหารในโลกสมัยใหม่คนไม่กลัว 2.ผลกระทบจากรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับในการเมืองไทย แต่รัฐประหาร

ของการเมืองไทยอยู่ในการเฝ้าดูของเวทีโลก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยวันนี้ต้องเชื่อมต่อกับการเมืองในเวทีโลก

"สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเป็นที่เฝ้าจับตา โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาเรื่องความจำกัดในเสรีภาพทางการเมืองไทย สองประเด็นนี้เป็นที่สนใจของทั้งสื่อและองค์การระหว่างประเทศ ฉะนั้นเมื่อทหารยิ่งทำการจับกุม รวมถึงการใช้เครื่องมืออย่างศาลทหาร ก็จะยิ่งทำให้ทหารสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นในสายตาเวทีโลก" สุรชาติเชื่อว่าทหารเองก็เรียนรู้ว่ารัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 และ 2557 เป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองชุดใหม่ เป็นการเมืองใหม่ทั้งในเวทีโลกและเวทีไทย ถ้าทหารไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว อาจจะต้องมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์บทเรียนเก่าๆ

"วันนี้อาการระลอกคลื่นในมหาวิทยาลัยอาจจะเริ่มค่อยๆ เห็น แม้ว่าจะไม่ค่อยหวือหวามากเหมือนกับในยุคก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเรียกร้องที่จะให้มีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับกระแสที่อยู่ในเวทีโลก"

ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบัน สุรชาติบอกว่ามีความหลากหลายมากกว่าในอดีตมาก โดยในช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา การเคลื่อนไหวมีลักษณะออกมาเรียกร้องตรงๆ ให้คนเข้าร่วมเดินขบวน แต่รูปแบบปัจจุบันจะแตกต่างไป ซึ่งคิดว่าเหมาะสมกับยุคสมัย ที่คนปัจจุบันมีเครื่องมือสื่อสารและเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวที่แตกต่าง ฉะนั้น เชื่อว่าเราจะยิ่งเห็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่มากมายขึ้นในอนาคต ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะทำให้กลุ่มผู้นำทหารคิดมากขึ้น ถ้าพวกเขายังมองเห็นแต่ภาพการเคลื่อนไหวในรูปแบบของการชุมนุมคงไม่พอ






"ผลกระทบวันนี้ที่เกิดขึ้นเราเริ่มเห็นระลอกคลื่นประชาธิปไตยที่ค่อยๆก่อตัวในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ" สุรชาติชี้

อารมณ์ขัน
ที่อีกฝ่ายไม่ขำ

อารมณ์ขันเป็นลักษณะสำคัญในการทำกิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับด้วย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทรรศนะว่า กิจกรรมที่ใช้อารมณ์ขันช่วยลดภาพลักษณ์การเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวตามที่รัฐกล่าวหา เพียงแต่รู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้สังคมขำไม่ค่อยออก ความขัดแย้งมันทำให้เรารู้สึกตึงเครียดกับกิจกรรมแบบนี้ และทำให้รู้สึกว่าคนพวกนี้เป็นภัยและเชื่อมโยงกับความรุนแรง

"ตรงนี้ต้องตั้งสติกันดีๆ และแยกให้ออกว่าการเคลื่อนไหวของ ′พลเมืองโต้กลับ′ เป็นสันติวิธีแบบสร้างสรรค์

"ทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในความขัดแย้ง คนยังรู้สึกว่าฝ่ายนี้เป็นคู่กรณีของเราอยู่ และไม่ว่าเขาทำอะไรมาเราก็ยังกั๊กฟอร์ม ไม่อยากขำหรือเห็นด้วย ทั้งที่บางทีอาจจะเห็นว่ากิจกรรมแบบนี้ก็น่ารักดี แต่ทั้งนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมอาจจะยังไม่ได้ใช้ภาษาสื่อสารกับฝั่งชนชั้นกลางหรือฝั่งตรงข้ามมากพอก็เป็นได้" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าว

พร้อมกับบอกด้วยว่า "(วันนี้) เราขัดแย้งกันจนไม่เห็นความน่ารักของคนที่เราไม่เห็นด้วย"

และถ้าจะให้มองไกลถึง "ความสำเร็จ" ของกิจกรรมในรูปแบบ "สันติวิธี"

จันจิราบอกว่า ยุทธศาสตร์กลุ่มต้องมีการสื่อสารกับชนชั้นกลางมากขึ้น

"กิจกรรมที่ไม่สื่อสารกับชนชั้นกลางที่ยังสนับสนุนการเมืองนอกระบบ อาจจะต้องพิจารณายุทธศาสตร์ของตัวเองใหม่ หาเครือข่ายมากขึ้น และถ้าจะพูดกันจริงๆ สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนอันหนึ่งของกลุ่ม เนื่องจากยังมีภาพของฝ่ายเสื้อแดง และทั้งหมดไม่ได้พยายามที่จะมีบทสนทนากับคนอีกฝ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะคนชนชั้นกลางใน กทม." จันจิรากล่าว

ในกิจกรรมครั้งนี้ สิ่งที่อาจารย์สาวมองเห็นตรงกันกับนักวิชาการหลายคนคือ "ความเกินกว่าเหตุที่รัฐบาลใช้กับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย"

จันจิราบอกว่า การกระทำอาจด้วยกำลังหรือการจับกุม ทำให้การชุมนุมของกลุ่มคนเล็กๆ ได้รับความสนใจจากใครหลายคน และอาจส่งผลให้เกิดการเชื่อมต่อของภาคประชาสังคมมากขึ้น หมายถึงว่า การผลักกลุ่มเล็กๆ ต่างๆ ที่ตอนแรกไม่มีความเกี่ยวข้องกันให้เป็นศัตรูของฝ่ายรัฐเหมือนกัน อาจจะทำให้เกิดการรวมตัวกันได้

"อย่างไรก็แล้วแต่ เข้าใจและชื่นชมกับการประท้วงของพลเมืองโต้กลับ" จันจิราทิ้งท้าย

ก้าวต่อไปทาง "กลุ่มพลเมืองโต้กลับ" จะมี "เซอร์ไพรส์" ที่เรียบง่าย สันติวิธี และฮาสะเทือนอีกหรือไม่ ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ


โซเชียลเน็ตเวิร์ก
แจ้งข่าวคนเฝ้าคอย

หนึ่งในสิ่งที่พันธ์ศักดิ์ทำอยู่ตลอดไม่ว่าจะเป็นตอนที่เดินเท้ารายงานตัวที่สน.ปทุมวันหรืออยู่ที่ศาลทหาร นั่นคือการโพสต์ข้อความผ่าน "โซเชียลเน็ตเวิร์ก"

จนเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ผู้ที่เฝ้าติดตามข่าวสารของเขาได้รับรู้

และที่สำคัญเรียกรอยยิ้มตลอดจนเสียงหัวเราะได้ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด

อย่างตอนหนึ่งหลังจากที่สน.ปทุมวันเตรียมส่งตัวเขาไปศาลทหาร "พ่อน้องเฌอ" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า...

"ศาลทหารอยู่สนามหลวงผมขอเดินไป ท่านผู้กำกับบอกผมไม่ขรรม"

ขณะที่ให้ปากคำกับอัยการทหาร ศาลทหารกรุงเทพ หลังได้รับรู้ว่ามีนักศึกษารวมตัวกันให้กำลังใจที่ ม.ธรรมศาสตร์ พันธ์ศักดิ์โพสต์ข้อความว่า..

"ขอบคุณน้องๆ ธรรมศาสตร์ที่จัดรณรงค์

และขึ้นข้อความ ′ไม่ปล่อยไม่กลับ′

พวกเราก็ขอยืนยันว่า ′ไม่ปล่อยไม่กลับ′ เช่นกันครับ"

หรือแม้แต่หลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว อีกไม่กี่วันต่อมา มีการโพสต์รูปภรรยา "แหม่ม" สุมาพร ศรีเทพ พร้อมกับข้อความว่า...

"คุณครูแหม่มโทรมา

กลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว

ถามว่าผมอยู่ไหนเพราะเธอลืมกุญแจบ้าน

ผมถามว่าถ้าผมอยู่ในคุกจะเข้าบ้านยังไง-เธอตอบว่าก็เดินไปเอากุญแจที่คุก"

เป็น4ชั่วโมงที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า "สอบเครียด"

หากแต่ข้อความที่ปรากฏในโลกออนไลน์รู้สึกเหมือนกำลัง "เล่นสนุก" กันอยู่

จนท้ายที่สุด ศาลทหารกรุงเทพไม่รับคำร้องขอฝากขังของอัยการและสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ด้วยเหตุผลว่าผู้ถูกร้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เเละไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี โดยให้มาฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค.นี้

ทำให้กลุ่มนักศึกษา ส่งเสียงโห่ร้องเเสดงความยินดีก่อนเเยกย้ายกันไป