วันอังคาร, สิงหาคม 05, 2557

จดหมายไม่ขอยินดีด้วยของยุกติ มุกดาวิจิตร ถึงนายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ภาพจาก UDD Thailand
ที่มา ประชาไท Blogazine

ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช.

หากท่านผู้บริหารระดับสูงจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานเสียจนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยสายตาแบบนักประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ผมก็ขอพื้นที่เล็กน้อยนี้อธิบายสักหน่อยว่า บรรยากาศและโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ผมไม่บังอาจอธิบายท่านว่าเสรีภาพสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เสรีภาพประการหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจและโดยไม่ละเมิดผู้ใด

มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ดูราวกับจะคุ้มครองเสรีภาพ กลับถูกค้ำคอไว้ด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจล้นเหลือแก่หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ว่าด้วยศาลทหารที่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องถูกนำไปพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นี่จะทำให้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นหลักประกันว่าเรามีเสรีภาพได้อย่างไร

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้วกลับถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ มีประชาชนถูกคุกคามรุกไล่ที่ทำกินด้วยกำลังอย่างป่าเถื่อน บริการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศถูกสั่นคลอน เช่นในเรื่องสาธารณสุข เรื่องการสื่อสาร

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสสมเหตุสมผล สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการได้รับบริการของรัฐ สิทธิในการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับสิทธิในร่างกายที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายและดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย การปกครองโดยนักการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น ยังมีการเดินขบวนประท้วง มีการวิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน มีการใช้สื่อชุมชนวิจารณ์ มีการตรวจสอบในรัฐสภา และมีการเลือกตั้งตามวาระ เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนจะทัดทานและถือเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

ขณะนี้เรามีสิ่งนั้นหรือไม่ ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และการสั่งให้ควบคุมสื่อ การไม่มีรัฐสภา การหยุดยั้งการเลือกตั้งแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น การควบคุมข่าวสารทั้งหมด การจับกุมคุกคามผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจาก คสช. เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

หากจะแย้งว่า ก็การมีส่วนร่วมทางการเมืองเหล่านั้นนำมาซึ่งความแตกแยกและความรุนแรงไม่ใช่หรือ ก็ขอให้กลับไปถามนักสันติวิธีที่ก็เป็นที่ปรึกษาผู้มีอาชีพใช้กำลังดูว่าท่านสามารถให้ทางเลือกที่สันติในการจัดการความขัดแย้งในสังคมประขาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่มีคำตอบ ก็คงต้องขอริบปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ ของนักสันติวิธีเหล่านั้นคืน

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ ทำไมไม่เลือกใช้วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าเล่า ทำไมจะต้องหยุดการเลือกตั้ง หยุดการมีรัฐสภา ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเล่า ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำกัดการเข้าร่วม ใช้กำลังควบคุมความเห็นที่แตกต่าง วิธีการเหล่านี้จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่

ถ้าจะถามผมกลับว่า แล้วผมจะแก้ปัญหาความรุนแรงก่อนหน้านั้นในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างไร แล้วผมมีแนวทางที่จะนำประเทศกลับสู่สันติได้อย่างไร แล้วผมจะแก้ปัญหาการโกงกินคอร์รัปชั่นอย่างไร ที่จริงแนวทางเหล่านั้นมีอยู่ และมีข้อเสนอมากมายจากผู้มีความรู้ความคิดมากมาย แต่มันไม่ถูกเปิดให้เลือก ก็เพราะอำนาจรุนแรงเบ็ดเสร็จบอกปัดแนวทางเหล่านั้นไม่ใช่หรือ

ลำพังหากว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนกำเนิดของวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช. ก็ไม่อาจนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีเด่นสำหรับประชาคมทางวิชาการแห่งนี้ได้อยู่แล้ว

แต่นี่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช.ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเองและของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

ooo

อธิการบดีจาก 9 สถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แถวบน จากซ้ายไปขวา) กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แถวกลาง จากซ้ายไปขวา) ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง, สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
(ภาพจากประชาไท)