วันศุกร์, สิงหาคม 08, 2557

ผุดนโยบายล้างสมองกันต่อ...


ที่มา UDD Thailand

ผุดนโยบายล้างสมองกันต่อกับ 200 โรงเรียนที่จะเซ็นต์กับไอซีทีสร้างลูกเสือไซเบอร์

ดูไปดูมา ไม่แตกต่างกับยุวชนฮิตเลอร์ ที่สร้างการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมโดยลัทธินาซี เป็นหลักสูตรภาคบังคับสำหรับเยาวชนชาวเยอรมันทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กชาย

"ยุวชนฮิตเลอร์" จะหล่อหลอมอบรมอย่างเป็นขั้นตอนปลูกฝังให้เกิดความรักชาติ (patriotism) จนอาจเลยเถิดไปเป็นความคลั่งชาติ (chauvinism) และหลงตนเอง (narcissism) ผูกขาดความภักดี (monopoly of loyalty) นอกจากนั้นก็จะถูกฝึกให้ใช้อาวุธต่างๆ พอครบอายุ 20 ปีก็จะทำการเข้าประจำการในกองทัพเยอรมัน

จากพาสปอร์ตความดี หลักสูตรความดี 12 ประการที่ถูกบรรจุเข้าบทเรียนภาคบังคับของเด็กไทย ไปจนการยกเลิกให้ผู้ที่ผ่าน รด.ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงกองกำลังติดอาวุธที่ตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ

เผด็จการไม่ว่ายุคไหน ก็คือเผด็จการที่ทำเป็นแค่การมอมเมาประชาชน
...

ข่าวเกี่ยวข้อง...

ไอซีทีเล็งเซ็นร่วมมือ 200 โรงเรียนสร้างลูกเสือไซเบอร์เฝ้าระวังภัยออนไลน์

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผอ.สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ผู้กำกับกองลูกเสือไซเบอร์ (Cyber Scout) นำคณะผู้แทนลูกเสือไซเบอร์ของกระทรวงไอซีที และเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์จากโรงเรียนวัดราชบพิธ ร่วมพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงไอซีทีเปิดเผยว่าจะลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษา 200 แห่งในการอบรมลูกเสือไซเบอร์ (แฟ้มภาพ/MICT)
ที่มา vvoicetv.com

Posted: 06 Aug 2014 01:31 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ปลัดกระทรวงไอซีทีเตรียมลงนามความร่วมมือสถานศึกษา 200 แห่ง สร้างแกนนำลูกเสือไซเบอร์ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลภัยอันตรายและเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยออนไลน์ทุกประเภท โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ ภัยความมั่นคง

6 ส.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า วันที่ 26 – 29 สิงหาคมนี้ กระทรวงไอซีทีจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานศึกษาทั่วประเทศ 200 แห่ง เพื่อสร้างวิทยากรแกนนำลูกเสือไซเบอร์ในโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ ไซเบอร์ สเกาต์ – Cyber Scout เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้ ICT อย่างสร้างสรรค์ มีคุณธรรมจริยธรรม มีวิจารณญาน รู้เท่าทัน และการนำ ICT มาใช้ได้อย่างเหมาะสม ให้กับเด็กนักเรียน อาจารย์และบุคลากรในสถานศึกษา 200 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะร่วมเป็นอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ต่อไป

เพื่อที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลภัยอันตราย และเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อสถาบัน รวมถึงความมั่นคงของประเทศ และยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักในการรับรู้ และใช้งานข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม และสร้างสรรค์ตั้งแต่รุ่นเยาวชน ตลอดจนเพื่อเป็นเครือข่ายขยายผลการใช้งานเทคโนโลยีอย่างถูกวิธี

เนื่องจาก ภัยคุกคามจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ทั้งการให้หรือรับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน การเผยแพร่ และเข้าถึงข้อมูลที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง การเผยแพร่ภาพลามก อนาจาร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้งาน และสังคมออนไลน์จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญในการคัดกรองหรือเลือกที่จะเข้าถึง

ooo

ไอซีทีสร้างเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์ปราบเว็บไม่เหมาะสม

ที่มา MCOT.net

กรุงเทพฯ 21 ก.ค. - กระทรวงไอซีที เร่งสร้างเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์ ร่วมปราบเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า เพื่อความต่อเนื่องของโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) หรือลูกเสือไซเบอร์ ทางกระทรวงไอซีทีมีแผนที่จะจัดสัมมนา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ การปฏิบัติภารกิจสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมแก่แกนนำลูกเสือไซเบอร์ทั่วประเทศ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนาแกนนำลูกเสือไซเบอร์ให้มีข้อมูลความรู้ทันต่อสถานการณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้สร้างเครือข่ายอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์จากสถาบันการศึกษามาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีแกนนำทั่วประเทศครอบคลุมทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 383 คน โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ “สายใย Cyber Scout” กำหนดจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมสีดารีสอร์ท อ.เมือง จ.นครนายก และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมดิโอวาเลย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะมีแกนนำลูกเสือไซเบอร์จากทั้งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมกว่า 250 คน

“กระทรวงไอซีทีต้องสร้างเครือข่ายในการสอดส่องและดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เพราะมีอยู่จำนวนมาก โดยลำพังข้าราชการกระทรวงไอซีทีคงติดตามได้ลำบาก แต่ละวันสั่งปิดไม่ต่ำกว่า 10,000 รายการ เพราะมีทั้งเว็บหมิ่นสถาบัน เว็บไซต์การพนัน เว็บไม่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐต้องการความร่วมมืออย่างมาก ดังนั้น การสร้างเครือข่ายในการร่วมแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” นางเมธินี กล่าว. - สำนักข่าวไทย