ที่มา เฟสบุ๊ค Phuttipong Ponganekgul
จากการดำเนินคดี อ.วรเจตน์ นะครับ การปฏิบัติการใด ๆ ของ "รัฐ" ถือเป็นอาชญากรรทั้งสิ้น ในภายหน้า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไม่อาจกล่าวอ้างว่าตนอาศัยอำนาจตามกฎหมายได้เลย (กฎหมายที่อยุติธรรมอย่างรุนแรง (intolerable level ; ในระดับที่ไม่อาจทนทานได้อีกต่อไป) ย่อมไม่ใช่กฎหมาย ; extremes Unrecht ist kein Retch) แต่เป็น "กฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมาย" (Unrichtiges Recht) เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมโดยแท้
โดยผมจะยกแนวคิดที่มีชื่อเสียง พอดีมีสำนวนการถอดความ โดย คุณมุกหอม วงษ์เทศ นะครับ จากบทความของ Gustav Radbruch และเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในโซนเยอรมันตะวันออก (รัสเซีย) สำหรับรายละเอียดของคดีที่ Radbruch เป็นนักนิติปรัชญาเยอรมันที่มีชื่อเสียงนั้น จัดเป็นนิติปรัชญาสายที่สาม (dritten Weg) หรือสำนักกฎหมายแบบไม่ปฏิฐานนิยมแต่ไม่ใช่กฎหมายธรรมชาติ (Legal nonpositivism) อธิบายเป็น Radbruch Formula ในบทความ Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law โดยยกตัวอย่างคดีที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดของ Radbruch โดยข้อเท็จจริงและคำพิพากษาคดีนั้น Radbruch นำมาจากรายงานคดีในหนังสือพิมพ์ Thüringer Volk ฉบับวันที่ ๑๐ พ.ค. ๑๙๔๖ (เนื่องจากในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ ๆ เอกสารทางการในกระบวนการยุติธรรมเยอรมันไม่อาจเข้าถึงได้ Radbruch จึงโคว้ตข้อความสำคัญมาจากหนังสือพิมพ์)
ต่อไปนี้เป็นการถอดความจากบทความของ Radbruch โดยคุณมุกหอม ครับ
.................................
หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการล่มสลายของระบอบนาซี Gustav Radbruch นักนิติปรัชญาชาวเยอรมันอภิปรายถึงคดีหนึ่งซึ่งโยงกับคดีที่มีชื่อเสียงอีก คดีหนึ่งในสมัย Third Reich หรือยุคฮิตเลอร์-นาซีเรืองอำนาจในบทความเรื่อง “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law”
เริ่มต้นเรื่องว่า นาย Puttfarken เจ้าหน้าที่ประจำ justice department ถูกดำเนินคดีและพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยศาลอาญา Thuringian เนื่องจากในสมัยรัฐบาลนาซี Puttfarken ได้กล่าวฟ้องนาย Gottig ว่าเป็นผู้เขียนข้อความบนกำแพงห้องน้ำว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” อันมีผลทำให้ Gottig ถูกศาลนาซีพิพากษาลงโทษ ความผิดของ Gottig ไม่เพียงจาก “ข้อความ” ที่เขาเขียนบนกำแพง แต่ยังรวมทั้งการที่เขามักจะชอบแอบฟังวิทยุกระจายเสียงของต่างชาติด้วย (แทนที่จะฟังแต่วิทยุโฆษณาชวนเชื่อของนาซี) ประเด็นสำคัญที่หัวหน้าอัยการตั้งขึ้นมาก็คือ การกระทำของ Puttfarken (แจ้งความดำเนินคดีกับคนเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์) เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่?
หัวหน้าอัยการอภิปรายเหตุผลว่า การที่จำเลยให้การอ้างว่าความเชื่อใน National Socialism (ซึ่งมิใช่เพียงความนิยมในพรรคการเมืองของฮิตเลอร์ แต่กินความถึงความศรัทธาในอุดมการณ์-โลกทัศน์-จุดหมายทางการเมืองแบบนาซี) ทำให้เขาแจ้งความดำเนินคดีนาย Gottig (ซึ่งเขียนข้อความต่อต้านและประณามท่านผู้นำ) นั้น เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าใครจะมีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายใดที่บังคับให้ใครคนนั้นไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ อื่น แม้แต่ในสมัยฮิตเลอร์เอง ก็ไม่มีพันธะผูกมัดทางกฎหมายเช่นนั้นดำรงอยู่ เช่นนั้นแล้ว บนสมมติฐานว่าระบบตุลาการพึงตั้งมั่นอยู่ที่การธำรงความยุติธรรม Puttfarken ได้กระทำการที่เป็นไปเพื่อความยุติธรรมหรือไม่?
ระบบตุลาการจำเป็นจะต้องมีความซื่อตรงต่อหลักการ มุ่งผดุงความเป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐานของกฎหมาย แต่คุณลักษณะอันขาดไม่ได้ทั้งสามประการนี้ล้วนแล้วแต่ไม่ปรากฎมีในระบบศาล ที่ถูกการเมืองบงการแทรกแซงในสมัยของระบอบนาซี ใครก็ตามที่แจ้งความดำเนินคดีคนอื่นในสมัยฮิตเลอร์จำต้องรู้-และจริงๆ แล้วก็รู้อยู่แก่ใจ-ว่าเขากำลังส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้กับองค์กรตุลาการที่ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้ขื่อแป หาใช่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำนองคลองธรรมอันจะนำไปสู่คำพิพากษาอัน ยุติธรรมไม่
เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสถานการณ์ในเยอรมนีสมัยนาซีนั้น เราสามารถเชื่อมั่นได้เลยว่า ใครก็ตามที่ถูกแจ้งข้อหาว่าเป็นผู้เขียนข้อความ “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” ย่อมไม่มีทางรอดชีวิตแน่ๆ คนอย่าง Puttfarken คงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าระบบตุลาการนั้นสร้างความวิปริตให้กฎหมายได้ “อย่างไร” แต่อย่างน้อยเขาจะต้องกระจ่างแจ้งแก่ใจพอที่จะรู้ว่ามันย่อมเป็นเช่นนั้นได้
คดีนี้จึงสรุปได้ว่า สาวกนาซีแจ้งความดำเนินดคีกับผู้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบนาซี โดยที่แม้แต่ในสมัยนาซีเองก็มิได้มีกฎหมายบังคับให้ใครต้องร้องทุกข์กล่าว โทษใคร และโดยที่สาวกนาซีนั้นก็รู้อยู่แก่ใจว่าระบบยุติธรรมภายใต้ระบอบฮิตเลอร์ นั้นโหดร้ายป่าเถื่อนและผิดทำนองคลองธรรม
ถึงที่สุดแล้วคำประกาศอันหาญกล้าของ Gottig ที่ว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงครามโลก” คือความจริงอันชัดแจ้ง ใครก็ตามที่ประกาศและเผยแพร่ความจริงข้อนี้มิได้คุกคามความมั่นคงของประเทศ เยอรมนี แต่เป็นความพยายามช่วยขจัดผู้คิดทำลายประเทศเยอรมนีต่างหาก และดังนั้นจึงเป็นการช่วยปกป้องชาติ
Puttfarken ยอมรับว่าเขามีเจตนาอยากให้ Gottig ขึ้นตะแลงแกงประหารชีวิต ซึ่งตามบทบัญญัติทางกฎหมายอาญาแล้วเท่ากับว่าการแจ้งความของเขาเป็นการวาง แผนฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อความจริงที่ว่าศาลนาซีเป็นผู้ตัดสินประหารชีวิต Gottig ก็ไม่ได้ทำให้ Puttfarken รอดพ้นจากอาชญากรรมที่เขาก่อ
Radbruch ประณามศาลอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ไม่เคยมีใครคาดฝันมาก่อนว่าศาลเยอรมันจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการฆาตกรรมของอาชญากร
การแจ้งความของ Puttfarken จึงเข้าข่ายการฆาตกรรมทางอ้อม หรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการฆาตกรรม อีกทั้งยังใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุความประสงค์ร้ายของตนต่อผู้อื่น และเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหล่าผู้พิพากษาภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาซีที่ ตัดสินลงโทษประหารชีวิต Gottig จะต้องถูกถือว่าเป็นฆาตกรด้วยเช่นกัน.
(ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38473 )
ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...
อัยการทหารฟ้องจาตุรนต์ 3 ข้อหา, วรเจตน์ 2 ข้อหา ให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไข
ภาพจาก กลุ่มคนบ้านเรา แปดริ้ว
เรื่องจาก ประชาไท
4 ส.ค. 2557 อัยการทหารพิจารณาสั่งฟ้องนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ โดยทั้งสองได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว และได้รับอนุมัติในประกันตัวแล้ว บ่ายวันนี้
นายวรเจตน์ ถูกฟ้องด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ครั้ง คือ ความผิดฐานไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายวรเจตน์ได้ดำเนินการยื่นประกันตัวด้วยวงเงินประกัน 20,000 บาท ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงความคิดเห็นให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
ทั้งนี้นายวิญญัติได้แสดงความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ฉบับ 57/2557 เพียงข้อหาเดียว แต่สำนวนส่งฟ้องกลับมีข้อหาเพิ่มในข้อหาคือขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557 ซึ่งอาจถือว่าไม่เป็นธรรมในการสั่งฟ้อง
สำหรับนายจาตุรนต์ ถูกฟ้อง 3 ข้อหา คือ
1.ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 จากกรณีฝ่าฝืนกฎอัยการศึกและยุยง ปลุกปั่น และ
3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550
โดยทีมทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว พร้อมหลักทรัพย์ประกันตัว 4 แสน ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงความคิดเห็นให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานคำสัมภาษณ์ของนายจาตุรนต์ว่า รู้สึกผิดหวังและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหลายกรณี อาทิ การที่ตนเองเดินทางไปชี้แจงให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ที่ได้ทำการแถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งความมุ่งหวังที่แท้จริงก็เพื่อต้องการให้ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ และต้องการให้เกิดความสงบในบ้านเมือง แต่กลับถูกนำมาเป็นหลักฐานในการสั่งฟ้องในครั้งนี้ จึงถือว่าตรงข้ามกับสิ่งที่ตนมุ่งหวังและไม่เป็นธรรม ดังนั้น กระบวนการต่อไปที่ตนสามารถทำได้ คือเตรียมทนายความ และรวบรวมหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ตนจะยังคงเดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป และยังสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตได้ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และเงื่อนไขของศาล