มติชนออนไลน์
ในปี 2534 ระหว่างที่ รสช.ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตฝ่ายเขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ผมได้เขียนเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ลงในวารสารศิลปวัฒนธรรมมาในระยะไม่กี่ปีมานี้ ผมถูกถามเสมอว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปบ้างแล้วหรือไม่อย่างไร แล้วผมก็ตอบไม่ได้ เพราะลืมไปว่าเขียนอะไรลงไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วและไม่ได้คิดเรื่องนี้อีกเลย จึงต้องนำบทความนั้นกลับมาอ่านใหม่ และได้เห็นคำตอบลางๆ บางอย่างซึ่งจะพูดถึงข้างหน้านี้
อำนาจในวัฒนธรรมเก่าของไทยนั้นแบ่งแยกมิได้เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้แต่อำนาจของพระเจ้าก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์คืออวตารของพระเจ้า ดังนั้นความคิดว่าอำนาจอธิปไตยอาจแบ่งออกได้เป็นสามด้าน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ คอยถ่วงดุลกันและกัน จึงเป็นความคิดของฝรั่งโดยแท้
แม้ว่าอำนาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนไทยสมัยก่อนก็หาได้วางใจต่ออำนาจไม่ เพราะอำนาจที่เขารู้จักคือถูกเก็บส่วยหรือถูกเกณฑ์ทัพซึ่งเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ผู้คนในวิถีชีวิตชาวนา เขาจึงมีความคิดเกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจของ "อำนาจ" อยู่เหมือนกัน วิธีทำแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง หนึ่งคือสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมากำกับควบคุมอำนาจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้ ที่สำคัญสุดคือพระพุทธศาสนา ซึ่งวางมาตรฐานบางอย่างที่ควบคุมอำนาจของพระราชาได้ระดับหนึ่ง (แยกให้ชัดนะครับ หลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นเลิกล้างไม่ได้ แต่พระภิกษุแต่ละรูปนั้น พระเจ้าแผ่นดินจับสึกเสียเมื่อไรก็ได้ พระภิกษุแต่ละรูปจึงต้องสร้างอำนาจอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าอิทธิพลขึ้นเพื่อป้องกันตัว เช่น ทรงคุณวิเศษบางอย่างจนเป็นที่นับถือกว้างขวาง เปรียบเทียบกับสังคมมุสลิม ผู้รู้ทางศาสนามีอำนาจในตัวเอง จึงแตกต่างจากสังคมพุทธไทยอย่างมาก) อย่างไรก็ตาม การสร้างอำนาจใหม่นี้เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดมาก
วิธีที่สองซึ่งใช้แพร่หลายกว่า คือ การใช้อิทธิพลคานกับอำนาจ สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ผมนิยามตามความเห็นของนักวิชาการญี่ปุ่นว่า อำนาจคืออำนาจที่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ ส่วนอิทธิพลคืออำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ พระราชอำนาจในราชอาณาจักรโบราณของไทยถูกจำกัดด้วยอิทธิพลนานาชนิด เช่น อิทธิพลของตระกูล นักเลง "เจ้าพ่อ" ในท้องถิ่น หรือแม้แต่ในเมืองหลวงเอง รวมทั้งอิทธิพลของพ่อค้าต่างชาติและหัวหน้าชุมชนต่างชาติด้วย
สามัญชนคนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการเอาอิทธิพลกับอำนาจมาคานกัน บางครั้งก็ใช้อิทธิพลคานอำนาจ บางครั้งก็ใช้อำนาจคานอิทธิพล ผมขอยกตัวอย่างจากสังคมไทยสมัยหลัง 2500 เพื่อผู้อ่านจะได้นึกออกได้ง่าย
ผู้กำกับตำรวจในจังหวัดใหญ่แค่ไหน ก็ใหญ่มากนะครับ ถ้าพ่อจะรังแกใครด้วยการตั้งข้อหาใด คนนั้นก็เดือดร้อนไปหลายปี ผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก็มีอำนาจจำกัด จะเข้าแทรกแซงได้ยาก ฉะนั้นเพื่อป้องกันตน คนไทยก็วิ่งเต้นกับอิทธิพลสิครับ เช่น วิ่งเต้นกับ "เจ้าพ่อ" ซึ่งสามารถ "เจรจา" กับผู้กำกับฯ ได้ หรือวิ่งเต้นกับ ผบ.ทหารในจังหวัดก็ได้ ผบ.ทหารไม่มี "อำนาจ" ไปก้าวก่ายงานของตำรวจก็จริง แต่ ผบ.ทหารมีอิทธิพลในท้องถิ่นแน่ (ยกทหารไปพังป้อมตำรวจก็เคยมีมาแล้ว) จึงสามารถ "เจรจา" กับผู้กำกับได้
ตรงกันข้ามนะครับ อิทธิพลก็อาจรังแกประชาชนได้เหมือนกัน เช่นในสมัยก่อน ทหารก็อาจสั่งควบคุมตัวลูกหลานในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานของ พคท. เดือดร้อนกันยกใหญ่แน่ ชาวบ้านไทยจะทำอย่างไร ก็วิ่งเต้นกับอิทธิพลที่ใหญ่กว่าสิครับ ทั้งนี้หมายถึงทหารที่ใหญ่กว่านั้น รัฐมนตรี ส.ส. หรือถวายฎีกา หากการใช้อิทธิพลคานอิทธิพลยังไม่สำเร็จก็ต้องดึงเอาอำนาจเข้ามาคาน เช่น ร้องไทยรัฐเพื่อให้เป็นข่าวใหญ่ และอำนาจก็จะเข้ามาปรามเอง หรือจนถึงที่สุดก็หวังว่าอำนาจในกระบวนการยุติธรรมระดับที่สูงกว่าตำรวจจะขวางอิทธิพลได้ เช่น พนักงานอัยการหรือผู้พิพากษา
โดยสรุปก็คือ สามัญชนคนไทยเคยชินกับการคานอำนาจระหว่างอิทธิพลและอำนาจ ไม่อยากเห็นฝ่ายใดถูกอีกฝ่ายหนึ่งขจัดออกไปโดยสิ้นเชิง อำนาจก็มีอันตราย อิทธิพลก็มีอันตราย แต่ถ้ามีสองอย่างก็พอจะเอาตัวรอดไปได้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเริ่มเปลี่ยนตรงนี้ นั่นคือ มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้อิทธิพลเริ่มปรากฏน้อยลงในสังคม เช่น "เจ้าพ่อ" เบนทุนไปลงในธุรกิจสว่างหรือถูกกฎหมายมากขึ้น พคท.ล่มสลายทำให้บทบาทของทหารในสังคมลดลง อีกทั้งยังต้องกลับเข้ากรมกองต่อเนื่องกันตั้งแต่ 2535-2549 ฯลฯ ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทสูงเด่นขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้คนไทยเกิดความหวังว่า การใช้อำนาจถ่วงดุลอำนาจน่าจะมีประสิทธิผลมากขึ้น จนแม้เมื่อคณะรัฐประหารต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ใน 2550 ก็ยังต้องรักษาอย่างน้อยก็รูปแบบของการถ่วงดุลอำนาจด้วยอำนาจเอาไว้
รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนไปสู่การจัดให้อำนาจมีสถาบัน กลไก กระบวนการ ที่ถ่วงดุลกันเอง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีความสำคัญมาก่อน แต่เมื่ออิทธิพลลดน้อยถอยลง กลับกลายเป็นเรื่องสำคัญแก่คนไทยมากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ซึ่งไม่เคยคิดว่าอำนาจพึงแบ่งแยกเป็นหลายส่วนได้ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อคานกันเองแบบฝรั่งมากขึ้น
แม้ว่ามีรัฐประหารโดยกองทัพในเมืองไทยบ่อยเหมือนฝนตก แต่ที่จริงแล้วรัฐประหารเป็นภาวะตึงเครียดตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย เพราะรัฐประหารคือการสถาปนาอิทธิพล (อำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ) ขึ้นเหนืออำนาจ (อำนาจที่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ) หรือจะพูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ รัฐประหารเป็นอิทธิพลที่ทำลายสถาบันอำนาจไปแทบหมดสิ้นก็ได้ เหลือไว้เพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลสถิตยุติธรรม และการรับรองของมหาอำนาจต่างประเทศ ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ความตึงเครียดก็ยิ่งมากขึ้นเป็นธรรมดา
คณะรัฐประหารหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมาจึงต้องพยายามรื้อฟื้นบรรยากาศของอำนาจกลับคืนมาโดยเร็ว อย่างน้อยก็โดยรูปแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ กล่าวคือ มีอำนาจที่ดูคล้ายจะเป็นอิสระ (หน่อยๆ) จากคณะรัฐประหารซึ่งเป็นอิทธิพลใหญ่สุด อาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ทันที (เช่น 2490 และ 2494 เป็นต้น)
คนชอบพูดกันถึงรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดูเหมือนสถาปนาอิทธิพลขึ้นเหนืออำนาจต่อเนื่องกันได้ถึง 16 ปี แต่ที่จริงแล้วสฤษดิ์ฉลาดกว่านั้นมาก เขาตั้งใจทำให้อิทธิพลใหญ่ที่เขาสถาปนาขึ้นดูเหมือนถูกถ่วงดุลมาแต่ต้น นายกรัฐมนตรีคนแรกของเขาคือ นายพจน์ สารสิน พลเรือนซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้เส้นสนกลในของความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำในช่วงนั้นด้วย รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของสฤษดิ์เองเป็นปลัดกระทรวงเดิม ในตอนนั้นยังมองระบบราชการแยกออกจากการเมืองและกองทัพมากกว่าปัจจุบัน ที่สำคัญเขานำเอานักวิชาการเข้ามาสู่องค์กรและสภาที่เพิ่งตั้งใหม่ประหนึ่งแยกความชำนาญการ (expertee) ออกไปจากการเมืองของอิทธิพลอย่างเด็ดขาด นักวิชาการรุ่นนั้นก็ต่างจากอธิการบดีในรุ่นนี้ซึ่งออกมาเต้นเหยงๆ เชียร์อิทธิพล-รัฐประหารกันอย่างน่าสมเพช อย่างน้อยก็ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านั้นเชื่อมโยงกับอำนาจและอิทธิพลอย่างไรมาก่อน
จะเข้าใจความฉลาดของสฤษดิ์ได้ก็ต้องนำเอารัฐประหารของเขาไปเปรียบเทียบกับของถนอม กิตติขจร ใน 2514 หรือธานินทร์ กรัยวิเชียร ใน 2519 สองคนหลังนี้ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเอาเลย จึงกลับพยายามรักษาภาพลักษณ์ของระบอบอิทธิพลไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะนึกว่าอิทธิพลอย่างเดียวจะทำให้ตัวรักษาอำนาจได้ตลอดไป
ในขณะที่สฤษดิ์รู้วิธีที่จะแปรบางส่วนของอิทธิพลให้มีภาพลักษณ์ของอำนาจ เพื่อความสบายใจของคนไทยว่าอิทธิพลถูกถ่วงดุลไว้แล้วในระดับหนึ่ง
เนื่องจากพื้นที่จำกัด ผมจะไม่เข้าไปหยิบยก รธน.2557 เป็นรายมาตรา เพราะก็ตรงกับคำวิจารณ์ของสื่อไทยและต่างประเทศอยู่แล้ว นั่นคือ ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนมาเป็นภาษาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็คือ ไม่มีผลเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอิทธิพลให้กลายเป็นอำนาจ
ยิ่งมาพิจารณาควบคู่กันไปกับมาตรการเด็ดขาดทั้งหลายที่คณะรัฐประหารกระทำหลังยึดอำนาจได้ ก็ยิ่งทำให้ภาพของอิทธิพลเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวบุคคลเข้าไปปรับทัศนคติ การคุกคามสื่อ การตั้ง สนช. และคงพอเดาได้ว่าสภาปฏิรูปจะมีหน้าตาอย่างไร ฯลฯ แม้ว่า คสช.พยายามใช้อิทธิพลเพื่อปราบอิทธิพล เช่น ยาเสพติด ค้าไม้เถื่อน ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ คิวรถ ฯลฯ ก็ไม่ช่วยให้อิทธิพลของการรัฐประหารกลายเป็นอำนาจที่คนวางใจได้
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยบัญญัติไว้นานแล้วว่า อำนาจใดๆ ก็ตาม (ทั้งอิทธิพลและอำนาจ) ย่อมไม่เป็นที่น่าไว้วางใจทั้งสิ้น จนกว่าจะมีเกิดการถ่วงดุลกันอย่างมีประสิทธิผล
น่าประหลาดที่อำนาจอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในการถ่วงดุลอิทธิพลเวลานี้ในทัศนะของคนไทยจำนวนไม่น้อย คือ มหาอำนาจต่างประเทศ นั่นคือเหตุผลที่ต้องเขียนป้ายประท้วงเป็นภาษาอังกฤษไงครับ
เนติบริกรและนักวิชาการบริกรทั้งหลายชอบพูดว่า ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย ผมอยากจะชี้ว่า เผด็จการก็ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทยเหมือนกัน เพราะเปิดให้อำนาจ (ทั้งอำนาจและอิทธิพล) ทำอันตรายผู้คนได้ โดยไม่มีทางจะป้องกันตัวได้