วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 04, 2558

สุรชาติ บำรุงสุข: Theater of the Absurd! 23 ปีพฤษภาทมิฬ-1 ปี คสช.



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ยุทธบทความ

มติชนสุดสัปดาห์ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2558

"ต้นไม้แห่งเสรีภาพควรได้รับการรดน้ำให้ชุ่มฉ่ำด้วยเลือดของผู้รักชาติและเลือดของทรราชเป็นระยะๆ"

โทมัส เจฟเฟอร์สัน
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา


เห็นจากรายงานข่าวแล้ว ไม่ค่อยแน่ใจว่าความทรงจำของคณะผู้จัดงาน "รำลึก" 23 ปีของการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ยังคงเป็นปกติอยู่หรือไม่

การจัดงานในปีนี้ มีการเชิญตัวแทนรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ... ตัวแทนรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหาร มาร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ดูจะตรงกันข้ามกับที่มาทางการเมืองของพวกเขา

และขณะเดียวกัน ดูจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของวีรชนพฤษภาคม 2535 อย่างสิ้นเชิง ที่เชิญประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป็นองค์ปาฐกในงานนี้ เพื่อบอกแก่ "ผู้เสียชีวิต" และ "ผู้รอดชีวิต" จากการต่อสู้ในวันดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการเรียกร้องของพวกเขาในปี 2535

ถ้าคิดว่าการรำลึกในปีนี้เป็น "ตลกการเมือง" ก็คงต้องถือว่าเป็น "ตลกร้ายการเมือง" อย่างยิ่ง

หรือถ้าใช้เป็นภาษาการละครก็คงต้องเรียกงานครั้งนี้ว่าเป็น "The Theater of the Absurd" ซึ่งแปลว่า "รูปแบบของละครแหวกแนวและพยายามสะท้อนความไร้สาระของโลกปัจจุบัน" (ที่มา : พจนานุกรมออกซฟอร์ด-ริเวอร์ บุ๊คส์ อังกฤษ-ไทย, 2004)

คิดอย่างนี้แล้วก็อาจทำให้เราสบายใจขึ้น เพราะว่าที่จริงแล้ว ผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ในเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และตุลาคม 2519 ได้ "แปรพักตร์" เข้าร่วมกับการรัฐประหารมาแล้วฉันใด

ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จะ "แปรพักตร์" เข้าร่วมกับการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกฉันนั้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ความน่าประหลาดใจจากที่กล่าวถึงในข้างต้นเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจว่า การฉลองชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 2535 เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่สำคัญของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย

นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบางส่วนในปี 2535 ได้ตัดสินใจหันหลังให้แก่หลักการประชาธิปไตย และขณะเดียวกันก็หันไปนิยมชมชื่นกับการรัฐประหาร จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า งานรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 2535 จัดโดย "กลุ่มรัฐประหารนิยม" และเชิญตัวแทนของผู้มีอำนาจใน "ระบอบทหาร" มาเป็น "เกียรติยศ" แก่ความตายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในวันนั้น...

การจัดงานเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรมากกว่า "การตบหน้า" ขบวนประชาธิปไตยไทยที่เดินทางบนเส้นทางคดเคี้ยวจากปี 2516...2519 จนผ่านปี 2535 และเริ่มถูกชะลอความเร็วลงในปี 2549 จนต้องเหยียบเบรกในปี 2557

แน่นอนว่า "สงครามประชาธิปไตย" ยังไม่สิ้นสุดลง การต่อสู้จะยังคงดำเนินต่อไป แม้เงื่อนไขและบริบทที่เกิดขึ้นจะมีข้อจำกัดมากมายก็ตาม

ถ้าจะลองพิจารณาปัญหาสำคัญในระยะเวลา 23 ปีหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จะเห็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความแตกแยกเกิดขึ้นจากความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในขบวนประชาธิปไตยไทย ว่าที่จริงแล้วจากหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนถึงการต่อสู้เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ขบวนการนี้ยังคงเดินหน้าด้วยความมีเอกภาพอยู่พอสมควร อย่างน้อยจะเห็นได้ว่า การต่อสู้ระหว่างกลุ่มสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ "ธงสีเขียวอ่อน" เป็นสัญลักษณ์ กับกลุ่มต่อต้านรัฐธรรมนูญที่มีนักการเมืองเป็นแกนนำ โดยใช้ "ธงสีเหลือง" เป็นสัญลักษณ์

การต่อสู้ครั้งนี้ไม่เพียงจะสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่าง "เมือง vs. ชนบท" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการต่อสู้ระหว่าง "ชนชั้นกลางในเมือง vs. ชนชั้นล่างในชนบท" ในปัญหาทัศนะและการสนับสนุนทางการเมือง

ดังจะเห็นได้จากการชูประเด็นของกลุ่มต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า "ชนชั้นกลางไม่มีสิทธิมาไล่รัฐบาลที่เลือกมาจากคนยากจนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ"

แต่ดังที่เรารับรู้ว่าการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางในเมืองมีพลังทางการเมืองมากกว่าการเรียกร้องของคนในชนบท

ดังนั้น ผลจากการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยเฉพาะจากบรรดาชนชั้นกลาง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2540

และประกาศใช้เป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540" เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540

ซึ่งผลงานของการต่อสู้เช่นนี้เองทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่เพียงแต่กำหนดอย่างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. และปิดโอกาสของการมี "นายกฯ คนกลาง" อันเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความขัดแย้งในปี 2535 และวุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้ง

อีกทั้งรัฐธรรมนูญนี้ยังกำหนดกรอบเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล หลักการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดรวมถึงหลักการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ซึ่งผลจากหลักการที่ถูกสร้างขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการนำเสนอหลักประชาธิปไตยอันเป็นแนวคิดชุดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของไทย

และขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังอย่างมากว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการขับเคลื่อนกระแสประชาธิปไตยไทย

ดังนั้น ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในปี 2535 จึงไม่เพียงจะสะท้อนถึงการถดถอยของบทบาททหารจากการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะเห็นได้จากการขยายบทบาทของภาคประชาสังคม

ขณะเดียวกัน กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยก็ดูจะมีความหวังอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะสี่พลังขับเคลื่อนหลักอันได้แก่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อมวลชน และกลุ่มเอ็นจีโอ ยืนเป็นดัง "ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก" ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนสามารถตั้งเป็นข้อสังเกตทางทฤษฎีได้ว่า ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยในปี 2535 กำลังก้าวสู่ระยะของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2540

แน่นอนว่าสภาพเช่นนี้ทำให้เกิด "ความฝัน" อีกว่ารัฐประหาร 2534 จะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายของทหารในการเมืองไทย

การพ่ายแพ้ใของกองทัพต่อกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2535 จากการต่อสู้บนถนนราชดำเนิน เป็นการ "บังคับ" ให้ผู้นำทหารต้องยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองว่า ราคาของการแทรกแซงทางการเมืองนั้นสูงเกินไป

และถ้าผิดพลาดแล้ว ราคาแรกที่พวกเขาจะต้องจ่ายโดยตรงก็คือการถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งหลักและหมดอำนาจทางการเมืองลง

ซึ่งก็โชคดีว่าในระบบการเมืองไทยไม่มีการจับกุมคุมขังและถูกตัดสินคดีในศาลเช่นในบางประเทศ

ราคาอีกส่วนที่พวกเขาต้องจ่ายก็คือ การถูกต่อต้านจากสังคม และในกรณีนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาจ่ายค่าทางสังคมไม่รุนแรงเท่าใดนัก

แต่ก็น่าสนใจว่า ผู้นำทหารเหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในบางระดับ และยังมีอำนาจอยู่ในกองทัพอีกด้วย

สภาพเช่นนี้ทำให้บทบาทของกองทัพในการเมืองไทยหลังจากปี 2535 ถูกลดลง และไม่มีสถานะเป็น "ตัวแสดงหลัก" ในเวทีการเมืองเช่นในอดีต

แม้บทบาทของทหารจะเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมิได้หมายถึงอำนาจของทหารหมดไปจากการเมืองไทย ประกอบกับรัฐและสังคมเองก็มิได้มี "พิมพ์เขียว" ที่ชัดเจนในการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร (หรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ) เพื่อให้ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมีความมั่นคง และเมื่อเกิดปัญหาก็จะต้องไม่ถูกทำลายด้วยเงื่อนไขของความขัดแย้งพลเรือน-ทหาร

อีกทั้งก็ชัดเจนอย่างมากว่าหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 แล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้สนใจผลักดันให้เกิดกระบวนการ "ปฏิรูปทหาร" และขบวนประชาธิปไตยเองก็ดูจะไม่สนใจในประเด็นนี้เท่าใดนัก

กองทัพที่หมดบทบาททางการเมืองหลังจากระยะเปลี่ยนผ่านในปี 2535 จึงมิได้หมายความว่ากองทัพจะหมดอำนาจและอิทธิพลในเวทีการเมืองไทยแต่อย่างใด และก็น่าสนใจว่าการปฏิรูปกองทัพไทยไม่ได้เกิดขึ้น แม้ว่าจะเกิดความพ่ายแพ้ทางการเมืองก็ตาม แตกต่างจากในหลายๆ ประเทศที่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพ

สภาพความเป็นปกติทางการเมืองเช่นนี้ดำรงอยู่หลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพในปี 2535 ผ่านสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2540 จนอาจกล่าวได้ว่าการถดถอยของทหารออกจากการเมืองเป็น "การพ่ายแพ้ทางยุทธวิธี" มากกว่าจะเป็น "การพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์"

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกองทัพไทยยังไม่เคยต้องถอยออกจากเวทีการเมืองอย่างแท้จริงแต่อย่างใด...

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นดังปรากฏการณ์ในวิชาสงครามว่าเป็น "การถอยทางยุทธวิธี" และรอเวลาของความพร้อมที่จะตอบโต้กลับในแบบของ "การรุกทางยุทธศาสตร์" เพื่อหวนกลับสู่สถานะของการเป็น "ตัวแสดงหลัก" ทางการเมืองอีกครั้ง (เมื่อเวลาและโอกาสเอื้อให้!)

อย่างไรก็ตาม ความฝันว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยก็เริ่มค่อยๆ หมดลงเมื่อฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเริ่มก่อตัวขึ้น...

รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่อำนาจในการบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แต่ผลของการเกิด "ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง" ตามที่นักร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการมีรัฐบาลที่อ่อนแอในแบบ "รัฐบาลผสม" ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างจริงจัง และขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มักจะมีอายุสั้น และดำรงอยู่ได้ด้วยการต่อรองทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (อดคิดไม่ได้ว่านักร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันต้องการให้รัฐบาลผสมกลับมาเกิดใหม่ เพียงเพราะความกลัวการมี "รัฐบาลที่เข้มแข็ง" หรือต้องการให้การเมืองไทยกลับสู่ความอ่อนแอแบบเก่า เพื่อให้ชนชั้นนำและผู้นำทหารสามารถควบคุมได้ง่าย!)

ผลจากความเข้มแข็งของรัฐบาลทักษิณกลายเป็นปัญหาในตัวเอง ชนชั้นนำและผู้นำทหารสายอนุรักษนิยมกลัวอย่างมากว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะไม่หวนกลับและอำนาจในการควบคุมระบบการเมืองจะหมดสภาพลง จนพวกเขาไม่อาจดำรงสถานะของการเป็น "ตัวแสดง" ที่มีพลังได้อีกต่อไป

ดังนั้น ความขัดแย้งที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจากปี 2547 และ 2548 จึงจบลงด้วยรัฐประหารในปี 2549

และในสภาพเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนอีกด้วยว่า สี่พลังประชาธิปไตยในปี 2535 ได้เปลี่ยนจุดยืนแล้ว พวกเขากลับกลัวรัฐบาลไทยรักไทยมากกว่ากลัวการรัฐประหาร

และขณะเดียวกัน บางส่วนของกลุ่มพลังนี้ได้ผันตัวเป็น "นักรัฐประหารนิยม" ที่เชื่อว่าการยึดอำนาจเป็นเครื่องมือในการจัดการกับระบอบการเมืองที่ไม่พึงปรารถนา

จนผู้คนบางส่วนเชื่ออีกด้วยว่ารัฐประหารคือเครื่องมือในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

และเป็นเครื่องมือในการจัดการกับนักการเมืองที่พวกเขาไม่ชอบ!

โลกที่เปลี่ยนแปลงสำหรับกองทัพในการเมืองไทยก็คือ รัฐประหารไม่สามารถดำรงอำนาจการควบคุมการเมืองได้เช่นในอดีต แม้ในช่วงปลายปี 2556 จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อและดำรงอยู่จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับฝ่ายต่อต้านบนถนน

ความรุนแรงทางการเมืองบนท้องถนนกลายเป็นรายงานข่าวปกติในแต่ละวัน

จนในที่สุดรัฐประหารก็หวนกลับมาอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

ในปรากฏการณ์เช่นนี้ชนชั้นสูงเป็นส่วนสำคัญที่ให้การสนับสนุนแก่ผู้นำทหารสายอนุรักษนิยม

แต่ขณะเดียวกัน "นักรัฐประหารนิยม" กลับเป็นพลังเดิมที่เคยต่อสู้กับทหารมาแล้วในปี 2535 ไม่แตกต่างจากการสนับสนุนในปี 2549

บางส่วนของสี่พลังประชาธิปไตยกลับแสดงบทบาทเป็น "ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก" ให้แก่การรัฐประหาร (แตกต่างจากปี 2535 อย่างสิ้นเชิง!) จนกลายเป็น "ตลกร้าย" ในการเมืองไทย

แต่หลังจากรัฐประหาร 2557 ผ่านไปครบปี ปัญหาที่ผู้นำทหารต้องเผชิญไม่ต่างไปจากปี 2549 แม้อำนาจในการควบคุมการเมืองจะมีอยู่ภายใต้ "อำนาจปืน" แต่ก็ใช่ว่าปืนจะควบคุมทุกอย่างได้

การต่อต้านในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นอย่างพลิกแพลง พร้อมๆ กับแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายในที่ต้องการให้การเมืองไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตลอดเวลาและมากกว่าในปี 2549 อย่างเห็นได้ชัด

แต่การกลับสู่ประชาธิปไตยในครั้งนี้ดูจะซับซ้อนกว่าในปี 2550 มาก

จนไม่มีใครกล้าคาดเดาว่าระยะเปลี่ยนผ่านในอนาคตจะเกิดขึ้นแบบใดและเมื่อไร

แต่ก็หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ "Theater of the Absurd" ในการเมืองไทย!