วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 11, 2567

ปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจาก CPF จริงหรือไม่ ?


จุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณคาง เอกลักษณ์ของปลาหมอสีคางดำ สัตว์ต่างถิ่นที่กำลังรุกรานในลุ่มน้ำไทย

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว

ล่าสุดพบว่าปลาหมอสีคางดำแพร่กระจายไปใน 13 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งแถบอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงอาชีพประมง

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่กรมประมงพยายามควบคุมและกำจัดปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นที่กำลังรุกรานอยู่ในขณะนี้

ล่าสุด เกิดความเคลื่อนไหวให้มีการตรวจเทียบสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ว่าปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดกว้างขวาง อาจมีแหล่งที่มาจากปลาที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF นำเข้าเมื่อ 14 ปีก่อนหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทางบริษัทฯ ระบุว่าฝังกลบซากปลาที่ตายหมดแล้ว

ด้านกรมประมงปฏิเสธว่าไม่มีตัวอย่างปลาชนิดนี้ดองเก็บไว้ แม้มีการชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก่อนหน้านี้ว่า ทางกรมประมงได้รับมอบปลาตัวอย่างที่ถูกดองเก็บไว้ทั้งหมด 50 ตัวอย่าง เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ตาม

แพร่กระจายใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ

ข้อมูลจากกรมประมงล่าสุด ระบุว่า ปลาหมอสีคางดำ (Sorotheodon Melanotheron) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน กำลังแพร่กระจายใน 13 จังหวัดชายฝั่งแถบอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากพวกมันกินลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอยเป็นอาหาร ซึ่งเป็นผลผลิตทางประมงที่สำคัญ รวมทั้งหลุดรอดเข้าไปยังบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร นอกจากนี้ มันยังสามารถอยู่ได้ในสภาพทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย รวมทั้งแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะออกลูกได้คราวละ 500 กว่าตัว

เอกลักษณ์ของปลาชนิดนี้ คือจุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณคาง หลังกระพุ้งแก้ม และด้านหลังของฐานคีบหลัง ดูจากภายนอกมีลักษณะเหมือนลูกผสมระหว่างปลาหมอเทศและปลานิล โดยปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

สำหรับในประเทศไทย พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำครั้งแรกใน จ.สมุทรสงคราม ราวปี 2555 จากนั้นพบการระบาดมากขึ้นในปี 2559

จากการสำรวจพื้นที่การแพร่กระจายในปี 2560 ทางกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง พบว่าใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี มีปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันในปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการณ์มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญสูงที่จะต้องมีการควบคุมและกำจัด

ในรายงานเรื่อง “การแพร่กระจายและขอบเขตการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ใกล้เคียง” ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยของกรมประมง และเผยแพร่เมื่อปี 2566 ระบุว่า ทางทีมนักวิจัยออกเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ใน 2 ช่วง คือ เดือน พ.ย. ปี 2562 และ เดือน มี.ค. 2564 บริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนบน และพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง รวมถึงศึกษาความชุกชุมของการแพร่ระบาดใน 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำประแสร์, ลำน้ำเพชรบุรีและสมุทรสงคราม, และลำน้ำสวี

ผลการศึกษาพบว่า การระบาดของปลาชนิดนี้มีความน่ากังวล เพราะอยู่ในระดับการแพร่กระจายที่อยู่ในระดับรุกราน

ปัจจุบัน พบการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำขยายไปในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างอย่าง จ.สงขลา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเป็นอย่างมาก จนวาระนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วนของจังหวัด



ต้นตอการแพร่กระจายมาจาก CPF จริงหรือไม่ ?

วันนี้ (10 ก.ค.) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางอนุ กมธ.ฯ จะเชิญ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้ามาชี้แจงกรณีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

นายณัฐชา บอกว่า หลักฐานการนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งพบว่าคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (Institute Biosafety Committee: IBC) อนุญาตให้ CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำจำนวน 2,000 ตัว เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล และมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยทางบริษัทเริ่มยื่นขออนุญาตนำเข้าตั้งแต่ปี 2549

“พอปี 2555 พบประชาชนรายงานว่ามีการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติใน ต.ยี่สาร ที่เดียวกับแล็บที่เอกชนตั้งอยู่” สส.พรรคก้าวไกล บอกกับบีบีซีไทย “จึงเกิดข้อสงสัยว่าหากปลาตายหมดแล้ว แล้วพบปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างไร”

ในปี 2560 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำใน จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี ส่งผลให้ทาง กสม. ตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ในเวลาต่อมา

ในรายงานฉบับเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า ผู้ขออนุญาตนำเข้าใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลาเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงสามารถนำเข้าปลาหมอสีคางดำได้ในปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว โดยปลามีขนาดเล็กมาก และเนื่องจากการเดินทางใช้เวลาขนส่งนานถึง 32 ชั่วโมง จึงทำให้ปลาบางส่วนตาย เหลือเพียง 600 ตัวที่อาการไม่ดี จากนั้นจึงนำปลาที่เหลือไปปล่อยในระบบปิดที่เตรียมไว้ ต่อมาปรากฏว่าในสัปดาห์ที่ 1 เหลือปลารอดชีวิตเพียง 200 ตัว และทยอยตายภายใน 3 สัปดาห์

เมื่อผู้วิจัยเห็นว่าปลาเริ่มทยอยตายจึงส่งตัวอย่างปลาไปให้กรมประมงด้วยวิธีการดองจำนวน 50 ตัว จากนั้นจึงตัดสินใจทำลายปลาที่เหลือโดยใช้สารคลอรีนเข้มข้น และฝังกลบซากปลา ตามด้วยการโรยปูนขาวทับ เพราะพิจารณาว่าการปรับปรุงสายพันธุ์ไม่น่าประสบความสำเร็จ และแจ้งกรมประมงให้ทราบด้วยวาจา แต่ไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ

“อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า [คาดดำทับ] ไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีแต่อย่างใด” ส่วนหนึ่งของการชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้แทนและนักวิจัยต่อ กสม. ระบุ แต่ทางบีบีซีไทยไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นบุคคลจากหน่วยงานใด เนื่องจากชื่อองค์กรต้นสังกัดของผู้ชี้แจงถูกคาดสีดำทับไว้

ในการชี้แจงต่อ กสม. ทางกรมประมงบอกว่า สาเหตุการระบาดของปลาหมอสีคางดำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า หรือการลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย และการระบาดของปลาดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแหล่งที่มาหรือสาเหตุการระบาดคืออะไร


ส่วนหนึ่งของรายงาน กสม. ปี 2561

อย่างไรก็ตาม มติของ IBC เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำได้นั้น มีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่า ทางผู้นำเข้าต้องเก็บครีบและตัวอย่างนำส่งให้กรมประมง และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องแจ้งผลการวิจัยให้กรมประมงทราบด้วย รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้ หากการวิจัยไม่สำเร็จก็ต้องรายงานและเก็บซากปลาส่งให้กรมประมง

ทาง กสม. มีความเห็นว่า การที่ทางผู้วิจัยไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอสีคางดำให้กับกรมประมงเป็นลายลักษณ์อักษร ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น แต่ไม่ได้ระบุว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีนี้ มีเพียงคำแนะนำกรมประมงให้ตั้งคณะทำงานควบคุมการระบาด และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของปลาสายพันธุ์นี้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่า รายงานของ กสม. มุ่งเป้าไปที่การให้คำแนะนำกับกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่กลับไม่แตะต้องบทบาทของเอกชน

“หากเราดูกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลัง จะเห็นว่ามีการกล่าวถึงบทบาทของเอกชนด้วย กสม.ของไทยอาจจะต้องเข้าไปแตะต้องบทบาทเอกชนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพของประชาชน” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว


ผลการศึกษาของกรมประมงชี้ว่า การระบาดของปลาชนิดนี้มีความน่ากังวล

ผลักดันการตรวจเทียบดีเอ็นเอ พิสูจน์หาต้นตอการแพร่ระบาด

ในปี 2565 กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้ศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมประชากร โดยรวบรวมตัวอย่างปลาจาก 6 จังหวัด ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ลงไปถึง จ.สุราษฏร์ธานี และนำมาวิเคราะห์เครื่องหมายพันธุกรรมไมโทคอนเดรียล (Mitochondrial DNA) ที่ตำแหน่ง D-Loop

ผลการศึกษาพบว่าปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยนั้นมีแหล่งที่มาร่วมกัน แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามาจากแหล่งใด เนื่องจากความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมที่ประเมินโดยใช้ Mitochondrial DNA ที่ตำแหน่ง D-Loop ไม่ได้แสดงรูปแบบของประชากรที่ชัดเจน

ทีมวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่า มีความจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสามารถนำมาอ้างอิงทุกครั้งเมื่อเกิดการระบาด ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์และพิสูจน์แหล่งประชากรต้นกำเนิดเป็นไปได้ง่ายและถูกต้องมากขึ้น



ปัจจุบัน สถานที่ฝังกลบซากปลาหมอสีคางดำของ CPF ที่ ต.ยี่สาร ถูกสร้างอาคารทับพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว แต่นายณัฐชา บอกว่า ทางอนุ กมธ.ฯ เชื่อว่าสามารถพิสูจน์เทียบดีเอ็นเอปลาที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศได้ โดยฝากความหวังไว้กับตัวอย่างปลาที่ถูกดองเก็บรักษาไว้ที่กรมประมง ซึ่งทางผู้วิจัยของ CPF อ้างว่าได้ส่งตัวอย่างปลาจำนวน 50 ตัวที่ถูกดองไว้ให้กับกรมประมงแล้ว

แต่นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง บอกกับบีบีซีไทยวันนี้ (10 ก.ค.) ว่า เบื้องต้นไม่พบว่าทางกรมประมงมีตัวอย่างปลาหมอสีคางดำที่ถูกนำเข้ามาในปี 2553 แต่อย่างใด

“มันก็ระยะเวลากว่า 14 ปีแล้ว จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เบื้องต้นไม่พบว่ามีการเก็บรักษาดองปลาไว้ในที่ใด ๆ แล้วตอนปี 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมหนัก ที่กรมประมงนี่น้ำท่วมหนักเลย ก็เลยยังไม่มีข้อมูลมาตอบยืนยันชัดเจนว่ายังมีปลาอยู่ แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รายงานว่าไม่มีปลาตัวนี้เก็บไว้” อธิบดีกรมประมงกล่าว แต่ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หากมีวิธีการตรวจสอบใด ๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อให้เกิดข้อกระจ่างขึ้น

“ขอเรียนข้อสังเกตว่าปลาตัวนี้มันมาได้หลายทางด้วยกัน อาจเกิดจากการลักลอบ เพราะเราเคยจับการลักลอบนำปลาปิรันยาเข้ามาในไทยมาแล้ว หรืออาจหลุดรอดจากบริษัทที่เคยนำเข้ามา แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงข้อสงสัย” อธิบดีกรมประมง กล่าว

“เราเชิญ สวทช. นักวิชาการ และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดีเอ็นเอของสัตว์น้ำมา” นายณัฐชา รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำ บอกกับบีบีซีไทย “หากมีการทำลายทิ้งและฝังกลบปลาสายพันธุ์นี้ 2,000 ตัวในจุดเดียวเมื่อกว่า 14 ปีที่แล้ว ก็ยังสามารถขุดประเมินสภาพดิน และหาดีเอ็นเอจากสภาพดินในบริเวณนั้นได้ หากมีการชี้พิกัดที่แม่นยำพอ”

ด้วยเหตุนี้ ทางอนุ กมธ.ฯ จึงต้องการเชิญทาง CPF เข้ามาพูดคุยเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้

“หากเราไม่หาสาเหตุต้นตอของปัญหา มันก็แก้ปัญหาผิดทิศผิดทางไปเรื่อย ๆ วันนี้กรมประมงจะอนุมัติเงินเพื่อรับซื้อปลาหมอสีคางดำเท่าไรก็คงไม่พอ เพราะมันระบาดทั่วประเทศไปแล้ว ถ้าหากเราพิสูจน์ได้ว่าต้นตอการระบาดมาจากเอกชนจริง ก็จะได้ให้ทางเอกชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย” สส.พรรคก้าวไกล กล่าว


กรมประมงใช้งบประมาณในการรับซื้อปลาหมอสีคางดำและกำจัดควบคุมปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดนี้ไปแล้วอย่างน้อย 11 ล้านบาท

ด้าน ผอ.มูลนิธิชีววิถี ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่เคยปรากฏว่าเอกชนรายใดในประเทศไทยที่ต้องรับผิดชอบหรือรับโทษทางกฎหมายหากก่อให้เกิดอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกรณีนี้เขาไม่ได้หมายถึงบริษัทเอกชนผู้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ แต่หมายถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในภาพรวมช่วงที่ผ่านมา

“เหตุผลที่เรายังไม่สามารถทำให้บริษัทเหล่านี้ออกมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมได้ เป็นเพราะว่าเราปล่อยให้ทุนผูกขาดมีอำนาจ ทำให้ปฏิบัติการของผู้บริโภคที่ต้องการบอยคอต (boycott) เกิดขึ้นยากตามไปด้วย เพราะทางเลือกการซื้อสินค้าของประชาชนมีน้อย ถ้าหากต้องบอยคอต มันก็ทำได้ยาก เพราะเราปล่อยให้เกิดการขยายของทุนผูกขาดมากถึงขนาดนี้”

นอกจากนี้ เขายังให้ความเห็นว่าความอ่อนแอดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังจากนโยบายของรัฐบาลที่มาจากฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ของไทยก็มีส่วนอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่พบว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ ทำให้การทำหน้าที่กำกับดูแลย่อหย่อนตามไปด้วย จากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

https://bbc.in/3VVfI1r