วันอาทิตย์, กรกฎาคม 28, 2567

พิธีเปิดโอลิมปิกที่เล่าเรื่องราวและแสดงตัวตนของชาติที่มี ”เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ“ โดดเด่นมาก


Vipatsaya Ome U-poon
Yesterday
·
พิธีเปิดโอลิมปิกที่เล่าเรื่องราวและแสดงตัวตนของชาติที่มี ”เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ“ (ช่วงท้ายมีแนวคิดวิเคราะห์ส่วนตัวอธิบายไว้เบา ๆ นะฮะ)
1) อันดับแรก การใช้แม่น้ำแซนแทนทางเดินเข้าหรือสนามกีฬา มันคือการเปิดโอกาสให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการใช้สเปซ อาคาร ที่ไม่จำกัดแค่เวที ไม่ได้เอากรอบของกำแพงสนามกีฬามาครอบ (เด๋วจะพยายามวิเคราะห์หลักคิดดู) ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ คือการใช้เมืองทั้งเมืองที่ก็อุดมไปด้วยสเปซที่สวยงามมาเป็นพื้นที่การแสดงแบบ site specific อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเทคนิคการออกแบบสาย Theatre ที่ออกแบบการแสดงโดยใช้สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างเดิมของอาคารมาใช้เป็นฉาก มาช่วยการเล่าเรื่อง ใช้ประโยชน์ และสร้างความตระการตา (spectacle) ดังนั้น เราจะเห็นการออกแบบการใช้พื้นที่ตั้งแต่ทางเลียบริมน้ำ บนอาคาร หน้าต่างอาคาร ดาดฟ้าอาคาร สะพาน มุมถนน อาคารทั้งอาคาร มาใช้เป็นฉากการแสดงแต่ละโชว์ ดิฉันประทับใจมากกับภาพรวมของการแสดงเพลงโกธิค เมทัล (edit จากเพลงร็อค) ช่วงองก์ Liberty ที่ถ่ายทอดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส นักดนตรีไปยืนโยกศีรษะอยู่ที่ชะแง่นอาคารโบราณ edit*มีผู้รู้แชร์ว่า อาคารชื่อ Conciergerie ซึ่งคืออาคารที่ใช้ขังพระนางมารีอังตัวเนตก่อนถูกลากมาตัดคอ* อันเป็นซีนภาพจำของการปฏิวัติฝรั่งเศส รายล้อมด้วยหน้าต่างที่มองไกล ๆ เหมือนสาดด้วยแสงสีแดงที่ความจริงก็คือเป็นพระนางมายืนถือศรีษะตนเองแล้วยืนร้องเพลงด้วยอยู่ แบบถูกเลือกมาแล้วว่าต้องไปยืนบานไหนถึงสวย ภาพการเต้น contemporary หน้าศาลาว่าการกรุงปารีส ซึ่งถ้าสังเกตดีดีจะเป็นกระจกสะท้อน เพื่อให้ได้มิติมากขึ้น เวลาเต้นแล้วเตะน้ำ
โชว์ก็มีมากกว่าหนึ่งกระจายไปตามแลนด์มาร์คที่มีความหมายและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อคนฝรั่งเศส มันคือการใช้สอยสิ่งที่มีและขายสิ่งที่มีแบบโคตรแนบเนียนและฉลาด ใช้และขายทุกแลนด์มาร์คที่มีในกรุงปารีส คือการใช้เมืองทั้งเมืองจัดพิธีเปิด
2) พิธีเปิดนี้ ใช้การเล่าเรื่องที่มีการแบ่งเป็นองก์ (จดชื่อองก์ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง) ซึ่งแต่ละองก์คือการพรีเซนต์ความเป็นฝรั่งเศส ถ่ายทอดโดยพาเราแพนไปตามจุดมุมโชว์ต่าง ๆ ที่พยายามสื่อสารตามคอนเซปนั้น ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่ามันคือ art street แบบแกรนด์ ๆ well thought out ถูกออกแบบกับทั้งสภาพพื้นที่และวิวทิวทัศน์โดยรอบเมื่อถ่ายทอดผ่านจอมาแล้ว
มันคือการโชว์ไลฟ์สไตล์ คือการตะโกนแบบไม่แสบหูว่า นี่คือ soft power ของฉัน ฉันมีศิลปวิทยากรอยู่ทุกมุมเมือง ทุกสิ่งมันอยู่ในเมืองของฉัน อะไรมันจะเชิ่ดได้ขนาดนี้นะ
3) ไหน ๆ พูดเรื่องการถ่ายทอด การคิดมาดี การออกแบบมาดีจัด ไม่ได้คิดแค่ on site performance แต่คิดยันภาพที่ได้เวลาถ่ายทอดสด ว่าภาพที่ได้ต้องติดอะไรเป็นฉากหลัง ทีมถ่ายทอดสดโปรมาก สุดจัด และต้องทำงานเป็นทีมกันอย่างสูง ใช้กี่คนสำหรับการถ่ายทอดครั้งนี้ และเขาทำงานเป็น unity เดียวกับทีม on site ถึงสามารถถ่ายทอดความงามองค์รวมที่ออกแบบมาดีให้ถ่อยทอดผ่านจอได้ ชอบตอนฉากถ่ายหน้าพระนางมารีอังตัวเนตที่ถูกตัดคอแล้ว ถือหัวตัวเองอยู่ แล้วซูมเอ้าท์ออกมาให้เห็นทั้งอาคาร คือ คิดมาแล้วว่าจะต้องให้คนรู้ว่านี่คือพระนางมารีอังตัวเนต และให้รู้ว่าเป็นองค์ประกอบไหนของฉากในภาพรวมบ้าง
เราเห็นว่า composition กล้องคือภาพสวย เก็บฉากได้หมด เพราะการทำโชว์ลักษณะนี้ คนเดินดูดูในสถานที่จริงได้ไม่ครบอยู่แล้ว เขาจึงน่าจะให้ความสำคัญกับการออกแบบช้อตเพราะหนึ่งคือเพื่อให้ทุกคนในงานเข้าถึงโชว์มากสุด แต่ที่สำคัญกว่า เขามุ่งเน้นสื่อสารถึงคนทั่วโลกที่กำลังดูถ่ายทอดสด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่ากว่าคนที่ได้ตั๋วไปร่วมพิธีแบบสด ๆ ในกรุงปารีส
4) ตลอดการเล่าเรื่องเราจะได้เห็นการร้อยเรียงอย่างไม่ยัดเยียด มีการปรากฏของศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ของฝรั่งเศส ทั้งการละคร, แดนซ์, วรรณกรรม (เช่นเจ้าชายน้อย, Les Misérables ของ Victor Hugo เป็นฝรั่งเศส) ดนตรี และ ภาพยนตร์
ซึ่งเราต้องกล่าวแยกสำหรับ ดนตรีและภาพยนตร์เล็กน้อย เพราะสำหรับสองสาขานี้ ฝรั่งเศสมีคุณูปการอย่างสูง ดนตรีคือด้วยการเติบโตของแนวคิดรื้อถอนสัจนิยมทางจิตรกรรมจนเกิด Monet ขึ้นในฝรั่งเศส ทางดนตรีก็เกิดการรื้อถอนโครงสร้างดนตรีแบบเดิม จนเกิดการ paradigm shift เข้าสู่ยุค Impressionism ขึ้น ในพิธีเปิดเราจะได้ยินทั้งเพลงร่วมสมัย และเพลงคลาสสิคซึ่งก็บรรเลงเพลงยุค Impressionism อย่าง Prélude à l'après-midi d'un faune ของ Debussy และเพลงเปียโน Jeux d’eau ของ Ravel ซึ่งทั้งสองเป็นนักประพันธ์ดังของฝรั่งเศส และถ้าพูดถึง impressionist music ชื่อ 2 คนนี้จะขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ ไล่ไปถึงเพลงยุค minimalism ที่เจริญเติบโตสืบต่อหลังยุค minimalism ที่ฝรั่งเศส (ที่เป็นฐานของ Pop Art) เช่น เพลงเปียโน Gymnopédie no.1 ของ Erik Satie
และสำหรับภาพยนตร์ นอกจากพี่น้องลูมิแอร์ที่บุกเบิกภาพยนตร์ด้วยหนังที่ถ่ายภาพรถไฟ ประเทศฝรั่งเศสยังให้กำเนิดสำนัก French New Wave ขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มนักทำหนังใช้สมองมากกว่าเงิน (เราชื่นชอบมาก) คือกลุ่มนักทำหนังที่มีเรื่องราวอย่างถ่ายทอด และต้องหาทางทำหนังออกมาให้ได้ภายใต้เงินน้อย ๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นรากฐานหนึ่งที่ทำให้คนฝรั่งเศสเน้นใช้สมองเยอะ ๆ ในการสร้างงานด้วยรึเปล่าไม่แน่ใจ คนหนึ่งที่เราชอบ คือ Jean-Luc Godard ซึ่งพอเห็นช้อตภาพฟิล์มขาวดำแล้ว มันอดนึกถึงไม่ได้, มี A Trip to the Moon ที่กำกับโดย Georges Méliès ที่เป็นเรื่องแรกที่ทำสเปเชียลเอฟเฟคจรวดพุ่งใส่ตาดวงจันทร์ จนเกิดการพัฒนาสเปเชียลเอฟเฟคมากมายสืบต่อมา ไล่พัฒนาถึงอนิเมชั่น ตัวมินเนี่ยนที่สะท้อนความชุลมุนวุ่นวาย (คึกคัก) แบบปารีเชียง .. (เพราะถ้าตามข่าวจะพบว่าในปารีสมีคนลุกมาทำอะไรต่าง ๆ ในเมืองเยอะ ตั้งแต่งานศิลปะยันการชุมนุม)
นอกจากนี้เรายังได้เห็นตัวละคร สถานที่ ผู้คน ที่มีความสำคัญปรากฏอีกมากมาย ทั้ง Assasin‘s creed, Phantom of the Opera, Notre Dame, Marie Antoinette, ซีดาน ยันสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ที่ทุกคนต้องมาดูเธอคือ Monalisa
5) เราได้เห็นมุมมองมิติทางสังคมและการเมือง ผ่านความภาคภูมิใจในการปฏิวัติฝรั่งเศส การภาคภูมิใจกับ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” และการมีรูปปั้นสตรีนักต่อสู้และนักสร้างการเปลี่ยนแปลง การพูดถึงผู้คนที่ทำงานฝีมือ คนงานก่อสร้าง เราเห็นความเจริญทางความคิดผ่านคอนเซปการแสดงต่าง ๆ
6) เอาชิ้นส่วนหอไอเฟลมาหล่อเป็นเหรียญทองในการจัดโอลิมปิคครั้งนี้ เพราะคนฝรั่งเศสรักหอไอเฟลมาก … มันต้องเป็นประเทศที่คิดแบบพรีเมี่ยม แบบ luxury เท่านั้น มันถึงคิดอะไรพรีเมี่ยม ละเอียดอ่อน แบบนี้ได้
——
และนี่คือ soft power ของฝรั่งเศส
ดูจบ เหมือนดูการแสดงชั้นสูงที่เป็นโฆษณาชั้นดีที่คิดมาอย่างมีศิลปะ มีชั้นเชิงในการรื้อและประกอบสร้างใหม่ เล่าเรื่องราวที่สื่อสารถึงความเป็นชาติฝรั่งเศสได้มีพลังมาก ทุกอย่างที่ปรากฏในพิธีเปิด มีความหมาย มีคุณค่า และมีที่มาหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ สมกับเป็นประเทศที่ร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักกันไปทั้งโลก
———
แบบไม่ไหวจนต้องทักไปหาเพื่อนว่า Site Specific แบบ Grand มาก ไม่ไหวแล้วววว และโดนตอบกลับมาอย่างเชิ่ด ๆ สไตล์ปารีเชียงว่า ฝรั่งเศสไม่เคยคิดอะไรในกรอบอยู่แล้วค่ะ (เป็นตัวอักษรที่มีเสียงขึ้นมาทันที)
อ่ะ เข้าสู่คำตอบในใจของเรา ว่าทำไมฝรั่งเศสทำได้ ทำไมฝรั่งเศสถึงเป็นพวกคิดพัฒนาเรื่องสุนทรียะตลอดเวลา
- ข้อแรก คือ การเคยถูกกดขี่และต่อสู้จนได้อิสระเสรีภาพทางความคิดมา ตัวตนที่คิดไม่หยุด สร้างสรรค์ไม่หยุดนี้ จึงเป็นเหมือนการย้ำเตือนตัวตนว่าเราคือผู้มีอิสระเสรีภาพทางความคิด เราจะรักษามันไว้ ไม่ยอมสูญเสียมันไป เพราะเราต่อสู้เพื่อแลกมันมาด้วยชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ สิ่งนี้คือรากฐานจากสังคมการเมืองมี “เสรีภาพ” ยึดมั่นเป็นหนึ่งในไตรสรณะของชาติ
- ข้อต่อมา เป็นเพราะมีรากฐานทางปรัชญาความคิดของตน เพราะฝรั่งเศสเป็นชาติที่ต้องแข็งข้อกับเยอรมันในช่วง WW2 ซึ่งเยอรมันเป็นสายสำนักโครงสร้างนิยม (structuralism) แต่ฝรั่งเศสดื้อ ปฏิเสธเยอรมัน ตั้งสำนักหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) เป็นสายรื้อโครงสร้าง (deconstruct) ไปสู่การประกอบสร้างใหม่ (reconstruct) มันคือการทลายกรอบ ตั้งคำถามกับทุกอย่างทุกโครงสร้าง ทุกสิ่งที่คนบอกว่าจริง เขาก็จะถามว่า จริง จริงหรอ ต้นกำเนิดสำนักศิลปะ post modern ก็คงเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นฐานคิดในการออกนอกกรอบตลอดเวลา เกิดเกลียวของการคิด รื้อ สร้างใหม่ วนไปตลอด เราจะเห็นวิธีคิดเหล่านี้ผ่านการมองอาคาร สถาปัตยกรรมในเมืองใหม่ เพื่อออกแบบสำหรับพิธีเปิดโอลิมปิกนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การพัฒนาสิ่งใหม่ตลอดเวลา (บังเอิญช่วงนี้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ เลยลามไปถกกันเรื่องเยอรมัน vs ฝรั่งเศสกับเพื่อน จึงเห็นประเด็นนี้พอดี)
ซึ่งมันมีกลิ่นอายของแนวคิด post museum ที่มองว่าแกลลอรี่งานศิลปะ คอนเสิร์ตฮอลล์ พิพิธภัณฑ์ มันควรออกไปหาผู้คน ไปอยู่ตามมุมเมือง ในชุมชน กระจายออกไปโน้มหาผู้คน เป็นแนวคิดต่อต้านโครงสร้างแบบมิวเซียมเป็นเซนเตอร์ให้คนมารุมพิพิธภัณฑ์ สำหรับการจัดพิธีเปิดที่ใช้ทั้งเมืองคือเวที ก็ต่อต้านแบบเดิมที่มีแค่ในสนามกีฬา มีในสนามหญ้า แล้วให้ทุกคนมารุมที่สนามกีฬา เปลี่ยนเป็นนำเอาพิธีเปิดออกมาสู่เมือง สู่ชุมชน สู่ผู้คน สู่ประชาชน
——
รอดูจนดึกดื่น จากความตั้งใจว่ารอดู…1) เราจะใส่ชุดอะไรเข้างาน 2) จะมีอุนจิลอยมาจริงมั้ย 3) ศึกษาศิลปวัฒนธรรม และ soft power, เรื่องงาน เรื่องวิชาการไว้สุดท้าย แต่พิธีเปิดมันโดดเด่นเกินจนลืม 2 ข้อแรกไปเลย
ทำมาตรฐานไว้สูงมาก ใครเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปคะะะะะ
… ขี้เกียจเขียนไรยาว ๆ แล้ว ตั้งใจจะเขียนสั้น ๆ สุดท้ายยาวจนได้
ขอบคุณภาพจากหลายแหล่ง เครดิตอยู่ในภาพค่ะ












https://www.facebook.com/vipatsaya/posts/pfbid021tBQcMouMLDTGLnKzPtwULw5LJvG6bD3SmV3HZLkzDqLjmQLNHXNpxHzbHRH69zul