วันอังคาร, กรกฎาคม 30, 2567

ทำไมชนชั้นนำไทยจึง ‘หน้าด้าน’ เพิ่มมากขึ้น



28 Jul 2024
101 World
เรื่อง: สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

ผมเดาเอาเองว่าคนจำนวนไม่น้อยน่าจะมีอารมณ์ความรู้สึกคล้ายๆ กันและมีความสงสัยว่าทำไมบรรดาชนชั้นนำของไทย (ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำที่ศูนย์กลางหรือชายขอบ) จึงมีพฤติกรรม ‘หน้าด้าน’ แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดและบ่อยครั้งมากขึ้น

ตามพจนานุกรมให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า ‘มีสีหน้าไม่สลดทั้งที่ควรจะอายแต่ก็ไม่อาย โดยปริยายหมายความว่าไม่มีความรู้สึกอายในสิ่งที่ควรอาย‘ แต่สำหรับในที่นี้อยากจะให้นิยามคำว่า ‘หน้าด้าน’ ให้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการกระทำบางอย่างที่ตรงกันข้ามต่อหลักคุณค่า หลักการ หรือความเป็นจริงที่ตนเองได้ป่าวประกาศหรือแสดงออกต่อผู้คนให้รับรู้ โดยปราศจากความละอายต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป

ลองนึกถึงข่าวต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง การกลับกลอกคำพูดของบรรดาแกนนำนักการเมืองภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคลุง, การแสดงตนว่าเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดแต่กลับพัวพันกับการเรียกสินบนจากเว็บไซต์พนัน, การพร่ำด่าผู้อื่นที่ได้ตำแหน่ง สว. ว่าเป็นสภาผัวเมียขณะที่ตนเองก็ทำในทำนองเดียวกัน, การแสร้งเจ็บป่วยปางตายแต่ภายหลังพ้นระยะเวลาหนึ่งก็แข็งแรงเหมือนโคถึก, การลอกผลงานวิชาการเพื่อตำแหน่ง ดร. ของตนเองแล้วยังหาญกล้าไปวิจารณ์วุฒิการศึกษาปริญญาเอกของผู้อื่น เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างของความหน้าด้านจำนวนหยิบมือหนึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างถี่ยิบที่ชนชั้นนำไทยได้กระทำให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ

หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ เราจะพบว่าชนชั้นนำในบางประเทศ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือนักการเมือง) เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาว ไม่ว่าจะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบน การคุกคามทางเพศต่อลูกน้อง การโกงกินที่เกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ แม้จะยังไม่มีคำตัดสินของศาลเกิดขึ้น แต่ชนชั้นนำเหล่านั้นก็เลือกจะใช้วิธีการยอมรับผิดและขอลาออกจากตำแหน่งไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

แต่สำหรับชนชั้นนำไทย จำนวนมากล้วนแต่จะยืนยันว่าตราบเท่าที่ยังไม่มีคำตัดสินของศาลก็ต้องถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ (รวมทั้งศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินความผิดนี้ก็ต้องเป็นศาลไทยด้วยนะครับ แม้จะถูกกล่าวหาในการค้ายาและถูกตัดสินว่าผิดในต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอับอายแต่อย่างใด)

กรณีของ สว. หญิงท่านหนึ่งที่มีคุณวุฒิสูงส่ง แม้จะถูกเปิดโปงเบื้องหลังกระทั่งแทบไม่แน่ใจว่าเหลืออะไรที่เป็นความจริงอยู่ในตัวเธอบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากการลบโปรไฟล์ที่เป็นปัญหาออกไป

การอ้างอิงถึงหลักการทางกฎหมายย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ว่าการดำรงอยู่อย่างชอบธรรมของสถาบันการเมืองรวมถึงบุคคลที่อยู่ในสถาบันเหล่านั้น ไม่ใช่อาศัยเพียงการค้ำยันจากความถูกต้องทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวมิใช่หรือ เช่น หากรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนชอบไปจ้าง ‘เด็กเอน’ มาสร้างความบันเทิงเริงโลกีย์ในงานเลี้ยงของตนเองอย่างเปิดเผย เขาก็ไม่ได้กระทำอะไรผิดกฎหมาย ดังนั้น เขาย่อมสามารถกระทำได้ใช่หรือไม่

ถ้าพวกเขากิน ขี้ ปี้ นอน เช่นเดียวคนเดินดินทั่วไป ก็ไม่จำเป็นที่สามัญชนทั้งหลายต้องก้มหัวให้กับบรรดาคนเหล่านี้

แต่การดำรงอยู่ของชนชั้นนำในสังคม ไม่ได้วางอยู่บนอำนาจบังคับอย่างเป็นทางการหรือที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ในห้วงเวลาปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีการสร้างคุณลักษณะที่สะท้อนให้เห็นว่ามีความแตกต่างอย่างสำคัญ อันจะทำให้ได้รับการยอมรับนับถือโดยไม่จำเป็นต้องใช้ปืนจี้หัว

ทศพิธราชธรรมคือตัวอย่างหนึ่งของการแสดงให้เห็นคุณลักษณะของผู้ปกครองในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ไม่ว่าคุณลักษณะดังกล่าวจะมีอยู่ในบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม) อันทำให้ตนเองมีสิทธิธรรม (legitimacy) เหนือกว่าบุคคลอื่น จำเป็นต้องมีการสร้างประเพณีขึ้นมารองรับเพื่อตอกย้ำถึงสิทธิธรรมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

ในระบอบประชาธิปไตย คำมั่นสัญญาของนักการเมืองในการป่าวประกาศระหว่างการเลือกตั้งไม่ใช่เพียง ‘คำสัญญา’ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น แต่นั่นคือ ‘พันธสัญญา’ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากไม่กระทำตามก็จะต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองแสดงให้ปรากฏ มิใช่นั้นแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้าใครจะยังเชื่อต่อคำโฆษณาที่เกิดขึ้นในการหาเสียงว่ามันไม่ใช่เพียง ‘เทคนิคการหาเสียง’ ที่พร้อมจะคายทิ้งไปได้อย่างสบายปาก

สังคมไทยก็เฉกเช่นกันกับสังคมอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เฉพาะกฎหมายเป็นกลไกในการกำกับพฤติกรรมของผู้คน มีการสร้างกฎเกณฑ์กติกาแบบที่ไม่เป็นทางการ มีการใช้ความคิดทางศาสนาเข้ามากำกับ หรือการวางบรรทัดฐานต่างๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งอยากจะเรียกรวมๆ ว่า ‘หลักคุณค่า’ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป หรือแม้กระทั่งความพอเพียง ก็คือส่วนหนึ่งของความจำเป็นในการกำกับพฤติกรรมในหมู่ชนชั้นนำ หากใครละเมิดต่อหลักคุณค่าเหล่านี้ก็อาจต้องเผชิญกับการลงโทษ ไม่ว่าการขับออกจากตำแหน่ง การติดคุก การตัดออกจากเครือข่าย

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ใด้มุ่งหมายให้พวกเขาเป็นคนดีขึ้นมาจริงๆ อาจเป็นเพียงแค่ไม่ให้มีการกระทำแบบประเจิดประเจ้อและจะสั่นคลอนต่อความชอบธรรมของชนชั้นไทยให้อ่อนแอลง

คำถามประการหนึ่งที่อยากทำความเข้าใจเป็นอย่างมากก็คือ ทำไม่ชนชั้นไทยจึงมีพฤติกรรมหน้าด้านเพิ่มมากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงออกซึ่งความหน้าด้านนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอหรือความไม่สำคัญของหลักคุณค่าในช่วงจังหวะเวลานั้น หากพิจารณาถึงการกระทำที่หน้าด้านในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะพบว่าจำนวนไม่น้อยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม

เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ไปล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงใจก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516, การโกงกินค่าหัวคิวแบบมโหฬารของผู้นำรัฐประหารในการซื้อเครื่องบินก่อนเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535, หรือการเลี่ยงภาษีในการขายหุ้นของนักการเมืองยุคที่มีอำนาจแทบเบ็ดเสร็จ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าปรากฏการณ์หน้าด้านสัมพันธ์กับระบอบอำนาจนิยมอย่างไม่อาจปฏิเสธ

ระบอบอำนาจนิยมไม่มีการถกเถียง ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีสายตาของสาธารณะเข้าไปกำกับ หรือกล่าวได้ว่าภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ความคิดเห็นหรือหลักคุณค่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดหรืออาจมีก็เบาบางเต็มทน การดำรงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมก็คือ การใช้อำนาจบังคับหรืออำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมเป็นหลัก ยิ่งยุคสมัยที่สามารถเข้าไปกำกับกระบวนการยุติธรรมได้ก็ยิ่งทำให้ความหน้าด้านสามารถแพร่กระจายออกไปในหมู่ชนชั้นนำอย่างกว้างขวาง ไม่มีอะไรที่จะต้องเกรงกลัว จะเป็น สว. ที่ไม่ต้องไปประชุมเลยก็ได้ จะใช้บ้านพักของราชการเป็นที่ตั้งบริษัทส่วนตัวก็ได้ จะตั้งลูกเมียมาเป็นที่ปรึกษาก็ไม่เป็นไร จะแสดงอากัปกริยาต่ำช้าแบบไหนก็ไม่มีอำนาจใดมาแตะ ฯลฯ

ขณะที่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ความคิดเห็นของผู้คนมีอิทธิพลไม่เพียงในทางสาธารณะแต่ยังรวมไปถึงการเลือกตั้งที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชนชั้นสูง

ยิ่งชนชั้นนำในศูนย์กลางไม่ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของสิทธิธรรม ใช้อำนาจในการดำรงอยู่อย่างดิบๆ ก็ยิ่งทำให้ความหน้าด้านแพร่กระจายออกไปสู่ชนชั้นนำชายขอบมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าสถานะในชายขอบอาจทำให้ต้องมีความรับผิดชอบเกิดขึ้นบ้าง แต่ทางรอดของพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่การยึดหลักคุณค่าในวิถีชีวิต แต่กลับเป็นความพยายามขยับเข้าไปให้ใกล้กับศูนย์กลางของอำนาจมากขึ้น

ความหน้าด้านที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องความชั่วช้าของปัจเจกบุคคล หากแต่สัมพันธ์กับระบอบทางการเมืองอย่างใกล้ชิด นอกจากความพยายามในการลงโทษต่อตัวบุคคลที่หน้าไม่อายแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปก็คือระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ความหน้าด้านสามารถเกิดขึ้นและกระจายตัวอออกไปได้กว้างขวางเฉกเช่นที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมไทยในห้วงเวลานี้

https://www.the101.world/why-thai-elites-are-shameless/