วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2567

CPF ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำทั่วประเทศจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม และยังร่วมสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำจำนวน 2 แสนตัว ทั้งหมดนี้ มองว่าเป็นการฟอกขาวของบริษัทได้หรือไม่


CPF รับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อไปทำปลาป่นแล้ว 6 แสนกิโลกรัม

25 กรกฎาคม 2024
บีบีซีไทย

CPF บอกว่าพร้อมสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เช่น รับซื้อปลา ปล่อยปลาผู้ล่า ฯลฯ ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะย้ำว่าไม่ใช่ต้นตอการระบาดก็ตาม

แต่ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีชี้ว่า การออกมารับผิดชอบเฉพาะหน้าเช่นนี้ เป็นเพียงความพยายามฟอกขาวและเบี่ยงเบนประเด็นของบริษัทฯ ผู้ขอนำเข้าปลาดังกล่าวเพียงรายเดียวในไทย

ล่าสุด ตัวแทนจาก CPF ไม่ได้เดินทางมายังรัฐสภาในวันนี้ (25 ก.ค.) เพื่อชี้แจงข้อมูลกับอนุ กมธ. แก้ไขปัญหาผลกระทบจากปลาหมอคางดำของรัฐสภา แต่ส่งเพียงเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทั้งภาคการเมืองและภาคประชาสังคมต่างพยายามหาหลักฐานเพื่อหาช่องฟ้องร้องบริษัทมหาชนแห่งนี้ ถึงแม้ยังขาดหลักฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปลาที่ CPF นำเข้าเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

ต้นตอการระบาด มาจากปลาที่ CPF นำเข้าหรือไม่

“มันคือวิกฤตจากสายพันธุ์รุกรานที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและระบบนิเวศของไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เราจะไม่ยอมส่งต่อระบบนิเวศที่พังพินาศเช่นให้กับรุ่นต่อไปของเรา” นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย บอกกับบีบีซีไทย หลังจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ไม่เข้าพบคณะอนุ กมธ.ฯ ในวันนี้ (25 ก.ค.) โดยอ้างว่าติดภารกิจ แต่มอบเอกสารชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นมายังคณะอนุ กมธ.ฯ แทน

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ทาง อนุ กมธ.ฯ พยายามเรียกให้บริษัทมหาชน ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลบริษัทยึดมั่นธรรมาภิบาลดีเลิศทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย ผู้มีประวัติขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียวของไทยมาให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อหาต้นตอการระบาดของปลาสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่นที่ดำเนินมานานกว่าสิบปี และแพร่กระจายไปแล้วมากกว่า 17 จังหวัดทั่วประเทศ จากข้อมูลของกรมประมง

“นี่เป็นเวทีที่ท่านจะใช้แถลงข้อสงสัยต่อพี่น้องประชาชนได้ แต่หากท่านเลือกจะแถลงข่าวกับสำนักข่าวไม่กี่สำนัก แล้วขาดการโต้แย้งสอบถาม มันก็อาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับพี่น้องประชาชนมากขึ้น” รองประธาน อนุ กมธ.ฯ กล่าวถึงบริษัท CPF ต่อหน้าสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์ตัวแทนบริษัทเอกชนที่รัฐสภาในวันนี้

การระบาดของพันธุ์ปลารูปร่างคล้ายปลานิลแต่มีลายจุดดำบริเวณคาง หลังกระพุ้งแก้ม ซึ่งอยู่อาศัยและเติบโตได้ในเกือบทุกสภาพน้ำ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและประมงชายฝั่งในไทย โดยมี “มูลค่าความเสียหายที่ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่บอกได้ว่ามหาศาล” นายณัฐชา ระบุ

ในช่วงราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วิกฤตการระบาดของปลาหมอคางดำกลายเป็นเผือกร้อนของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง CPF ซึ่งขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2549 และนำเข้ามาเลี้ยงในศูนย์ทดลองที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในช่วงปลายปี 2553 โดยทางบริษัทฯ ชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อปี 2560 ว่า ปลาทั้งหมดที่นำเข้ามาทดลองวิจัยทยอยตายจนหมดภายในเวลา 3 สัปดาห์ หรือช่วงเดือน ม.ค. ของปี 2554

“การแพร่ระบาดครั้งแรกในปี 2555 พบการระบาดในตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน [กับศูนย์ทดลองของ CPF]” สส.จากพรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกต


ปลาหมอคางดำระบาดไปแล้วมากกว่า 17 จังหวัดทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ ชี้แจงกับ กสม. ว่าได้ทำลายซากปลาที่ตายไปหมดแล้ว และมีการสร้างอาคารทับจุดฝังกลบไป แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้ว่าอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อใด สร้างขึ้นก่อนหรือหลังการกำจัดซากปลา และตั้งอยู่บนจุดฝังกลบซากปลาจริงหรือไม่

“ทาง อนุ กมธ.ฯ ก็รอคำชี้แจงจากเอกชนในประเด็นนี้อยู่ แต่เขาก็ไม่มา” นายณัฐชา กล่าว

รายงานของไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมายังพบว่าศูนย์ทดลองของ CPF ที่ ต.ยี่สาร อยู่ติดกับคลองธรรมชาติ 3 แห่ง คือ คลองหลวง คลองดอนจั่น และ คลองบางยาว ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดของปลาหมอคางดำด้วยเช่นกัน โดยทางทีมข่าวของไทยพีบีเอสตั้งข้อสังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังด้วยว่า ศูนย์ทดลองดังกล่าวอาจไม่มีบ่อปิดสำหรับการเลี้ยงปลาทดลอง เนื่องจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าบ่อเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นบ่อดินแทบทั้งสิ้น

จากรายงานของ กสม. CPF ชี้แจงว่าในช่วงต้นปี 2554 ได้ส่งตัวอย่างปลาจำนวน 50 ตัวอย่างที่อยู่ในโหลดองฟอร์มาลีนไปให้กรมประมงเก็บไว้ เมื่อพิจารณาแล้วว่าการปรับปรุงสายพันธุ์ไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะปลาทยอยตายลงเรื่อย ๆ

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ.ฯ แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเข้าตรวจเยี่ยมกรมประมงเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างปลาตามที่เอกชนกล่าวอ้าง ส่งผลให้ไม่มีข้อมูลสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของปลาที่นำเข้ามาในปี 2553 และตายลงในปี 2554 เก็บไว้ในฐานข้อมูลของกรมประมง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทางกรมประมงยังคงศึกษาวิจัยการระบาดของปลาหมอคางดำ และได้เข้าไปตรวจสอบและพบปลาหมอคางดำอยู่ในบ่อพักน้ำศูนย์ทดลองของ CPF ที่ ต.ยี่สาร เมื่อปี 2560

“งานศึกษาของกรมประมงฉบับหนึ่งบอกว่า ปลาหมอคางดำในไทยมีภาวะเลือดชิด ดีเอ็นเอใกล้เคียงกัน เหมือนเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาร่วมกันทั้งหมด” นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย กล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างการเข้าพบอธิบดีกรมประมงเมื่อ 2 วันก่อน

เขากล่าวต่อว่า งานศึกษาของกรมประมงชี้ว่า ปลาหมอคางดำที่พบในบ่อพักน้ำของศูนย์ทดลอง CPF ต.ยี่สาร และที่ระบาดไปทั่วประเทศในขณะนั้นมีภาวะเลือดชิด แทบไม่มีความแตกต่างกันในทางพันธุกรรม ซึ่งสื่อได้ว่าเป็นปลาที่มาจากแหล่งเดียวกันชัดเจน

CPF พร้อมให้ความร่วมมือ กำจัดปลาหมอคางดำ

นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ CPF ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ว่า บริษัทฯ ไม่ได้เป็นต้นเหตุการระบาดของปลาสายพันธุ์ดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. ทางบริษัทฯ ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยออกมาแถลงข่าวว่าพร้อมขานรับ 5 มาตรการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดของรัฐบาล ได้แก่ ทำงานร่วมกับกรมประมงในการรับซื้อปลาหมอคางดำทั่วประเทศ ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำมาผลิตเป็นปลาป่น โดยล่าสุดรับซื้อไปแล้ว 6 แสนกิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชนในการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำจำนวน 2 แสนตัว ตามแนวทางของกรมประมง

ทางบริษัทฯ ยังระบุด้วยว่า จะสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนเพื่อลงจับปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอย่าง ม.เกษตรศาสตร์, ม.ขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว

ในวันนี้ (25 ก.ค.) ทาง CPF ยังยืนยันกับสื่อไทยหลายสำนักด้วยกันว่า บริษัทฯ ส่งตัวอย่างปลาที่ขออนุญาตนำเข้าให้กับกรมประมงจริง พร้อมกับระบุชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับตัวอย่างดังกล่าวไป

“วันที่ 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดโดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ หลังจากนั้น เก็บลูกปลาทั้งหมดแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวในวันที่ 7 ม.ค. 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น” CPF ระบุ


การปล่อยปลากะพงขาวให้ไปกินลูกปลาหมอคางดำ เชื่อว่าอาจลดจำนวนประชากรสายพันธุ์รุกรานลงได้ส่วนหนึ่ง

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่จากกรมประมงเจอปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำของศูนย์ทดลองของ CPF ใน ต.ยี่สาร เมื่อปี 2560 นั้น ทาง CPF บอกว่า บ่อพักน้ำดังกล่าวเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติย่อมอยู่ในบ่อพักน้ำด้วย แต่บ่อพักน้ำดังกล่าวไม่ใช่ส่วนของบ่อเลี้ยง เป็นเพียงส่วนเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่รอการกรองและการฆ่าเชื้อก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม

“บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้นำศักยภาพองค์กรขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ” นายเปรมศักดิ์ เน้นย้ำ

ด้านนายณัฐชา กล่าวว่า “ถ้าท่านบอกว่า [ปลาหมอคางดำ] ระบาดจากภายนอก มันเล็ดลอดเข้ามา [ในบ่อพักน้ำ] ก็ต้องตั้งคำถามกลับว่าหากปลาข้างนอกเล็ดลอดเข้ามาได้ แล้วปลาข้างในเล็ดลอดออกไปได้หรือไม่”

มูลนิธิชีววิถีชี้ CPF กำลัง “ฟอกขาว” บริษัท

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกกับบีบีซีไทยว่า การออกมาให้การสนับสนุนมาตรการภาครัฐของ CPF ในขณะนี้นั้นเป็น “ความพยายามฟอกขาวบริษัทฯ และเบี่ยงเบนประเด็น” จากบทบาทผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม กลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งโดยส่วนตัวเขายังเคลือบแคลงใจในบทบาทของบริษัทฯ ว่าเป็นความช่วยเหลือด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่

“เมื่อบริษัทฯ นำปลาหมอคางดำไปทำปลาป่น ปลาป่นก็มีมูลค่าประมาณกิโลกรัมละ 40-50 บาท เศษเงิน 30 ล้านที่จะรับซื้อปลา 2 ล้านกิโลกรัม จริง ๆ แล้วก็อาจเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบหนึ่งแล้วมาอ้างว่าให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี (CP) มีโรงงานแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากปลาต่าง ๆ มากมาย ผมสงสัยว่าอาจไม่ได้แค่นำไปทำปลาป่น แต่เนื้อปลาหมอคางดำอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ด้วย ดังนั้นก็สงสัยอยู่ว่ามูลค่าที่ช่วยเหลือมานั้น อาจสร้างผลกำไรให้บริษัทฯ อีกต่อหนึ่งหรือเปล่า” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว พร้อมกับบอกด้วยว่า ในเบื้องต้นภาคประชาสังคมประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ดังนั้นการใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วได้

เขาชี้ว่าการระบาดในครั้งนี้ไม่เพียงทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศและสร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย แต่มันได้ทำลายระบบโภชนาการในระยะยาวของคนไทยไปด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ หลังจากนี้คือ เกษตรกรที่อยู่ตามชายฝั่งและได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ จะถูกบีบให้เลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิดลักษณะฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งต้องสั่งซื้อพันธุ์ปลา อาหารปลา รวมถึงเทคโนโลยีการเลี้ยงจากเอกชนยักษ์ใหญ่” ผอ.มูลนิธิชีววิถีคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้



หลักฐานเพียงพอต่อการเอาผิด CPF หรือไม่ ?

“วันนี้เรามีดีเอ็นเอ [ปลาหมอคางดำ] แค่ปี 65 และ ปี 60 เราขาดดีเอ็นเอปี 54 เราขาดจิ๊กซอว์ไปหนึ่งตัว ก็เลยไม่สามารถยืนยัน [ต้นตอการระบาด] ได้ เพียงแค่สันนิษฐานได้” นายณัฐชา ในฐานะรองประธาน อนุ กมธ. แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำของรัฐสภา กล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจากหลักฐานทั้งหมดที่มีในมือนั้นสามารถเอาผิดกับบริษัทผู้นำเข้าอย่าง CPF ได้หรือไม่

เขาบอกว่าในสัปดาห์หน้าจะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐ เพื่อหาช่องฟ้องร้องเอกชนต่อไป รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศ และวันนี้ (25 ก.ค.) ทางอนุ กมธ.ฯ จะยื่นญัตติด่วนเพื่อยื่นขอเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อจากนี้

“หากรัฐบาลไม่รับลูกต่อ ก็แสดงให้เห็นว่าเอื้อกัน ช่วยเหลือกัน และสื่อให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา” นายณัฐชาบอกกับบีบีซีไทย

“เราเคยเห็นการปะทะกับทุนใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งคือคดีหมูเถื่อน หมูเถื่อนจบไปแล้ว เราก็เห็นว่าใครชนะ” เขากล่าวโดยนัย “แต่วันนี้ปลาเถื่อน ใครจะชนะ เราต้องให้พี่น้องประชาชนช่วยกันติดตาม ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็จะเงียบไป และเราก็จะส่งต่อธรรมชาติแบบนี้ให้คนรุ่นหลัง”



ด้านนายวิฑูรย์ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่า หลักฐานทั้งหมดในตอนนี้ชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางการระบาดเริ่มต้นจากศูนย์ทดลองหรือฟาร์มของเอกชนใน ต.ยี่สาร ของ CPF ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการนำเข้าของบริษัทฯ ภาพถ่ายทางอากาศจากรายงานข่าวของไทยพีบีเอสที่ทำให้เห็นว่าเป็นสภาพแวดล้อมแบบเปิด ไม่ใช่ระบบปิดอย่างที่เอกชนกล่าวอ้าง และอยู่ติดกับลำคลองธรรมชาติที่เชื่อมต่อไปยังลำน้ำสายหลักของสมุทรสงครามไปจนถึงเพชรบุรี รวมถึงหลักฐานจากการตรวจเทียบดีเอ็นเอของปลาที่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งวิจัยโดยกรมประมง

“การที่ไม่มีดีเอ็นเอของปลาปี 2554 ที่นำเข้ามา ไม่ได้เป็นปัญหาเลย เรากำลังจะเปิดเผยหลักฐานเด็ดวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) ซึ่งเป็นภาพถ่ายภายในฟาร์มยี่สารของเอกชนที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ เลี้ยงปลาหมอคางดำมาตลอดตั้งแต่ปี 2553-2560” โดยเขาบอกว่าได้ภาพถ่ายมาจากอดีตเจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานในศูนย์ทดลองของ CPF ที่ยี่สาร

ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมมั่นใจมากว่าจะสามารถฟ้องร้องบริษัทเอกชนผู้ขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดนี้เมื่อ 14 ปีก่อนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือแนวทางการฟ้องร้องเอกชน นำโดยมูลนิธชีววิถี, สภาทนายความฯ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) รวมถึงตัวแทนชาวบ้านใน จ.สมุทรสงคราม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด

“ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบพูดชัดเจนว่าไม่ต้องการให้นำภาษีประชาชน มาผ่านงบของรัฐบาลเพื่อใช้เยียวยา” นายวิทูรย์กล่าว

https://www.bbc.com/thai/articles/cx0218jl91go