วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 25, 2567

เปิดจริงๆ โครงการดิจิตอลวอลเล็ต นอกจากวันลงทะเบียนแล้ว อย่างอื่นยังไม่มีอะไรชัดเจนเช่นเคย แถมเสี่ยงทำผิดกฎหมายระเบียบการเงินการคลัง

สามรัฐมนตรีคลังเรียงหน้าแถลงโครงการดิจิตอลวอลเล็ต มุ่งหมายจะให้เป็นการเริ่มโครงการอย่างจริงๆ หลังจากที่ติดกึกติดกักมานานเกิน แต่แล้วก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี ยังขาดความชัดเจนเรื่องแหล่งที่มาของเงิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

จะให้เข้าใจง่ายต้องฟังปฏิกิริยาของ ศิริกัญญา ตันสกุล กูรูเศรษฐกิจการเงินการคลังของพรรคก้าวไกล เพราะเธอเกาะติดเรื่องนี้ อย่างลงลึกรายอะเอียดยิ่งกว่าใครๆ มากกว่านายกฯ เศรษฐา ทวีสิน รวมทั้ง วิษณุ เครืองาม ที่บอกว่าเรื่องนี้ไม่มีใครมาปรึกษา

“เรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน คือเรื่องของการลงทะเบียน” คุณไหมว่า “ประชาชนทั่วไปที่มีสม้าร์ทโฟนเริ่ม ๑ สิงหา ถึง ๑๕ กันยา ที่ไม่มีสม้าร์ทโฟนเริ่ม ๑๖ กันยา ส่วนร้านค้าเลื่อนออกไปอีกถึง ๑ ตุลาคม นอกจากนี้ไม่มีความชัดเจนอะไรเลย”

ในเมื่อนักข่าวจ่อไมค์ถามกันตรึม ยังกะเป็นที่ปรึกษาโครงการเสียเอง “เรื่องแรกอยากจะพูดถึงผลกระทบเศรษฐกิจ ว่าหลังจากเกิดพายุหมุนแล้วเศรษฐกิจจะโตแค่ไหน เผ่าภูมิ (โรจนสกุล) รมช.บอกว่าไม่สามารถประมาณการได้

มันเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ ดังนั้นไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้” แต่ศิริกัญญารู้ว่า “หลังเข้าไปสังเกตุการณ์ในห้องกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายจ่ายเพิ่มเติม หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้ส่งผลที่จะเกิดขึ้นกับดิจิตอลวอลเล็ตเข้ามาแล้ว”

สิ่งที่ศิริกัญญารู้ แต่ไม่เห็นใครอื่นพูดถึงว่า “กระทรวงการคลังมีการปรับเป้าหมาย จากเดิมที่ว่า ๑.๒ – ๑.๘ % ของจีดีพี เหลือ ๐.๙% ของจีดีพี ส่วนสภาพัฒน์ฯ บอกว่าจะทำให้จีดีพีของปี ๖๗ โตประมาณ ๐.๓% ๖๘ โตอีก ๐.๓%

ส่วนแบ๊งค์ชาติบอกว่า ปี ๖๗ โต ๐.๓% ปี ๖๘ จะโต ๐.๒% รวมทั้งโครงการโตประมาณ ๐.๙%” เป็นอันว่าทั้งสามสำนักประเมินออกมาตรงกัน ว่าอย่างไรเสียก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ถึง ๑% ของจีดีพีแน่นอน โดยคลังเองยังเหลียวหน้าแลหลัง

แต่เดิม แหล่งที่มาของเงินจะเป็น เงินใหม่ก็คือกู้มาสดๆ แต่ทำไม่ได้ ต้องหันกลับไปใช้เงินในงบประมาณ ซึ่งศิริกัญญาว่า “จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้มีมากเท่าที่ควร” และกรณีนี้นี่เองที่รัฐบาลบอกว่าทำได้ด้วยการใช้ชั้นเชิงบริหารจัดการเงิน

พวกนักข่าวก็ยังมองไม่เห็น ถามว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ไอ้บริหารจัดการเงินเนี่ย “ทั้งงบฯ ของ ๖๗ และของ ๖๘ ด้วย ๖๘ นี่ก้อนใหญ่หน่อย ถึง ๑ แสน ๓ หมื่น ๒ พัน ๓ ร้อยล้านบาท” ศิริกัญญาว่ารัฐมนตรี จุลพันธ์ (อมรวิวัฒน์) ไม่ชัดเจนเช่นกัน

“ตอบว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกงบประมาณเพิ่มเติมอีก เหมือนกับตอนปี ๖๗ อาจจะเป็นการใช้งบกลาง งบเหลือจ่าย นี่ไม่ได้ให้ความชัดเจนอะไรเลย” แถมสิ่งที่บอกว่าจะทำ ผิดกฎหมายทั้งนั้น เช่น อ้างว่าเป็น รายจ่ายเพื่อการลงทุน

ศิริกัญญาว่าไม่ใช่ รายจ่ายลงทุนต้องเป็นของภาครัฐเท่านั้น ไม่นับการใช้จ่ายของประชาชน ส่วนงบกลางปีที่ดึงเอามาใช้ จะเอาไปใช้ข้ามปีไม่ได้ พรบ.วินัยการเงินฯ ม.๒๑ บอกไว้จะแจ้ง ต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณเท่านั้น คือสิ้นสุด ๓๐ กันยา

แล้วยังที่บอกว่าเมื่อเปิดลงทะเบียน ๑ สิงหา ถือเป็นการ ก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลสามารถใช้เงินข้ามปีได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ศิริกัญญาว่า โนเวย์หนี้ผูกพันต้องทำสัญญาสองฝ่าย การลงทะเบียนเฉยๆ ไม่ได้ก่อหนี้ ไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน

งานนี้ก็เลยไม่เห็น เศรษฐา ทวีสิน มา แถลงเองตามกำหนดการ บางคนตีความว่านายกฯ ไม่อยากเอาคอมาขึ้นเขียงกับการทำเรื่องผิดกฎหมายตบตาประชาชน นัยว่าแกเจอมามากแล้ว จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่าไม่รู้ได้

(https://x.com/trendforMFP/status/1816009419806892394, https://www.thairath.co.th/news/politic/2802659 และ https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/kW9bDa35o7g)