We Watch
5 days ago
·
“อานนท์ นำภา ไม่ค่อยชอบใช้วิธีการอุปมานิทัศน์ ตรงกันข้ามเหมือนนักสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานที่ชุมนุมทางการเมือง บ้านลูกความ และเรือนจำ”
.
อานนท์ นำภา: อาภรณ์ของอักษราจากสายตาทนายความประชาชน
.
“อานนท์ นำภา” ชื่อนี้หมายถึง "ทนายความที่ว่าความให้กับประชาชนที่ถูกกดขี่"
การกลับมาอ่าน “บอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” อีกครั้งในวันที่ผู้เขียนไร้อิสรภาพทางร่างกาย ย่อมให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป
.
“ปลอบลูกแก้ว เมียขวัญ ว่าขวัญพ่อ
ชาตินี้ขอ กอดเจ้า ก่อนเป็นผี
จูบหน้าผาก ด้วยรักเจ้า เท่าชีวี
อย่าร้องเลย คนดี เดี๋ยวไม่งาม” (ทำไมโลกจึงอ้างว้างได้อย่างนี้, หน้า 12)
.
เนิ่นนาน ที่ไม่เห็นทนายความ หรือคนในวงการกฎหมายมองเห็นตัวบทที่เลยไปไกลกว่าตัวหนังสือ
อานนท์เห็นน้ำตาที่อยู่หลังกรงขัง รู้สึกได้ถึงความอุกอั่งในรอยยิ้ม สัมผัสได้ถึงความโกรธในวันเงียบสงบ
มันถ่ายทอดออกมาผ่านบทกวีที่สำนักพิมพ์อ่านรวมเล่ม เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
อานนท์ นำภา ทนายความที่เติบโตในครอบครัวชาวนา ญาติพี่น้องดำรงชีวิตด้วยการขายแรงงาน เป็นนักเรียน เรียนดีจากโรงเรียนประจำจังหวัด สอบเข้าเรียนธรรมศาสตร์ได้ แต่ขอเลือกเรียนกฎหมายที่รามคำแหง จบออกมางานแรกและตลอดไปคือว่าความให้กับผู้ต้องหาคดีความทางการเมือง
.
จากรัฐประหาร 2549 การสังหารหมู่ที่ราชประสงค์ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53 รัฐประหาร 2557 ก่อนชีวิตของเขาจะมาลงเอยในฐานะใหม่คือจำเลยหลังการเคลื่อนไหวใหญ่ของเยาวชนปลดแอก ปี 2563-2565
อานนท์ทำในสิ่งที่เป็นธรรมชาติธรรมดา คือเอาสิ่งที่มวลชนนับหมื่นคนพูดกันทั่วไป มาพูดบนเวทีอย่างมีความรับผิดชอบ
.
ในฐานะผู้อ่านแล้ว คิดไม่ออกว่าบทกวีปลอบลูกแก้ว เมียขวัญ…. จะแทนความรู้สึกของตัวอานนท์เองในฐานะจำเลย เป็นทนายความที่ว่าความด้วยความซื่อตรง มีอารมณ์ขัน และคิดถึงผู้อื่นเสมอ ท่วงทำนองแบบนี้แปลว่าของจริง ไม่เก๊
.
“อย่าดื้อ เดี๋ยวผู้คุม จะรุมอัด
อย่างัด ข้อเพื่อน จะข่มเหง
อย่าย้อน ผู้ใหญ่ ให้ยำเกรง
คนเก่ง ของแม่ ไม่แพ้ใคร” (มือน้อยลูกหรือ คือมือเผา, หน้า 39)
อานนท์อาจจะเป็นทนายความที่ประจำอยู่เรือนจำมากกว่า จอทีวี แต่บทกวีหลายสิบเรื่องของเขาบอกกล่าวไม่อ้อมค้อมต่อสิ่งที่เขามองเห็น
เพียงแต่ว่าความสามารถของเขามากเกินกว่าเขียนคำร้องต่อศาล หากแต่สร้างมันขึ้นมาเป็นบทกวีซึ่งบอกกล่าวได้อย่างลุ่มลึกไม่แคบตื้น
นักกฎหมายที่เป็นกวีคนสำคัญ เราอาจจะย้อนคิดไปถึง “อัศนี พลจันทร” แต่มันก็เนิ่นนานมากแล้ว บ้านเมืองเปลี่ยนมาไกลแล้ว แต่ทำไมความอยุติธรรมยังอยู่
.
บทกวีของอานนท์บอกเล่าการถูกกดขี่ การต่อสู้ การไม่ยอมจำนน และการเคารพตัวเอง
น้อยนักที่จะเห็นอุปมานิทัศน์ใน “เหมือนบอกใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” การบอกกล่าวของอานนท์ด้านหนึ่ง เสมือนฎีการ้องทุกข์ของชาวนา
ผู้ปกครองที่มีสติปัญญาจะมองเห็นความทุกข์ของผู้ใต้ปกครอง เขาไม่ใช่ศัตรูของใคร
.
หนังสือรวมบทกวี: เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง
ผู้เขียน: อานนท์ นำภา
ตีพิมพ์: 2554
สำนักพิมพ์: อ่าน
#WeWatch #อานนท์นําภา