วันจันทร์, กรกฎาคม 29, 2567

ย้อนอ่านโพสต์เก่า Royal World Thailand ปี 2020 เรื่องแนวโน้มว่าด้วยพระรัชทายาทเพื่ออนาคตของราชสำนักไทย ซึ่งขณะนั้นพระองค์ภา ยังทรงแข็งแรงอยู่


Thanapol Eawsakul
April 27, 2020
·
วันนี้ Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย จุดประเด็นเรื่องรัชทายาท
1. ไม่คิดว่าทีปังกรจะมีความสามารถพอ
2. องค์ภาเหมาะสมที่สุด แต่ติดที่เป็นผุ้หญิง
3. ลูกชาย 4 คน แม้จะมีศักยภาพ และจริยวัตรที่เหมาะสม นั้นหลุดออกจากวงโคจรไปแล้ว
4. สิริวัณวรี ไม่อยูในสมการ

แต่สุดท้าย คนเขียนเขาสรุปว่า
......
"ทั้งหมดทั้งมวลนั้น สิ่งที่ประชาชนทำได้เพียงอย่างเดียว คือการจับเข่าคุยกันเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกหรือไม่เลือกใครเป็นพระประมุขของประเทศ ตามความเห็นของกลุ่มประชาชนที่เคารพรักสถาบันผู้ไม่เคยมีคำถามในหัว ประเด็นนี้ถูกมองว่าไม่ควรนำมาพูดคุยที่เป็นการก้าวก่ายพระบรมราชวินิจฉัย ในอีกมุมมอง เรื่องนี้สามารถนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวกำหนดว่า ประชาชนพร้อมจะอ้าแขนต้อนรับอนาคตใหม่ของราชสำนักอย่างสุดแรงเกิดหรือไม่ ช่วงเวลานี้ยังไม่มีแนวโน้มใดในเรื่องนี้ จึงอาจต้องรอจนกว่าเวลานั้นมาถึงจริงๆ ว่าพระรัชทายาทในอนาคตจะเป็นเช่นไร อันจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรของอนาคตราชวงศ์ไทยที่รุ่งโรจน์หรือร่วงโรย"

https://www.facebook.com/.../a.91883.../2663943437044026/...
.....

April 27, 2020
·
หลังจากแผ่นดินไทยเราเริ่มต้นรัชสมัยใหม่มากว่า 4 ปี ดังที่ชาวไทยทราบกันดีว่า ความเป็นไปในราชสำนักไทยเป็นอย่างไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ จนเป็นที่กล่าวถึงในหมู่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบัน นอกจากกลุ่มประชาชนที่ยังเคารพรักในสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วนั้น ยังมีกลุ่มประชาชนที่มีทัศนคติทางลบต่อสถาบันที่มีการเปิดเผยในทางสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นหนึ่งที่กลุ่มประชาชนทั้งสองฝ่ายคิดนำมาพูดคุยเหมือนกันคือ การแต่งตั้งพระรัชทายาทในอนาคต

แน่นอนว่าการสถาปนาพระรัชทายาท ล้วนเป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยทั้งสิ้น ซึ่งหากมีประชาชนจับกลุ่มพูดคุยถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา อาจถูกท้วงติงไม่ให้มีการพูดถึงเพราะอาจถือเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนพระองค์ อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประชาชนเริ่มกล้าพูดมากขึ้น ประกอบกับมีสื่อออนไลน์เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างสาธารณะมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ อีกทั้งในมุมมองของกลุ่มคนที่รักสถาบันก็ตระหนักดีกับสถานการณ์ในราชสำนักในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร และแสดงความเป็นห่วงการคงอยู่ของสถาบันในอนาคต ด้วยเรื่องนี้อาจมีความละเอียดอ่อน จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามตั้งแต่ในใจ ว่าพระรัชทายาทในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ย้อนไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นมา ในการแต่งตั้งพระรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ แน่นอนว่ารัชทายาทที่ทุกคนนึกถึงควรเป็นชาย ตามพระราชธรรมเนียมเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชียที่ควรตั้งพระราชโอรสไว้สืบราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต ซึ่งมีการบัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลเช่นกัน

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า (ชาย) ที่ทรงศักดิ์และสิทธิ์ด้วยพระอิสริยยศสมบูรณ์ที่สุดมีเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์ที่ 5 และพระองค์สุดท้อง ซึ่งในปีนี้ยังทรงเจริญพระชันษาเพียง 15 ปี หลายคนแสดงความคิดเห็นอย่างคลางแคลงใจว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง จะทรงมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่าทรงเหมาะสมกับการเป็นพระรัชทายาทได้หรือไม่อย่างไร จึงทำให้หลายคนอาจคิดไกลเกินไป ว่านึกภาพไม่ออกว่าจะทรงมีบทบาทในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร

ในเมื่อมีคนเห็นว่า สมเด็จชายอาจไม่เหมาะสมเป็นพระรัชทายาท จึงหันไปมองพระบรมวงศ์ที่ดูมีความเป็นไปได้ทางศักยภาพสูงกว่า ซึ่งก็ไม่พ้นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่พระชันษา 41 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จากที่ทรงประกอบพระกรณียกิจมากมายเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาปวงชน อันแสดงถึงความเพียบพร้อมกับการเป็นขัตติยราชนารี อีกทั้ง ประชาชนมองเห็นความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น การมีพระประมุขหญิงอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เก่าสำหรับประชาชน จากที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่มีพระมหากษัตรีย์ปกครองประเทศกันมานาน การมีพระประมุขหญิงอาจเป็นมิติใหม่ของราชสำนักไทย

อย่างไรก็ตาม ไทยเราไม่เคยมีพระมหากษัตรีย์มาก่อน สอดคล้องกับกฎมณเฑียรบาล พระพุทธศักราช 2467 มาตราที่ 13 ระบุไว้ว่า “ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใดๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด”

ในทางกลับกัน ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับในยุคสมัยใหม่นี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ตั้งแต่ฉบับปีพ.ศ. 2517, 2521 เรื่อยมาจนถึงฉบับปีล่าสุด 2560 ว่าสามารถเสนอพระนามพระราชธิดาเพื่อขอความเห็นชอบ ในการเป็นผู้สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่กรณีนี้สามารถใช้เฉพาะหากราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้เท่านั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎมณเฑียรบาลมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เช่นนั้น ในเมื่อยังไม่เคยมีพระรัชทายาทหญิงมาก่อน จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งพระบรมวงศ์ฝ่ายใน (สตรี) ขึ้นสืบราชย์พระองค์ต่อไปอย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายที่อ้างอิงตามหลักวิชาการ มีความเห็นว่ายังมีความเป็นไปได้น้อย แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ ยุคสมัยนี้ อะไรก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเมื่อเป็นไปไม่ได้ และอาจไม่มีทางเลือกอื่น สมเด็จเจ้าฟ้าทีปังกรฯ อาจขึ้นเป็นพระรัชทายาทเมื่อเวลานั้นมาถึง ในเมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจต้องให้เวลาสมเด็จชายอีกประมาณ 4-5 ปี เมื่อทรงเจริญพระชันษา 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเมื่อครั้นพระราชบิดาทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เราอาจจะได้เห็นว่าทรงมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบสมกับเป็นพระหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์มากน้อยแค่ไหน

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการหยิบประเด็นเรื่องของพระราชโอรสอีก 4 องค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นคืออดีตท่านชายทั้ง 4 ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา หลายฝ่ายมองว่า “ทรงพลาดอย่างแรง” ที่ทรงอัปเปหิจากแผ่นดินเกิด ซึ่งทั้ง 4 ถูกมองว่าล้วนมีศักยภาพและเหมาะสมด้านจริยาวัตรและความรู้ความสามารถของการเป็นผู้นำที่ดี สามารถแบ่งเบาพระราชภาระได้ ในเมื่อทั้ง 4 ได้สละพระยศเดิม แต่มิได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ จะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนหากถูกเลือกขึ้นมาเป็นพระรัชทายาท อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ในเมื่อถูกถอดยศและตัดสัมพันธ์ไปแล้ว ความเป็นไปได้จึงแทบเป็นศูนย์

แม้แต่คนที่เคารพรักสถาบันมากก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าพระรัชทายาทพระองค์ก่อนหน้า มีภาพลักษณ์ทางสาธารณะอันไม่เป็นที่น่าพิสมัยก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่โจษจันในเรื่องราวส่วนพระองค์ ที่ส่งผลถึงภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม หลายคนจึงมองว่า รัชสมัยนี้เต็มไปด้วยความคลุมเครือและมลทิน หลายคนจึงไม่อินกับความเป็นไปในราชสำนักเหมือนแต่ก่อน

ในเมื่อราชสำนักถูกมองว่ามีมลทิน และภาพลักษณ์ไม่ได้รับการพัฒนาจนเริ่มมีการมองในด้านลบจากประชาชนมากขึ้น เพื่อความคงอยู่ของสถาบัน พระรัชทายาทในอนาคตจึงทรงถูกมองและถูกตั้งความหวังว่ามีบทบาทสำคัญที่อาจต้องช่วยปรับปรุงและเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับประชาชนให้ดีขึ้น พร้อมกับภาพลักษณ์ส่วนพระองค์ที่ดีในมุมมองของประชาชนที่ยังเคารพในสถาบันอยู่ เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็สามารถขึ้นเป็นพระประมุขได้โดยไร้ซึ่งครหาและประวัติศาสตร์ซ้ำรอยใดๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น สิ่งที่ประชาชนทำได้เพียงอย่างเดียว คือการจับเข่าคุยกันเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกหรือไม่เลือกใครเป็นพระประมุขของประเทศ ตามความเห็นของกลุ่มประชาชนที่เคารพรักสถาบันผู้ไม่เคยมีคำถามในหัว ประเด็นนี้ถูกมองว่าไม่ควรนำมาพูดคุยที่เป็นการก้าวก่ายพระบรมราชวินิจฉัย ในอีกมุมมอง เรื่องนี้สามารถนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวกำหนดว่า ประชาชนพร้อมจะอ้าแขนต้อนรับอนาคตใหม่ของราชสำนักอย่างสุดแรงเกิดหรือไม่ ช่วงเวลานี้ยังไม่มีแนวโน้มใดในเรื่องนี้ จึงอาจต้องรอจนกว่าเวลานั้นมาถึงจริงๆ ว่าพระรัชทายาทในอนาคตจะเป็นเช่นไร อันจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรของอนาคตราชวงศ์ไทยว่าจะรุ่งโรจน์หรือร่วงโรย

https://www.facebook.com/royalworldthailand/photos/a.918836328221421/2663943437044026/?type=3&theater