วันศุกร์, กรกฎาคม 26, 2567

กินปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา


Wongnai
11 hours ago
·
ข้อความในโลกโซเชียลประมาณว่า “มาระบาด เดี๋ยวก็ถูกจับกินหมด” ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า คนไทยมันแน่ขนาดที่ว่ากำจัดปัญหาด้วยการกินได้จริงเหรอ แล้วการกินเอเลี่ยนสปีชีส์นั้นได้ผลในการช่วยควบคุมจำนวนจริงหรือไม่?
.
Wongnai Story Ep.129 จะพาทุกท่านไปหาคำตอบว่า “การกินปัญหานั้นคือการแก้ปัญหาเรื่องเอเลี่ยนที่ถูกต้องหรือไม่?”
.
ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องไหนที่อยู่ในความสนใจคนไทยไปมากกว่าเรื่องปลาหมอคางดำ สังเกตได้จากยอด Trending ใน X ที่แซงหน้าเรื่องหวย ในวันที่ 16 ซึ่งเป็นวันหวยออก นับเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในสังคมไทย โดยมีทอปปิกในการพูดคุยไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูล การโต้เถียงกัน หรือการคิดเมนูเด็ดจากเอเลี่ยนสปีชีส์
.
การกินนั้นแก้ปัญหาได้จริงไหม ?
สารพัดเมนูปลาเด็ดจากปลาหมอคางดำถูกแนะนำจากการแถลงข่าวเรื่องการระบาด เชฟชื่อดัง หรือแม้แต่สำนักข่าว ด้วยการรณรงค์ว่า “กินให้หมด” เพราะการกินถูกมองว่าเป็น 1 ในกลยุทธที่ใช้ควบคุมประชากรของสายพันธุ์รุกรานได้ดี
.
(1.)เม็กซิโกและปลาสิงโต
เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเม็กซิโกที่ถูกรุกรานทางทะเลโดยปลาสิงโต (Pterois volitans และ Pterois miles)แม้มีถิ่นกำเนิดในอินโดแปซิฟิก แต่เมื่อข้ามมาสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอ่าวเม็กซิโก ปลาสิงโตได้กลายเป็นผู้รุกรานระดับไคจูในชีวิตจริง เพราะมันคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลท้องถิ่น จากการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ขาดผู้ล่าตามธรรมชาติ และนิสัยการกินแบบไม่เลือก จนมีรายงานว่าปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นถูกพบเห็นน้อยลงไปถึง 45% ในช่วงที่ปลาสิงโตระบาดหนัก แถมมีพิษร้ายแรงอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย
.
โดยมีหลายงานวิจัยตั้งสมมติฐานต้นเหตุของการระบาดว่าอาจจะมาจากการซื้อขายสัตว์น้ำที่ไม่ได้มีการควบคุม จนปลาสิงโตหลุดลงไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
.
ในงานวิจัยเรื่อง การลดประชากรด้วยการค้าสัตว์ทะเลที่รุกรานโดยชาวประมงพื้นบ้าน (Trying to collapse a population for conservation: commercial trade of a marine invasive species by artisanal fishers.) ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 มีข้อมูลที่น่าสนใจใน”การกิน”เพื่อลดจำนวนปลาสิงโต เมื่อยุทธการ “กินมันซะเลย” จึงถูกใช้ในวิธีการแก้ปัญหา ทำให้ในช่วง 2 ปี (2013 - 2015) จำนวนปลาสิงโตนั้นลดลงกว่า 60 % ในพื้นที่แนวประการังของเมืองโคซูเมล ประเทศเม็กซิโก
.
เพราะนโยบายการล่าเชิงพาณิชย์ การแข่งขันตกปลา แถมตัวผู้รุกรานเองก็มีโปรตีนที่ดีต่อร่างกาย เนื้อปลามีสีสวยและรสชาติดี หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ “ มันดันอร่อย” สามารถนำมาประกอบเมนูอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฟิชแอนชิบ ไปจนถึง ทาโก้เนื้อปลาสิงโต ทำให้ประชาชนสนใจในการนำเจ้าปลาสิงโตเข้าปากเพราะนอกจากจะช่วยระบบนิเวศแล้ว ก็ยังช่วยให้อิ่มท้องอีกด้วย (สามารถเสิร์ชว่า EATING LIONFISH บอกเลยว่าเนื้อปลาน่ากินมาก)
.
เรื่องทั้งหมดดูเหมือนจะจบลงอย่าง Happy Ending แล้วใช่ไหม แต่ชีวิตจริงมันยากกว่านั้นเสมอ เมื่อการกินหรือการค้าเชิงพาณิชย์นั้นย่อมมีจุดอิ่มตัวของมัน สวนทางกับการแพร่พันธุ์ของปลาสิงโตยังคงรวดเร็วเหมือนเดิม และประชาชนไม่สามารถกินเนื้อปลาสิงโตได้ทุกวัน แถมการรณรงค์เองก็ไม่ช่วยให้ชาวบ้านอยากกินปลาสิงโตมากขึ้น ทำให้ประชาชนลดความสนใจในการแก้ปัญหานี้ด้วยการกินหรือพูดง่าย ๆ คือกินจน ”เบื่อ”
.
อาจกล่าวได้ว่าการกิน การนำมาประกอบอาหาร หรือการแปรรูปเหล่าสัตว์ผู้รุกรานจึงเป็นนโยบายที่ใช้ได้ผลแค่ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องมีนโยบายอื่นที่เป็นยาแรงมากกว่ารองรับ เพื่อให้สามารถควบคุมประชากรของสัตว์ผู้รุกรานได้ เพราะพวกมันไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ แถมการกินจึงไม่ใช่ยาแรงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้ หลายท่านอาจจะเถียงว่าทีตั๊กแตนเรายังกินจนหมดมาแล้วเลย?
.
(2.)จับผิดเรื่องตั๊กแตนปาทังก้า
กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างถึงความเก่งในการกินของคนไทยที่สามารถกำจัดตั๊กแตนปาทังก้าได้จากการกิน แต่เรื่องนี้เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่อยากนำเสนอมุมมองเพื่อให้ตั้งคำถามต่อเรื่องราวนี้
-ในหลายๆ แหล่งข้อมูลเล่าเรื่องนี้ตรงกันหลายส่วนเกินไป เช่น การที่ชาวบ้านบอกให้ทางการหยุดใช้ยาฆ่าแมลง (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้ทางการต้องเชื่อชาวบ้านว่าต้องหยุดการใช้ยาฆ่าแมลง) เพราะเมื่อเรื่องราวโชว์ความเก่งกาจของคนตัวเล็ก เราก็พร้อมจะเชียร์อัพกันอยู่แล้ว แต่ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ส่วนนี้ไม่มีใครรู้
-เมื่อปลายปีที่แล้ว(2023) กรมการเกษตรยังมีการห้ามไม่ให้ปล่อยตั๊กแตนชนิดนี้ในธรรมชาติ แนะนำให้สำรวจและไถหน้าดินหลายรอบเพื่อกำจัดไข่ตั๊กแตน พร้อมแนะนำสูตรยากำจัดไข่และแมลงชนิดนี้อยู่เลย
-วัฏจักรชีวิตและรอบการระบาดของตั๊กแตนนั้นเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้งและไม่ต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัจจัยที่มองไม่เห็น ไม่ถูกนับรวมว่ามีส่วนช่วยให้ตั๊กแตนหายไป
.
จากที่กล่าวไปทั้งหมด การกินอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยควบคุมตั๊กแตนได้ แต่ปัจจัยอื่น ๆ นั้นก็อาจจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นรอบการระบาดที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือการพัฒนาขึ้นของยาฆ่าแมลง สภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องที่ต้องขอบคุณคือแม็กกี้ที่เข้าคู่กับตั๊กแตนทอดได้ดีเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตามเรามีตัวอย่างของประเทศที่จัดการปัญหานี้ได้อย่างน่ายกย่องให้อ่านกัน
.
(3.)ตัวอย่างดี ๆ ที่สารขัณฑ์แลนด์
ทุกท่านรู้จักดินแดนสารขัณฑ์แลนด์หรือไม่ จริง ๆ ดินแดนนี้เพิ่งถูกค้นพบได้ไม่นานและไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ค้นพบ แต่เรื่องราวที่ดินแดนนี้อาจเป็นเรื่องสุดขั้วที่ประเทศไทยควรดูเป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบเดียวกันเรื่องการกินเอเลี่ยนสปีชีส์ สารขัณฑ์แลนด์เป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างเส้นแบ่งระหว่างความจริงและเรื่องสมมติ แต่ถึงอย่างไรก็ดีเหล่าสุดยอดปลาผู้รุกรานผู้ญาติผู้สนิทกับปลาหมอคางดำอย่างปลาหมอคางแดงนั้นก็ได้ว่ายจากแอฟริกาข้ามทะเล อ้อมแหลมกู้ดโฮป ผ่านช่องแคบมะละกาจนมาเจอกับสารขัณฑ์แลนด์ ดินแดนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสายพันธุ์ท้องถิ่นอันอ่อนแอ ง่ายต่อการรุกราน แต่อย่างไรก็ตามเราต้องเคารพในความพยายามของปลาหมอคางแดงที่ว่ายน้ำไกลได้ขนาดที่กองเรือระดับตำนานของเจิ้งเหอเองยังต้องแวะพักหลายจุดระหว่างเส้นทางจากเอเชียไปแอฟริกา
.
หน้าตาน่ากลัวทำตัวน่าเกลียด
หลังจากที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวสาระเขี่ยนเพราะพวกมันกินสัตว์น้ำท้องถิ่นจนหมด ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป ชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายประเทศสารขัณฑ์แลนด์ถึงทางตัน แต่ในวิกฤตย่อมสร้างฮีโร่ หน่วยงานลับอย่างหน่วย ”ปลงม่ะ” จีงได้คิดสุดยอดวิธีการอย่างการปล่อยนักล่าท้องถิ่นอย่างกระพงเขียวลงไปสู้กับปลาหมอคางแดง ดั่งเพลงของไทยทศมิตรว่า “ไอ้แดงมันเป็นนักสู่ส่วนไอ้เขียวก็เป็นนักซิ่ง โอ้ยยยย” เรื่องนี้คนที่รับกรรมคางเหลืองไปคือชาวบ้าน เพราะปลากระพงเขียวเองก็เลือกกินสัตว์น้ำท้องถิ่นก่อนเช่นกันเพราะมันเองก็ไม่รู้จักปลาหมอคางแดง และสองสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีความเป็นอริกันตั้งแต่แรก
.
ทุกข์ชาวบ้านเพราะหลังจากนั้นไม่นานหน่วยงานเดิมอย่างปลงม่ะ ก็ได้ออกประกาศแต่แทนที่จะเป็นนนโยบายการกำจัดพร้อมระยะเวลาแนวทางแก้ไข แต่คนหัวกะทิของหน่วยนี้กับคิดอะไรที่จีเนียสกว่านั้น นั่นคือการนำปลาหมอคางแดงมาทำเมนูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟัวกราตับปลาหมอคางแดง สปาเกตตีไข่ปลาหมอคางแดง ปลาหมอคางแดงร้า หรือแม้แต่พิซซ่าหน้าปลาหมอคางแดง (เมนูนี้กลายเป็นเมนูที่ชายอิตาเลียนผู้มาท่องเที่ยวรีวิวไว้ด้วยคะแนนเต็ม 5 ดาว)
.
ถึงตรงนี้หลาย ๆ ท่านคงคิดว่าการกินแก้ปัญหาให้กับสารขัณฑ์แลนด์ได้แล้ว แต่ความจริงคือประชาชนเบื่อที่จะกินพวกปลาต่างถิ่นชนิดนี้แล้ว กระทรวงปลงม่ะ จึงได้ตัดต่อพันธุกรรมให้มันกลายเป็นปลาหมอคางขาว ทันได้นั้นปัญหาปลาหมอคางแดงก็หายไปและผู้คนก็หายเบื่อปลาหมอคางแดง สื่อเองก็ต่างจับจ้องไปที่ปัญหาใหม่อย่างการกินปลาหมอคางขาว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าแค่เราเปลี่ยนมุมมองของปัญหา มันก็จะไม่เป็นปัญหา
.
แต่เรื่องที่น่าสงสัยก็มาจากฝั่งประชาชนสาระเขี่ยนเพราะรู้สึกถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ในการจัดการปลาหมอคางแดง ไม่ว่าจะเป็นการตามหาต้นตอว่าพวกมันว่ายน้ำเข้ามาจากทางไหน จนกระจายมาสู่กลางเมืองได้ หรือแม้แต่ว่าตอนที่มีชาวบ้านแจ้งให้ไปตรวจสอบ กลับไม่มีหน่วยงานสนใจ หรือแม้แต่ตอนนี้ที่ถ้าออกนโยบายรับซื้อจะเป็นการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ยังคงไร้คำตอบ แต่ที่น่าดีใจคือชาวสาระเขี่ยนไม่ลืมว่าพวกเขาต้องจ่ายภาษีทุกปีให้หน่วยงานเหล่านี้
.
(4.)กินปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา
กลับมาที่เมืองไทย หากเราลองเทียบปัญหาของปลาหมอคางดำ กับปลาสิงโต แม้จะต่างกันในเรื่องสภาพแวดล้อมที่เป็นทะเลกับแม่น้ำและลักษณะของปลาทั้งสองประเภท แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลเหมือนกันคืออัตราการแพร่พันธุ์ที่สูงจนน่าตกใจ โดนปลาสิงโตตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง ส่วนปลาหมอคางดำตัวเมียนั้นสามารถวางไข่ได้รอบละ 500 ฟองต่อเดือน แม้ตัวเลขอาจจะต่างกัน แต่ปลาสิงโตต้องใช้เวลา 1 - 2 ปี เพื่อให้มีขนาดใหญ่และกลายเป็นผู้ล่า ในช่วงแรกเมื่อออกจากไข่มันจึงเป็นเมนูอันโอชะของปลาอื่น ๆ จึงต้องทดแทนด้วยเรื่องจำนวน
.
ต่างจากปลาหมอคางดำที่โตเร็วและมีโอกาสรอดสูงต่อ 1 รอบการวางไข่มากกว่า 90% แถมตัวแม่ยังสามารถวางไข่ต่อได้ทันที ตัวลูกก็ใช้เวลาไม่นานก็เริ่มผสมพันธุ์ได้อีกครั้ง การกินจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบถูไถไร้ทางออก
.
แน่นอนว่าการกิน การแปรรูปนั้นช่วยเหลือเรื่องการควบคุมจำนวนได้ แต่ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องของปัญหานี้ เพราะจากตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมา หรือเอาง่าย ๆ คือลองคิดว่าคุณจะกินเมนูเดิมซ้ำ ๆ ได้กี่มื้อ 2 วัน 3 วัน หรือเป็นอาทิตย์คืออย่างเก่ง ส่วนตัวผู้เขียนจึงคิดว่าคำว่า “กินจนหมด” หรือ “ซวยแล้วมาระบาดในไทย” ทำให้ภาพของปัญหานี้เล็กกว่าความเป็นจริง สุดท้ายอาจจะกลายเป็นมุกตลกที่ไม่ตลกเมื่อความหลากหลายของสัตว์น้ำหายไปจากปัญหานี้
.
(5.)อย่า “โรแมนติไซส์”ปัญหาด้วยการกิน
บางทีเราอาจจะต้องลดความ“โรแมนติไซส์” (romanticize) ที่หมายถึงการทำให้บางสิ่งบางอย่างดูโรแมนติกหรือมีเสน่ห์กว่าความเป็นจริง เป็นการนำเสนอหรือมองบางสิ่งบางอย่างในแง่ที่สวยงาม หวานชื่น หรือดึงดูดใจมากกว่าที่เป็นจริงเพื่อให้เห็นภาพความจริงว่าสิ่งนั้นมีความยุ่งยาก ซับซ้อน หรือความเสี่ยงอย่างไร
.
เพราะในกรณีก่อนหน้าไม่ว่าหอยเชอรี่หรือปลาซักเกอร์เองก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน แถมในบางพื้นที่เองก็มีเอเลี่ยนสปีชีส์รุกรานอยู่เช่นกันแต่ภาพที่คนสนใจมากที่สุดคือปลาหมอคางดำ
.
การกินปัญหานั้นคือการแก้ปัญหานี้ได้บางส่วนหรืออาจเป็นการทำให้ปัญหานี้ดูเล็กว่าความเป็นจริง แต่อย่าลืมตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องกินปัญหานี้ แทนที่ว่าจะทำเป็นเมนูต่าง ๆ อย่างไร เราควรตั้งคำถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขั้นตอนดำเนินงานที่เป็นรูปร่างของผู้รับผิดชอบinคืออย่างไร และอยู่ในการรับผิดชอบของใครมากกว่าหรือไม่ ไม่อย่างนั้นคนที่คางเหลืองทุกครั้งไปก็คือประชาชนใช่หรือไม่?
.
อ่านแบบสบายตาได้เลย
https://www.wongnai.com/food-tips/black-chin-fish
.
#Wongnai #WongnaiStory #ปลาหมอคางดำ #เอเลี่ยนสปีชีส์ #ข่าว
—————————————————————————
Reference
Malpica-Cruz, L., Fulton, S., Quintana, A., Zepeda-Domínguez, J., Quiroga-García, B., Tamayo, L., Noh, J., & Côté, I. (2021). Trying to collapse a population for conservation: commercial trade of a marine invasive species by artisanal fishers. Reviews in Fish Biology and Fisheries, 31, 667 - 683. Seaman,
A., Franzidis, A., Samuelson, H. L., & Ivy, S. (2021). Eating invasives: Chefs as an avenue to control through consumption. Food, Culture & Society, 25(1), 108-125.
Pusceddu, A., Mikhno, M., Giglioli, A., Secci, M., Pasquini, V., Moccia, D., & Addis, P. (2021). Foraging of the sea urchin Paracentrotus lividus (Lamarck, 1816) on invasive allochthonous and autochthonous algae. Marine Environmental Research, 170, 105428.
กรมส่งเสริมการเกษตร ขอความร่วมมือไม่ทำบุญปล่อยตั๊กแตน !!! หวั่นสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ภาคการเกษตร 100 เท่า! https://www.am1386.com/home/21590
รู้จัก “ปลาหมอคางดำ” นักวิชาการ มข.แนะทางแก้เอเลี่ยนสปีชีส์ “เจอต้องจับ” ชี้แพร่ถึงอีสานยากแต่ยังมีโอกาส https://th.kku.ac.th/191945/
ปลาหมอคางดำระบาด 16 จังหวัด กรมประมง เปิด 6 มาตรการเร่งด่วน
https://www.thaipbs.or.th/news/content/342110
กำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ให้สิ้นจากน่านน้ำไทย เป็นไปได้จริงหรือไม่
https://www.bbc.com/thai/articles/cxw2pk1gyl9o


https://www.facebook.com/photo/?fbid=871967231632164&set=a.611028511059372