วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 18, 2567

ศาล รธน. ปิดเกมก้าวไกล ไม่เปิดบัลลังก์ไต่สวน ‘สุรพล’ นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม 67 เวลา 15.30 น.



ศาล รธน. ปิดเกมก้าวไกล ไม่เปิดบัลลังก์ไต่สวน ‘สุรพล’

17 ก.ค. 2567
Spacebar.th
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุติการไต่สวนยุบพรรคก้าวไกล
  • นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม 67 เวลา 15.30 น.
  • พยานแก้ต่างคนสำคัญ ชวดโอกาสทำหน้าที่
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่เปิดศาลไต่สวน คดี กกต.ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ที่มีพฤติการณ์ล้มล้าง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะเห็นว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย เป็นเรื่องข้อกฎหมาย และศาลมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง

ทำให้เกมของก้าวไกล ที่จะใช้ “สุรพล นิติไกรพจน์” ที่ปรึกษา กกต. นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน เป็น “ตัวชน” พยานปากเอกของพรรคก้าวไกล ขึ้นให้ปากคำแก้ต่างแทนในศาล เป็นหมันไปโดยปริยาย

รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล บอกว่า การต่อสู้คดีคงทำได้ยากขึ้น เพราะกระบวนการไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ซึ่งตนมองว่า พยานปากที่สำคัญของพรรคก้าวไกล คือ สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ด้วย ดังนั้น เนื้อหาสาระเช่นนี้จึงไม่สามารถมองข้ามได้

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า เสียดายโอกาส หากมีการไต่สวนให้คู่กรณีต่อสู้อย่างเต็มที่ ก็จะเป็นผลดีต่อการยอมรับข้อกฎหมาย

การแสดงออกของรังสิมันต์ และชัยธวัช สะท้อนถึงความสำคัญของสุรพล ในการต่อสู้คดีเพื่อพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน

พรรคก้าวไกล วางยุทธศาสตร์การสู้คดีนอกบัลลังก์ สร้างกระแสให้คนคล้อยตามว่า กระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบธรรม ผิดขั้นตอน ผิดกฎหมาย และการหาเสียงว่าจะแก้ไข ม. 112 ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง มีการแถลงข่าวแนวทางสู้คดีอย่างเป็นทางการ หลังศาลประทับรับฟ้อง แม้ว่า ศาลจะขอร้องให้คู่ความงดแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีก็ตาม

พรรคก้าวไกลยื่นรายชื่อพยานกว่า 10 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยว่า เป็นใครบ้าง แต่เปิดตัว สุรพลคนเดียว ซึ่งมาทีหลังเพื่อน หลังครบกำหนดการยื่นพยานหลักฐานของคู่กรณีไปแล้ว ในวันที่ 9 กรกฎาคม พร้อมกับเปิดเผยบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของสุรพล ผ่านสื่อให้สังคมได้รับรู้ โดยมีข้อสรุปว่า คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เข้าข่ายการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค

ไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลลอกสุรพล หรือ สุรพลก้อปปี้พรรคก้าวไกล จึงออกมาเหมือนกันเป๊ะ

การเปิดเผยหลักฐาน คำให้การของพยานต่อสาธารณะ เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่งของการสู้คดีในศาล ที่คู่กรณีจะเปิดเผยพยาน หลักฐาน คำให้การต่อเมื่ออยู่หน้าบัลลังก์ เพราะถือเป็นความลับในการสู้คดี การที่พรรคก้าวไกล เอาคำให้การของพยานปากเอกมาเปิดเผย น่าจะมีเจตนาเพื่อสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความเชื่อว่า ชื่อ ชั้น สถานะในแวดวงนักกฎหมายมหาชนนั้น จะมีเครดิต ได้รับความเชื่อถือจากสังคม

แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บันทึกความเห็นของสุรพลนั้น เป็นความเห็นในเรื่องข้อกฎหมาย เช่นเดียวกับ พยานของพรรคก้าวไกลอีก 10 กว่าคนที่ยื่นคำให้การมาก่อนหน้านั้น ก็ล้วนเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งข้อกฎหมาย เป็นเรื่องที่ศาลรับรู้เองได้ ไม่จำเป็นต้องรับฟังบุคคลอื่น ยกเว้นในบางเรื่อง ที่ศาลไม่แน่ใจ ก็จะถามจากพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งเอง ไม่ใช่พยานที่คู่ความตั้ง

ดังนั้น ศาลจึงไม่รับฟังพยานของพรรคก้าวไกล รวมทั้งความเห็นของสุรพลด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเปิดศาลไต่สวน ตามที่พรรคก้าวไกล ร้องขอมาโดยตลอด เพื่อให้สุรพลได้ขึ้นให้ปากคำ เพราะคดีนี้เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ไม่มีประเด็นข้อเท็จจริงที่จะต้องไต่สวนอีกต่อไปแล้วว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติกรรม เซาะกร่อน บ่อนทำลาย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

สำหรับสุรพลนั้น เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กกต. ซึ่งเป็นคู่ความกับพรรคก้าวไกล การไปเป็นพยานให้พรรคก้าวไกล จึงมีคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ ทำไมไม่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งว่า จะเป็นที่ปรึกษา กกต. หรือจะเป็นพยานให้พรรคก้าวไกล

และการเป็นพยานให้พรรคก้าวไกล ในขณะที่ยังเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง ไม่เลือกข้าง จะเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้าม สำหรับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย หรือไม่

https://spacebar.th/deep-space/constitutional-court-dissolution-move-forward-party