สส. เพื่อไทยพร้อมใจชูป้ายกระดาษ เพื่อสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567
ดิจิทัลวอลเล็ต คุ้มค่าแค่ไหน สุ่มเสี่ยงขัดข้อกฎหมายหรือไม่
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
17 กรกฎาคม 2024
รัฐบาลภายใต้การนำพรรคเพื่อไทย ของบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชน 50 ล้านคน ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนในอีก 15 วันข้างหน้า ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากฝ่ายค้านเกี่ยวกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินมหาศาลที่ลงไป
วันนี้ (17 ก.ค.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ในวาระที่ 1
การออกกฎหมายที่มีเนื้อหาเพียง 6 มาตรา มีวัตถุประสงค์หลักเพียงข้อเดียวคือ การนำเงินก้อนนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หาเสียงเอาไว้ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ค. 2566 ทว่าถึงปัจจุบัน ประชาชนคนไทยก็ยังไม่ได้รับเงินหมื่นแต่อย่างใด เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการหาแหล่งเงินมาใช้ขับเคลื่อนโครงการที่มูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านบาท
ในระหว่างนำเสนอหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ต่อสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า “เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนโดยไม่สามารถรองบประมาณประจำปี 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบเพิ่ม” โดยประมาณการเงินพึงได้ว่ามาจาก 2 แหล่งคือ ภาษีและรายได้อื่น 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 112,000 ล้านบาท
คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายกฯ เศรษฐาเป็นประธาน เพิ่งมีมติเห็นชอบโครงสร้างแหล่งที่มาของเงินใหม่ ซึ่งจะไม่ใช้งบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว โดยให้เหตุผลว่า “ดำเนินการตามข้อห่วงใยของหน่วยงานที่ตรวจสอบ”
นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ฟังการอภิปรายของ สส.
บีบีซีไทยขอสรุปข้อมูลพื้นฐานของโครงการ ข้อสังเกตของฝ่ายค้านผ่านคำอภิปราย รวมถึงคำชี้แจงจากตัวแทนรัฐบาล เพื่อให้เห็นพัฒนาการล่าสุดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อนดีเดย์เริ่มลงทะเบียนประชาชนในวันที่ 1 ส.ค. นี้
วงเงินและแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการ
แรกเริ่มเดิมที พรรค พท. เคยเปิดตัวเลขวงเงินที่จะใช้ทำโครงการนี้ไว้ 560,000 ล้านบาท ทว่าเมื่อถึงเวลาต้องผลักดันจริง มีการปรับวงเงินเหลือ 500,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายฯ ดิจิทัลวอลเล็ต ระบุว่าจะ “ตั้งงบรองรับไว้ประมาณ 450,000 ล้านบาท
สำหรับแหล่งที่มาของงบที่จะใช้ดำเนินโครงการ มีดังนี้
งบปี 2567 จำนวน 165,000 บาท
- กู้เพิ่ม 112,000 ล้านบาท (เสนอสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท)
- คาดการณ์จัดเก็บภาษีได้เพิ่ม 10,000 ล้านบาท (เสนอสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท)
- งบการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบ 43,000 ล้านบาท (นายกฯ เปิดเผยว่าจะกันงบกลางปี 2567 ไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต โดยงบนี้อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่มีผลใช้บังคับแล้ว)
งบปี 2568 จำนวน 285,000 แสนล้านบาท
- กู้เพิ่ม 152,700 บาท (เสนอสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2)
- งบการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบ 132,300 ล้านบาท (รัฐบาลเปิดเผยไว้ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเงินมาจากไหน)
ศิริกัญญา ตันสกุล ดักคอว่าการเสนอของบกลางปี ต้องใช้ให้หมดภายในปีนี้ เพราะจะขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลจะกู้เพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้งบปี 2567 มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.34% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ การเบ่งงบเพิ่มจะสร้างปัญหาทั้งเพิ่มหนี้สาธารณะ การชำระดอกเบี้ย แต่ปัญหาเฉพาะหน้าจากการกู้เต็มเพดาน ทำให้เหลือเพดานที่สามารถกู้เพิ่มได้อีกเพียง 10,056 ล้านบาท คำถามคือรัฐบาลสามารถมีงบเหลือเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าหรือไม่
รองหัวหน้าพรรค ก.ก. ยังชี้ให้เห็นปัญหาการเบิกจ่ายงบกลางปี 2567 รายการเงินสำรองใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น วงเงิน 99,500 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เบิกจ่ายไปเพียง 17,991.43 ล้านบาท เพราะไม่รู้ว่าต้องนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่าไร แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า “ต้องกั๊ก 43,000 ล้านบาทไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงปลายปี”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นอีกคนที่อภิปรายวิจารณ์การ “กลับไปกลับมา” ของแหล่งเงินที่รัฐบาลใช้ จนวันนี้เม็ดเงินจริงยังไม่มีสักบาทเดียว ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ เพราะหลายประเด็นยังไม่นิ่ง รัฐบาลบริหารแบบ “คิดไป ทำไป”
“ยอดเงินลดมา 3 รอบแล้ว จากเริ่มต้นยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ 560,000 ล้านบาท แล้วก็ลดลงมาเหลือ 500,000 ล้านบาท แล้วก็ลดอีกเหลือ 450,000 ล้านบาท จากเรือยอร์ชก็เลยกลายเป็นเรือแจวไปแล้ววันนี้” นายจุรินทร์กล่าวเปรียบเปรย
สส.ปชป. กล่าวต่อว่า งบ 132,300 ล้านบาท ที่บอกว่าจะใช้บริหารจัดการ แต่ไปควักเอามา จนวันนี้ยังไม่อยู่ไหน และจะเอามาจากที่ไหน ขอให้รัฐบาลช่วยตอบด้วย วันนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 กำลังพิจารณาอยู่หรือว่าจะใช้เสียงข้างมากใน กมธ. ไปตัดงบมากองไว้ให้เยอะที่สุด ตัดจากกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ของพรรคร่วมโน้นพรรคร่วมนี้ แล้วใช้มติ ครม. ใส่ไปในงบกลางเพื่อเอาไปทำดิจิทัลวอลเล็ต
“แล้วพรรคร่วมรัฐบาลว่ายังไง จะนั่งเป็นตัวการ์ตูนอยู่เหรอ แล้วท่านจะบรรลุนโยบายพรรคการเมืองของท่านเฉพาะที่ไปสัญญาประชาชนไว้ ทำได้ไหม ในเมื่อเอาไปให้พรรคเดียวเขาทำหมดแล้ว” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว
คำชี้แจงของรัฐบาล: กลไกที่เปลี่ยน เป็นข้อเสนอของส่วนงานที่เกี่ยวข้องหลังดูรายละเอียดแล้วสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้งบที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแหล่งเงินเพื่อให้มีความเหมาะสมขึ้น พร้อมย้ำว่า การใช้งบ ธ.ก.ส. ไม่มีปัญหาหรือข้อขัดข้อง แต่อาจจำเป็นต้องมีข้อจำกัดเพิ่มเติม เช่น ต้องจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิต
“ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อย่างไรก็ตามยืนยันในกรอบเวลาว่าปลายปีนี้ เงินถึงมือพี่น้องประชาชนแน่นอน” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าว
ผู้ได้รับอานิสงส์
แม้ปรับลดงบประมาณลง แต่นายจุลพันธ์ยืนยันว่าไม่ได้ลดขนาดโครงการ ประชาชนยังได้อานิสงส์ 50 ล้านคนเหมือนเดิม แต่เมื่อดูจากโครงการในอดีตของรัฐ ไม่มีโครงการไหนที่มีผู้ลงทะเบียนเกินกว่า 90% หรือราว 45 ล้านคน จึงตั้งงบรองรับไว้ประมาณ 450,000 ล้านบาท แต่หากมีคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่า จะใช้กลไกการบริหารงบเพื่อให้มีงบเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ตั้งคำถามว่า แล้วถ้า 5 ล้านคนเกิดมาใช้สิทธิ จะเอาเงินไหนอีก 50,000 ล้านบาทไปแจก พร้อมเปรียบเปรยว่า “นี่มันนั่งเรือแจวไปตายเอาดาบหน้าชัด ๆ เลย”
ความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมาย
นักการเมืองฝ่ายค้านยังชี้ให้เห็นความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายไว้หลายประการ
ประเด็นแรก การจัดทำงบกลางปี จะไปใช้ปลายปีไม่ได้ เพราะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561
มาตรา 21 ระบุว่า “การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้”
มาตรา 43 ระบุว่า “การขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำได้แต่เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น ในกรณีที่ที่ไม่สามารถเบิกเงินจากคลังได้ภายในปีงบประมาณ ให้ขยายเวลาการเบิกเงินจากคลังได้ เฉพาะกรณีที่หน่วยขอรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และได้มีการกันเงินไว้”
น.ส.ศิริกัญญา ดักคอว่า การก่อหนี้ผูกพันต้องเป็นสัญญาที่ทำทั้ง 2 ฝ่าย การเปิดให้ลงทะเบียนไม่ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน จึงไม่เกิดหนี้ “ถ้าถือว่าการลงทะเบียนเป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ต่อไปจะมีหน่วยงานรัฐอื่นเอาเยี่ยงอย่าง ใช้งบประจำปีไม่ทันก็เรียกประชาชนมาลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปเบิกจ่ายข้ามปี... จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในทางที่ผิดที่ทำให้การบริหารงบผิดพลาด”
“ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อย่างไรก็ตามยืนยันในกรอบเวลาว่าปลายปีนี้ เงินถึงมือพี่น้องประชาชนแน่นอน” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าว
ผู้ได้รับอานิสงส์
แม้ปรับลดงบประมาณลง แต่นายจุลพันธ์ยืนยันว่าไม่ได้ลดขนาดโครงการ ประชาชนยังได้อานิสงส์ 50 ล้านคนเหมือนเดิม แต่เมื่อดูจากโครงการในอดีตของรัฐ ไม่มีโครงการไหนที่มีผู้ลงทะเบียนเกินกว่า 90% หรือราว 45 ล้านคน จึงตั้งงบรองรับไว้ประมาณ 450,000 ล้านบาท แต่หากมีคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่า จะใช้กลไกการบริหารงบเพื่อให้มีงบเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ตั้งคำถามว่า แล้วถ้า 5 ล้านคนเกิดมาใช้สิทธิ จะเอาเงินไหนอีก 50,000 ล้านบาทไปแจก พร้อมเปรียบเปรยว่า “นี่มันนั่งเรือแจวไปตายเอาดาบหน้าชัด ๆ เลย”
ความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมาย
นักการเมืองฝ่ายค้านยังชี้ให้เห็นความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายไว้หลายประการ
ประเด็นแรก การจัดทำงบกลางปี จะไปใช้ปลายปีไม่ได้ เพราะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561
มาตรา 21 ระบุว่า “การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้”
มาตรา 43 ระบุว่า “การขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำได้แต่เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น ในกรณีที่ที่ไม่สามารถเบิกเงินจากคลังได้ภายในปีงบประมาณ ให้ขยายเวลาการเบิกเงินจากคลังได้ เฉพาะกรณีที่หน่วยขอรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และได้มีการกันเงินไว้”
น.ส.ศิริกัญญา ดักคอว่า การก่อหนี้ผูกพันต้องเป็นสัญญาที่ทำทั้ง 2 ฝ่าย การเปิดให้ลงทะเบียนไม่ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน จึงไม่เกิดหนี้ “ถ้าถือว่าการลงทะเบียนเป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ต่อไปจะมีหน่วยงานรัฐอื่นเอาเยี่ยงอย่าง ใช้งบประจำปีไม่ทันก็เรียกประชาชนมาลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปเบิกจ่ายข้ามปี... จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในทางที่ผิดที่ทำให้การบริหารงบผิดพลาด”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ วิจารณ์การเปลี่ยนแหล่งเงินที่ใช้ทำโครงการไปมา “ขนาดนายกฯ ออกมาโชว์พาวนำทีมแถลงเอง บอกว่าต่อไปนี้ชัดเจน แล้วต่อมาก็ยกเลิกสิ่งที่ตัวเองแถลง นายกฯ ท่านนี้เชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์”
ประเด็นที่สอง กรณีรัฐบาลตีความว่างบโครงการนี้เป็นรายจ่ายการลงทุนสูงถึง 80% ซึ่งไม่น่าจะจริง เพราะดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เงินลงทุน แต่เป็นเงินเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
นิยามคำว่า ”รายจ่ายลงทุน” ของสำนักงบประมาณ ระบุว่าหมายถึง รายจ่ายที่รัฐบาลจ่ายเพื่อ 1. จัดหาสินทรัพย์ประเภททุน ทั้งที่มีตัวตน และไม่มีตัวตน ที่มีตัวตน เช่น ครุภัณฑ์ ที่ดิน อาคาร สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ที่ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และการสัมปทานที่เกี่ยวกับที่ดิน เป็นต้น ตลอดจนรายจ่ายลงทุน คือรัฐบาลที่อุดหนุน หรือโอนให้แก่บุคคล องค์กร รัฐวิสาหกิจ โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายคืน หรือรัฐบาลให้เปล่านั่นเอง และผู้รับต้องนำไปใช้จัดหาสินทรัพย์ประเภททุน
อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องอ้างเช่นนั้น เพราะมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดให้การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ในจำนวนนี้คือ งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของปีงบประมาณนั้น ทั้งนี้ถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ตตามการตีความของรัฐบาลว่าเป็นรายจ่ายลงทุน 80% เข้าไป จะมีสัดส่วนสูงการลงทุน 22.4% และเกินกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ 8.76 แสนล้านบาท แต่ถ้าตีความตามที่เป็นจริง จะไม่ผ่านทั้ง 2 เกณฑ์
น.ส.ศิริกัญญาจึงส่งเสียงเตือนไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะกลายมาเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย” หรือไม่
เช่นเดียวกับนายจุรินทร์ที่ติงว่า การไปวินิจฉัยเอาเองว่าเงิน 122,000 ล้านบาท ที่มาขออนุมัติสภาวันนี้ เท่ากับเงินลงทุนถึง 80% เป็นการคาบลูก คาบดอกไปหน่อยหรือไม่ และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1) ต่อไป
“มันหนีความจริงไม่พ้นว่าที่แจกไปนี้ แจกให้ไปบริโภค ไม่อย่างนั้นจะมีการไปกำหนดสินค้าทำไมว่าอะไรซื้อได้-ไม่ได้ แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่าบริโภค จะเรียกว่าอะไร แต่หวังการลงทุนทอด 2 ทอด 3 ว่าพอซื้อมาก ๆ โรงงานจะได้ผลิตสินค้ามากขึ้น ไปลงทุนมากขึ้น แต่มันแจกแค่ 6 เดือน แป๊บเดียวมันก็หายไปแล้ว จะมาคิดเป็นลงทุนตั้ง 80% ได้อย่างไร” นายจุรินทร์ระบุ
คำชี้แจงของรัฐบาล: นายจุลพันธ์บอกว่า “คำว่า ‘สุ่มเสี่ยง’ ก็ชัดเจนอย่างหนึ่งว่าท่านก็รู้ว่าไม่ได้ผิด เป็นไปตามกรอบ และตัวเลขที่ท่านยกมาทั้งหมด ท่านก็ชี้แจงแทนแล้วว่าทั้งหมดอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง และเป็นไปตามกระบวนการวิธีการงบประมาณทั้งสิ้น” พร้อมย้ำว่า กระบวนการที่ทำไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่งคิดกัน 3-5 คน แต่ผ่านกระบวนการพิจารณาจากส่วนงานราชการจำนวนมาก ทุกคนพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย จึงได้เดินมาทางนี้
ความคุ้มค่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายค้านจึงรุมวิพากษ์วิจารณ์ว่า การทุ่มงบประมาณแผ่นดินราว 450,000-500,000 ล้านบาทเพื่อใช้แจกเป็นเงินดิจิทัลได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ไม่คุ้มค่า แม้รัฐบาลย้ำหลายครั้งว่าจะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 1.2-1.8%
ทว่านายจุรินทร์บอกว่าเป็นการพูดที่ “ดูถูกคนคิดเลขเป็นทั้งประเทศ” เพราะ นักวิชาการสถาบันการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ แบงก์ชาติ องค์กรอิสระ สภาพัฒน์ฯ ต่างพูดตรงกันว่า ที่บอกว่าจะได้ ได้จริง แต่มันได้ไม่คุ้มเสีย เพราะลงทุนกู้มา 500,000 ล้านบาท ถ้าคนมาใช้สิทธิ 100% คิดเป็นราว 3% ของจีดีพี เท่ากับลงทุนกู้มา 3% ของจีดีพี แต่ผลที่ได้ ทุกหน่วยพูดตรงกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจปี 2567 โตได้แค่ 0.2% ปี 2568 โตอีก 0.3 % รวมแล้วก็คือ 0.5 % หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท แปลว่าลงทุนไป 500,000 ล้านบาท ได้มา 100,000 ล้านบาท
“การกู้มาแจกแค่ 6 เดือน จึงเหมือนเป็นการโยนหินลงน้ำหนึ่งก้อน เกิดแรงกระเพื่อมจ๋อมเดียวแล้วก็หายไป แต่ที่จะเกิดตามมาก็คือพายุหมุน แต่เป็นพายุหมุนที่หมุนเอาหนี้ก้อนโตมาให้คนไทยต้องชดใช้ไปอีกนานเท่านาน เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่า ขอให้ข้าได้หาเสียง” นายจุรินทร์กล่าว
ส่วนสิ่งที่ได้ในทัศนะของ น.ส.ศิริกัญญา จากการเดินหน้าทำโครงการนี้คือ “ได้รักษาหน้าว่าได้ทำตามที่หาเสียงไว้ แม้หน้าตาของนโยบายจะไม่เหมือนกับตอนที่หาเสียงไว้เลยตั้งแต่ต้น” ส่วนการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กระทรวงการคลังประมาณการว่าเต็มที่จะได้แค่ 350,000 ล้านบาท “วิญญูชนควรรู้ว่าลงทุน 500,000 ล้านบาท ได้คืน 350,000 ล้านบาทเรียกว่าคุ้มหรือไม่”
ในทางกลับกัน เธอชี้ว่า สิ่งที่จะเสียคือการเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังให้แก่ประเทศ, สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย, เสียโอกาสแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้ประชาชน เพราะต้องกั๊กเงินไว้ทำโครงการปลายปี, เสียโอกาสที่จะทำนโยบายอื่น ๆ เพราะภาระงบที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้จบแค่งบปี 2567-2568 แต่จะตามไปปี 2569-2570
“นี่จะเป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียว และนัดสุดท้ายของทั้งรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามมา” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
คำชี้แจงของรัฐบาล: นายจุลพันธ์ย้ำว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยต่ำสุดในภูมิภาค และมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้ พร้อมยืนยันว่า “ไม่เคยมีนโยบายของรัฐใด ๆ ในอดีตที่จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงเท่านโยบายนี้ ด้วยข้อจำกัดที่ซื้อสินค้าได้และไม่ได้ รวมถึงเรื่องพื้นที่ ทั้งหมดนี้เป็นกลไกที่เติมเข้าไปเพื่อให้เม็ดเงินที่เติมเข้าไปจะสามารถมีผลในการหมุนเวียนในเรื่องของเศรษฐกิจได้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้”
เอื้อนายทุน?
อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตของ สส. หลายคนคือการกำหนดเงื่อนไขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ “เจ้าสัว” และ “นายทุนใหญ่”
นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า การกำหนดให้ร้านค้ารับเงินดิจิทัลมา แต่แลกเป็นเงินสดไม่ได้ ทำให้ร้านค้าขนาดกลางและเล็กอาจไม่รับเงินดิจิทัล เพราะจะหาเงินที่ไหนมาหมุนเวียนใช้จ่ายภายในร้าน ทั้งนี้ สัดส่วนต้นทุนที่ใช้เงินดิจิทัลได้มีน้อย โดยให้ซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น ขณะที่ต้นทุนส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ซื้อสินค้านอกรายการ (Negative List) เช่น น้ำมัน รวมถึงค่าแรงลูกจ้าง ค่าเช่าแผง ค่าสาธารณูปโภค ค่าชำระหนี้ กลับใช้มาได้
เขากล่าวว่า เงื่อนไขที่ตั้งมาจึงเป็นการกีดกันร้านรายย่อยที่ไม่อยู่ในระบบภาษี และ เปิดช่องให้ร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัว ที่มีทุนซื้อของสต็อกภายในร้านได้ สุดท้ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถูกดึงไหลกลับไปที่เจ้าสัวไม่กี่คน
คำชี้แจงของรัฐบาล: นายจุลพันธ์บอกว่า เมื่อเงินลงแล้วต้องเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะกำหนดเงื่อนไขร้านค้า พยายามกำกับให้รายย่อยได้ประโยชน์ที่สุด ในอดีตโครงการรัฐมีร้านร่วม 1.2 ล้านร้านค้า โครงการนี้ดึงร้านมาร่วมได้ 2-3 ล้านร้านค้า ส่วนร้านค้าส่ง ค้าปลีก สะดวกซื้อ มีเพียง 50,000 ร้านค้าที่ร่วม ดังนั้นสัดส่วนร้านส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็ก ร้านประชาชน ร้านวิสาหกิจ
https://bbc.in/3zNxtbG